"...เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่า หลังจากที่มีการจับกุมอธิบดีแล้ว พนักงานสอบสวนน่าจะขอหมายศาลไปตรวจค้นบ้านพักทันที แต่ไม่ยอมดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งถ้าค้นบ้านพักเชื่อว่าอาจจะเจอหลักฐาน เช่น เงินสด มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่น่าเสียดายที่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ไม่แน่ใจว่า พนักงานสอบสวน มีเหตุผลอย่างไร ถึงไม่รีบดำเนินการในเรื่องนี้? ..."
"นายรัชฎา ยังคงให้การปฏิเสธ อ้างว่าเรื่องที่เกิดขึ้นถูกกลั่นแกล้ง เหตุเพราะมีปัญหาขัดแย้งส่วนตัวกับ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี"
"แต่ทางพนักงานสอบสวนไม่ปักใจเชื่อเนื่องจากเมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานเกี่ยวกับบทสนทนาระหว่างนายรัชฎา กับ นายชัยวัฒน์ พบว่าเป็นการพูดคุยกันด้วยลักษณะปกติ ไม่มีท่าทีเหมือนกับโกรธหรือขัดแย้งกัน แต่ทั้งนี้ก็เป็นสิทธิ์ของนายรัชฎาที่จะให้การเช่นนั้น เพราะทั้งหมดทั้งมวลเรายึดตามพยานหลักฐานเป็นที่ตั้ง ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย"
"ส่วนกรณีการออกหมายเรียกกลุ่มเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานฯที่ปรากฎรายชื่อบนซองเงินที่พบในห้องทำงานของนายรัชฎานั้น ทางพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการออกหมายเรียกโดยจะให้แล้วเสร็จส่งไปยังกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก่อนปีใหม่ เพื่อที่หลังปีใหม่จะได้ทยอยมาเข้าให้ปากคำ และ เริ่มขั้นตอนของการสอบปากคำพยานบุคคลต่าง ๆ ประกอบสำนวน"
คือ ความคืบหน้าล่าสุดในกระบวนการสอบสวนคดีของเจ้าพนักงานสอบสวนกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) ต่อกรณี นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าทำการจับกุมกรณีเรียกรับเงินจากหัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม โดยมีการล่อซื้อ มีการติดกล้องวงจรปิด ตำรวจตามเข้าไปค้นพบเงินสดบนโต๊ะทำงาน และห้องแต่งตัวประมาณ 5 ล้านบาท ที่ปรากฏเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลระบุว่า พนักงานสอบสวน เตรียมที่จะมีการทำหนังสือออกหมายเรียกเชิญตัวหัวหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ ที่ปรากฎรายชื่อตามซองเงินของกลางที่ตรวจพบภายในห้องทำงานของนายรัชฎา มาทำการสอบปากคำในฐานะพยานอย่างละเอียดถึงที่ไปที่มา
โดยกลุ่มบุคคล หรือ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่ปรากฎรายชื่ออยู่ในซองเงินต่างๆอย่างชัดเจน และ ต้องถูกเชิญตัวมาให้ปากคำนั้นมีด้วยกันเกือบ 20 ราย อีกทั้งจากการตรวจสอบซองเงินต่างๆพบว่า ตัวเลขยอดเงินภายในซองแต่ละซองค่อนข้างแตกต่างกัน อาทิ บางซองมีมากถึง 1.6 ล้านบาท ส่วนบางซองก็เป็นยอดเงินเพียงหลักหมื่น แต่มีเศษปลีกย่อยหลักร้อยบาท ไม่ใช่ตัวเลขกลมๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลพยานหลักฐานที่เชื่อว่ามีการเรียกรับเงินอัตราส่วนแบ่งคิดเป็นเปอร์จากงบประมาณที่ได้รับ จึงทำให้ยอดเงินไม่ใช่ตัวเลขกลม ๆ ด้วย
ผลการสอบสวนข้อมูลส่วนนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป ในช่วงหลังปีใหม่
- เจอชื่อบนซอง! เตรียมออกหมายเรียก 20คนให้ปากคำคดีอธิบดีกรมอุทยานฯ
- นายกฯสั่งอธิบดีอุทยานฯถูกกล่าวหารับสินบนเข้าทำเนียบ-เจ้าตัวยันถูก 'ชัยวัฒน์' กลั่นแกล้ง
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และพนักงานสอบสวน ปปป. นั้น มีข้อมูลสำคัญชุดหนึ่งที่ยังไม่ถูกเปิดเผยเป็นทางการต่อสาธารณะ คือ เบื้องหลังปฏิบัติการจับกุมตัว "นายรัชฎา"
ที่ว่ากันว่าดำเนินการแบบ "ลับสุดยอด"
แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานตรวจสอบบางแห่ง ยังไม่เคยล่วงรู้ข้อมูลมาก่อนด้วย
ขณะที่บรรยากาศการเข้าบุกค้นห้องอธิบดี ก็มีความตึงเครียดเกิดขึ้น ในช่วงที่อธิบดีไม่ยอมเปิดลิ้นชักโต๊ะทำงานให้ตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้เวลาเจรจานานนับชั่วโมง
โดยทางอธิบดีพยายามที่จะนำนิติกรหรือทนายความมาโต้แย้งอยู่นาน จนเจ้าหน้าที่ต้องมีการประสานงานกับผู้บังคับบัญชาของอธิบดีให้เกลี้ยกล่อมให้ยอมเปิด
แต่อธิบดีก็ไม่ยินยอม จนกระทั่งตำรวจขู่ว่าถ้าไม่ยอมเปิดจะทำลายหรือทุบลิ้นชัก อธิบดีถึงยอมเปิดให้ และเมื่อตรวจค้นในลิ้นชักก็พบเงินจำนวนมาก
แหล่งข่าวผู้ชำนาญการสอบสวนรายหนึ่ง ระบุว่า สำหรับเงินที่ล่อซื้อครั้งแรก 9.8 หมื่นบาท ตรวจค้นไปตรวจค้นมา พบเงินสูงถึง 4.9 ล้านบาท
"ลิ้นชักโต๊ะทำงานของอธิบดี ที่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ นอกจากเงินกว่า 9.8 หมื่นบาท ที่ล่อซื้อแล้ว ยังปรากฏเอกสารที่ตามกระแสข่าวระบุว่า เป็นโพยรับเงินรายเดือนจากบุคคลต่าง ๆ ว่าได้รับงานมาจากที่ไหน อย่างไร รวมถึงเงินเปอร์เซ็นต์ว่ามาจากโครงการไหนบ้างรวมอยู่ด้วย และนั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกหมายเรียกบุคคลที่ปรากฎรายชื่อมาทำการสอบสวนขยายผล ตามที่ระบุไป"
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่สนใจ ตามคำยืนยันของแหล่งข่าวผู้ชำนาญการสอบสวนรายนี้ คือ หลังจากที่พนักงานสอบสวนเรียกผู้ที่มีชื่ออยู่บนซองเงินมาสอบปากคำ และรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นเสร็จแล้ว ทาง ป.ป.ช.จะดึงสำนวนทั้งหมดมาไต่สวนเอง เนื่องจากผู้ที่ถูกล่าวหาเป็นผู้บริหารระดับสูงหลายราย
นอกจากนั้น จะมีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมด เพื่อดูเรื่องที่เกี่ยวข้องในข้อหาร่ำรวยผิดปกติด้วย
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวผู้ชำนาญการสอบสวนรายนี้ ระบุว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่า หลังจากที่มีการจับกุมอธิบดีแล้ว พนักงานสอบสวนน่าจะขอหมายศาลไปตรวจค้นบ้านพักทันที แต่ไม่ยอมดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งถ้าค้นบ้านพักเชื่อว่าอาจจะเจอหลักฐาน เช่น เงินสด มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่น่าเสียดายที่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ไม่แน่ใจว่า พนักงานสอบสวน มีเหตุผลอย่างไร ถึงไม่รีบดำเนินการในเรื่องนี้?
แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ของสำนักนายกรัฐมนตรี กำลังถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีนัยยะอะไรอยู่หรือไม่
เพราะเดิมทีการสอบสวนในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นั้น ภายหลังจากที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยมีนายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงฯ เป็นประธาน กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
มีกระแสข่าวว่าจะมีการลงนามคำสั่งด่วนโยกย้าย นายรัชฎา เข้ามาประจำการที่กระทรวง ทส. หลังจากที่ นายจตุพร เดินทางกลับจากการปฏิบัติราชการที่จังหวัดภูเก็ต ในช่วงเย็นวันที่ 28 ธ.ค.2565
แต่ยังไม่ทันที่จะได้ดำเนินการ ก็ปรากฎข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งให้นำตัว นายรัชฎา เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผลในวันที่ 28 ธ.ค.2565
อ้างเหตุเพื่อดึงตัว นายรัชฎา ออกมาจากการเป็นอธิบดี ตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา11 ที่นายกฯ มีอำนาจ ไม่ให้อยู่ตรงนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนได้สะดวกโดยเรียบร้อย
@ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในทางปฏิบัติ แม้ว่าการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการดึงตัว นายรัชฎา ออกมาจากกระทรวง ทส. เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ถูกมองว่าเป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนเรื่องได้สะดวก โดยเรียบร้อย ไม่ต้องกังวลเรื่องอิทธิพลหรืออำนาจของใคร
แต่ก็มีมุมมองอีกด้านเห็นว่า การดึงตัว นายรัชฎา เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี อาจเป็นผลทำให้สิทธิในการสอบสวนหรือลงโทษ นายรัชฎา จากนี้ไปจะต้องมีการผ่านเรื่องสำนักนายกรัฐมนตรีก่อน ขั้นตอนการดำเนินการจะยุ่งยากมากกว่าการปล่อยให้ นายรัชฎา ประจำอยู่ที่กระทรวง ทส.หรือไม่?
ยิ่ง นายรัชฎา มีศักดิ์เป็นน้องชายคนเล็กของ “บิ๊กยาว” พล.อ.ยุวนัฏ สุริยกุล ณ อยุธยา เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้การใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการดำเนินการเรื่องใดๆ เกี่ยวกับ นายรัชฎา ยิ่งถูกจับตามองมากเป็นพิเศษด้วย
ด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้ โดยเฉพาะข้อสังเกตสำคัญ ทั้งกรณีที่พนักงานสอบสวน ไม่ขอหมายศาลไปตรวจค้นบ้านพัก นายรัชฎา ทันที รวมไปถึง การใช้อำนาจพล.อ.ประยุทธ์ ในการดึงตัว นายรัชฎา ออกมาจากกระทรวง ทส. เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
จึงทำให้หลายคน เริ่มเชื่อว่า คดีนายรัชฎา อาจจะไม่จบลงง่ายๆ อย่างที่ใครหลายคนคิดกันอยู่ในขณะนี้
สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งรีบนับศพทหาร โดยเด็ดขาด
อ่านประกอบ :
- ล่อซื้อค้นเจอ 5 ล.! ป.ป.ช.-ตร.แถลงด่วนรวบตัวอธิบดีกรมอุทยานฯ คดีเรียกรับเงิน (มีคลิป)
- เก็บหัวละ 2-3 แสน! แถลงพฤติการณ์ 'อธิบดีกรมอุทยานฯ' คดีเรียกเงินวิ่งเต้นแลกไม่โยกย้าย
- พลิกปูม! เส้นทางชีวิต-ทรัพย์สิน 'รัชฎา' อธิบดีกรมอุทยานฯ ก่อนโดนรวบคดีเรียกรับเงิน
- วางเงินสด 4 แสน! 'รัชฎา' ได้ประกันตัวชั่วคราว พนง.สอบสวนเชื่อไม่น่ามีพฤติการณ์หลบหนี
- เจอชื่อบนซอง! เตรียมออกหมายเรียก 20คนให้ปากคำคดีอธิบดีกรมอุทยานฯ
- นายกฯสั่งอธิบดีอุทยานฯถูกกล่าวหารับสินบนเข้าทำเนียบ-เจ้าตัวยันถูก 'ชัยวัฒน์' กลั่นแกล้ง