"...สตจ.อุทัยธานี ได้ตรวจสอบรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 พบว่า เทศบาลฯ มีเงินรับฝากโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียโดยไม่มีการเคลื่อนไหว จำนวนเงิน 101,364,358.88 บาท จึงได้ทำจดหมายบันทึกสอบถามเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่าเงินรับฝากดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จจึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินรับฝากดังกล่าวต่อไป..."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกกรณีโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียจังหวัดอุทัยธานี วงเงิน 488,536,000 บาท เทศบาลเมืองอุทัยธานี ทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง กับ กิจการร่วมค้า เอ เอส แซด เมื่อ 11 มิ.ย.2550 ในยุคนางเตือนจิตรา แสงไกร เป็นนายกเทศมนตรี (อดีตภรรยานายชาดา ไทยเศรษฐ์) และเกิดปัญหาก่อสร้างไม่คืบหน้าตามที่กำหนดในสัญญา ในยุค น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นนายกเทศมนตรี ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้าง อีก 5 ครั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้าง 5 ครั้ง ขยายเวลาการก่อสร้าง จาก 1,590 วัน เป็น 2,100 วัน (5.75 ปี) สิ้นสุดสัญญา 12 มี.ค.2556 ทว่าไม่แล้วเสร็จตามกำหนด และบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2556 กระทั่งได้ส่งหนังสือแจ้งเรียกค่าปรับและค่าเสียหาย รวมทั้งสิ้น 230,564,768.82 บาท เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2556 ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนออย่างต่อเนื่องกันไปแล้ว
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานโครงการนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
สำนักข่าวอิศรา จึงขอนำรายละเอียดผลการตรวจสอบโครงการนี้ ของ สตง. นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มานำเสนอ ให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นทางการ ณ ที่นี้
ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการของเทศบาลเมืองอุทัยธานี นั้น สตง. ตรวจสอบพบข้อมูลดังนี้
หนึ่ง ในปีงบประมาณ 2548 เทศบาลมืองอุทัยธานี ได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียจำนวน 501,970,700 บาท จึงได้ดำเนินการโดยทำสัญญาจ้างเลขที่ 5/2550 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2550 จ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียโดยกิจการร่วมค้า
เอ เอส แซด เป็นผู้รับจ้างจำนวนเงิน 488,536,000 บาท สิ้นสุดสัญญา วันที่ 18 ตุลาคม 2544 และ ทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานโครงการเลขที่ 2/2550 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2550 กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงเงิน 13,434,700 บาท รวมทั้งสองสัญญาเป็นเงิน 501,970,700 บาท เบิกจ่ายเงินไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 300,547,211 บาท หักเงินจ่ายล่วงหน้า จำนวน 22,967,694.38 บาท คงเหลือเบิกจ่ายสุทธิ จำนวน 277,579,516.62 บาท
สอง ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 -2555 มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญารวม 5 ครั้ง โดยมีการแก้ไขแบบแปลนและตัดปริมาณงานในบางงวด และขยายระยะเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 มี.ค.2556 แต่เมื่อครบกำหนดผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ เทศบาลจึงแจ้งบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30
กรกฎาคม 2556 และแจ้งพิจารณาลงโทษผู้ทิ้งงาน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 และ 18 กรกฎาคม 2557 และต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560
สาม เทศบาลฯได้ดำเนินการประมูลจ้างก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย(งานก่อสร้างที่เหลือ) จำนวน 1 โครงการวงเงิน 247,077,000 บาท ด้วยวิธีประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ปรากฏว่า ไม่มีผู้ซื้อเอกสาร เทศบาลฯ จึงยกเลิกการประมูลจ้างดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2558 จากนั้นมีการประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างอีกจำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 ราคากลาง 202,811,000 บาท และวันที่ 26 กรกฏาคม 2559 ราคากลาง 198,218,000 บาท โดยไม่มีผู้มาขอซื้อเอกสารจึงยกเลิกการประกวดราคา
สำหรับการการดำเนินการของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 11 (สตภ.11) และ สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดอุทัยธานี (สตจ.อุทัยธานี) นั้น
- สตภ.11 ได้เข้าตรวจสอบการประมูลจ้างก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย(งานก่อสร้างที่เหลือ) ตามประกาศและเอกสารประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (eAucton) ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ราคากลาง 247,077,000 บาท และตรวจสังเกตการณ์งานก่อสร้าง พบว่า ความยาวงานก่อสร้างมีราคากลางสูงกว่าพื้นที่ดำเนินการจริง สภาพถนนไม่ตรงกับแบบแปลนและงานก่อสร้างบางรายการมีการดำเนินการแล้ว นอกจากนี้การจัดทำราคากลาง ใช้ค่า Factor F ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างและคำนวณค่าดินขุดสูงไป จึงได้แจ้งผลการตรวจสอบในลักษณะเชิงป้องปรามให้เทศบาลฯ พิจารณาแก้ไขแบบแปลนและทบทวนการจัดทำราคากลางก่อนดำเนินการจัดจ้างในคราวต่อไปตามหนังสือที่ ตผ 0052 นว/089 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2558 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 เทศบาลมีหนังสือแจ้งว่าได้ทบทวนแก้ไขราคากลางและปรับลดเหลือจำนวน 202,811,000 บาท
ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2557 สตจ.อุทัยธานี ได้มีหนังสือถึงนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี เพื่อขอเอกสารสำเนาสัญญาและรายละเอียดโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียและสอบถามว่าได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฯ หรือไม่อย่างไร
สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกิจการร่วมค้า เอ เอส แซด สตจ.อุทัยธานี ได้มีจดหมายบันทึกสอบถามเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ได้รับคำชี้แจงว่า การดำเนินคดีอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ อยู่ในการดำเนินการของพนักงานอัยการ และในส่วนของคดีล้มละลาย เทศบาลฯ ได้ยื่นขอชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กรมบังคับคดีซึ่งอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ในปีปัจจุบัน สตจ.อุทัยธานี ได้ตรวจสอบรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 พบว่า เทศบาลฯ มีเงินรับฝากโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียโดยไม่มีการเคลื่อนไหว จำนวนเงิน 101,364,358.88 บาท จึงได้ทำจดหมายบันทึกสอบถามเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่าเงินรับฝากดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จจึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินรับฝากดังกล่าวต่อไป
อนึ่ง จากข้อมูลในเว็บไซต์ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2562 เทศบาลเมืองอุทัยธานี ได้ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย (งานก่อสร้างที่คงเหลือ) อีกจำนวน 2 ครั้ง
1. ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างระบบรวบวมและบำบัดน้ำเสีย (งานก่อสร้างที่คงเหลือ) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกาศ ณ วันที่ 22 กันยายน 2558 ราคากลาง 202,811,000 บาท แต่ไม่มีผู้มาขอซื้อเอกสาร เทศบาลเมืองอุทัยธานี จึงได้ประกาศยกเลิกการประกวดราคา
2. ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย(งานก่อสร้างที่คงเหลือ) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ประกาศ ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ราคากลาง 198,219,000 บาท แต่ไม่มีผู้มายื่นเอกสารเทศบาลเมืองอุทัยธานี จึงได้ประกาศยกเลิกการประกวดราคา
ขณะที่แหล่งข่าวจากสตง. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับกรณีที่ผลการประมูลปรากฏว่าไม่มีผู้ซื้อเอกสาร เทศบาลจึงได้ยกเลิกการประมูลจ้างดังกล่าว และเมื่อ สตง. ได้เข้าตรวจสังเกตการณ์ก็พบว่า ราคากลางสูงกว่าที่ควรจะเป็น จึงได้แจ้งป้องปราม จนนำไปสู่การทบทวนแก้ไขราคากลาง นั้น สำหรับในเรื่องนี้ สตง. จะได้ติดตามตรวจสอบต่อไป รวมถึงกรณีเงินรับฝากกว่า 101 ล้านบาท ที่อยู่ในบัญชีโดยไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งทางเทศบาลแสดงเจตนารมณ์ว่าจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป
ทั้งหมดนี่ คือ รายละเอียดผลการตรวจสอบโครงการนี้ ของ สตง. นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ยังไม่มีการเปิดเผยเป็นทางการที่ไหนมาก่อน
บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไรต้องติดตามดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
หนังสือ ‘มนัญญา’ เรียกค่าปรับค่าเสียหาย 230.5 ล.ปมบ่อบำบัดร้าง หลังเลิกสัญญา 3 เดือน
อีกด้าน! หนังสือยกเลิกสัญญารับเหมาบ่อบำบัดฯ จ.อุทัยฯ ‘มนัญญา’เรียกค่าปรับ 170.9 ล.
รัฐไม่เสียหาย-ป.ป.ช.ตรวจหมดแล้ว! ‘ชาดา’ แจงปมน้องสาวแก้ไขสัญญาบ่อบำบัด จ.อุทัยฯ 5 ครั้ง
เผยโฉมบันทึกแก้ไขสัญญาจ้าง 5 ครั้ง ‘มนัญญา ไทยเศรษฐ์’โครงการบ่อบัดร้าง จ.อุทัยฯ
ว่าที่ รมต.หญิง?! ‘มนัญญา’ โครงการบ่อบำบัดร้าง จ.อุทัยฯ แก้ไขสัญญา 5 ครั้ง
เปิดขุมทรัพย์ หจก.พันล้านฯ ก่อน ‘ชาดา’ บ้านใหญ่ จะนั่งรัฐมนตรี ?
ครบ 6 ปี ซากบ่อบำบัดน้ำเสียร้างพันล. จ.อุทัยธานี ยังหาตัวคนทุจริตไม่ได้?
เปิดเอกสาร 6 ฉบับ!ค่าโง่ 300 ล. ‘บ่อบำบัดน้ำเสีย’ร้าง จ.อุทัยฯ ใครอุ้มผู้รับเหมา?
โครงการร้าง‘บำบัดน้ำเสีย’จ.อุทัยฯ 488 ล.! แก้สัญญา 5 รอบ-จ่ายเงินล่วงหน้า 71 ล.
สาวลึกนักการเมืองเบื้องหลัง! ตร.สอบโครงการร้างบ่อบำบัดน้ำเสียจ.อุทัยฯ 1,000 ล.