"ระยะเวลากว่า 2 เดือนที่พวกเราทำงานแบบจิตอาสา รับบริจาคเงินมาจากผู้ใหญ่ใจดีที่กรุงเทพฯ แล้วนำมาซื้อข้าวของ และทำอาหารแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน สิ่งที่พวกเราได้เห็น ได้รู้ และได้สัมผัสก็คือ บ้านเรามีคนจน คนลำบากมากมายเหลือเกิน มากกว่าที่เคยรู้มามากทีเดียว"
เป็นเสียงจากหนึ่งในสมาชิก "กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้" ที่สรุปบทเรียนจากของตนเองและเพื่อนๆ หลังลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้้งแต่ต้นเดือน เม.ย. จนถึงต้นเดือน มิ.ย. เป็นเวลานานกว่า 2 เดือน
กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ จับมือกับ ศูนย์ข่าวอิศรา และ นพ.ชัยวัฒน์ เตชะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนนักรบเสื้อขาวต้านภัย Covid-19 พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ ภรรยา ร่วมกันจัดระดมทุน ทั้งบริจาคเองและรับบริจาคจากเพื่อนฝูง ญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อนำเงินมาซื้อของอุปโภคบริโภค จัดทำเป็นคล้ายๆ "ถุงยังชีพ" มอบให้กับครอบครัวผู้เดือดร้อนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอรอยต่อของ จ.สงขลา
สาเหตุที่เลือกพื้นที่นี้เพราะทราบดีว่าประชาชนทุกข์ยากลำบากจากปัญหาความไม่สงบมาเนิ่นนาน เมื่อต้องเผชิญวิกฤติโรคระบาดเข้าไปอีก จึงเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด
แต่เมื่อกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ และศูนย์ข่าวอิศรา ลงพื้นที่จริง กลับพบว่าผู้เดือดร้อนมีมากกว่าที่คิด และสังคม ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน มีผู้คนยากจนข้นแค้นถึงระดับไม่มีเงิน ไม่มีอาหาร ไม่มีนมให้ลูกกิน ครัวเรือนที่เผชิญสถานการณ์เช่นนี้มีมากมายจนน่าตกใจ
วิธีการทำงานของกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ จะเปิดรับข้อมูลจากชาวบ้านที่แจ้งความเดือดร้อนเข้ามา ทั้งปัญหาของตนเองและเพื่อนบ้านหรือคนในชุมชน จากนั้นทางกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ จะมีทีมงานลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบและพบปะกับครอบครัวในเบื้องต้น เพื่อให้แน่ชัดว่าเป็นผู้เดือดร้อนจริง และนับจำนวนสมาชิกในครอบครัว จากนั้นจึงจะส่งข้อมูลให้ทีมงานอีกชุดหนึ่งลงไปเยี่ยมและนำเครื่องอุปโภคบริโภค ข้าวสาร อาหารแห้ง นม น้ำตาลไปมอบให้ โดยจำนวนสิ่งของที่มอบจะเหมาะสมกับจำนวนคนในครอบครัว และมีปริมาณมากพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ราวๆ 1-2 สัปดาห์ ไม่ให้มอบให้แบบกินใช้วันเดียวหมด
จากการทำงานและลงพื้นที่แบบถี่ยิบ สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า 600 ครัวเรือน กระจายไปในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา นอกจากนั้นยังเปิดครัวทำอาหารปรุงสุกแจกจ่ายผู้เดือดร้อนอีก 500 ชุด
หลายพื้นที่ที่เดินทางไปแจกของช่วยเหลือชาวบ้าน มีกลุ่มคนในท้องถิ่นเข้าร่วมกิจกรรมด้วย อย่างที่บ้านเจาะกลาดี หมู่ 8 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา ช่วงที่กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ เข้าพื้นที่ ก็มีกลุ่มเยาวชนไปร่วมกิจกรรม และให้ความรู้ชาวบ้านถึงการป้องกันโควิด-19 เช่น การใช้เจลแอลกอฮอล์อย่างถูกวิธี
ส่วนที่บ้านหาดทราย หมู่ 6 ต.ธารคีรี อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งเป็นหมู่บ้านบนภูเขา แต่กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯก็ไม่ได้ย่อท้อที่จะเดินทางเข้าไปให้ถึง
นายยูโซะ ลาเต๊ะ ชาวบ้านหาดทราย กล่าวว่า พวกตนไม่มีอะไรจะตอบแทน นอกจากคำขอบคุณที่เห็นความสำคัญกับปากท้องของคนที่นี่ เพราะอยู่บนดอย ถูกปิดเส้นทาง ทำให้เดือดร้อนมากเป็นพิเศษ ชาวบ้านรู้สึกดีใจและซาบซึ้งน้ำใจอย่างมาก เพราะก่อนจะได้รับความช่วยเหลือ หลายครอบครัวเริ่มอดกันแล้ว ต้องต้มข้าวเปล่ากินกับน้ำปลา
ยิ่งเดินทางไปหลายพื้นที่ ยิ่งพบกับผู้ลำบากทุกข์ร้อน อย่าง นางแมะซง อาบะ ผู้พิการจาก จ.ปัตตานี บอกว่า ช่วงที่ผ่านมาตลาดปิด ไม่สามารถขายข้าวเหนียวที่ตลาดได้ คนหาเช้ากินค่ำแบบตน เมื่อขายของไม่ได้ ก็ไม่มีกินทันที ยังดีที่มีของบริจาคมามอบให้ จึงต่อชีวิตไปได้อีกระยะหนึ่ง
นายอิสมะแอ โต๊ะเย็ง อายุ 70 ปี ชาว จ.ยะลา เล่าว่า เงินหมด แค่จะซื้อน้ำแข็งเปล่า 5 บาทเพื่อเปิดปอซอ (ละศีลอดในเดือนรอมฎอน) ยังต้องหาทุกซอกทุกมุม เพราะที่บ้านแทบไม่มีเงินเหลือเลย
"ต้องขอบคุณจริงๆ ที่เอากับข้าวดีๆ มาให้ ทำให้เราได้กินข้าวแบบมีกับข้าวเหมือนคนอื่น ทุกวันกินแต่ข้าวต้มกับเกลือ ได้กัดปลาเค็มบ้างบางวันก็ถือว่าดีที่สุดแล้ว แต่วันนี้มีทั้งแกงส้ม ปลาราดพริก มีขนมไข่ และมีข้าวสารให้เราหุ้งกินด้วย เป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมมาก ขอบคุณเจ้าของเงินจริงๆ" นายอิสมะแอ กล่าวหลังได้รับแจกอาหารปรุงสุกจากครัวที่เปิดโดยกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ
อย่างที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่า วิกฤติโควิดทำให้ภาพชีวิตของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งปรากฏชัด เป็นภาพจริงที่ว่ามีคนจน คนลำบากมากมายในดินแดนแห่งนี้
"บางคนขอสบู่ เพราะไม่มีแม้เงินจะซื้อสบู่เพื่อล้างมือและอาบน้ำทำความสะอาด ทั้งๆ ที่รัฐบอกให้รักษาความสะอาด บางครอบครัวให้ความสำคัญกับลูกก่อน ก็ขอนมผงเด็ก ขอแพมเพิร์ส เพราะไม่มีเงินซื้อ" รอกีเยาะ อาบู สมาชิกกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ กล่าว
"พื้นที่ช่วยเหลือของเราจะเน้นบริเวณที่เป็นรอยต่อระหว่างอำเภอและจังหวัด เพราะมักจะเป็นพื้นที่ตกสำรวจ ความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง เช่น อ.สะบ้าย้อย (สงขลา) อ.ยะหา (ยะลา) อ.โคกโพธิ์ (ปัตตานี) อ.บันนังสตา (ยะลา) อ.ยะหริ่ง (ปัตตานี) อ.ระแงะ อ.เจาะไอร้อง (นราธิวาส) อ.เทพา (สงขลา) อ.ยะรัง อ.หนองจิก และ อ.ทุ่งยางแดง (ปัตตานี) การช่วยเหลือเน้นไปที่พื้นที่เสี่ยง ถูกทางราชการสั่งปิดหมู่บ้าน เพราะทำให้ชาวบ้าานเดือดร้อนมากเป็นพิเศษ"
"ผู้ที่เดือดร้อนมีทั้งเด็ก คนชรา และคนทำงาน หลายครอบครัวมีฐานะยากจนอยูู่แล้ว เมื่อโควิดซ้ำเติมก็ยิ่งหนัก ไม่มีอาหารกิน คนขายของก็ขายไม่ได้ ต้องหยุดงาน จึงไม่มีเงินซื้ออาหาร หลายครอบครัวต้องใช้นมข้มหวานละลายน้ำให้บุตรหลานกิน เพราะไม่มีเงินซื้อนมผงของเด็ก"
เธอบอกด้วยว่า การช่วยเหลือทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจาก นพ.ชัยวัฒน์ และ พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ รวมทั้งผู้ใหญ่ใจดีจากในกรุงเทพฯ และนอกพื้นที่ชายแดนใต้
"ขอบคุณมากๆ ขอบคุณจริงๆ ที่ไม่ทิ้งคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้"
-------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ลูกชายอัมพฤกษ์-ลูกสาวตกงาน ผู้เฒ่ากัดฟันดูแล 8 ชีวิต
ธารน้ำใจยุคโควิด...เปลี่ยนโศกนาฏกรรมชีวิตพ่อเลี้ยงเดี่ยวลูก 5