มีข่าวความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศไทย รวมทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย...
หลังจาก ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ตามกฎหมายการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 จะต้องมีการประชุม สรรหา และลงคะแนนเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่ จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ
โดยตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คือ ประมุขของผู้นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทย เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือน “สมเด็จพระสังฆราช” เพียงแต่ที่มาของการดำรงตำแหน่งแตกต่างกันไปตามที่กำหนดในกฎหมาย
ฉะนั้นช่วงนี้จึงถือเป็นช่วงที่ไม่มีประมุขของศาสนาอิสลามในประเทศไทย กฎหมายกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ
ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศกำหนดการประชุมสรรหา และให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแล้ว โดยกำหนดวันประชุม วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เวลาประชุม ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป
สถานที่ประชุม คือ อาคารหอประชุม ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ กรมการปกครอง ถนนคลองเก้า แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร โดยให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
@@ เปิด 4 ขั้นตอนเลือกจุฬาราชมนตรี
ตามกฎหมาย การสรรหาจุฬาราชมนตรีมี 4 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 - เมื่อตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
ขั้นตอนที่ 2 - จัดประชุมกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ โดยองค์ประชุมต้องมีกรรมการอิสลามมาร่วมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการที่มีอยู่
จากการตรวจสอบผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกจุฬาราชมนตรี คือ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 40 จังหวัด (คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ไม่ได้มีครบทุกจังหวัด) มีจำนวนทั้งสิ้น 816 คน
ขั้นตอนที่ 3 - การเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี กรรมการอิสลามประจำจังหวัดแต่ละท่าน เสนอได้ 1 ชื่อ มีผู้รับรอง 20 คน ถ้าเสนอชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 1 ชื่อ แต่ไม่เกิน 3 ชื่อ ให้ประธานจับสลากกำหนดหมายเลข
ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 3 ชื่อ ให้ประธานจับสลากเลือกรายชื่อกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละหนึ่งชื่อ เป็นคณะกรรมการสรรหาผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เหลือเพียง 3 ชื่อ หากคะแนนออกมาเท่ากัน ให้ประธานจับสลาก
ขั้นตอนที่ 4 - ลงคะแนน โดยวิธีลงคะแนนลับ
บัตรลงคะแนน ใช้บัตรลงคะแนนของกระทรวงมหาดไทย
ระยะเวลาในการลงคะแนน ให้ที่ประชุมกำหนด
ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ถ้าคะแนนสูงสุดเท่ากัน ให้เลือกใหม่เฉพาะผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากัน ถ้ายังเท่ากันอีก ให้ประธานจับสลาก
@@ แง้มคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม
ในส่วนของคุณสมบัติผู้ที่จะเสนอตัวเป็นจุฬาราชมนตรี
-ต้องเป็นมุสลิมผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
-มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์
-มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลาม
-ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด
-มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา
-มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ลักษณะต้องห้าม
-ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
-ไม่เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
-ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเพื่อน ไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
-ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สำหรับอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรี คือ
-ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
-แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
-ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
-ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
@@ เปิด 3 แคนดิเดต “จุฬาราชมนตรี คนที่ 19”
จากตรวจสอบเพิ่มเติมกับกรรมการอิสลามผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการอิสลามที่ติดตามเรื่องนี้ ได้ข้อมูลว่า การสรรหาจุฬาราชมนตรีหนนี้ ซึ่งจะเป็นคนที่ 19 ของราชอาณาจักรไทย มีแคนดิเดตที่น่าจะได้รับการเสนอชื่อถึง 3 คนด้วยกัน ประกอบด้วย
1. นายอรุณ บุญชม ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
2. นายประสาน ศรีเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี
3. ดร.วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
สำหรับแคนดิเดตทั้ง 3 คน ใครเป็นใคร มีประวัติอย่างไร และมีวิสัยทัศน์อย่างไร “ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยสัมภาษณ์กับบางท่านมาแล้ว...รอติดตามตอนต่อไป