"…ก่อนฉีดวัคซีน ขอให้งดออกกำลังกายหนักก่อน 2 วัน ทั้งก่อนและหลังฉีด ตรวจสอบวันเวลานัดหมายให้ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ และที่สำคัญต้องไม่อดนอน หลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้ถ้ากำลังป่วย ให้เลื่อนฉีดออกไปก่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ …"
…………………………………………………………
วันที่ 7 มิ.ย.2564 เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด อย่างกรุงเทพมหานคร จะได้ฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งถือว่าเป็นการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ของประเทศ ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้ากระจายวัคซีนหลังจากนี้ให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี ให้ครอบคลุมประชากร 70% ของประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดยในเดือนนี้จะกระจายวัคซีนทั้ง 2 ชนิด คือ วัคซีนซิโนแวคและวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวนทั้งสิ้น 6 ล้านโดส
(อ่านข่าวประกอบ: เผยเป้าหาวัคซีน 100 ล้านโดสในปีนี้ แจงทยอยแผนกระจายรายสัปดาห์ตามสถานการณ์ระบาด)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้รวบรวมข้อแนะนำตั้งแต่ก่อนฉีดวัคซีนไปจนถึงการสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน ก่อนเข้ารับบริการในโรงพยาบาล หรือศูนย์ฉีดวัคซีนต่างๆ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงก่อนฉีดวัคซีน ขอให้งดออกกำลังกายหนักก่อน 2 วัน ทั้งก่อนและหลังฉีด ตรวจสอบวันเวลานัดหมายให้ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ และที่สำคัญต้องไม่อดนอน หลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้ถ้ากำลังป่วย ให้เลื่อนการฉีดออกไปก่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
วันไปฉีดวัคซีน ให้พกบัตรประจำตัวประชาชน รับประทานอาหารมาให้พร้อม และดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 500 – 1,000 ซีซี เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าระหว่างฉีดวัคซีน ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอด ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง หากมีข้อมูลอื่นๆ ที่แพทย์ควรทราบ ให้รีบแจ้งก่อนจะฉีดวัคซีน และให้เลือกฉีดวัคซีนข้างที่ไม่ค่อยถนัด เนื่องจากหลังฉีดวัคซีน 2 วันนั้น ควรจะงดใช้แขนข้างนั้น และอย่าเกร็งยกของหนัก
โดยข้อมูลที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ ประกอบด้วยมีประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร อย่างรุนแรงหรือจนเป็นอันตรายต่อชีวิต, มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น วาร์ฟาริน, ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น สเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยากดภูมิคุ้มกัน, มีอาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก และตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
หลังฉีดวัคซีน ให้นั่งพักคอยสังเกตอาการ 30 นาที หากมีไข้ หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ซ้ำได้ถ้าจำเป็น แต่ให้ห่าง 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด และหากกินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ให้กินตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่อ 1 นาที
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลสินแพทย์ ให้ข้อแนะนำอีกว่า หากหลังรับวัคซีน มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง เหนื่อยแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือหายใจไม่ออก อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ผื่นขึ้นทั้งตัว ผิวหนังลอก มีจุดจ้ำเลือดออกจำนวนมาก ใบหน้าเบี้ยว หรือปากเบี้ยว เขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้ ต่อมน้ำเหลือโต ชัก หรือหมดสติ ขอให้รีบไปพบแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร 1669 เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน
@ ชี้คนมีโรคประจำตัว อาการคงที่ ฉีดวัคซีนได้
สำหรับกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นต้น ควรประเมินสุขภาวะตามคำแนะนำของ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค มีรายละเอียดดังนี้
หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และสตรีที่วางแผนตั้งครรภ์ แนะนำว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป ฉีดวัคซีนได้ โดยสามารถฉีดได้ทั้งวัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนหญิงที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่านั้น ไม่แนะนำให้ฉีด เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงที่อาจมีผลกระทบต่อความพิการแต่กำเนิดของทารก
ส่วนหญิงให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนได้ และสตรีวางแผนตั้งครรภ์ สามารถฉีดวัคซีนได้ โดยไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีด ไม่ห้ามการตั้งครรภ์หลังฉีด ไม่ต้องยุติการตั้งครรภ์ เมื่อพบว่าตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีน ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนโควิด จะส่งผลต่อความสามารถในการมีบุตร ขอให้ประชาชนคลายความกังวลได้
ผู้ป่วยที่สามารถรับวัคซีนโควิดได้ทันทีที่ทำได้ ประกอบด้วย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่ในภาวะคงที่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานที่ไม่มีภาวะวิกฤต แม้ยังควบคุมความดันเลือดหรือระดับน้ำตาลไม่ได้ตามเป้าหมาย โรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคข้ออักเสบ โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้ภาวะสมองเสื่อม อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคไตเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไขข้อกระดูกฝ่อ ไขกระดูกทำงานผิดปกติ โรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา และโรคมะเร็งอื่น
รวมถึง ผู้ป่วยที่ได้รับหรืออยู่ระหว่างได้รับการบำบัดด้วยยาและวิธีการต่างๆ เช่น เคมีบำบัด รังสีรักษา การบำบัดทดแทนไต ยากดภูมิคุ้มกันที่อาการของโรคสงบ เลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดทุกชนิด อิมมูโนโกลบูลินเข้าหลอดเลือดดำ บาสูดเสตรียรอยด์ ยาควบคุมโรคต่างๆ ผู้ป่วยโรคเลือดออกง่าย มีเกล็ดเลือดต่ำหรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติหรือได้รับยาต้านเกล็ดเลือดที่ไม่ใช้วาร์ฟาริน หรือใช้ยาวาร์ฟารินที่มีผลตรวจระดับ INR ต่ำกว่า 4.0 ใน 1 สัปดาห์ หรือมีผล INR ต่ำกว่า 3.0 มาโดยตลอด ซึ่งหลังฉีดจะต้องกดตำแหน่งที่ฉีดค้างไว้ประมาณ 5 นาที จากนั้นให้ประคบเย็นต่อ ผู้มีประวัติแพ้อาหารหรือยาต่างๆ และ ผู้ป่วยสมองเสื่อมและผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งจะต้องให้บุคคลที่เป็นทายาทโดยธรรมรับทราบข้อมูลและตัดสินใจแทน
ผู้ป่วยที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนได้ โดยมีข้อพิจารณาเพิ่มเติม ประกอบด้วย ผู้มีประวัติแอนาฟิแล็กซิสจากวัคซีนอื่น ให้ตรวจสอบส่วนประกอบของวัคซีนที่เคยแพ้ และให้รับวัคซีนโควิดที่ไม่มีส่วนประกอบเดียวกัน ผู้ป่วยที่อาการยังไม่เสถียร เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน โรคความดันเลือดสูงฉุกเฉิน โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืดที่มีอาการกำเริบ ผู้ป่วยหลังรับการผ่าตัด แนะนำให้ฉีดวัคซีนเมื่อควบคุมอาการได้แล้ว ผู้ป่วยที่มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง แนะนำให้รอจนพ้นช่วงที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง และให้รีบรับวัคซีน เมื่อเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลเกิน 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หรือบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน CAR-T cell ให้ฉีดวัคซีนหลังจากนั้น 3 เดือน
รวมถึง ผู้ป่วยที่ได้รับผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ให้ฉีดวัคซีนหลังจากผ่าตัด 1 เดือน หรือเมื่อพ้น 1 เดือนหลังได้รับการรักษาภาวะปฏิเสธอวัยวะ โดยให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อน ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยแอนติบอดี (Antibody therapy) แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.) ผู้ที่เคยได้รับการบำบัดด้วยพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโควิด ให้ฉีดวัคซีนโควิดหลังจากนั้น 3 เดือน 2.) ผู้ป่วยที่ได้รับยา rituximab แนะนำให้ฉีดหลังจากนั้น 1 เดือน หรือก่อนให้ยานั้นอย่างน้อย 14 วัน และ 3.) ผู้ป่วยที่ได้รับแอนติบิดีขนานอื่น เช่น omalizumab, benralizumab และ dupilumab ให้ฉีดหลังจากนั้น 7 วัน หรือก่อนรับยาดังกล่าว 7 วัน
@ แนะคนเคยป่วยโควิด รับวัคซีน เผยฉีดเพียง 1 เข็ม กระตุ้นภูมิคุ้มกันดี
สำหรับ ‘ผู้ป่วยโควิดมาก่อน’ แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อโควิดในร่างการ แต่ยังมีโอกาสติดซ้ำได้ ดังนั้น กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค จึงแนะนำอีกว่าให้ฉีดวัคซีน โดยอาจเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เนื่องจากเคยเป็นมาก่อน จะไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม เนื่องจากสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากอย่างเพียงพอ
@ ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า – บาดทะยัก หลังรับวัคซีนโควิดได้ ไม่ต้องรอเวลา
หากจำเป็นต้องได้รับวัคซีนอื่น กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แนะนำด้วยว่า วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า หรือวัคซีนบาดทะยัก สามารถฉีดหลังวัคซีนโควิดได้เลย โดยไม่ต้องเว้นระยะเวลา แต่ให้ฉีดในตำแหน่งที่ต่างกัน
ส่วน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน ขอให้เว้นระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนโควิด และวัคซีนอื่น อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนการตอบสนองต่อวัคซีนที่ตามมา ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนโควิด ก่อนวัคซีนอื่นๆ
@ แพ้วัคซีนรุนแรง รับวัคซีนเข็ม 2 ยี่ห้อใหม่ได้
สำหรับการพิจารณาว่าควรรับวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างไรดีนั้น กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แนะนำเพิ่มเติมว่า ขอให้พิจารณาจากอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด มีรายละเอียดดังนี้
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนโควิด ที่อาจเกิดขึ้นได้และไม่รุนแรง สามารถรับวัคซีนเข็มที่ 2 ชนิดเดิมได้ ประกอบด้วย ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย ง่วงนอน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยลำตัว และ มีผื่น เช่น maculopapular rash ซึ่งอาจให้กินยากลุ่ม antihistamine เช่น Cetrizine หรือ Loratadine ก่อนฉีดวัคซีน 30 หน้าที่
ส่วนผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนโควิด ที่รุนแรง ให้พิจารณาวัคซีนโควิดคนละยี่ห้อ หรือคนละแบบ ที่ไม่มีส่วนผสมที่เหมือนกัน โดยการฉีดวัคซีนเข็มที่สองให้ตามวันที่กำหนดของวัคซีนเข็มที่ 2 เดิม ซึ่งสามารถนับต่อเป็นเข็มที่ 2 ได้เลย โดยสามารถสังเกตอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนโควิดเข็มแรกภายใน 30 นาที ดังต่อไปนี้
- มีอาการทางระบบผิวหนังหรือเยื่อบุ เช่น ผื่นลมพิษทั่วตัว คัน ผื่นแดง หรือมีอาการบวมของปากลิ้น และเพดานอ่อน เป็นต้น
- มีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดจากหลอดลมที่ตีบตัน เสียงฮื้ดตอนหายใจเข้า (Stridoor) มีการลดลงของ Peak expiratory flow (PEF) ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง
- ความดันเลือดลดลงหรือมีการทำงานของระบบต่างๆ ล้มเหลว เช่น Hypotonia (Collapse) เป็นลม อุจจาระ ปัสสาวะราด เป็นต้น
- มีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
- มีอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่รุนแรง ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
@ เปิดข้อมูลวัคซีนโควิด 10 ชนิด
นอกจากนี้ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยข้อมูลของวัคซีนป้องกันโรคโควิดไว้ 10 ชนิด มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีขนาด 5 x 1010 Virus particles มีตารางฉีดที่แนะนำ 2 ครั้ง ห่างกัน 4 - 12 สัปดาห์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ฉีดห่างกัน 10 – 12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ ถ้าจำเป็น สามารถฉีดให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป มีวิธีการเก็บรักษาที่ 2 – 8 องศาเซลเซียส สามารถฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง อายุมากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะอ้วน และผู้ที่เคยป่วยโควิดมาก่อน
วัคซีนซิโนแวค มีขนาด 6 ไมโครกรัมต่อโดส มีตารางการฉีดที่แนะนำ 2 ครั้ง ห่างกัน 2 - 4 สัปดาห์ โดยในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงจะฉีดห่างกันเพียง 2 สัปดาห์ สามารถฉีดให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป มีวิธีการเก็บรักษาที่ 2 – 8 องศาเซลเซียส สามารถฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะอ้วน และผู้ที่เคยเป็นโควิดมาก่อน
วัคซีนไฟเซอร์ มีขนาด 30 ไมโครกรัมต่อโดส มีตารางการฉีดที่แนะนำ 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ สามารถฉีดให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 12 ปี ขึ้นไป มีวิธีการเก็บรักษาที่ -60 ถึง -80 องศาเซลเซียส และเก็บที่ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส ได้ 2 สัปดาห์ สามารถฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ภาวะอ้วน หญิงตั้งครรภ์บางกลุ่ม หญิงให้นมบุตร และผู้ที่เคยป่วยโควิดมาก่อน
วัคซีนโมเดอร์นา มีขนาด 100 ไมโครกรัมต่อโดส มีตารางการฉีดที่แนะนำ 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ สามารถฉีดให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป มีวิธีการเก็บรักษาที่ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส สามารถฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด ภาวะอ้วน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้ที่เคยป่วยโควิดมาก่อน
วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีขนาด 5 x 1010Virus particles มีตารางฉีดที่แนะนำ 1 ครั้ง สามารถฉีดให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป มีวิธีการเก็บรักษาที่ 2 – 8 องศาเซลเซียส สามารถฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง ผู้ติดเชื้อ HIV และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด และภาวะอ้วน เป็นต้น
วัคซีนกามาเลยา มีขนาด 1 x 1010 Virus particles มีตารางฉีดที่แนะนำ 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ สามารถฉีดให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป มีวิธีการเก็บรักษาที่ 2 – 8 องศาเซลเซียส สามารถฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และภาวะอ้วน เป็นต้น
วัคซีนซิโนฟาร์ม มีขนาด 4 ไมโครกรัม มีตารางฉีดที่แนะนำ 2 ครั้ง ห่างกัน 3 - 4 สัปดาห์ สามารถฉีดให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป มีวิธีการเก็บรักษาที่ 2 – 8 องศาเซลเซียส สามารถฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง อายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และภาวะอ้วน เป็นต้น
วัคซีนแคนซิโน มีขนาด 5 x 1010 Virus particles มีตารางฉีดที่แนะนำ 1 ครั้ง สามารถฉีดให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป มีวิธีการเก็บรักษาที่ 2 – 8 องศาเซลเซียส ซึ่งยังไม่มีข้อมูลระบุว่าสามารถฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใดบ้าง
วัคซีนโนวาแวค มีขนาด Recombinant spike protein 5 ไมโครกรัม และ Matrix – M1 adjuvant 50 ไมโครกรัม มีตารางฉีดที่แนะนำ 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ สามารถฉีดให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป มีวิธีการเก็บรักษาที่ 2 – 8 องศาเซลเซียส ซึ่งยังไม่มีข้อมูลระบุว่าสามารถฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใดบ้าง
วัคซีนภารัตไบโอเทค มีขนาด 6 ไมโครกรัม มีตารางฉีดที่แนะนำ 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ สามารถฉีดให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป มีวิธีการเก็บรักษาที่ 2 – 8 องศาเซลเซียส ซึ่งยังไม่มีข้อมูลระบุว่าสามารถฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใดบ้าง
ทั้งหมดนี้คือข้อแนะนำสำหรับการเตรียมพร้อมก่อนรับวัคซีนโควิด อย่างไรก็ตามวัคซีนโควิดในปัจจุบัน ยังไม่สามารถป้องกันโควิดได้ 100% ดังนั้นแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ยังมีโอกาสเป็นโควิดได้อยู่ ดังนั้นขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัดต่อไป
ภาพจาก: Freepik
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage