เบื้องหลังคดีอาญาคอมพ์ฉาว สปส. 2.8 พันล้านค้าง 10 ปี! คณะทำงานร่วมฯฝ่าย ป.ป.ช. ถูกปรับโครงสร้างหลายครั้ง-โยกสำนวนรับผิดชอบ ตามพยานปากสำคัญใน ตปท.มาให้ถ้อยคำไม่ได้ สุดท้ายฝ่ายอัยการฯเคาะเรียกตัว ‘ไพโรจน์’ ส่งฟ้องศาลเองปลายเดือน เม.ย. 63
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า ภายหลังนายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานประกสังคม (สปส.) เมื่อปี 2552 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด กรณีทำสัญญาเช่าคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน สปส. วงเงิน 2.8 พันล้านบาทโดยมิชอบ ต่อมาปี 2553 มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) และฝ่าย ป.ป.ช. จนเมื่อปลายเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา คณะทำงานฝ่ายอัยการได้เรียกตัวนายไพโรจน์มารายงานตัว เตรียมนำตัวส่งฟ้องศาลนั้น (อ่านประกอบ : ดองคดีอาญา 10 ปี! อัพเดตปมคอมพ์ฉาว สปส. 2.8 พันล.-อัยการเพิ่งเรียก‘ไพโรจน์’รายงานตัว)
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2563 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในคณะทำงานร่วมฯคดีดังกล่าวว่า ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลนายไพโรจน์เมื่อปี 2552 และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลนั้น เมื่อปี 2553 ฝ่ายอัยการเห็นว่าสำนวนคดีดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ จึงตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการและฝ่าย ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการแก้ไขข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวน โดยฝ่ายอัยการตั้งประเด็นข้อไม่สมบูรณ์ไว้ 6 ประเด็น รวมถึงการเรียกตัวพยานคนสำคัญในต่างประเทศเพื่อให้ถ้อยคำในคดีนี้ด้วย
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า สาเหตุที่เรื่องดังกล่าวเกิดความล่าช้านั้น เป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมา ภายในสำนักงาน ป.ป.ช. มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารหลายครั้ง มีการโยกโอนสำนวนให้ผู้รับผิดชอบหลายราย กระทั่งการตามตัวพยานปากสำคัญที่อยู่ต่างประเทศยังไม่สามารถทำได้ ท้ายที่สุดเมื่อปลายเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา คณะทำงานฝ่ายอัยการจึงรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่มี เพื่อเรียกนายไพโรจน์มรายงานตัว ดำเนินการสั่งฟ้องต่อศาลต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 และปี 2560 หรือ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับเดิมนั้น มิได้กำหนดระยะเวลาในการตั้งคณะทำงานร่วมฯ และระยะเวลาในการแสวงหาข้อไม่สมบูรณ์ของคณะทำงานร่วมฯ แต่ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 หรือฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ ก.ค. 2561 มาตรา 93 โดยให้นำความในมาตรา 77 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ระบุสาระสำคัญว่า เมื่อ อสส. ได้รับสำนวนจาก ป.ป.ช. แล้วต้องฟ้องศาลภายใน 180 วัน หากเห็นว่ามีข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอ ให้ตั้งคณะทำงานร่วมฯ และไต่สวนให้ครบถ้วนภายใน 90 วัน เพื่อส่งให้ อสส. ฟ้องคดี หากครบกำหนดแล้วยังไม่มีข้อยุติ ให้ ป.ป.ช. ดึงสำนวนกลับมาฟ้องเองได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่า 90 วัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังด้วย
อ่าน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/052/1.PDF
อ่านประกอบ :
ดองคดีอาญา 10 ปี! อัพเดตปมคอมพ์ฉาว สปส. 2.8 พันล.-อัยการเพิ่งเรียก‘ไพโรจน์’รายงานตัว
ก่อน‘หม่อมเต่า’เล่าใหม่? ฉากหลังคอมพ์ฉาว สปส. 2.8 พันล.-ป.ป.ช.ฟัน‘ไพโรจน์’ รายเดียว
เบื้องหลัง คอมพิวเตอร์ สปส.“จอดำ” ล็อบบี้รมต.ต่อสัญญาเอกชน 3 เดือน เหลว!
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage