"...จำเลยมีหน้าที่รวบรวมความเห็นของคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ เสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม แต่ไม่นําผลการพิจารณากลั่นกรอง ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์และกลั่นกรองงบกองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานสํานักงานประกันสังคมประจําปี ในเรื่องเกี่ยวกับอํานาจอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการ เสนอให้คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณา แต่จําเลยกลับชี้แจงด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า ทุกเนื้องานของโครงการเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนและสํานักงานประกันสังคม 100% ทําให้คณะกรรมการประกันสังคมหลงเชื่อว่าการอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนเพื่อดำเนินงานโครงการชอบด้วยกฎหมาย..."
พิพากษากลับว่า จำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุก 2 ปี
คือ บทสรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2566 ที่ตัดสินพิพากษากลับให้ลงโทษ จำคุก 2 ปี นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในคดีกล่าวหาทุจริตทำสัญญาเช่าจัดหาและดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน มูลค่า 2,800 ล้านบาท ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน (คดีคอมพ์ฉาว สปส. 2.8 พันล.) ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้ความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาในคดีนี้พบว่า อัยการสูงสุด ในฐานะโจทก์ (ฟ้องแทน ป.ป.ช.) ระบุพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของ นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอนุมัติร่างขอบเขตงาน (TOR) การเช่าจัดหาและดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน มูลค่า 2,800 ล้านบาท ที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สํานักงานประกันสังคม นายจ้าง และผู้ประกันตน และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จําเลยยังมีการชี้แจงด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า ทุกเนื้องานของโครงการเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนและสํานักงานประกันสังคม 100% ทําให้คณะกรรมการประกันสังคมหลงเชื่อว่าการอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนเพื่อดำเนินงานโครงการชอบด้วยกฎหมาย และมีมติอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนดําเนินการโครงการ จํานวน 2,894,669,702 บาท
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
คำฟ้องโจทก์ระบุว่า สํานักงานประกันสังคมจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น มีฐานะเป็นกรม และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สังกัดกระทรวงแรงงาน มีอํานาจหน้าที่ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการอื่น และคณะอนุกรรมการ เก็บ รวมรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการประกันสังคมจัดทําทะเบียนนายจ้างและผู้ประกันตน
ขณะเกิดเหตุ จําเลย เป็นข้าพลเรือนสามัญ ดํารงตําแหน่งเลขาธิการสํานักงานประกันสังคม (นักบริหาร 10) ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการประกันสังคมโดยตําแหน่ง มีหน้าที่ควบคุมดูแลราชการทั่วไปซึ่งราชการของสํานักงานประกันสังคม เป็นหัวหน้าส่วนราชการตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และหัวหน้าหน่วยงานตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549
จําเลย จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย คณะกรรมการประกันสังคม มีอํานาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับนโยบาย และมาตรการในการประกันสังคม พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ พิจารณางบดุลและรายงานการรับ จ่ายเงินของกองทุนประกันสังคมและรายงานผลการปฏิบัติงานประจําปีของสํานักงานประกันสังคม กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นในสํานักงานประกันสังคม ประกอบด้วยเงินสมทบจากรัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตน เงินเพิ่ม ผลประโยชน์ของกองทุน เงินค่าธรรมเนียม เงินที่ได้รับจากการบริจาคหรือเงินอุดหนุน เงินที่ตกเป็นของกองทุน เงินอุดหนุน หรือเงินทดรอง ราชการที่รัฐบาลจ่าย เงินค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบ และรายได้อื่นเงินกองทุนประกันสังคมเป็นของสํานักงานประกันสังคมและไม่ต้องนําส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
ทั้งนี้ เงินกองทุนให้จ่ายเป็นประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ประกันตนและผู้มีสิทธิโดยคณะกรรมการประกันสังคมอาจจัดสรรเงินกองทุนประกันสังคมไม่เกินร้อยละสิบของเงินสมทบแต่ละปี เพื่อจ่ายเป็นเบี้ยประชุมค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษากรรมการการแพทย์ กรรมการอุทธรณ์และอนุกรรมการ และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสํานักงานประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 18 มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และระเบียบสํานักงานประกันสังคมว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนําเงินกองทุนไปใช้จ่ายเพื่อบริหารงานของสํานักงานประกันสังคม พ.ศ. 2534 ข้อ 9
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2549 เวลากลางวัน จําเลย ซึ่งมีอํานาจอนุมัติร่างขอบเขตงาน (TOR) ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 8 ได้อนุมัติร่างเอกสารประกวดราคาเช่าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และร่างขอบเขตของงานโครงการจัดหาและดําเนินการระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศแรงงาน วงเงินงบประมาณ 2,897,735,651 บาท สําหรับเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสํานักงานประกันสังคมและของกรมบัญชีกลาง เพื่อรับฟังคําวิจารณ์ก่อนดําเนินการประกวดราคา ทั้งที่ คณะอนุกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์และกลั่นกรองงบกองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานสํานักงานประกันสังคมประจําปี ได้มีมติให้ปรับลดลงวงเงินงบประมาณลงเหลือ 2,894,669,702 บาท และวงเงินที่ปรับลดดังกล่าวเป็นวงเงินที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2549 เวลากลางวัน จําเลยลงลายมือชื่อในประกาศสำนักงานประกันสังคม หรือประกวดราคาเช่าโครงการจัดหาและดําเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2549 โดยเอกสารแนบท้ายประกาศ ข้อ 4.5 (2) ระบุราคาสูงสุดของการประกวดราคาเช่าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องเริ่มต้นที่ 2,897,735,651 บาท ทั้งที่วงเงินงบประมาณโครงการได้มีการปรับลดลงเหลือ2,894,669,702 บาท และจําเลยรู้อยู่แล้วว่าคณะกรรมการประกันสังคมยังไม่ได้อนุมัติให้ใช้เงินกองทุนประกันสังคมดําเนินงานโครงการ
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 เวลากลางวัน มีการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ครั้งที่ 13/2549 เพื่อพิจารณาโครงการจัดหาระบบและดําเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน วงเงินงบประมาณ 2,894,669,702 บาท จําเลยมีหน้าที่รวบรวมความเห็นของคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ เสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม แต่ไม่นําผลการพิจารณากลั่นกรอง ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์และกลั่นกรองงบกองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานสํานักงานประกันสังคมประจําปี ในเรื่องเกี่ยวกับอํานาจอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการ เสนอให้คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณา
แต่จําเลยกลับชี้แจงด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า ทุกเนื้องานของโครงการเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนและสํานักงานประกันสังคม 100% ทําให้คณะกรรมการประกันสังคมหลงเชื่อว่าการอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนเพื่อดำเนินงานโครงการชอบด้วยกฎหมาย และมีมติอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนดําเนินการโครงการ จํานวน 2,894,669,702 บาท
ทั้งที่จําเลยรู้อยู่แล้วว่ามีงานบางส่วนไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสํานักงานประกันสังคม กองทุนประกันสังคม หรือผู้ประกันตน ซึ่งไม่สามารถนําเงินของกองทุนไปดําเนินโครงการ เช่น ระบบรับเรื่องราวร้องทุกข์และระบบตรวจราชการของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบบจัดหางานในประเทศ ผ่านเครือข่ายออนไลน์และอินเทอร์เน็ต ระบบจัดหางานไปต่างประเทศ ระบบส่งเสริมการมีงานทําระบบสารสนเทศตลาดแรงงานของกรมการจัดหางาน ระบบมาตรฐานฝีมือแรงงานระบบบริการ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และระบบงานฝึกอาชีพของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระบบคุ้มครองความปลอดภัย ระบบคุ้มครองแรงงาน ระบบสถานประกอบการ และระบบรับเรื่องร้องทุกข์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
หลังจากนั้นจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2549 เวลากลางวัน จําเลยรู้อยู่แล้วว่าคณะกรรมการประกันสังคมมีมติอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนใช้ดําเนินโครงการจัดหาและดําเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงานจํานวน 2,894,669,702 บาท แต่จําเลยปล่อยให้คณะกรรมการประกวดราคาเหนดราคาเริ่มต้น 2,897,735,651 บาท ซึ่งเป็นวงเงินงบประมาณก่อนมีการปรับลดลง
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 เวลากลางวัน จําเลยซึ่งมีอํานาจหน้าที่ลงลายมือชื่อในสัญญาตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 13.2 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่า จัดหาและดําเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน ฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2549 ระหว่าง สํานักงานประกันสังคม กับ เอส โอ เอ คอนเซอร์เทียม ค่าเช่าทั้งสิ้น 2,894,136,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าการอนุมัติเงินกองทุนเพื่อใช้ดําเนินโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ต้องชะลอโครงการและคู่สัญญาอีกฝ่าย หนึ่งฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางจนสํานักงานประกันสังคมต้องเจรจาปรับลดเนื้องานลงเหลือเฉพาะส่วนงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของสํานักงานประกันสังคมคงเหลือวงเงิน 2,355,300,000 บาท เพื่อให้โครงการดําเนินไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
การกระทําของจําเลยเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สํานักงานประกันสังคม นายจ้าง และผู้ประกันตน และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
เหตุเกิดที่ตําบลตลาดขวัญ อําเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วพิพากษายกฟ้อง
ส่วนรายละเอียดคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ ทำไมถึงพิพากษากลับว่า จำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุก 2 ปี
เนื่องจากมีรายละเอียดเนื้อหาค่อนข้างมาก จะขอนำมาเสนอในตอนต่อไป
อ่านข่าวประกอบ
- เบื้องหลังคดีคอมพ์ฉาว สปส.ค้าง 10 ปี! ป.ป.ช.โยกผู้รับผิดชอบสำนวน-สอบพยาน ตปท.ไม่ได้
- ดองคดีอาญา 10 ปี! อัพเดตปมคอมพ์ฉาว สปส. 2.8 พันล.-อัยการเพิ่งเรียก‘ไพโรจน์’รายงานตัว
- ก่อน‘หม่อมเต่า’เล่าใหม่? ฉากหลังคอมพ์ฉาว สปส. 2.8 พันล.-ป.ป.ช.ฟัน‘ไพโรจน์’ รายเดียว
- เบื้องหลัง คอมพิวเตอร์ สปส.“จอดำ” ล็อบบี้รมต.ต่อสัญญาเอกชน 3 เดือน เหลว!