เปิดหนังสือ 4 ฉบับ ‘มนัญญา’ทวงเงินแบงก์กรุงเทพ ค่าหลักประกันสัญญา 79 ล. ปมโครงการบ่อบัดร้าง จ.อุทัยธานี ใช้เวลา 14 เดือน หลังเรียกค่าปรับ ค่าเสียหาย 230.5 ผู้รับเหมา
กรณีโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียจังหวัดอุทัยธานี วงเงิน 488,536,000 บาท เทศบาลเมืองอุทัยธานี ทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง กับ กิจการร่วมค้า เอ เอส แซด เมื่อ 11 มิ.ย.2550 ในยุคนางเตือนจิตรา แสงไกร เป็นนายกเทศมนตรี (อดีตภรรยานายชาดา ไทยเศรษฐ์) และเกิดปัญหาก่อสร้างไม่คืบหน้า และมีการ ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้าง อีก 5 ครั้งในยุค น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นนายกเทศมนตรี ขยายเวลาการก่อสร้าง จาก 1,590 วัน เป็น 2,100 วัน (5.75 ปี) เมื่อสิ้นสุดสัญญาวันที่ 12 มี.ค.2556 ปรากฎว่าไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ทำให้มีการบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2556
อีกกว่า 3 เดือนถัดมา เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2556 ได้เรียกค่าปรับและค่าเสียหาย รวมทั้งสิ้น 230,564,768.82 บาท ขณะที่ วันที่ 24 ธ.ค.2556 เอกชน ได้ทำหนังสือแจ้งกลับมายัง เทศบาลเมืองอุทัยธานี ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินค่าปรับและค่าเสียหาย จำนวน 230,564,768.82 บาท อ้างว่า มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เทศบาลเมืองอุทัยธานี เป็นฝ่ายผิดสัญญา เกิดจากความผิดพลาดบกพร่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของกิจการร่วมค้าฯ อยู่ในระหว่าง กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง ดังนั้นในระหว่างนี้บริษัทฯ จึงอยู่ภายใต้สภาวะการพักชําระหนี้และได้รับการคุ้มครองตามที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย เทศบาลฯจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องใดๆอีกต่อไป (อ่านประกอบ:หนังสือเอกชน ไม่จ่าย 230.5 ล. ค่าเสียหาย บ่อบำบัดร้าง จ.อุทัยฯ อ้างกำลังฟื้นฟูกิจการ)
เทศบาลเมืองอุทัยธานี โดย น.ส.มนัญญา ดำเนินการอย่างไร?
จากการตรวจสอบพบว่า หลังบอกเลิกสัญญจ้าง เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2556 จากนั้น เดือน ส.ค.2556 - ส.ค.2557 น.ส.มนัญญา นายกเทศมนตรี ทำหนังสือถึงธนาคารกรุงเทพ 4 ครั้ง ขอให้ส่งเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน รวม 79,341,147.34 บาท ครั้งแรกวันที่ 27 ส.ค.2556 ครั้งที่สอง วันที่ 18 พ.ย. 2556 ครั้งที่สาม วันที่ 2 พ.ค.2557 และครั้งที่สี่ วันที่ 8 ส.ค.2557
หนังสือ ขอให้ส่งเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ครั้งแรก วันที่ 27 ส.ค.2556 แจ้งว่า เอกชนทำผิดสัญญาจ้าง ไม่สามารถส่งมอบงานจ้งตามสัญญาจ้างให้แก่เทศบาล จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ดังนั้นจึงขอให้ธนาคารนำส่งเงินตามหนังสือสัญญาคำประกัน ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ (ดูเอกสาร)
เงินที่ธนาคารจะต้องนำส่งตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน 5 ฉบับ ฉบับแรก หนังสือสัญญาค้ำประกัน เลขที่ C 06215/21007005633 ลงวันที่ 21 พ.ค.2550 จำนวน 24,426,800 บาท ,ฉบับที่สอง เลขที่ C 06215/20407009223 ลงวันที่ 1 ส.ค.2550 จำนวน 48,853,600 บาท ,ฉบับที่สาม เลขที่ C 23215/20408011906 ลงวันที่ 17 มี.ค.2551 จำนวน 3,013,364.49 บาท ,ฉบับที่สี่ เลขที่ C 23215/21008012728 ลงวันที่ 16 ก.ย.2551 จำนวน 1,185,222.15 บาท ,ฉบับที่ห้า เลขที่ C 23215/20408014392 ลงวันที่ 31 ต.ค.2551 จำนวน 1,862,160.70 บาท (ดูเอกสาร)
16 ต.ค.2556 ธนาคารกรุงเทพมีหนังสือแจ้งกลับมายังเทศบาลฯ เนื่องจาก ธนาคารได้รับแจ้งจาก กิจการร่วมค้า เอ เอส แซด ว่ามิได้ทำผิดสัญญา และขอให้ธนาคารระงับการชำระเงิน 79,341,147.34 บาท ดังนั้นธนาคารจึงขอชะลอการชำระเงินตามที่เรียกร้องไว้ก่อน ขอให้เทศบาลพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง
หนังสือแจ้งธนาคารกรุงเทพครั้งที่สอง วันที่ 18 พ.ย. 2556 ยืนยันว่า กิจการร่วมค้า เอ เอส แซด ทำผิดสัญญา แจ้งให้ธนาคารฯนำเงิน 79,341,147.34 บาท มาชำระแก่เทศบาลฯโดยเร็วที่สุด มิฉะนั้นเทศบาลฯจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย
หนังสือแจ้งธนาคารกรุงเทพครั้งที่สาม วันที่ 2 พ.ค.2557 สาระเหมือนเดิม ให้ธนาคารฯนำเงิน 79,341,147.34 บาท มาชำระแก่เทศบาลฯโดยเร็วที่สุด หากเพิกเฉย เทศบาลฯจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย วันที่ 26 พ.ค.2557 ธนาคารกรุงเทพ ทำหนังสือแจ้งกลับว่า เนื่องจาก ธนาคารได้รับแจ้งจาก กิจการร่วมค้า เอ เอส แซด ว่ามิได้ทำผิดสัญญา และขอให้ธนาคารระงับการชำระเงิน 79,341,147.34 บาท ดังนั้นธนาคารจึงขอชะลอการชำระเงินตามที่เรียกร้องไว้ก่อน ขอให้เทศบาลพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง
หนังสือแจ้งธนาคารกรุงเทพครั้งที่สี่ วันที่ 8 ส.ค.2557 สาระเหมือนเดิม ให้ธนาคารฯนำเงิน 79,341,147.34 บาท มาชำระแก่ กองคลัง เทศบาลฯโดยเร็วที่สุด หากเพิกเฉย จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด
หลังจากนั้นอีก 3 เดือน วันที่ 14 ต.ค.2557 ธนาคารได้นำส่งเงินหลักประกันสัญญาต่อเทศบาล
อย่างไรก็ตาม หากนับเวลาตั้งแต่ เดือน ส.ค.2556 - ต.ค.2557 ใช้เวลากว่า 1 ปี หรือประมาณ 14 เดือน
โครงการนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า งบประมาณทั้งสิ้น 501,970,700 บาท เบิกจ่ายเงินไปแล้ว จำนวน 300,547,211 บาท หักเงินจ่ายล่วงหน้าจำนวน 22,967,694.38 บาท คงเหลือเบิกจ่ายสุทธิ จำนวน 277,579,516.62 บาท
ขณะที่ เทศบาลฯส่งหนังสือเรียก ค่าปรับ และค่าเสียหายอื่นที่เอกชนจะต้องจ่ายเป็นเงิน 230,564,768.82 บาท
เงินก้อนนี้ไม่มีข้อมูลว่าติดตามกลับคืนมาได้เท่าไหร่?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
เอ็กซ์คลูซีฟ : ผลสอบ สตง.ตามไล่บี้บ่อบำบัดร้าง จ.อุทัยฯ สกัดงบแผ่นดินรั่วไหล 501 ล.
หนังสือเอกชน ไม่จ่าย 230.5 ล. ค่าเสียหาย บ่อบำบัดร้าง จ.อุทัยฯ อ้างกำลังฟื้นฟูกิจการ
หนังสือ ‘มนัญญา’ เรียกค่าปรับค่าเสียหาย 230.5 ล.ปมบ่อบำบัดร้าง หลังเลิกสัญญา 3 เดือน
อีกด้าน! หนังสือยกเลิกสัญญารับเหมาบ่อบำบัดฯ จ.อุทัยฯ ‘มนัญญา’เรียกค่าปรับ 170.9 ล.
รัฐไม่เสียหาย-ป.ป.ช.ตรวจหมดแล้ว! ‘ชาดา’ แจงปมน้องสาวแก้ไขสัญญาบ่อบำบัด จ.อุทัยฯ 5 ครั้ง
เผยโฉมบันทึกแก้ไขสัญญาจ้าง 5 ครั้ง ‘มนัญญา ไทยเศรษฐ์’โครงการบ่อบัดร้าง จ.อุทัยฯ
ว่าที่ รมต.หญิง?! ‘มนัญญา’ โครงการบ่อบำบัดร้าง จ.อุทัยฯ แก้ไขสัญญา 5 ครั้ง
เปิดขุมทรัพย์ หจก.พันล้านฯ ก่อน ‘ชาดา’ บ้านใหญ่ จะนั่งรัฐมนตรี ?
ครบ 6 ปี ซากบ่อบำบัดน้ำเสียร้างพันล. จ.อุทัยธานี ยังหาตัวคนทุจริตไม่ได้?
เปิดเอกสาร 6 ฉบับ!ค่าโง่ 300 ล. ‘บ่อบำบัดน้ำเสีย’ร้าง จ.อุทัยฯ ใครอุ้มผู้รับเหมา?
โครงการร้าง‘บำบัดน้ำเสีย’จ.อุทัยฯ 488 ล.! แก้สัญญา 5 รอบ-จ่ายเงินล่วงหน้า 71 ล.
สาวลึกนักการเมืองเบื้องหลัง! ตร.สอบโครงการร้างบ่อบำบัดน้ำเสียจ.อุทัยฯ 1,000 ล.