วันเสาร์ที่ 4 ม.ค.68 ที่คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดการแข่งขันทักษะวิชาการของนักเรียนโรงเรียนเอกชนในจังหวัดปัตตานี โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ตลอดจนคณะรองผู้ว่าฯ คณะผู้บริหาร และ สส.พรรคประชาชาติ ตลอดจนครู นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
การแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะทางวิชาการและเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงเรียนเอกชนใน จ.ปัตตานี อีกทั้งเพื่อคัดเลือกตัวแทนนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันทักษะวิชาการในวันการศึกษาเอกชนส่วนภูมิภาค ประจำปีการศึกษา พ.ศ.2568 ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ. ที่ จ.ชุมพร ด้วย
โอกาสนี้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวบนเวทีถึงวาระครบรอบ 21 ปีไฟใต้ 21 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนว่า ทุกรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเกือบ 520,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุการณ์ความไม่สงบเกือบ 10,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตประมาณ 6,000 คน ผู้บาดเจ็บนับหมื่นคน
@@ ยกปีโควิดระบาด สะท้อนรัฐ-ผู้เห็นต่างฯพร้อมดูแลประชาชน
“ผมนำจำนวนการเกิดเหตุการณ์ชายแดนภาคใต้มาดูสถิติ พบว่าเหตุการณ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อมีการเปิดพื้นที่พูดคุย มีการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหา เพียงแต่ผลตอบรับยังไม่ชัด เพราะช่วงเวลาของการพูดคุยไม่ค่อยต่อเนื่อง”
“แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดของการแก้ปัญหาไฟใต้ คือ เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เหตุการณ์ความไม่สงบลดจากกว่า 1,000 ครั้งต่อปี เหลือแค่ 57 ครั้ง นี่คืออะไรรู้หรือไม่? นี่คือสิ่งที่บอกว่าทุกชีวิตมีความสำคัญ มีคุณค่า และมีศักดิ์ศรี แม้แต่ฝ่ายผู้ก่อการก็ยังช่วยรักษาชีวิต เราจะเห็นว่าในช่วงเหตุการณ์การระบาดโควิด ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือผู้เห็นต่าง ก็มาบอกว่าเราต้องหยุดปฏิบัติการ (หยุดใช้ความรุนแรง) เพื่อมาช่วยเหลือประชาชน”
“บทเรียนดังกล่าวผมคิดว่า การที่จะทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น จะต้องทำให้ทุกคนมีความรู้ เพราะทุกคนเป็นเชลยของความคิดและปัญญา การที่จะให้คนมีความคิดและปัญญา ต้องเกิดจากการศึกษา การศึกษาเป็นการเปลี่ยนมนุษย์จากที่ไม่รู้ให้เป็นผู้มีความรู้ การเปลี่ยนมนุษย์ที่มีความป่าเถื่อนให้มีศาสนา ให้มีจริยธรรม ดังนั้นต้องใช้การศึกษานำการเมืองการทหาร เพราะการศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น”
@@ “คณะพูดคุย”ต้องมี - ถกกระจายอำนาจ กำหนดชะตาชีวิตตนเอง
หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด พ.ต.อ.ทวี พร้อมคณะ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจอีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือไปเยี่ยมกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว “ฮูกมปากัต” ของวิสาหกิจชุมชนยูโยด่านภาษี เทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จังหวัดปัตตานี
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกครั้งถึงปัญหาไฟใต้ในวาระ 21 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน ว่า อยากให้มีพื้นที่ของประชาชนได้ปรึกษาหารือกันในการแก้ปัญหาความไม่สงบ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตรวมถึงผู้บาดเจ็บนับหมื่นราย ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้เคราะห์ร้าย ทำให้ครอบครัวที่เข็มแข็งกลายเป็นครอบครัวเปราะบาง มีแม่เลี้ยงเดียว มีเด็กกำพร้า
“ถ้าจะถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากต้องการให้สถานการณ์สงบลง มองว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องการที่จะทำเพื่อให้ประชาชนมีความสงบสุข ถ้าร่วมมือกัน ความขัดแย้งก็จะหายไป ดังนั้นต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน และต้องกล้าที่จะพูดคุยกันในเรื่องของการกระจายอำนาจ การบริหารการปกครอง การถ่ายโอนอำนาจ จะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม”
“ผมยังเชื่อว่า การแก้ปัญหาต้องแก้โดยทางรัฐศาสตร์ สำคัญกว่าการพูดคุย นั่นก็คือการกระจายอำนาจ การให้ประชาชนกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง เมื่อมีความขัดแย้งในพื้นที่ ก็ต้องมาพูดคุยกันในพื้นที่ก่อน ควบคู่กับคณะเจรจาพูดคุยสันติสุขด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น ยังคงต้องมีคณะพูดคุย แต่ต้องทำไปพร้อมกัน”
“ตำรวจต้องให้ความเป็นธรรม กอ.รมน.ต้องเปลี่ยนมิติความมั่นคงของรัฐ ต้องเป็นเรื่องเดียวกับความมั่นคงของประชาชน ความมั่นคงของรัฐก็คือความสุขของประชาชน ต้องเปลี่ยนมิติในการมอง ต้องไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาอีก”
@@ ดับไฟใต้... ใช้การศึกษานำการเมืองและการทหาร
สรุปข้อเสนอดับไฟใต้ของ พ.ต.อ.ทวี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม และก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และยังเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มี สส.ในพื้นที่ชายแดนใต้มากที่สุด ก็คือ
- “การศึกษานำการเมืองการทหาร” เพราะการศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น
- การเปิดพื้นที่พูดคุย ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทำให้เหตุรุนแรงลดอย่างมีนัยสำคัญ
“อยากให้มีพื้นที่ของประชาชน มีการปรึกษาหารือกันในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่... หากต้องการให้สถานการณ์สงบลง มองว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องการที่จะทำเพื่อให้ประชาชนมีความสงบสุข เป็นเรื่องที่สำคัญ ความขัดแย้งก็จะหายไป ดังนั้น ต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน”
- ประเด็นพูดคุย คือ การกระจายอำนาจ การบริหารการปกครอง การถ่ายโอนอำนาจ หัวใจคือประชาชนมีส่วนร่วม การให้ประชาชนกำหนดชะตาชีวิตตนเอง
“เมื่อมีความขัดแย้งในพื้นที่ ก็ต้องมาพูดคุยกันในพื้นที่ก่อน ควบคู่กับคณะเจรจาพูดคุยสันติสุขด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น ยังคงต้องมีคณะพูดคุย แต่ต้องทำไปพร้อมกัน ตำรวจต้องให้ความเป็นธรรม กอ.รมน.ต้องเปลี่ยนมิติความมั่นคงของรัฐ กับความมั่นคงของประชาชนให้เป็นอย่างเดียวกัน ความมั่นคงของรัฐก็คือความสุขของประชาชน”
@@ ยุทธศาสตร์มีหรือไม่ อะไรคือตัวชี้วัด?
ส่วนนักวิชาการ และผู้ที่เกาะติดปัญหาไฟใต้คนอื่นๆ มีข้อเสนอ “ดับไฟใต้” ด้วยเช่นกัน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง บอกว่า ขณะนี้ไฟใต้เปลี่ยนแกน ตัวแสดงหลักคือมาเลเซีย ฉะนั้นต้องวางยุทธศาสตร์สู้ “สงครามแนวร่วม” ทั้งในและนอกประเทศ
ส่วนการตั้งคณะพูดคุยสันติสุขชุดใหม่ สาเหตุส่วนหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่ตั้ง เพราะน่าจะยังหาคนที่เหมาะสมจริงๆ ไม่ได้ และต้องพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นอยากเจรจาจริงหรือไม่ ที่สำคัญคือท่าทีของรัฐบาลมาเลเซียที่มีต่อบีอาร์เอ็น เพราะเท่าที่ทราบ มาเลเซียก็ไม่แฮปปี้กับบางปีกของบีอาร์เอ็น
อาจารย์สุรชาติ ยังตั้งคำถาม ซึ่งบอกว่าเป็นคำถามเดิมๆ ที่ไม่เคยมีคำตอบว่า “รัฐบาลที่กรุงเทพฯ มียุทธศาสตร์ดับไฟใต้ที่แท้จริงหรือยัง”
ขณะที่ อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ตั้งคำถามว่า “ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผมสงสัยว่าฝ่ายความมั่นคงใช้ตัวชี้วัดอะไรที่ว่าสถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ วัดจากจำนวนเหตุการณ์ หรือว่าการลดงบประมาณ หรืออื่นๆ เพราะยิ่งนานไป ยิ่งแทบไม่มีความคืบหน้าในทางดี”
@@ รัฐไม่ได้ล้มเหลว แต่บีอาร์เอ็นก่อปัญหา
ปิดท้ายที่ พล.ท.สุรเทพ หนูแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ กล่าวว่า ข่าวและข้อมูลที่ออกมา โดยเฉพาะตัวเลขงบประมาณที่ใช้กว่า 5 แสนล้านบาท มีคนเสียชีวิตเกือบ 6 พันราย และมีระเบิดกว่า 5 พันลูก ตามที่ศูนย์ข่าวอิศรานำเสนอ ทำให้เข้าใจเหมือนว่าการแก้ไขปัญหาไฟใต้ล้มเหลว
“จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เราต้องย้อนไปดูต้นตอของปัญหา นั่นก็คือ บีอาร์เอ็นเขาเป็นคนก่อปัญหาทั้งหมด แล้วเราไปตามแก้ วันนี้เรากำลังระดมผู้รู้เรื่องนี้มาช่วยกันจัดการปัญหา เชื่อว่าจะสำเร็จ”
อนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ท.สุรเทพ เพิ่งเดินทางไปพบ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตกรรมการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปรึกษาหารือและรับฟังคำแนะนำการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ เนื่องจาก พล.อ.สำเร็จ ถือเป็น “กูรูบีอาร์เอ็น” ได้ศึกษาโครงสร้าง รูปแบบการจัดองค์กร และการปฏิบัติงานของบีอาร์เอ็นเอาไว้อย่างละเอียด ในระดับงานวิจัย ทำให้ฝ่ายความมั่นคงไทย “รู้เขา รู้เรา” มากขึ้น และเป็นฐานข้อมูลในการต่อยอดรับมือกับสถานการณ์ไฟใต้ในเวลาต่อมา
------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกโค้ดคำพูดจากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี