มีความเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ แต่น่าจับตาอย่างยิ่งเกี่ยวกับจุดหักเหของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
“จุดหักเห” ที่ว่านี้อาจเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ต่อสถานการณ์ แต่ยังไม่รู้ว่าจะสงบ สงัด หรือสะบักบอมกันแน่
ไล่เรียงไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้นเงียบๆ ตั้งแต่รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน
มีการพบปะกับผู้นำมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม อย่างน้อยๆ 3 ครั้ง และโดยมากไม่ค่อยเป็นข่าวเชิงลึกมากนัก
27 พ.ย.66 พบกันที่ด่านสะเดา จ.สงขลา
3 ส.ค.67 พบกันที่ด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
อีกครั้งเป็นการพบอย่างเป็นทางการระหว่างที่อดีตนายกฯเศรษฐา เยือนมาเลเซีย เมื่อเดือน ต.ค.66 หลังรับตำแหน่งผู้นำประเทศได้ไม่นาน
ค่อนข้างชัดเจนว่า การพูดคุยระหว่างนายกฯไทยกับนายกฯมาเลย์ ในยุครัฐบาลเศรษฐา เน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
แต่ระหว่างเวลาในห้วงนั้น นายกฯอันวาร์ ยังมีวาระพบกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ด้วย
ครั้งแรกช่วงที่ได้รับการพักโทษ ปลายเดือน เม.ย.ต่อต้นเดือน พ.ค.67 ที่ จ.ภูเก็ต
ครั้งนั้นมีเพียงข่าวลือว่ามีการพูดคุยกันเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
อีกครั้ง เมื่อไม่กี่วันก่อนสิ้นปี 67 บนเรือยอร์ช ในทะเลอันดามัน โดยในครั้งล่าสุดนี้ อดีตนายกฯทักษิณ มีสถานะเป็น “ที่ปรึกษาส่วนตัว” ของนายกฯอันวาร์ ในหมวก “ประธานอาเซียน” ซึ่งจะมีการรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในปีนี้
การหารือส่งท้ายปี 67 แม้จะอยู่ในบริบท “ไม่เป็นทางการ” แต่นายกฯอันวาร์ก็โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยวาระการหารือ 4 เรื่อง โดยหนึ่งในนั้นคือ การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อสังเกตที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมระหว่างที่มีการพบปะกันในห้วง 1 ปีเศษที่ผ่านมาก็คือ
- เป็นห้วงที่กระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ หยุดชะงัก
- ไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และผู้รับผิดชอบหน่วยงานความมั่นคงระดับประเทศอย่าง สมช.
- ไทยไม่มีคณะพูดคุยสันติสุขฯ กล่าวคือ ยกเลิกชุดเก่า แต่ยังไม่ตั้งชุดใหม่
- ทิศทางดับไฟใต้ไม่ปรากฏชัดเจน ทั้งในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำทั้งสองรัฐบาล
อนุมานได้หรือไม่ว่าการพบปะกันทุกครั้ง หรือเกือบทุกครั้ง คือการเตรียมการเพื่อเดินหน้าอะไรบางอย่างร่วมกันระหว่างไทยกับมาเลเซีย ในการจัดการปัญหาชายแดนใต้
โดยเฉพาะการพบปะกันล่าสุดก่อนสิ้นปี 67 ระหว่างนายกฯอันวาร์ กับอดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งคนในรัฐบาล โดยเฉพาะ นายภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็น “รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง” ของรัฐบาลชุดนี้ ออกมาขานรับแซ่ซ้องว่า ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้แน่นอน
ว่าแล้วก็สั่งรื้อ-ทบทวน “ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” ในที่ประชุม กบฉ. หรือคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 6 ม.ค.68
พร้อมขีดเส้น 1 เดือนให้เลขาธิการ สมช.มีคำตอบเรื่องยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ที่ต้องทบทวนใหม่ รวมทั้งการตั้งคณะพูดคุยฯ โดยเฉพาะหัวหน้าคณะพูดคุยฯคนใหม่ ซึ่งต้องสอดรับกับยุทธศาสตร์ใหม่ที่ผ่านการรื้อใหญ่และทบทวน
ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้คืออะไร?
“กูรูชายแดนใต้” ซึ่งเป็นทั้งอดีตนายทหาร และอดีตคนทำงานการเมืองในสภา แกะรอยยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ในพิมพ์เขียวของพรรคเพื่อไทย และอดีตนายกฯทักษิณเอาไว้อย่างน่าสนใจ
1.เมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก เคยไปรับเครื่องราชฯ และหารือข้อราชการกับบุคคลระดับรัฐมนตรีของมาเลเซีย และได้รับสัญญาณว่า มาเลเซียพร้อมให้ความช่วยเหลือไทยอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยข้อเสนอของมาเลเซียคือ ต้องการให้ไทยเปิดทางให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “เขตปกครองพิเศษ”
ข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ต่อข้อเสนอของมาเลเซีย และกลับมาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า “ไม่เอาด้วย”
2.ในยุคที่ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อครั้งที่ยังเป็นผู้นำพรรคอัมโน เคยเอ่ยกับบุคคลระดับสูงของไทยระหว่างเดินทางเยือนไทยว่า มาเลเซียมีข้อเสนอให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็น “เขตปกครองพิเศษ”
แต่คู่สนทนาของ ดร.มหาธีร์ แสดงท่าทีปฏิเสธทันควัน
3.ในรัฐบาล อันวาร์ อิบราฮิม (รัฐบาลปัจจุบัน) ผู้นำมาเลเซียเคยพบปะกับบุคคลระดับประมุขหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยของไทย และเอ่ยเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” อีกครั้งหนึ่ง
แต่คู่สนทนาฝั่งไทย ไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับ เพราะเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่จะตอบรับได้
4.อดีตนายกฯทักษิณ คือผู้ริเริ่มตัวจริง ที่ทำให้มีการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยการช่วยเหลือของ นายนาจิบ ราซัก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยนายนาจิบ เป็นเพื่อนกับอดีตนายกฯทักษิณ
ราวๆ ปลายปี 2554 ต่อต้นปี 2555 เคยมีการเรียกผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาพูดคุยกับอดีตนายกฯทักษิณ ระหว่างเยือนมาเลเซีย โดยขณะนั้นอดีตนายกฯทักษิณพำนักอยู่นอกประเทศไทย เป็นยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว
ผลการพูดคุยกับผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนล้มเหลว และสร้างความไม่พอใจให้คนในขบวนการ นำมาสู่เหตุการณ์ลอบวางระเบิด “คาร์บอมบ์” ครั้งใหญ่ในห้างดังกลางเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555
แต่อดีตนายกฯก็ไม่ละความพยายาม สุดท้ายมีการเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจา เมื่อ 28 ก.พ.2556 ในรัฐบาลของน้องสาวเช่นกัน
คู่เจรจาในขณะนั้นคือขบวนการบีอาร์เอ็น
ต่อมามีการเสนอ “ข้อเรียกร้อง 5 ข้อ” เป็นเอกสารภาษาอังกฤษที่เป็นทางการ แต่ข้อเรียกร้องทะลุเพดานไปถึงขั้น “ขอเขตปกครองตนเอง” ทำให้ฝ่ายความมั่นคงไทยรับไม่ได้ กระทั่งล้มโต๊ะพูดคุยเจรจาไปในที่สุด และจบลงด้วยการรัฐประหารปี 2557
5.คำสัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ม.ค.68 ของรองนายกฯภูมิธรรม นอกจากการส่งสัญญาณ “รื้อยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” และเดินหน้าตั้งคณะพูดคุยเจรจาชุดใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่แล้ว ยังมีการหลุดถ้อยคำทำนองว่า… “ปัญหาชายแดนใต้มีมาเลเซียได้รับผลกระทบด้วย และเท่าที่ดูวันนี้ รัฐบาลมาเลเซียก็ปรารถนาให้พื้นที่ชายแดน 2 ประเทศมีความสงบ และเป็นพื้นที่ที่สามารถพัฒนาด้านเศรษฐกิจได้”
จากความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่หยิบมาต่อจิ๊กซอว์กัน ทำให้พอมองเห็นและอนุมานได้หรือไม่ว่า ปลายทางของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังจะมีการรื้อยุทธศาสตร์กันใหม่รอบนี้ และมีมาเลเซียเป็นกองหนุนผ่านนายกฯอันวาร์ ซึ่งสานสัมพันธ์กับอดีตนายกฯทักษิณอย่างแน่นแฟ้น คือ “เขตปกครองพิเศษ”
ถ้านี่คือ “คำตอบสุดท้าย” ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า การรื้อยุทธศาสตร์ใหม่ และตั้งคณะพูดคุยชุดใหม่ ก็จะเดินไปตามกรอบนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามธงคำตอบที่วางเอาไว้…ใช่หรือไม่?
คำถามคือ คนไทยจะว่าอย่างไร เพราะข้อตกลงที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือรูปแบบการปกครอง ต้องนำเข้าหารือในรัฐสภา และการตั้ง “เขตปกครองพิเศษ” ต้องตราเป็นกฎหมาย
น่าคิดว่านี่คือแนวทางสร้างสันติสุขที่มีคนรอสมประโยชน์ หรือเป็นแนวทางสร้างความขัดแย้งรอบใหม่?