ปัญหาไฟใต้ที่ยืดเยื้อมาถึง 21 ปี ฝ่ายความมั่นคงบอกว่า สถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็ยังสร้างสันติสุขไม่สำเร็จ
ขณะที่ประชาชนทั่วไปทั้งในและนอกพื้นที่มองว่า กิจกรรมของรัฐและฝ่ายความมั่นคงเหมือนพายเรือวนในอ่าง ผ่านมา 2 ทศวรรษแทบไม่มีอะไรใหม่ ที่ปลายด้ามขวานมีแต่บรรยากาศของการเกิดเหตุรุนแรงสลับเป็นช่วงๆ ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
คำถามคือ สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นบ้างหรือไม่ เพราะทุกรัฐบาลที่ผ่านมาใช้งบประมาณรวมกันไปแล้วไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท
ดร.ซาช่า เฮลบาร์ต (Dr. Sascha Helbardt) นักวิจัยชาวเยอรมัน ซึ่งร่วมวิจัยในโครงการ “แนวความคิดในการต่อต้านความรุนแรงแบบสุดโต่ง กับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทีมข่าวอิศรา” โดยระบุถึง “ดัชนีชี้วัด” หรือ indicator ที่น่าสนใจ ซึ่งชี้ว่าสถานการณ์ไฟใต้แม้จะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้ดีขึ้นจริงอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีจุดเปราะบางอันน่าท้าทายรออยู่
“ทีมข่าวอิศรา” พูดคุยกับ ดร.ซาช่า ในฐานะนักวิจัยจากต่างแดนที่ทุ่มเทเวลาและการศึกษาเพื่อเรียนรู้และเข้าใจปัญหาชายแดนใต้ โดยเฉพาะขบวนการ BRN ซึ่งยอมรับกันแล้วว่าคือ “ผู้แสดงหลัก” ในสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน และมีเจตจำนงต่อต้านรัฐไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “ปลดปล่อยรัฐปัตตานี”
รัฐบาลไทยทุกชุดจำกัดขอบเขตปัญหาไฟใต้เอาไว้ว่าเป็น “ปัญหาภายในของไทย” ทำให้มีนักวิจัยและนักวิชาการจากต่างแดนไม่มากนักที่มีโอกาสได้ศึกษาปัญหานี้ในเชิงลึก โดยเฉพาะขบวนการ BRN ซึ่งมีลักษณะเป็น “องค์กรลับ” และปัจจุบันแม้จะเปิดแนวรบกับรัฐไทยมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ก็ยังดำรงสถานะเดิมอยู่
“ทีมข่าวอิศรา” จะแบ่งนำเสนอเนื้อหาจากการพูดคุยกับ ดร.ซาสชา เป็น 3 ประเด็น 3 ตอน เพื่อไม่ให้เนื้อหายาวเกินไป โดยจะเริ่มจากสถานการณ์ไฟใต้หลังผ่าน 2 ทศวรรษดีขึ้นจริงหรือไม่ แนวโน้มสถานการณ์ในระยะสั้นเป็นอย่างไร, ทางออกที่ควรจะเป็น ใช่การเจรจากับ BRN เหมือนกับที่หลายๆ ฝ่ายเรียกร้องหรือไม่ และอะไรคือสิ่งที่ยังขาดหายไปของรัฐไทยในการจัดการปัญหานี้ ซึ่งหากไม่แก้ไขอย่างทันท่วงที…อะไรคือสิ่งที่จะต้องเผชิญ
@@ 5 ตัวชี้วัดไฟใต้ ยังไร้แสงปลายอุโมงค์
เริ่มจากประเด็นแรก สถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้นจริงหรือไม่
ดร.ซาช่า จำแนกตัวชี้วัดออกเป็น 5 ดัชนี ได้แก่ ตัวชี้วัดแรก สถิติเหตุรุนแรงลดลงจริงหรือไม่ เขาตั้งคำถามว่า ฝ่ายความมั่นคงเปลี่ยนวิธีนับจำนวนเหตุรุนแรงหรือเปล่า ทำให้จำนวนเหตุร้ายดูลดลง เช่น เหตุระเบิด 10 จุด เดิมนับ 10 แต่ปัจจุบัน ถ้าเหตุเหล่านั้นเกิดในเวลาใกล้เคียงกัน ให้นับเป็น 1 เหตุการณ์ ถ้าเปลี่ยนวิธีนับแบบนี้ จำนวนเหตุต้องลดลงแน่นอน
ตัวชี้วัดที่ 2 คือ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ออกลาดตระเวนน้อยลงหรือไม่ ทำให้ตกเป็นเป้าโจมตีน้อยลงตามไปด้วย เพื่อให้ตัวเลขสถิติดีขึ้น
เพราะต้องไม่ลืมว่าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบแต่ละอำเภอ มาจากต่างหน่วยกัน การถูกโจมตีโดยกลุ่มก่อความไม่สงบ ทำให้ถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิ และกระทบกับภาพลักษณ์ของหน่วย ฉะนั้นบางหน่วยจึงอาจใช้วิธีออกลาดตระเวนให้น้อยลง ทำให้โดนโจมตีน้อยตามไปด้วย
ตัวชี้วัดที่ 3 คือ ชาวไทยพุทธที่อพยพออกจากพื้นที่ ไม่ยอมกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่ หรือยังไม่ยอมกลับบ้าน แปลว่าสันติภาพและความปลอดภัยยังไม่เกิดขึ้นจริงใช่หรือไม่
ตัวชี้วัดที่ 4 คือ เจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เป็นพลเรือน กล้าลงพื้นที่โดยไม่มีฝ่ายความมั่นคงป้องกันหรือเปล่า ถ้ายังต้องมีเจ้าหน้าที่ป้องกัน ย่อมแปลว่าสถานการณ์ยังควบคุมไม่ได้จริง
ตัวชี้วัดที่ 5 คือ ครูที่นับถือศาสนาพุทธลดน้อยลงมาก แม้แต่โรงเรียนของรัฐในปัจจุบัน ทั้งครูและผู้อำนวยการโรงเรียนก็เป็นครูมุสลิมเกือบทั้งหมด ซึ่งตนไม่ได้ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วย แต่สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้เป้าหมาย “ครูพุทธ” ลดน้อยลง ส่งผลให้สถิติการก่อเหตุรุนแรง ซึ่งเคยพุ่งเป้าที่ “ครูพุทธ” ลดน้อยลงตาม
@@ ฝึก “มินิคอมมานโด” จ่อปูพรมโจมตีระลอกใหม่
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ในระยะสั้น ดร.ซาช่า เตือนว่า นอกจากสถิติเหตุรุนแรงจะไม่ดีขึ้นจริงแล้ว สถานการณ์ยังมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ภายในปลายเดือน พ.ค.นี้ โดยมี 3 ปัจจัยที่จะเร่งสถานการณ์
1.มีการฝึก Mini Commando (มินิ คอมมานโด) เป็นหลักสูตรเร่งรัดของอาร์เคเค (กลุ่มติดอาวุธขนาดเล็กที่ทำการรบแบบจรยุทธ์) ซึ่งฝึกระดับครูฝึกจบทั้งหมดแล้ว โดยระดับครูฝึกจะเข้าพื้นที่ไปฝึกเชิงปฏิบัติการเต็มพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหลังจากนั้นจะเกิดการโจมตีหน่วยติดอาวุธของไทย
2.ปฏิบัติการใหญ่ตามข้อ 1 จะมีการใช้เยาวชนออกปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธ ที่เรียกว่า Armed Conflict เพื่อยั่วยุให้เจ้าหน้าที่ตอบโต้ และมีเยาวชนตกเป็นเหยื่อ เพื่อโจมตีการกระทำของเจ้าหน้าที่ และหวังให้เข้าเงื่อนไขการแทรกแซงจากองค์กรระหว่างประเทศ
และ 3.การเคลื่อนไหวของเยาวชนที่เป็นมวลชนของฝ่ายการเมือง เช่น การรวมตัวกันแสดงพลัง หรือแสดงจุดยืนในเรื่องต่างๆ โดยอ้างอัตลักษณ์ แต่แท้ที่จริงคือการขับเคลื่อนประเด็นการเมือง
จากแนวโน้มสถานการณ์ในระยะสั้น ยิ่งเป็นดัชนีชี้วัดว่า สถานการณ์ไฟได้ไม่ได้ดีขึ้นจริงตามที่มีการโฆษณา!