ชาวยะหาเฮ! ได้คืนสิทธิ์เป็นอีก 1 อำเภอที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เชื่อจะทำให้ร้านค้ายามค่ำคืนคึกคัก คนเดินทางสะดวกขึ้น ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโอด ขาดเครื่องมือจับกุมผู้ก่อความไม่สงบ คาดจะกลายเป็นพื้นที่หลบซ่อนกบดานหลังก่อเหตุ
หลังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 1/2568 ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมเป็นประธาน มีมติพิจารณาการต่ออายุขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ อ.ยะหา จ.ยะลา เป็นอำเภอที่ 16 ทำให้เหลือพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงแค่ 17 อำเภอ จาก 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส) นั้น
“ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่รับฟังความเห็นพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ปรากฏว่าแทบทุกคนที่ได้ทราบข่าวพากันดีใจ แม้บรรยากาศในพื้นที่ยังคงเงียบเหงาเป็นปกติ ตามถนนยังคงมีด่านตรวจ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตลอดเวลาก็ตาม
@@ เชื่อปลุกความคึกคักการค้าขาย - ร้านอาหารกลางคืน
น.ส.รอกีเยาะ อาบู ชาวอำเภอยะหา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีการพิจารณาจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน อ.ยะหา ซึ่งจริงๆก็ไม่ได้ต่างอะไรมาก แต่คิดว่าต้องดีกว่าเดิมแน่นอน คือที่ผ่านมาก่อนที่จะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ อ.ยะหา มีความคึกคักมากกว่านี้
“สมัยก่อนเปิดร้านขายของได้ดีมาก ร้านอาหารกลางคืนเปิดขายทั้งคืนก็มี ทุกวันนี้หายไปหลายเท่า ชาวบ้านจะไปไหนก็ลำบาก แต่หลังๆ เหมือนเจ้าหน้าที่จะเข้าใจมากขึ้น ความรู้สึกผ่อนคลายขึ้น ถ้ายกเลิกได้ก็ดี จะดีใจมากที่เลือก อ.ยะหา” รอกีเยาะ กล่าว
@@ เดินทางดึกๆ สะดวกขึ้น กำลังประจำถิ่นรับมือได้
สอดคล้องกับ นายดอเล๊าะ มาหนิ ชาว อ.ยะหา เช่นกัน ที่บอกว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเรื่องที่ดีกว่ามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.อยู่ เพราะถ้ามีการประกาศใช้อยู่ ชาวบ้านในพื้นที่จะใช้ชีวิตลำบาก ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การเดินทางในเวลากลางคืน หรือตอนดึกๆ ก็จะสะดวกขึ้น
“ที่สำคัญถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่ในเขตเทศบาลที่เป็นหน่วยในพื้นที่ก็จะสามารถดูแลกันเองได้ ส่วนเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ ก็จะได้ไปดูแลงานที่ตัวเองต้องรับผิดชอบจริงๆ”
@@ ฝ่ายความมั่นคงบ่น ขาดเครื่องมือทำงาน ผวาใช้ยะหากบดาน
จากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านรายอื่นๆ ส่วนมากก็มีความเห็นไปในทำนองเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่กลับมองสวนทาง โดยเห็นว่าเมื่อมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะส่งผลกระทบกับการทำงาน โดยเฉพาะการขาดเครื่องมือในการจับกุมผู้ก่อความไม่สงบ
“ลักษณะการปฏิบัติการของกลุ่มขบวนการในพื้นที่ จะมีการวางแผนก่อเหตุต่อเนื่อง โดยเน้นการโยกย้ายกำลังไปก่อเหตุในพื้นที่ต่างๆ แล้วไปหลบซ่อนในอีกพื้นที่หนึ่งที่คิดว่าปลอดภัย และมีแนวร่วมของตัวเองเข้มแข็งอยู่ โดยการก่อเหตุแต่ละครั้งจะเอากำลังปฏิบัติการจากอำเภอหนึ่ง แล้วไปก่อเหตุอีกอำเภอหนึ่ง จากนั้นก็ออกจากพื้นที่ ไปยังอำเภอที่ใช้กบดาน”
“เดิม อ.ยะหา เป็นพื้นที่ปกติและพื้นที่หลบซ่อน ในอนาคตอาจจะมีการเข้ามาหลบซ่อนมากขึ้น วิธีการที่เขาใช้ในปัจจุบันนี้ก็เพื่อเป็นการสับกำลัง ป้องกันการสูญเสียหรือถูกจับ แต่ช่วงหลังเจ้าหน้าที่เองก็จับทางได้ ยิ่งตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยสันติสุข ก็ยังคงมีเหตุรุนแรงประปราย” เขาอธิบาย
เจ้าหน้าที่รายเดิม บอกว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน อ.ยะหา ถือว่ามีทั้งมิติที่ดีและไม่ค่อยดี โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ก็ถือว่าขาดเครื่องมือในการปฏิบัติพอสมควร ถึงขั้นทำงานยากขึ้นเลยทีเดียว ขณะที่กลุ่มขบวนการในพื้นที่เรียนรู้วิธีการ ก่อเหตุ วิธีการหลบหนี การซ่อนตัว ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากกว่าเดิม
“แต่คิดว่าเมื่อผู้ใหญ่ตัดสินใจ ก็คงต้องมีมิติที่ดีกว่า เพราะสุดท้ายแล้วเป้าหมายของผู้ปฏิบัติก็เพื่อต้องการให้พื้นที่สงบ ในมิติของรัฐบาลก็เหมือนกัน”
@@ ไร้ พ.ร.ก. ก็ยังมีกฎอัยการศึก
ด้านเจ้าหน้าที่ทหารสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ขาดเครื่องมือ แต่เชื่อว่ากฎอัยการศึก และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ “พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ” ก็ยังช่วยให้ทำงานได้อยู่ ไม่กังวลหากกลุ่มก่อความไม่สงบไปก่อเหตุจากพื้นที่อื่น แล้วจะเข้าไปหลบซ่อนใน อ.ยะหา เพราะยังมีกฎอัยการศึกในการทำงาน สามารถใช้จับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีได้เช่นเดิม
ส่วนเจ้าหน้าที่จากหน่วยทหารพัฒนา ซึ่งมีหน่วยย่อยในพื้นที่ อ.ยะหา กล่าวว่า แรกๆ อาจมีแรงต้านจากบางฝ่าย แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะจริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ใช้วิธีปกติมาตลอด
@@ รู้จัก “อำนาจพิเศษ” ตามกฎหมายพิเศษ
อนึ่ง อำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ต่อกรกับผู้ก่อความไม่สงบได้ ก็คือการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องมีหมายจับ และสามารถควบคุมตัวไว้ซักถามได้นานถึง 30 วัน
โดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สรุปบทเรียนว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือกลุ่มก่อความไม่สงบ ไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดา แต่เป็นปฏิบัติการลักษณะเครือข่ายขบวนการ มีการวางแผน ทั้งตระเตรียมการ จัดหาอาวุธ ลงมือ หลบหนี และซ่อนตัวอย่างเป็นระบบ จึงต้องมีวิธีพิเศษและเครื่องมือพิเศษในการจัดการ โดยเฉพาะการทำลายเครือข่ายแนวร่วมของขบวนการก่อความไม่สงบ
ส่วนกฎอัยการศึก แม้จะมีความเข้มไม่แพ้กัน และปฏิบัติโดยฝ่ายทหาร แต่มีข้อด้อยคือควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับได้เพียง 7 วัน ซึ่งเจ้าหน้าที่มองว่าไม่เพียงพอต่อการซักถามเพื่อขยายผลหาเครือข่ายแนวร่วมในการก่อเหตุรุนแรง
@@ ผบ.ทสส.ล่องใต้ สั่งเกาะติดแก๊งยา-ป่วนใต้เล็ดลอดข้ามแดน
วันอังคารที่ 7 ม.ค.68 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด / ผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการทางทหาร (ผบ.ทสส./ผบ.ศบท.) ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญของรัฐบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ประชุมทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
ประเด็นที่ ผบ.ทสส. เน้นย้ำในที่ประชุมก็คือ ให้นำยุทโธปกรณ์ที่สามารถติดตาม ควบคุม และปราบปรามสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน มาใช้อย่างเข้มงวด ควบคู่กับการสกัดกั้นผู้กระทำผิดกฎหมายหลบหนีตามช่องทางธรรมชาติ พร้อมให้พัฒนาศักยภาพให้กับกองกำลังท้องถิ่นให้มีขีดความสามารถ พึ่งพาตนเองได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ
ด้าน พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวรายงานและชี้แจงว่า ได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญ 5 ด้าน โดยเฉพาะการเสริมสร้างประสิทธิภาพสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กกล.อส.จชต.) ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่การขับเคลื่อนฮูกุมปากัตธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี (กติกาหมู่บ้านจากผู้นำ 4 เสาหลัก) เพื่อแก้ปัญหาของหมู่บ้าน และสร้างความเข้มแข็ง
ส่วนการติดตามผู้ก่อเหตุรุนแรงเข้าสู่กระบวนการของกฎหมาย ใช้การบูรณาการระบบกล้อง CCTV ร่วมกับการใช้ยุทโธปกรณ์พิเศษอย่างมีระบบ