"...ข้อเท็จจริงข้างต้นทำให้เห็นว่ามูลกรณีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของหน่วยงาน และความเชื่อมั่น ความไว้วางใจของประชาชนต่อการบริหารงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก หากจะให้ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อยู่ในหน้าที่ราชการต่อไปอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ ซึ่งเป็นเหตุให้พักราชการได้..."
"หากจะให้นายรัชฎา อยู่ในหน้าที่ราชการต่อไปอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ ซึ่งเป็นเหตุให้พักงานได้ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 78 (1) ประกอบกับพิจารณาแล้วว่า การสอบสวนในกรณีนี้จะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดอีกหลายขั้นตอน และมีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก จึงได้ออกคำสั่งให้ นายรัชฏา ออกจากราชการไว้ก่อน ตามกฎ ก.พ.ฯ ข้อ 83 โดยมีผลตั้งแต่ 3 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป"
คือ ข้อมูลสำคัญที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาข่าวประชาสัมพันธ์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เกี่ยวกับความคืบหน้าการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรณีถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา จากพฤติการณ์เรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ในช่วงเย็นวันที่ 3 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา
ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การให้ออกคำสั่งให้ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง จะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากมีขั้นตอนหลายขั้นตอนประกอบกับมีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก
ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดฉบับเต็ม ในคำสั่งให้ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ออกจากราชการไว้ก่อนดังกล่าว ที่ลงนามโดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.)
*******************
คำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ที่ 44/2566
เรื่อง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน
ด้วยนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา เลขประจำตัวประชาชน XXX ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งในสายงานผู้บริหาร ระดับสูง สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำแหน่งเลขที่ 1 เงินเดือน 76,800 บาท มีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลับ ที่ 3/2566 ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2566 ในเรื่องที่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลับ ที่ 461/2565 ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2565 รายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ได้เข้าจับกุม นายรัชฏา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาลเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริต
ซึ่งจากการสืบสวนปรากฎข้อเท็จจริงประกอบพยานแวดล้อมน่าเชื่อว่า นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จริง
โดยที่นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ย่อมมีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการภายในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เกิดผสสัมฤทธิ์และเป็นไปตามเป้าหมาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กลับมีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเสียเอง ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์เพื่อแลกกับการไม่สั่งโยกย้ายผู้ถูกเรียกให้ไปดำรงตำแหน่งอื่นหรือไม่ประการใด
นอกจากนี้นายรัชฏา สุริยกุล ณ อยุธยา ในฐานะเป็นข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงย่อมได้รับการยกย่องนับถือจากบุคคลทั่วไปว่า เป็นผู้ที่มีเกียรติศักดิ์และศักดิ์ศรี และได้รับการยกย่องจากสังคม
แต่กลับถูกจับกุมจากพฤติการณ์เรียกรับเงินจนเป็นข่าวแพร่หลายในสังคม ย่อมมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน จนอาจเป็นเหตุให้ประชาชนเสื่อมความเชื่อถือ ศรัทธา มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ชื่อเสียงและประสิทธิภาพของราชการ รวมถึงก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติและภาพพจน์ของข้าราชการ
ประกอบกับคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้รายงานความก้าวหน้าการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงว่า อยู่ระหว่างนัดหมายประชุมคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาข้อกล่าวหา และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา เพื่อแจ้งให้นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแสดงหลักฐานและให้โอกาส นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแสดงหลักฐานหรืออ้างพยานบุคคลเพื่อแก้ข้อกล่าวหาต่อไป
โดยคณะกรรมการสอบสวนจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานและสอบสวนพยานบุคคลที่ถูกกล่าวหาอ้างถึง รวมถึงพิจารณามีมติในเรื่องที่สอบสวนให้ครบถ้วนทุกข้อกล่าวหาและทุกประเด็น
จึงต้องใช้ระยะเวลาในการสอบสวนเพิ่มขึ้นและไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว
นอกจากนี้ สื่อมวลชนหลายแขนงได้เสนอข่าวเรื่องกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) ส่งสำนวนกรณีกล่าวหา นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา เรียกรับเงินสินบนโยกย้ายตำแหน่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาและมีมติสั่งไต่สวนแล้ว
จากข้อเท็จจริงข้างต้นทำให้เห็นว่ามูลกรณีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของหน่วยงาน และความเชื่อมั่น ความไว้วางใจของประชาชนต่อการบริหารงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
หากจะให้ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อยู่ในหน้าที่ราชการต่อไปอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ ซึ่งเป็นเหตุให้พักราชการได้ตามข้อ 78(1) ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยพ.ศ. 2556
และได้พิจารณาเห็นว่าการสอบสวนพิจารณาที่เป็นเหตุให้พักราชการนั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็วตามข้อ 83 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 เนื่องจาก คณะกรรมการสอบสวนมีขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการ ประกอบกับมีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก
กรณีที่นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวนนั้น
พิจารณาเห็นว่าการสอบสวนพิจารณาจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว สมควรให้ผู้นี้ออกจากราชการไว้ก่อน
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 57 (2) และมาตรา 101 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 78 (1) ข้อ 83 และข้อ 84 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556
จึงสั่งให้นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ออกจากราชการไว้ก่อน
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
หากท่านประสงค์จะโต้แย้งคำสั่งนี้ ให้ทำคำร้องทุกข์เป็นหนังสือถึงประธาน ก.พ.ค. โดยยื่นต่อ
พนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ที่สำนักงาน ก.พ. เลขที่ 47/111 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 หรือยื่นคำร้องทุกข์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังสำนักงาน ก.พ. ก็ได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งหรือถือว่าทราบคำสั่งนี้ ตามมาตรา 123 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
สั่ง ณ วันที่ 3 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
(ลงนาม) จตุพร บุรุษพัฒน์
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
*******************
จากข้อมูลในคำสั่งดังกล่าว จะเห็นได้ว่า นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ยังมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งนี้ต่อ ประธาน ก.พ.ค. ได้ ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งหรือถือว่าทราบคำสั่งนี้
ส่วนคำโต้แย้งจะมีผลลัพธ์อย่างไร? การพิจารณาของประธาน ก.พ.ค. จะเสร็จสิ้น ก่อนที่ผลการสอบสวนคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง จะออกมาหรือไม่?
บทสรุปสุดท้าย ของวิบากกรรมคดีทุจริต ที่นายรัชฎา ต้องเผชิญหน้านับจากนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร?
คงต้องคอยติดตามดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
- ล่อซื้อค้นเจอ 5 ล.! ป.ป.ช.-ตร.แถลงด่วนรวบตัวอธิบดีกรมอุทยานฯ คดีเรียกรับเงิน (มีคลิป)
- เก็บหัวละ 2-3 แสน! แถลงพฤติการณ์ 'อธิบดีกรมอุทยานฯ' คดีเรียกเงินวิ่งเต้นแลกไม่โยกย้าย
- พลิกปูม! เส้นทางชีวิต-ทรัพย์สิน 'รัชฎา' อธิบดีกรมอุทยานฯ ก่อนโดนรวบคดีเรียกรับเงิน
- ลับสุดยอด! เปิดปฏิบัติการขู่ทุบลิ้นชัก ล่อซื้อ 'รัชฎา'-บิ๊กตู่ชิงย้ายตัดหน้า ทส.?
- เปิดคลิปหลักฐานใหม่ 5 นาที ค้นโต๊ะทำงาน 'รัชฎา' - ตามหาเจ้าของซองเงินส่งท่านอธิบดี?
- เช็คที่นี่! เปิดครบเงินสด-สิ่งของ 21 รายการ 4.8 ล.ในห้องอธิบดีอุทยานฯ ใครส่งมาบ้าง?
- แอ่นแอ๊น! แกะซองเงินที่ 7 คดี 'รัชฎา' เจอตารางจ่ายรายเดือนงบปี 66 ด้วย 38 ล.+5% 1.9 ล.