“...เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2552 นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) แถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า นายไพโรจน์ ดำเนินโครงการอย่างเร่งรีบ เจตนาปกปิดข้อมูลสำคัญ และหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ นำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้จ่ายในโครงการดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย เป็นเหตุให้มีการชะลอโครงการ และมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลปกครองกลาง ทำให้เกิดความเสียหายทางราชการ…”
เงื่อนปมคอมพิวเตอร์ฉาวของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้งในช่วงสถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19
เนื่องจากเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน แถลงข่าวชี้แจงถึงความล่าช้าในการจ่ายเงินกรณีผู้ว่างงาน ที่มาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยระบุถึงระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส. ว่า ต้องใช้คนถึง 5,000-50,000 ราย ถึงจะทำได้ครั้งหนึ่ง
“ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ปรากฏว่าคอมพิวเตอร์ชุดนี้ที่มีมูลค่ากว่า 2,894 ล้านบาท คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติว่าผู้ที่ดำเนินการมีความผิดและต้องคืนเงิน 556 ล้านบาท ผมไม่ได้ทราบเรื่องมาก่อน ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของระบบประกันสังคมไม่สามารถทำอะไรได้อย่างที่อยากให้เป็น” เป็นคำยืนยันจาก ม.ร.ว.จัตุมงคล (อ้างอิงข่าวจาก : https://www.thaipost.net/main/detail/65223)
คำถามที่น่าสนใจคือ ที่มาที่ไปของคอมพิวเตอร์ฉาวชุดดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นจากคำแถลงของสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
ข้อเท็จจริงตามสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า เมื่อปี 2549 มีการตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดที่ 9 มีนายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปส. กระทรวงแรงงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบสนับสนุนโครงการจัดหาและดำเนินงานคอมพิวเตอร์ และสารสนเทศแรงงาน
โดยระหว่างกระบวนการประกาศเอกสารรายละเอียดการประกวดราคา (TOR) คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์และกลั่นกรองงบประมาณลงทุนประกันสังคม ได้ตั้งข้อสังเกตโครงการและมีมติให้นำข้อสังเกตต่าง ๆ เสนอต่อคณะกรรมการ สปส. หลายครั้ง เช่น 1.การใช้เงินกองทุนประกันสังคมไปก่อน แล้วค่อยให้หน่วยงานของบประมาณมาชดเชยภายหลังไม่น่าจะทำได้ 2.ให้ไปขอความเห็นจากอัยการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคณะกรรมการฯที่อ้างว่าใช้เงินกองทุนได้มาเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว จึงไม่เป็นทางการ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีนายไพโรจน์ ไม่ได้นำข้อสังเกตดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ สปส. เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2549 แต่อย่างใด แต่กลับชี้แจงต่อที่ประชุมว่า โครงการทั้งหมดเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนและ สปส. 100% จึงขออนุมัตินำเงินกองทุน 2,894,136,000 บาท ไปใช้ในโครงการ โดยที่ประชุมได้อนุมัติตามที่เสนอ
ต่อมานายไพโรจน์ได้อนุมัติทีโออาร์ และเปิดประมูลแบบ E-Auction มีผู้ยื่นซองประกวดราคา 2 ราย โดยบริษัท เอสโอเอ คอนซอร์เตียม จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 2,894,136,000 บาท (เท่ากับราคากลาง) ต่อมามีการปรับลดราคาเหลือ 2.3 พันล้านบาท
หลังจากนั้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2549 นายไพโรจน์ ลงนามในฐานะผู้เช่าและ บริษัท เอสโอเอฯ ลงนามในฐานะผู้ให้เช่า โดยไม่นำข้อสังเกตของปลัดกระทรวงแรงงาน ปฏิบัติหน้าที่ รมว.แรงงาน (ขณะนั้นเกิดขึ้นภายหลังรัฐประหารมีการตั้งปลัดกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปพลางก่อน) นอกจากนี้ยังไม่ทำตามที่ปลัดกระทรวงแรงงานมีหนังสือขอให้ สปส. ชะลอโครงการไประยะหนึ่ง พิจารณาแล้วเห็นว่า ขอให้ทบทวนโครงการดังกล่าวว่ามีประโยชน์และราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ แม้ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกา จะมีความเห็นว่า การที่ สปส. นำเงินกองทุนดังกล่าวไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายหรือเป็นเงินกู้ยืมไม่เป็นการใช้เงิน 10% ในการบริหารงานของ สปส. ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2543 ก็ตาม
(ไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ อดีตเลขาธิการ สปส.)
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2552 นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) แถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า นายไพโรจน์ ดำเนินโครงการอย่างเร่งรีบ เจตนาปกปิดข้อมูลสำคัญ และหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ นำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้จ่ายในโครงการดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย เป็นเหตุให้มีการชะลอโครงการ และมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลปกครองกลาง ทำให้เกิดความเสียหายทางราชการ
การกระทำของนายไพโรจน์ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และส่งไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาแล้ว
ภายหลังเกษียณอายุราชการ นายไพโรจน์ ถูกแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2552 โดยอยู่ในโควตาของกลุ่ม ‘มัชฌิมา’ ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นแกนนำ (ขณะนั้น)
ผลทางวินัย เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2552 ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนั้น คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) มีมติเอกฉันท์ปลดนายไพโรจน์ ออกจากราชการ โดยโทษดังกล่าวนายไพโรจน์ ยังได้รับบำเหน็จบำนาญตามระเบียบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อยู่
ส่วนผลทางคดีอาญานั้น ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดว่าคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ?
ทั้งนี้ในส่วนบริษัท เอสโอเอ คอนซอร์เตียม จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ สปส. นั้น ไม่ปรากฏในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และบริษัทแห่งนี้ไม่ได้ถูกร้องเรียนในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด
ภายหลังเหตุการณ์คอมพิวเตอร์ฉาวดังกล่าว เมื่อปี 2555 ซึ่ง สปส. จะหมดสัญญาว่าจ้างบริษัท เอสโอเอฯ นั้น มีรายงานข่าวสะพัดว่า ผู้บริหาร สปส. กลุ่มหนึ่งพยายามล็อบบี้ รมว.แรงงาน (นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ขณะนั้น) เพื่อขอให้ต่อสัญญากับเอกชนรายนี้ออกไป อย่างไรก็ดีนายเผดิมชัย ไม่เห็นด้วย จึงตัดสินใจไม่ต่อสัญญา ส่งผลให้สิ้นสุดสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : เบื้องหลัง คอมพิวเตอร์ สปส.“จอดำ” ล็อบบี้รมต.ต่อสัญญาเอกชน 3 เดือน เหลว!)
ทั้งหมดคือเบื้องลึก-ฉากหลังเกี่ยวกับโครงการคอมพิวเตอร์ สปส. ที่ถูกร้องเรียนตรวจสอบมาตั้งแต่ปี 2549 จน ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเมื่อปี 2552 แต่ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของ สปส. มาจนถึงทุกวันนี้ ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบห้องคอมพิวเตอร์จาก https://cdn.pixabay.com/ เพื่อนำมาประกอบข่าวเท่านั้น ไม่ใช่คอมพิวเตอร์จาก สปส. แต่อย่างใด
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage