“โรคไอกรน” ระบาดหนักที่ปัตตานี ติดเชื้อเกือบทุกอำเภอรวม 108 ราย ทารก 18 วันป่วยเสียชีวิตแล้ว 1 ราย นายแพทย์สาธารณสุขฯ เผยต้นเหตุจากอัตราการรับวัคซีนในเด็กมีน้อย แนะเร่งพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์อายุ
มีรายงานสถานการณ์โรคไอกรนในพื้นที่ จ.ปัตตานี ณ วันที่ 12 ธ.ค.66 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่องในหลายอำเภอ รวม 108 ราย และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 1 ราย เป็นเด็กเล็กอายุ 18 วันใน อ.เมืองปัตตานี
โดย อ.เมืองปัตตานี มีมีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 27 ราย รองลงมา อ.ยะรัง 24 ราย, อ.แม่ลาน 12 ราย, อ.มายอ 9 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 8 ราย, อ.สายบุรี 6 ราย, อ.ไม้แก่น 6 ราย, อ.ยะหริ่ง 5 ราย อ.ปะนาเระ 4 ราย อ.หนองจิก 4 ราย และ อ.กะพ้อ 3 ราย ส่วน อ.โคกโพธิ์ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
ด้าน นายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้มีการติดเชื้อไอกรนกระจายในหลายอําเภอ ที่ผ่านมามีทารกที่ติดเชื้อจากคนในบ้านเสียชีวิตด้วย ขณะที่แนวโน้มการติดเชื้อยังคงมีสูงขึ้น
“สาเหตุหนึ่งเกิดจากอัตราการรับวัคซีนของเด็กในพื้นที่ จ.ปัตตานี มีน้อย ทั้งที่โรคไอกรนและอีกหลายๆ โรคเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองนําบุตรหลานเข้ารับวัคซีนพื้นฐานตามเกณฑ์อายุ ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าว
สำหรับ “โรคไอกรน” เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bordetella pertussis โรคไอกรนก่อให้เกิดการไออย่างรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็กจะมีความรุนแรงมาก โดยจํานวนผู้ป่วยโรคไอกรนได้ลดลงอย่างมากหลังจากเริ่มมีการใช้วัคซีนไอกรน
แต่ในระยะหลัง จํานวนผู้ป่วยโรคไอกรนได้เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม รดกันโดยตรง ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกราย โรคนี้พบได้บ่อยในทารก ตั้งแต่เดือนแรก เนื่องจากภูมิคุ้มกันน้อย ทำให้อาการในเด็กจะรุนแรงมากและมีอัตราการตายสูง ส่วนในวัยหนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่ อาจจะไม่มีอาการแบบไอกรน จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน
โดยอาการของโรคแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ระยะแรกเด็กจะเริ่มมีอาการ มีน้ำมูก และไอ เหมือนอาการเริ่มแรกของโรคหวัดธรรมดา อาจมีไข้ต่ำๆ ตาแดง น้ำตาไหล จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าไอนานเกิน 10 วัน เป็นแบบไอแห้งๆ
ระยะที่ 2 มีอาการไอเป็นชุดๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะจะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ มีอาการไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้ง ในช่วงที่มีอาการไอ ผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพอง การไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมา ผู้ป่วยจึงจะไอติดต่อกันไปเรื่อยๆ
ส่วนระยะฟื้นตัว กินเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุดๆ จะค่อยๆ ลดลง ทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง แต่จะยังมีอาการไอหลายสัปดาห์ระยะของโรคทั้งหมด ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์