ก่อนวันที่ 4 มกราคม 2568 เพียง 1 วัน เกิดระเบิดที่ด่านตรวจในพื้นที่ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 6 นาย เด็กสามขวบโดนลูกหลงด้วย 1 คน
คนร้ายนำระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบขึ้นเองไปซุกไว้ในกล่องใส่แบตเตอรี่บนป้ายไฟ “หยุดตรวจ” ของตำรวจ ก่อนกดจุดระเบิดตอนที่ตำรวจกำลังเตรียมตั้งด่านตรวจยานพาหนะช่วงเทศกาลปีใหม่
สะท้อนถึงเจตจำนงและความมุ่งหมายของคนร้ายที่ไม่เคยลดน้อยลงในการสร้างสถานการณ์ เพราะต้องมีการเตรียมการ เฝ้าติดตาม และฉวยโอกาส ช่วงชิงความได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา
ทั้งยังเป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ให้เชื่อมโยงไปถึงวาระ 21 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬารจากค่ายทหารใน อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งถือเป็น “ปฐมบท” ของไฟใต้รอบปัจจุบันที่ยังมองไม่เห็นบทจบด้วย
กลายเป็นว่าวาระ 21 ปีปล้นปืน มีเหตุระเบิดเป็นเสียงเตือนให้นึกถึง และยังเป็นระเบิดประเดิมปีใหม่ 2568 อีกด้วย
ไม่ต้องให้ “กูรู” รายใดมาวิเคราะห์ก็คาดการณ์ได้เลยว่า สถานการณ์ไฟใต้ปีนี้จะดีขึ้นหรือเลวลง
พูดถึงเหตุลอบวางระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นยุทธวิธีที่คนร้ายใช้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 ถือเป็นยุทโธปกรณ์หลักที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้เลยก็ว่าได้ และถือว่ามีอานุภาพมากที่สุด สร้างความสูญเสียหนักที่สุด
โดยระเบิดที่คนร้ายนำมาก่อเหตุ เกือบทั้งหมดเป็น “ระเบิดแสวงเครื่อง” หรือ Homemade Bombs ซึ่งหมายถึงระเบิดที่คนร้ายประกอบขึ้นเอง โดยใช้อุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่น ไม่ใช่ระเบิดแบบมาตรฐาน หรือระเบิดที่ใช้ในกิจการของทหาร
คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ไฟใต้ 21 ปีที่ครบรอบในวันที่ 4 มกราคม มีการก่อเหตุรุนแรงด้วยระเบิดมาแล้วกี่ลูก?
คำตอบก็คือ 5,484 ลูก โดยหากนับเป็นเหตุการณ์จะนับได้ 4,369 เหตุการณ์ เนื่องจากบางเหตุการณ์คนร้ายใช้ระเบิดมากกว่า 1 ลูก
ปีที่เกิดเหตุระเบิดมากที่สุด คือปี 2550 จำนวน 468 เหตุการณ์ เฉลี่ยมากกว่าวันละ 1 เหตุการณ์ โดยมีการใช้วัตถุระเบิดในการก่อเหตุ 476 ลูก
@@ นราธิวาสแชมป์โดนบอมบ์
เมื่อพิจารณาตามพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบมาตลอด 21 ปี จะพบว่าจังหวัดที่เกิดเหตุระเบิดมากที่สุดคือ จังหวัดนราธิวาส โดยมีเหตุระเบิดมากกว่าจังหวัดอื่นทุกปี ยกเว้นปี 2558 ที่จังหวัดยะลามีเหตุระเบิดเกิดขึ้นมากกว่า และจำนวนลูกระเบิดที่ใช้ก่อเหตุก็มากกว่า
ส่วนอีก 20 ปีที่เหลือ จังหวัดนราธิวาสเป็นแชมป์มาโดยตลอด
สาเหตุหนึ่งที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะนราธิวาสเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุดใน 3 จังหวัด แบ่งเขตปกครองเป็น 13 อำเภอ มากกว่าปัตตานีที่มี 12 อำเภอ และยะลาที่มี 8 อำเภอ
@@ ปี 67 สถิติระเบิดถังแก๊สพุ่ง สะท้อนไฟใต้ยิ่งแรง?
สำหรับปี 2567 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป มีเหตุระเบิดเกิดขึ้น 90 เหตุการณ์ จำนวน 139 ลูก ความน่าสนใจอยู่ที่ภาชนะที่ใช้บรรจุวัตถุระเบิดและดินระเบิด เป็นถังแก๊สถึง 58 ลูก มากกว่าท่อเหล็ก และถังดับเพลิง
ข้อมูลนี้สวนทางกับสถิติระเบิดในปีอื่นๆ ที่ภาชนะบรรจุระเบิดส่วนใหญ่เป็นท่อเหล็กซึ่งประกอบขึ้นเอง และหาง่ายกว่าถังแก๊ส
ที่สำคัญ การที่ระเบิดถังแก๊สถูกนำมาใช้จำนวนมาก สะท้อนถึงความร้ายแรงของเหตุการณ์ เนื่องจากเป็นระเบิดที่มีขนาดใหญ่กว่าที่บรรจุในท่อเหล็ก และมีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงกว่า
@@ 21 ปีไฟใต้ 22 ปีงบประมาณ ละลาย 5.1 แสนล้าน!
ส่วนงบประมาณดับไฟใต้ 22 ปีงบประมาณ นับตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2568 ซึ่งงบปี 68 ผ่านสภาไปแล้ว มีการใช้จ่ายงบดับไฟใต้ไปทั้งสิ้น 510,365 ล้านบาท (ห้าแสน หนึ่งหมื่น สามร้อย หกสิบห้า ล้านบาท) พูดง่ายๆ ก็คือมากกว่า 5 แสนล้านไปแล้ว แต่ความสงบและสันติสุขก็ยังไม่เกิดขึ้น มีระเบิดรับปีใหม่ ทำให้มีกำลังพลบาดเจ็บ เด็กเล็กก็ยังบาดเจ็บ
ปีงบประมาณที่ใช้งบดับไฟใต้มากที่สุด คือ ปี 2559 จำนวน 30,512.80 ล้านบาท เป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยแรก หรือที่เรียกกันว่า “รัฐบาล คสช.” ซึ่งคาดหมายกันว่าไฟใต้น่าจะดับมอดลงได้ เนื่องจากแกนนำรัฐบาลล้วนเป็นนายทหารที่เชี่ยวชาญสมรภูมิสามจังหวัดชายแดนใต้
แต่การณ์กลับตรงกันข้าม...
@@ แผนบูรณาการซุกงบดับไฟใต้ พุ่งสูงสุด 4 หมื่นล้าน!
ผลผลิตที่รัฐบาล คสช.ทำเอาไว้ในด้านงบประมาณก็คือ จัดหมวดหมู่งบดับไฟใต้ใหม่ เรียกว่า “แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” เริ่มในปีงบประมาณ 2560
หลังจากนั้นงบดับไฟใต้ก็ลดน้อยลงเป็นลำดับ จาก 30,512.80 ล้านบาท ในปี 2559 ลดเหลือ 12,510.11 ล้านบาท ในปี 2560 และลดลงตามลำดับ กระทั่งปี 2568 เหลือแค่ 5,781.90 ล้านบาทเท่านั้น
แต่นั่นถูกตรวจสอบและขุดคุ้ยจนได้รับรู้ว่า เป็น “งบหน้าฉาก” ที่ปรากฏในเอกสารงบประมาณที่รัฐบาล คสช.จัดทำขึ้นเท่านั้น แต่งบดับไฟใต้ยังถูกซุกอยู่ใน “แผนงานอื่น” ทว่ามีวัตถุประสงค์แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนาภาคใต้เช่นกัน และเกือบทุกปี งบแผนงานอื่นมีจำนวนมากแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็น “แผนหลัก” เสียอีก
อย่างเช่น ปีงบประมาณ 2560 ที่เริ่มใช้งบแผนงานบูรณาการฯ เป็นปีแรก ตัวเลขโชว์อยู่ที่ 12,510.11 ล้านบาท แต่งบนอกแผน ยังมีอีก 25,284 ล้านบาท ทำให้ยอดงบดับไฟใต้รวม อยู่ที่ 37,794.11 ล้านบาท มากกว่างบปี 2559 ที่ตัวเลขสูงสุดเสียอีก
และในปีงบประมาณ 2561 งบแผนบูรณาการฯที่โชว์ในเอกสารงบประมาณ อยู่ที่ 13,255.74 ล้านบาท แต่งบนอกแผนบูรณาการ พุ่งสูงถึง 27,368 ล้านบาท ส่งผลให้งบดับไฟใต้รวมพุ่งทะลุ 4 หมื่นล้านกันเลยทีเดียว โดยงบดับไฟใต้รวมอยู่ที่ 40,623.74 ล้านบาท ทำให้ปี 2561 เป็นปีที่ใช้จ่ายงบดับไฟใต้สูงที่สุดในรอบ 22 ปีงบประมาณ
ขณะที่งบดับไฟใต้ปีล่าสุด ที่งบแผนงานบูรณาการฯ ระบุว่าอยู่ที่ 5,781.90 ล้านบาท แต่ก็ยังมีงบแผนงานอื่นอีก 2,349.69 ล้านบาท ทำให้งบดับไฟใต้รวมอยู่ที่ 8,131.59 ล้านบาท ก็ถือว่าไม่ใช่น้อยๆ เช่นกัน
@@ เยียวยา 4.4 พันล้าน ดับเฉียด 6 พันศพ - พิการ 903 ราย
งบประมาณทั้งหมดนี้ ส่วนหนึ่งคือ “งบเยียวยา” ที่ใช้ชดเชยเพื่อดูแลเหยื่อไฟใต้ ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางกาย เสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพพลภาพ รวมถึงผลกระทบทางทรัพย์สิน คือ ทรัพย์สินเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่อยู่อาศัย ร้านค้า หรือยานพาหนะ และพืชผลทางการเกษตร (เพราะมีปฏิบัติการโค่นต้นยาง ทำลายสวนผลไม้ของชาวบ้านด้วย)
คุณผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่า ตลอด 21 ปีไฟใต้ ข้อมูลถึงวันที่ 3 มกราคม 2568 มีการจ่ายเยียวยาเหยื่อไฟใต้ไปแล้ว 4,468.8 ล้านบาท เป็นการจ่ายเยียวยาช่วยเหลือด้านชีวิตและร่างกายมากที่สุด 3,411.9 ล้านบาท ที่เหลือ 1,056.8 ล้านบาท เป็นทรัพย์สินที่เสียหาย
จากยอดเงินเยียวยา สามารถย้อนกลับไปดูตัวเลขความสูญเสียได้ ประกอบด้วย
ผู้เสียชีวิตจากไฟใต้ 5,936 ราย แยกเป็นประชาชนตาดำๆ 3,644 ราย และเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อส. ฝ่ายปกครอง 2,292 ราย
ผู้บาดเจ็บจากไฟใต้ 13,129 ราย แยกเป็นประชาชน 6,442 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 6,687 ราย
ในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องกลายเป็นคนพิการ ทุพพลภาพ มากถึง 903 ราย แยกเป็นประชาชน 465 ราย และเจ้าหน้าที่ 438 ราย
ภาพรวมความรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้น 9,948 ครั้ง มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ รวมทั้งสิ้น (ทั้งบาดเจ็บ เสียชีวิต ทุพพลภาพ) 19,968 ราย
ตัวเลขนี้ถือว่า “เป็นทางการ” และ “เชื่อถือได้” ว่าเป็นความสูญเสียจากไฟใต้จริงๆ เพราะการจ่ายเยียวยาต้องได้รับการรับรองเหตุการณ์จาก 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และปกครอง ว่าเป็นเหตุการณ์ความมั่นคงจริงๆ ไม่ใช่ขัดแย้งส่วนตัว
-----------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกบางส่วนจาก รายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี