ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สื่อหลายสำนักและนักวิชาการจากหลากหลายสถาบันได้พากันวิเคราะห์ทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง รวมถึงทิศทางด้านการต่างประเทศของปี 2565 อย่างละเอียดมากมายหลายแง่มุม
แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ได้แตะถึงมากนัก ทั้งที่เป็นปัจจัยสำคัญทั้งต่อการเมือง ความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ นั่นก็คือ "บทบาทของกองทัพ"
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์และเขียนบทความในประเด็นนี้เอาไว้ เกี่ยวกับ "บทบาทของกองทัพกับสังคมไทย" ซึ่งอาจารย์มองว่าจะมีคำถามมากมาย และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปี 2565 ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
1.กองทัพตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองมาตลอด
2.สังคมในยามที่ต้องเผชิญวิกฤติ มีมุมมองที่ไม่ตอบรับกับทัศนะของผู้นำทหาร
เหตุนี้เอง อาจารย์สุรชาติ จึงประเมินสิ่งที่กองทัพต้องเผชิญกับความท้าทายในปี 2565 ซึ่งมีอย่างน้อย 4 อย่าง ที่เรียกว่า “โจทย์ 4ว." ได้แก่
ว.ที่ 1 “วงจรอำนาจ”
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราคงต้องยอมรับความจริงว่า ทหารจะยังคงอยู่ในการเมืองไทยต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทบาททหารที่ดำรงอยู่สืบเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหาร ซึ่งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี การเมืองไทยต้องเผชิญกับรัฐประหารถึงสองครั้ง ในปี 2549 และ 2557 อันส่งผลอย่างมากต่อบทบาทของทหารในการเมืองไทย
และแม้จะเกิดรัฐบาลจากการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2562 แต่ก็เป็นเพียงการสืบทอดอำนาจที่การเลือกตั้งถูกใช้เพื่อเปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลในอีกวาระหนึ่ง ซึ่ง "รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง" ที่เกิดขึ้นยังคงต้องพึ่งพาอำนาจทางการเมืองของกองทัพ และทำให้บทบาททางการเมืองของทหารกลายเป็น "ภาระตกทอด" ที่แม้จะมีการเปลี่ยนผู้นำทหารในกองทัพอย่างไร แต่ผู้นำใหม่ก็ยังคงรักษาบทบาททางการเมืองของทหารไว้ต่อไป จนกองทัพเป็นหนึ่งใน "ตำบลกระสุนตก" ทางการเมือง
แน่นอนว่าการมีอำนาจทางการเมืองจนมีสภาพเหมือนกองทัพตกอยู่ใน "วงจรอำนาจ" ที่ถอนตัวไม่ขึ้น สภาวะเช่นนี้เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมมาโดยตลอด และจะยังคงเป็นความท้าทายต่อไปในปี 2565 อีกทั้งฝ่ายเสรีนิยมที่ไม่ตอบรับการรัฐประหารมักถือว่าการมีอำนาจของทหารในการเมืองเป็นประเด็นสำคัญ อันทำให้ปีใหม่จะยังคงมีเสียงเรียกร้องตามมาถึงการ "ปฏิรูปกองทัพ" อย่างแน่นอน
ว.ที่ 2 “วังวนอาวุธ”
การรัฐประหารที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดผลอย่างสำคัญในบริบทของ "เศรษฐกิจการป้องกันประเทศ" (defense economy) เพราะหลังการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกลายเป็น "นาทีทอง" ของการจัดซื้ออาวุธอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการจัดซื้อในระบบการเมืองแบบรัฐสภานั้น อาจถูกตรวจสอบโดยพรรคฝ่ายค้าน จนอาจกลายเป็นปัญหากับกองทัพได้
แต่ภายใต้ระบอบรัฐประหาร การจัดซื้อยุทโธปกรณ์เป็นเรื่องง่ายดาย และสามารถดำเนินการได้ตามความต้องการของผู้นำทหาร โดยไม่มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงความโปร่งใส และไม่ต้องหนักใจกับการถูกตรวจสอบจากภาคประชาสังคม อีกทั้งไม่ต้องห่วงกับคำวิจารณ์ใดๆ จนเกิดเป็นภาพลักษณ์ว่า ทหารอยากซื้ออาวุธอะไร ก็ไม่มีใครขัดขวางได้ หรือเป็นภาวะ "ช่างมัน ฉันไม่แคร์!" เพราะจะซื้อให้ได้
การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ด้านหนึ่งสังคมกำลังเผชิญกับโรคระบาดขนาดใหญ่อย่างรุนแรงและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 การเดินทางสู่ปีใหม่ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าการระบาดจะยุติลง จึงไม่แปลกที่สังคมอยากเห็นการใช้งบประมาณของรัฐเพื่อตอบสนองต่อสวัสดิการของประชาชน มากกว่านำไปใช้เพื่อซื้ออาวุธ
(ล่าสุดผู้นำกองทัพเรือถอยตัวเองออกจากวงจรนี้ ด้วยการไม่เสนองบจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 ทำให้สปอตไลท์ฉายจับไปที่กองทัพอากาศซึ่งประกาศจะเครื่องบินขับไล่แบบ F-35 แทน)
ในอีกด้านหนึ่ง สังคมไทยเองไม่ได้เผชิญกับภัยคุกคามทางทหารเช่นในยุคสงครามเย็น ความรู้สึกถึงความจำเป็นในการต้องมีอาวุธใหม่จึงไม่มี แต่ผู้นำทหารไทยมักจะตกอยู่ใน "วังวนอาวุธ" และเห็นกองทัพในมิติของการมีอาวุธใหม่เป็นด้านหลัก จนเสมือนกองทัพไทยเดินออกจากวังวนนี้ไม่ได้ และอาจไม่อยากออกด้วย
ว.ที่ 3 “วิวาทะข่าวสาร”
การขยายบทบาททางการเมืองของกองทัพจากรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง และขยายต่อเนื่องในการเมืองปัจจุบันด้วยการเปิด "ปฏิบัติการจิตวิทยา" หรือ งาน ปจว. เพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายทหาร
งาน ปจว. เป็นมรดกสำคัญและเป็นความเชี่ยวชาญของทหารที่ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่ยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ปฏิบัติการเช่นนี้ในโลกปัจจุบันถูกนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคโลกาภิวัตน์ที่กิจกรรมทางด้านข่าวสารถูกนำไปไว้ในโลกโซเชียลมีเดีย การมีบทบาททางเมืองของทหารจึงมีการนำเอางาน ปจว. มาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้
และเพื่อให้สอดรับกับโลกออนไลน์ ปฏิบัติการเช่นนี้จึงถูกเรียกว่า "ปฏิบัติการข่าวสาร" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ปฏิบัติการ "ไอโอ" (IO) และอาจรวมไปถึงการสร้างข้อมูลที่อาจเข้าข่ายเป็น "เฟกนิวส์" เผยแพร่ในเวทีสาธารณะอีกด้วย
แต่ปฏิบัติการเช่นนี้ถูก "เปิดโปง" อย่างมากจากโลกภายนอก และชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทเบื้องหลังของฝ่ายกองทัพในเรื่องดังกล่าว หรืออาจเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นได้ว่าเป็น "บทบาททางการเมืองของทหารในโลกไซเบอร์" บทบาทในส่วนนี้ก่อให้เกิด "วิวาทะข่าวสาร" เพราะเป็นบทบาทที่ทหารแทรกตัวอยู่หลังฉาก แตกต่างจากบทบาทเปิดที่เห็นได้ชัดเจน ถ้าเช่นนั้นกองทัพจะยังดำรงปฏิบัติการข่าวสารในปีใหม่ต่อไปอย่างไร
ว.ที่ 4 “วิกฤติศรัทธา”
ในท่ามกลางวิกฤติที่รุมเร้าสังคมไทย อันเป็นผลจากการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 นั้น สภาวะเช่นนี้มีผลอย่างมากต่อสถานะของรัฐบาล และต่อสถานะของกองทัพด้วย
ในวิกฤติเช่นนี้เห็นได้ชัดว่า สังคมมองสวนทางกับผู้นำทหารในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้งบประมาณทหาร การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ซึ่งมีการใช้งบประมาณเป็นมูลค่าสูงในขณะที่สังคมกำลังเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด
และภาวะเช่นนี้ทำให้สังคมเกิดมุมมองเชิงลบกับกองทัพ และนำเอาอาวุธที่จัดซื้อมาล้อเลียนเป็นเรื่องตลกในโลกโซเชียลฯ ตลอดรวมทั้งการล้อเลียนผู้นำกองทัพ และผู้นำรัฐบาลที่มาจากทหาร จนต้องยอมรับว่าพวกเขาเหล่านั้นกลายเป็น "ตัวตลก" ทางการเมืองในโลกโซเชียลฯ อย่างน่าขบขัน และสะท้อนถึงการที่สถานะของกองทัพไม่ได้รับความ "ศรัทธา" จากสังคม
นอกจากนี้ เรื่องของความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นภายในกองทัพ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องของ "เสนาพาณิชย์นิยม" (military commercialism) ที่เกี่ยวข้องกับการแสวงประโยชน์ของนายทหารระดับบน และกลายเป็นภาพลักษณ์ของการเอาเปรียบในทางธุรกิจต่อนายทหารระดับล่าง และทหารชั้นประทวน
และยังรวมถึงอีกหลายเรื่องที่เป็นปัญหาในเชิงลบ เช่น การเกณฑ์ทหาร หรือผลประโยชน์จากการจัดซื้ออาวุธ เป็นต้น จนอาจเรียกได้ว่า กองทัพกำลังเผชิญกับ "วิกฤติศรัทธา" ครั้งใหญ่ และยังก่อให้เกิด "กระแสต่อต้านทหาร" ในสังคมไทยอีกด้วย
อาจารย์สุรชาติ สรุปว่า โจทย์ "4ว." เป็นความท้าทายที่สำคัญต่อสถาบันกองทัพ และต่อตัวผู้นำทหารในปีใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และทั้งยังน่าสนใจว่า กองทัพไทยจะตอบคำถาม 4 ข้อนี้อย่างไร ในท่ามกลางวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นจากการระบาดของโอมิครอนที่อาจผสมเข้ากับเดลตาในปีใหม่นี้!