คนที่ติดตามข่าวใต้ สถานการณ์ไฟใต้ และนักข่าวทุกสำนัก แน่นอนว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หรือ "พี่ปราโมทย์" ของน้องๆ สื่อมวลชน
ช่วงต้นๆ ปี 2562 มีบทสนทนาระหว่างผู้สื่อข่าวกับ พ.อ.ปราโมทย์ ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
"พี่เป็นโฆษกมากี่ปีแล้ว 4-5 ปีได้หรือยังครับ" นักข่าวที่เกาะติดสถานการณ์ไฟใต้มานาน ตั้งคำถาม
"9 ปีเกือบ 10 ปีแล้วครับ" พ.อ.ปราโมทย์ตอบเรียบๆ แต่เรียกเสียง "โอ้โห!" ดังลั่นจากกลุ่มนักข่าว
ไม่รู้ว่าสถานการณ์ไฟใต้เปลี่ยนเร็ว หรือเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ทำให้หลายคนไม่อยากเชื่อว่านายทหารร่างเล็กที่มีใบหน้าเปื้อนยิ้มคนนี้ ทำหน้าที่โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มานานถึง 9 ปีแล้ว และเพิ่งขยับขึ้นไปเป็นโฆษกกองทัพภาคที่ 4 และ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 เมื่อไม่นานมานี้เอง
"แต่ผมก็ยังช่วยชี้แจงกรณีใหญ่ๆ อยู่ครับ สรุปเหมือนยังอยู่ที่เดิมครับ" เจ้าตัวบอก
การทำหน้าที่โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรืออาจจะเรียกว่า "โฆษกดับไฟใต้" ของ พ.อ.ปราโมทย์ เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค.ปี 2553 และปฏิบัติหน้าที่นี้เรื่อยมาจนถึงปี 2562 รวม 9 ปี แม้ปัจจุบันจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมแล้ว แต่ก็ยังต้องช่วยทำหน้าที่เดิมอยู่ดี เข้าตำรา "ห่างๆ อย่างห่วงๆ"
ระหว่างทางของการปฏิบัติงาน มีแต่การเพิ่มหน้าที่ ไม่มีลด โดยในช่วงปี 2553-2558 ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ควบคู่ไปกับตำแหน่งโฆษก จากนั้นปี 2558-2560 ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักมวลชนและกิจการพิเศษ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ขณะที่ตำแหน่งโฆษกก็ยังอยู่เหมือนเดิม
และปี 60-62 ทำหน้าที่รองเลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ควบคู่กับงานโฆษก กระทั่งขยับจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ขึ้นเป็นโฆษกกองทัพภาคที่ 4 แต่ก็ยังไม่หลุดจากงานโฆษกอยู่ดี
ทำงานกับไมโครโฟนมานานขนาดนี้ ใครจะนึกว่าบุคลิกและตัวตนของ พ.อ.ปราโมทย์ สวนทางกับหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่อย่างสิ้นเชิง
"ผมไม่เคยผ่านงานโฆษกมาก่อนเลย พูดไม่ค่อยเก่งด้วย" เจ้าตัวบอกกลั้วหัวเราะ
"จู่ๆ ผู้บังคับบัญชาก็บอกให้ทำ และสำทับว่า 'พี่เชื่อว่าเอ็งทำได้' เราก็เห็นว่าผู้บังคับบัญชามั่นใจในตัวเราขนาดนี้ ก็ได้แต่ตอบว่า 'ครับ' คิดในใจว่าต้องลองดูสักตั้ง แล้วก็เริ่มทำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา"
ผู้บังคับบัญชาคนสำคัญที่ช่วยผลักดัน พ.อ.ปราโมทย์ กระทั่งสามารถดึงศักยภาพการเป็น "โฆษก" ออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็คือ "บิ๊กเมา" พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 (ต.ค.2553 ถึง มี.ค.2556) จากนั้น พ.อ.ปราโมทย์ ก็อยู่เป็นโฆษกคู่บุญของแม่ทัพอีก 6 คนต่อเนื่องมา
แน่นอนว่าการทำงานสื่อสารในพื้นที่ขัดแย้ง เต็มไปด้วยข่าวลือ ข่าวลวง และการไอโออย่างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเป็นภาระอันหนักอึ้งและสุ่มเสี่ยงไม่น้อยเลย แต่ พ.อ.ปราโมทย์ กลับประคองตัวมาได้ ไม่เคยหน้าแตก ไม่เคยแถลงผิด แถมยังอยู่ยาวเกินคาด
"ผมทำการบ้านหนักมาก การแถลงในประเด็นภาคใต้ นอกจากข้อมูลต้องรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำแล้ว ยังต้องสร้างความเข้าใจที่่ถูกต้องด้วย และก่อนที่จะทำให้ชาวบ้านเข้าใจได้ ตัวเราต้องเข้าใจเสียก่อน" พ.อ.ปราโมทย์ เล่าให้ฟังถึงการทำงานหลังไมค์
ผลงานหนึ่งของ พ.อ.ปราโมทย์ ที่ต้องจดบันทึกเอาไว้ เพราะเป็นการสร้างมิติใหม่ของการทำหน้าที่ "โฆษกทหาร" ในพื้นที่ขัดแย้งที่กองทัพเป็นคู่กรณีด้วย ก็คือการแถลงแบบไม่ซ้ำเติมคู่ต่อสู้
เรื่องของเรื่องก็คือ เกิดเหตุกองกำลังติดอาวุธบุกโจมตีฐานทหารที่บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อเวลาประมาณตี 1 ของวันพุธที่ 13 ก.พ.2556 แต่กองกำลังติดอาวุธถูกเจ้าหน้าที่ทหารภายในฐานยิงตอบโต้ ทำให้เกิดความสูญเสียถึง 16 คน ซึ่งนับว่าเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ในปฏิบัติการโจมตีฐานทหารตลอด 16 ปีไฟใต้
เมื่อข่าวได้รับการยืนยันตรงกันทุกสื่อ และเวลาก็เริ่มล่วงเข้าช่วงฟ้าสาง กระแสข่าวโหมประโคมตรงกันว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเจ้าหน้าที่ บางคนใช้คำพูดถึงขนาดว่า "กระสุนวาเลนไทน์" เพราะเกิดขึ้นก่อนวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรักเพียง 1 วัน โทรทัศน์ช่องต่างๆ ก็เริ่มรายงานข่าวนี้ และขอโฟนอิน พ.อ.ปราโมทย์
แต่ปรากฏว่าสิ่งที่ พ.อ.ปราโมทย์ พูดขึ้่นเป็นประโยคแรกๆ ของการเข้าสายสัมภาษณ์กับทุกสถานีก็คือ "ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย" และ "เจ้าหน้าที่ไม่ได้รู้สึกดีที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา"
ท่าทีของคนทำหน้าที่ "โฆษก" เช่นนี้ ได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการทำงานสื่อสารในพื้นที่ขัดแย้ง และคำว่า "ขอโทษ-ขออภัย" ก็ออกจากปากฝ่ายทหารบ่อยขึ้น และจริงใจมากขึ้น ทั้งเมื่อเกิดความสูญเสียจากการปฏิบัติหน้าที่ และเกิดความผิดพลาดในปฏิบัติการ
แต่ก็ใช่ว่า พ.อ.ปราโมทย์ จะเป็น "โฆษกไม้นวม" แต่เพียงด้านเดียว เพราะในด้านที่ต้องใช้ทีเด็ดทีขาด หรือต้องประณามอย่างแข็งกร้าวเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือมีความพยายามใส่ร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ พ.อ.ปราโมทย์ ก็ทำได้อย่างครบเครื่อง
แถมระยะหลังๆ ยังเดินสายขึ้นเวทีที่จัดโดยองค์กรต่างๆ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจบทบาทของทหารและฝ่ายความมั่นคงในภารกิจดับไฟใต้ จนหลายครั้งถูกมองด้วยสายตาขุ่นเคืองจากฝ่ายที่เห็นต่างบ้างเหมือนกัน
และเมื่อสถานการณ์ไฟใต้มีการก่อเหตุแบบไม่เลือกเวลา และไม่เว้นวันหยุดราชการ ทำให้คนทำหน้าที่โฆษกก็ต้องทำงานแบบไม่มีวันหยุดไปด้วย
"งานเยอะจนเมียบ่น" เขาบอกสั้นๆ แต่ทำให้คนฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง
การทำหน้าที่โฆษก แม้จะมีตำแหน่งกำกับเอาไว้ แต่ไม่ได้มีค่าตอบแทนหรือรายได้เพิ่มตามมาด้วย โดยเงินเดือนที่ได้รับ คือเงินเดือนจากตำแหน่งหลักในกองทัพเท่านั้น ซึ่งปัจจุบัน พ.อ.ปราโมทย์ ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 45 จ.สุราษฎร์ธานี
พูดง่ายๆ ก็คืองานโฆษกเป็นหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมา แต่ก็ต้องทุ่มเทอย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่ทำให้เสียหาย ทั้งงานในตำแหน่งหลักและงานที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม
เส้นทางชีวิตของ พ.อ.ปราโมทย์ เกิดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2508 อายุย่าง 55 ปี เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 36 ผ่านหลักสูตรโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 76 เมื่อปี 2541 แถมยังสนใจศึกษาต่อด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จบปริญญาโทเกียรตินิยมจากนิด้าด้วย
ส่วนประวัติการรับราชการ อยู่เหล่าปืนใหญ่ เคยเป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 25 ช่วงปี 2546-2548 ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 105 ช่วงปี 2549-2550 เสนาธิการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 ช่วงปี 2550-2555 ขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 เมื่อปี 2558 ดำรงตำแหน่งนี้ 2 ปีก็ผงาดขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 45 จนถึงปัจจุบัน
และในฐานะที่ปฏิบัติราชการสนามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เคยไปศึกษาดูงานและร่วมประชุมในระดับนานาชาติหลายครั้ง เช่น ร่วมประชุมกลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ครั้งที่ 39 ที่ประเทศจิบูติ แอฟริกา เมื่อปี 2555 ศึกษาดูงานการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ที่จังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2556 เป็นต้น
ทั้่งหมดนี้คือเครื่องยืนยันประสบการณ์ กับชีวิตสมบุกสมบันหลังไมค์ของโฆษกดับไฟใต้ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดอย่าง พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์