แม้ท่าทีของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะพยายามจบปัญหาข้อสงสัยการรับราชการและช่วยราชการสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ “สิบตำรวจโทหญิง” ว่าเป็นความผิดเฉพาะตัว
เมื่อโดนดำเนินคดีอาญาก็ส่งตัวกลับ ให้ออก เรียกเงินที่ได้สิทธิพิเศษคืน ก็น่าจะจบไป...
โดยที่ไม่ยอมตรวจสอบ “ปัญหาเชิงระบบ” ที่ใหญ่กว่านั้น โดยเฉพาะเรื่อง “ทหารผี - บัญชีผี”
ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่ส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทำลายกองทัพ และแพ้สงครามได้เลยทีเดียว
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความเล่าตำนาน “ทหารผี” เอาไว้อย่างน่าสนใจ
——————————
ทหารผี!
ประเด็นเรื่องของการบรรจุชื่อกำลังพลลงในหน่วยที่ดำเนินภารกิจในสนาม แต่ตัวตนกลับไม่ได้อยู่ในหน่วยดังกล่าว หรือที่เรียกเป็นสำนวนว่า “ทหารผี” นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
เรื่องราวเหล่านี้มักปรากฏเป็น “ตำนาน” มาอย่างยาวนานของกองทัพที่ไม่มี “ความเป็นทหารอาชีพ” เพราะเมื่อใดก็ตามที่กองทัพปราศจากความเป็นทหารอาชีพแล้ว เมื่อนั้นกองทัพจะเป็นแหล่งของการแสวงหาผลประโยชน์ของนายทหารบางกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะการแสวงประโยชน์จากกำลังพลในกองทัพ
การแสวงประโยชน์ภายในกองทัพอาจจะปรากฏในรูปแบบต่างๆ แต่หนึ่งในรูปแบบที่ง่ายๆ และไม่ซับซ้อนคือ การหาประโยชน์จากยอดบรรจุจำนวนกำลังพลที่ไม่ครบตามจำนวนจริง และจำนวนที่ไม่ครบเช่นนี้ได้สร้างให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างมากกับนายทหารบางส่วน
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า ประเด็นเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดกับกองทัพของทหารอาชีพ เช่น กองทัพของโลกตะวันตกได้เลย เพราะ “ระบบตรวจสอบภายใน” ที่เข้มงวดทั้งในส่วนของกองทัพ ส่วนของรัฐบาล (โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม) และส่วนรัฐสภานั้น จะไม่อนุญาตให้เกิดเรื่องเช่นนี้เป็นอันขาด
และถ้าเกิดเรื่องของการบรรจุจำนวนกำลังพลไม่เต็ม ถูกนำไปแสวงประโยชน์เพื่อผลตอบแทนส่วนบุคคลเช่นนี้แล้ว อาจจะต้องมีนายทหารระดับสูง และอาจขึ้นไปถึงระดับของกระทรวงกลาโหมที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบในเวทีสาธารณะ
เพราะงบประมาณทหารของประเทศเกิดมาจากเงินภาษีของประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัวของผู้นำกองทัพ ดังนั้น ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือบรรดานายทหารระดับสูงในกองทัพ จึงมีฐานะเป็นเพียง “ผู้รับมอบอำนาจ” จากรัฐสภาให้เป็นผู้ใช้งบประมาณดังกล่าว และการใช้ต้องยืนอยู่บนหลักการพื้นฐาน 3 ประการ คือ
หลักความโปร่งใส (transparency)
หลักการตรวจสอบและรับผิดชอบ (accountability)
และหลักประสิทธิภาพ (effectiveness)
หรือในอีกด้านหนึ่งคือ จะต้องสร้างระบบการบริหารการป้องกันประเทศที่มี “ธรรมาภิบาล” (good governance)
สำหรับกองทัพในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่เป็นทหารอาชีพนั้น เรื่องของ “ทหารผี” ในสนามรบเป็นสิ่งที่เกิดมาอย่างยาวนาน เช่น กองทัพเวียดนามใต้ในยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ มีเรื่องราวของการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ และเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นคือการกินเงินจาก “ทหารผี” เพราะยอดจำนวนกำลังพลในรายงานทางทหารอาจจะดูน่าประทับใจ แต่ยอดจริงในสนามเป็นอีกจำนวนหนึ่ง และแน่นอนว่า ยอดในสนามย่อมจะต้องน้อยกว่ายอดจริงอย่างแน่นอน
แต่จำนวนยอดเต็มเช่นนี้จะถูกนำไปใช้ในการขอความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐ จนวอชิงตันเชื่อว่า ด้วยจำนวนกำลังพลตามที่ปรากฏในรายงานดังกล่าว กองทัพเวียดนามใต้น่าจะสามารถยันการรุกของฝ่ายเวียดนามเหนือและเวียดกงได้นานมากกว่าต้นปี 2518
ภายใต้เงื่อนไขเบื้องต้นของยอดกำลังพลในสนามของกองทัพเวียดนามใต้เช่นนี้ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการวางแผนยุทธการ จนเราอาจกล่าวได้ว่า “ทหารผี” คือ จุดเริ่มต้นประการหนึ่งของความผิดพลาดในทางยุทธการ
ขณะเดียวกัน ปัญหาเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “จุดจบ” ของการล่มสลายของรัฐและกองทัพเวียนนามใต้ในปี 2518 หรือกล่าวในภาพรวมคือ “การคอร์รัปชั่นในกองทัพคือ จุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ทางทหาร”
ในทำนองเดียวกัน หากย้อนอดีตของสงครามในเอเชียแล้ว “กองทัพก๊กมินตั๋ง” ของ ประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค ในยุคสงครามกลางเมืองจีน ก็ประสบปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างมาก จนต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และอพยพถอยร่นไปที่ไต้หวัน ซึ่งในอีกด้านคือ ชัยชนะของกองทัพแดงของประธานเหมาเจ๋อตุงในปี 2492 นั่นเอง
บทเรียนของการแสวงหาประโยชน์จากการคอร์รัปชั่นภายในกองทัพจากกรณีของเวียดนามใต้ และอาจรวมถึงกองทัพก๊กมินตั๋ง เป็นข้อเตือนใจที่ดีสำหรับทหารอาชีพทุกนาย เพราะการแสวงประโยชน์ภายในกองทัพ หรือจะเรียกในสำนวนไทยว่าการ “ทำมาหากิน” กับเนื้อในของกองทัพนั้น ไม่มีทางที่จะทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพในการรบได้เลย
ฉะนั้นทหารอาชีพจะต้องถือเสมอว่า การคอร์รัปชั่นทางทหารเป็น “ภัยคุกคามภายใน” โดยตรงต่อสถาบันกองทัพ ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมจะทำให้สถาบันกองทัพเสื่อมทรามลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทั้งยังทำให้สถาบันทหารขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของสังคมอีกด้วย
ดังนั้น เมื่อกองทัพกลายเป็นพื้นที่ “ทำมาหากิน” ทางเศรษฐกิจของนายทหารและนักการเมืองบางส่วนแล้ว สิ่งที่ตามมาอย่างชัดเจนคือ ความไร้ประสิทธิภาพทางทหาร และคำตอบที่เราเห็นร่วมกันจากทั้งสองกรณี คือ การล่มสลายที่เกิดจากความพ่ายแพ้สงครามของรัฐบาลทั้งสอง
อย่างไรก็ตาม ปัญหา “ทหารผี” ที่เป็นประเด็นในสังคมไทยนั้น แม้จะดูเหมือนว่าเป็นเรื่องของคนไม่กี่คน แต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับสาธารณชน ซึ่งเราคงปฎิเสธไม่ได้เลยว่า เรื่องนี้กำลังกลายเป็น “วิกฤตสถาบันทหาร” อย่างไม่คาดคิด และทั้งยังสั่นคลอนสถาบันทหารอย่างมากด้วย…
การหาทางออกด้วย “การลอยตัว” เหมือนการหาผู้รับผิดชอบในการจัดซื้อเรือเหาะ หรือ ซื้อจีที-200 ไม่ได้นั้น อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในยามนี้
ฉะนั้น วันนี้ถ้าผู้นำรัฐบาลและกองทัพจะ “แปรวิกฤตให้เป็นโอกาส” แล้ว สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การสะสาง “บัญชีผี” โดยเฉพาะกับ “ผีความมั่นคง” ในภาคใต้ ซึ่งอาจจะต้องเรียกว่า “ผี พตท.” คือ “ผีพลเรือน-ตำรวจ-ทหาร” ซึ่งแน่นอนว่าในสนามรบภาคใต้ คงไม่ใช่มีแค่ “ผีทหาร” เท่านั้น … “ผีพลเรือน” และ “ผีตำรวจ” ก็เป็น “ผีร้าย” ที่จะต้องเร่งสะสางเช่นกัน
และสิ่งเหล่านี้คือ เหตุผลพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งที่ประเทศไทยต้องปฏิรูปกองทัพ พร้อมกับปฏิรูประบบงานความมั่นคงไทย!