ดองคดีอาญาไว้ 10 ปี! เผยความคืบหน้าคดีคอมพิวเตอร์ฉาวสำนักงานประกันสังคม 2.8 พันล้าน ปี 52 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ‘ไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์’ อดีตเลขาธิการ สปส. ปี 53 ตั้งคณะทำงานร่วมอัยการ ก่อนเงียบหายไป โผล่อีกทีปี 63 อัยการเรียกรายงานตัวเตรียมส่งฟ้องศาล
จากกรณี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาในการจ่ายเงินกรณีผู้ว่างงาน ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยระบุว่า เกิดจากสาเหตุระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส. ที่ถูกเช่าในช่วงปี 2549 วงเงิน 2.8 พันล้านบาท ต่อมาเมื่อปี 2552 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และทางอาญาแก่ นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ อดีตเลขาธิการ สปส. เพียงรายเดียว เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติในการจัดทำสัญญาดังกล่าว โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอรายละเอียดไปแล้วนั้น (อ่านประกอบ : ก่อน‘หม่อมเต่า’เล่าใหม่? ฉากหลังคอมพ์ฉาว สปส. 2.8 พันล.-ป.ป.ช.ฟัน‘ไพโรจน์’ รายเดียว)
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2563 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมว่า คดีในทางอาญาของนายไพโรจน์ ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเมื่อปี 2552 นั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2553 อัยการสูงสุด (อสส.) ขณะนั้นเห็นว่า สำนวนดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ จึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. และเรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไป จนผ่านไปประมาณ 10 ปี เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา คณะทำงานฝ่ายอัยการได้เรียกนายไพโรจน์ให้มารายงานตัวต่ออัยการเพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังไม่มีข้อมูลว่านายไพโรจน์ได้มารายงานตัวต่ออัยการแล้วหรือไม่ โดยตามกฎหมาย หากนายไพโรจน์ยังไม่มารายงานตัว ฝ่ายอัยการจะทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อออกหมายจับนำตัวมาส่งอัยการต่อไป
สำหรับมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2552 ตามการแถลงของนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า นายไพโรจน์ ดำเนินโครงการอย่างเร่งรีบ เจตนาปกปิดข้อมูลสำคัญ และหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ นำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้จ่ายในโครงการดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย เป็นเหตุให้มีการชะลอโครงการ และมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลปกครองกลาง ทำให้เกิดความเสียหายทางราชการ
การกระทำของนายไพโรจน์ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และส่งไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาแล้ว
ภายหลังเกษียณอายุราชการ นายไพโรจน์ ถูกแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2552 โดยอยู่ในโควตาของกลุ่ม ‘มัชฌิมา’ ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นแกนนำ (ขณะนั้น)
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2552 ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนั้น คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) มีมติเอกฉันท์ปลดนายไพโรจน์ ออกจากราชการ โดยโทษดังกล่าวนายไพโรจน์ ยังได้รับบำเหน็จบำนาญตามระเบียบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อยู่
อ่านประกอบ :
ก่อน‘หม่อมเต่า’เล่าใหม่? ฉากหลังคอมพ์ฉาว สปส. 2.8 พันล.-ป.ป.ช.ฟัน‘ไพโรจน์’ รายเดียว
เบื้องหลัง คอมพิวเตอร์ สปส.“จอดำ” ล็อบบี้รมต.ต่อสัญญาเอกชน 3 เดือน เหลว!
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage