สถานการณ์ "ไข่แพง" และ "ไข่ขาดตลาด" ลุกลามไปถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ได้แพงเฉพาะไข่ แต่สินค้าอุปโภคบริโภคราคาพุ่งสูงขึ้นทุกชนิด
ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจตลาดสดใน อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่เทศบาลจะอนุญาตให้เปิดขาย เพราะสัปดาห์หน้ามีข่าวว่าเทศบาลจะปิดตลาด เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อในยะลาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด 26 รายแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ มีการกักตัวเพื่อสังเกตอาการมากถึง 21 คน
เมื่อข่าวปิดตลาดแพร่ออกไป ทำให้ชาวบ้านออกมาจับจ่ายซื้อของไปกักตุนเป็นจำนวนมาก ขณะที่ราคาสินค้าทุกชนิดพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลาทู จาก ปกติเข่งละ 50 บาท ขึ้นเป็น 80 บาท ปลาเค็มจากกิโลกรัมละ 80 บาท ขึ้นเป็น 100 บาท พริกจากกิโลกรัมละ 100 บาท ขึ้นเป็น 120 บาท และไข่ไก่ จากปกติแผงละไม่ถึง 100 บาท หรือร้อยเศษๆ (ตามเบอร์หรือขนาดของไข่) ขึ้นเป็น 180 บาท แถมขาดตลาดด้วย
ทีมข่าวได้คุยกับผู้บริโภคบางราย เล่าว่าขับรถไปหาไข่ถึงในตัวเมืองยะลา (ไปกลับราว 60 กิโลเมตร) ก็ยังไม่มีไข่ เบื้องต้นชาวบ้านเชื่อว่าไข่มีเพียงพอ แต่ผู้ค้ารายใหญ่หรือฟาร์มใหญ๋ๆ ไม่ยอมปล่อยไข่ออกสู่ท้องตลาด เพื่อดึงราคาให้สูงขึ้นไปอีก
สำหรับในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ค่อยมีฟาร์มไก่ไข่ขนาดใหญ่ โดยมากจะเป็นฟาร์มขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือไม่ก็เลี้ยงกันในครัวเรือน แต่การขายส่งส่วนใหญ่สู้รายใหญ่ไม่ไหว ทำให้ฟาร์มไก่ไข่เลิกกิจการไปจนเกือบหมด โดยไข่ไก่ที่ขายในพื้นที่รับมาจากจังหวัดอื่น เช่น ราชบุรี ทำให้หลายๆ ช่วงประชาชนต้องบริโภคไข่ในราคาแพง
ด้านนักธุรกิจทั้งรายใหญ่รายย่อยในพื้นที่ก็เจอปัญหาด้วยเช่นกัน นายอิสกันดา มูซอ หนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจไทยที่ค้าขายฝั่งปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า เดือดร้อนอย่างหนักตั้งแต่มาเลย์ปิดด่าน กระทั่งปัจจุบันไทยเองก็ปิดด่านด้วย ทำให้เดินทางข้ามฝั่งไปขายของไม่ได้ ปกติจะขายได้วันหนึ่ง 3,000-4,000 บาท แต่ตอนนี้ไม่มีรายได้เข้ามาเลย ยังไม่รู้ต้องเจอสภาพแบบนี้อีกนานขนาดไหน
"ทุกวันนี้ได้แต่อยู่บ้าน มีวัว 1 ตัวที่พ่อตาซื้อให้ ก็เลี้ยงวัวแก้เบื่อไปวันๆ กินก็กินเท่าที่มี บอกลูกๆไปว่าตอนเรามีเราก็กินอย่างดีมาแล้ว พอตอนไม่มี เราก็กินเท่าที่มี ลูกๆ ก็เข้าใจ บางวันประหยัดมากๆ ก็ต้มข้าวกินกับเด็กๆ ก็ชอบกันไปอีกแบบ ตอกไข่ใส่ 2-3 ฟองกินทั้งครอบครัว 10 คน ก็พออยู่ได้ แต่ตอนนี้ไข่ก็มาแพงอีก แต่ยังเชื่อว่าเดี๋ยวเราจะก็ผ่านวิกฤตินี้ไปได้" อิสกันดา กล่าว
นางซอลีฮะ มูซอ นักธุรกิจรับซื้อยางพาราใน จ.ยะลา เล่าว่า รู้สึกกังวลมากหลังมีข่าวว่าโรงงานใหญ่จะไม่รับซื้อยาง เพราะส่งออกไม่ได้ แต่ตนตั้งใจว่าจะรับซื้อต่อไป ซื้อเท่าที่พอจะซื้อได้ จะรับซื้อแล้วเก็บไว้จนกว่าโรงงานจะเปิด
"ถ้าเราไม่ซื้อ ชาวบ้านเดือดร้อนหนักแน่ เขาจะเอาอะไรกิน ถูกยังดีกว่าขายไม่ได้ ชาวบ้านมาคุยแบบนี้ จะไม่ให้เราช่วยได้อย่างไร ก็ต้องรับซื้อต่อไป เงินที่เก็บๆ ไว้ก็ต้องเอามาเป็นทุนซื้อยางให้ชาวบ้านก่อน เราต้องช่วยเหลือกัน ยิ่งวิกฤติขนาดนี้ ทุกคนต้องเห็นใจกัน"
ถือเป็นเรื่องดีๆ ท่ามกลางข่าวร้าย...โรคระบาด เศรษฐกิจล่มสลาย แต่ยังดีที่หลายคนยังมีน้ำใจให้กัน
---------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
132 คนไทยจากมาเลย์เสี่ยงโควิด ไม่ได้อยู่แค่สามจังหวัดชายแดนใต้
พบ"กลุ่ม 132 คนไทย"ป่วยที่ปัตตานี-ยะลา!
เช็คชื่อ 132 คนไทย สธ.ยันติดเชื้อแล้ว 2 - ทัพ 4 ยังไม่ปิดจุดผ่อนปรน
งดละหมาดศุกร์ในกทม. - คุมเข้มแรงงานต้มยำ - ปัตตานีมีติดโควิด
ปัตตานียอดติดโควิดพุ่ง 7 ราย - สงขลาลุ้นอีก 12
พบโควิดครบ 3 จังหวัดใต้ - ตลาดยังแน่น - จี้ ศอ.บต.รวมศูนย์ให้ข้อมูล
สรุปยอดผู้ป่วยโควิดชายแดนใต้ ศอ.บต.เร่งรับมือ นศ.-แรงงานแห่กลับเพิ่ม
ชายแดนใต้เผชิญวิกฤติ "โควิด-ปิดด่าน-ยางถูกเท"
ปัตตานีชัตดาวน์! หลังผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง 26 ราย
รู้จัก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการขั้นสุดสู้โควิด?
ปณิธาน : งัด พ.ร.ก.สู้โรคระบาด...ประวัติศาสตร์กฎหมายพิเศษ
เปิดข้อมูลเบื้องหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สู้โควิด