"...กรณีจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีร่วมกันกับ บริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จํากัด ยื่นซองเสนอราคาอันเป็นการขัดขวางการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม และมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วย การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด...สัญญาที่พิพาท จึงไม่ตกเป็นโมฆะและมีผลผูกพันคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีกรณีนี้จึงฟังไม่ขึ้น..."
ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ชำระหนี้ค่ารถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์ 2 คัน ให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด ผู้ฟ้อง เป็นจำนวนเงินรวมดอกเบี้ยกว่า 80 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย
คือ คำพิพากษาเบื้องต้นของ ศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง กรณีบริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ไม่เบิกจ่ายเงินให้บริษัทฯ เป็นค่ารถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์ 2 คัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50,850,000 บาท ทั้งที่ทำสัญญาซื้อขายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 2556 ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินคดีนี้
ศาลปกครองสูงสุด ได้ตรวจพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยแล้ว
เห็นว่าคดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคําอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดี ต้องชําระเงินตามสัญญาซื้อขาย สัญญาเลขที่ 22/2556 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ให้แก่ ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เพียงใด
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญาซื้อขาย สัญญาเลขที่ 22/2556 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ข้อ 6 กําหนดว่า ผู้ซื้อตกลงซื้อและผู้ขายตกลงขายรถซ่อมบํารุงทาง อเนกประสงค์ ชนิด 10 ล้อ เครื่องยนต์ดีเซล มีกําลัง 251 แรงม้า ตอนท้ายติดตั้งกระบะบรรทุกหิน ขนาดความจุ 6 ลูกบาศก์เมตร มีระบบการเป่าลม การฉีดพ่น การโรยหิน และการสเปรย์ยางส่วนหน้า ติดตั้งชุดแขนบูมไฮดรอลิคสําหรับการปะซ่อมหลุมและส่วนหลังติดตั้งชุดยกเทไฮดรอลิค สําหรับการปูผิวทาง สามารถควบคุมสั่งการทํางานทั้งหมดภายในห้องคนขับ จํานวน 2 คัน ยี่ห้อ ฮีโน่ รุ่น FM8JNLD เป็นราคาทั้งสิ้น 50,850,000 บาท
ข้อ 3 กําหนดว่า ผู้ขายจะส่งมอบสิ่งของ ที่ซื้อขายตามสัญญาให้แก่ผู้ซื้อภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ให้ถูกต้องและครบถ้วน ตามที่กําหนด
โดยในการส่งมอบผู้ขายจะต้องแจ้งกําหนดเวลาส่งมอบแต่ละครั้งโดยทําเป็นหนังสือ นําไปยื่นต่อผู้ซื้อก่อนวันส่งมอบไม่น้อยกว่า 5 วันทําการ
ข้อ 5 กําหนดว่า เมื่อผู้ซื้อได้ตรวจรับ สิ่งของที่ส่งมอบ และเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ผู้ซื้อจะออกหลักฐานการรับมอบไว้ให้ เพื่อผู้ขายนํามาใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอรับเงินค่าสิ่งของนั้น
ถ้าผลของการตรวจรับปรากฏว่า สิ่งของที่ผู้ขายส่งมอบไม่ตรงตามสัญญาข้อ 1 ผู้ซื้อทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่รับสิ่งของนั้น
ในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ขายต้องรีบนําสิ่งของนั้นกลับคืนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทําได้ และนําสิ่งของมาส่งมอบให้ใหม่ หรือต้องทําการแก้ไขให้ถูกต้องตามสัญญาด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ขายเอง และระยะเวลาที่เสียไป เพราะเหตุดังกล่าว ผู้ขายจะนํามาอ้างเป็นเหตุขอขยายเวลาทําการตามสัญญาหรือของดหรือลดค่าปรับไม่ได้
ข้อ 6 กําหนดว่า ผู้ซื้อจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ขายตามสัญญา เมื่อผู้ขายได้ส่งมอบรถ และดําเนินการโอนทะเบียนให้กับผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว
ข้อ 9 กําหนดว่า เมื่อครบกําหนดส่งมอบ สิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ หรือส่งมอบไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบจํานวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนได้
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ จํานวน 2 คัน ตามสัญญาให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 คณะกรรมการตรวจรับ พัสดุได้ทําการทดสอบและตรวจรับรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 และได้มีการตรวจสอบระบบการทํางานของรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ดังกล่าวเพิ่มเติมอีก เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 และวันที่ 7 มกราคม 2557 โดยในวันที่ 7 มกราคม 2557 มีการทดสอบ การใช้งานรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ที่ถนนสาย สข.ถ. 1oo29 บ้านคลองแตงจีน - บ้านนาปรัง ตําบลคลองทราย - คลองกวาง อําเภอนาทวี
ซึ่งไม่ปรากฏว่ารถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ ที่ผู้ฟ้องคดีส่งมอบมีข้อบกพร่องหรือไม่ถูกต้องตามรายละเอียดที่กําหนดไว้ในสัญญาแต่ประการใด
ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้ดําเนินการจดทะเบียนรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ต่อสํานักงานขนส่งจังหวัดสงขลา และได้รับใบคู่มือจดทะเบียนจํานวน 2 เล่ม และป้ายทะเบียนรถยนต์จํานวนคันละ 2 แผ่น คือ เลขทะเบียน 82-3535 และเลขทะเบียน 82-3536 และได้ส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ และป้ายทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557
จึงถือว่าผู้ฟ้องคดี ได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีตามสัญญา และผู้ถูกฟ้องคดี ได้ตรวจรับรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ทั้ง 2 คันดังกล่าวและออกหลักฐานการรับมอบไว้ให้ ผู้ฟ้องคดีแล้วตามข้อ 1 และข้อ 5 ของสัญญา
เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ดําเนินการส่งมอบรถและโอนทะเบียน ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเรียบร้อยแล้วตามข้อ 6 ของสัญญา
ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ ผู้ฟ้องคดีตามสัญญาซื้อขาย สัญญาเลขที่ 22/2556 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 โดยต้อง ชําระราคารถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์จํานวน 2 คัน เป็นเงินจํานวน 50,850,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี และโดยที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 เรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดี ชําระเงินค่ารถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ตามสัญญาภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดี ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ชําระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีตกเป็นผู้ผิดนัตตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 ตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิ์เรียก ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจํานวน 50,850,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันฟ้อง เป็นเวลา 116 วัน คิดเป็น ดอกเบี้ยจํานวน 1,212,041 บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องชําระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีจํานวน 52,062,041 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจํานวน 50,850,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า สัญญาพิพาทเป็นโมฆะ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีกับ บริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จํากัด มีการตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะ ให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขัน ราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบการธุรกิจปกติ จึงต้องห้ามทําสัญญาตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 สัญญาพิพาทจึงตกเป็นโมฆะ นั้น
เห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้มี ประกาศประมูลซื้อรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ ชนิด 10 ล้อ เครื่องยนต์ดีเซล จํานวน 2 คัน ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 10 เมษายน 2556 โดยกําหนดงบประมาณในการประมูล เป็นเงิน 51,000,000 บาท มีผู้ยื่นเอกสารประมูลซื้อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 2 ราย คือ ผู้ฟ้องคดีและบริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จํากัด
โดยที่บริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จํากัด มีนางสาวศศิธร ตั้งตรงคิด นางสาวพรสุดา ตั้งตรงคิด เป็นกรรมการบริษัท และนายผดุงเกียรติ ชนะสิทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้น จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556
ส่วนผู้ฟ้องคดีมีนายอิทธิพล ดวงเดือน เป็นกรรมการผู้จัดการ นางอารี ดวงเดือน และนางสาวอัมพร สมฤทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้น จดทะเบียน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556
กรณีจึงเห็นได้ว่า ในขณะประมูลซื้อรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ปรากฏว่านายอิทธิพลกรรมการผู้จัดการของผู้ฟ้องคดีมีความสัมพันธ์กัน ในเชิงบริหารโดยเป็นผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอํานาจในการดําเนินงาน ในกิจการหรือสามารถใช้อํานาจในการบริหารจัดการกิจการของบริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จํากัด ที่ร่วมเสนอราคาในการประมูลซื้อพิพาท และไม่ปรากฏว่ามีความสัมพันธ์กันในเชิงทุน โดยเป็น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จํากัด ที่เสนอราคาในการประมูลซื้อพิพาทด้วย หรือไม่ปรากฏว่ามีความสัมพันธ์กันในลักษณะไขว้กันระหว่างผู้ฟ้องคดีและบริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จํากัด โดยเป็นผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอํานาจในการดําเนินงาน ในกิจการแต่อย่างใด
ทั้งผู้ฟ้องคดีได้เสนอราคาจํานวน 50,850,000 บาท ส่วนบริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จํากัด เสนอราคาจํานวน 50,900,000 บาท ซึ่งราคาที่ผู้เสนอราคาทั้ง 2 ราย เสนอต่างกัน จํานวน 50,000 บาท และเป็นราคาที่ต่ํากว่าราคาที่ผู้ถูกฟ้องคดีกําหนดวงเงินเริ่มต้นในการประมูลไว้ คือ จํานวน 51,000,000 บาท โดยไม่มีนัยสําคัญที่แสดงให้เห็นว่าเป็นราคาที่สมยอมกัน อันเข้าลักษณะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีได้จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 อันเป็นวันก่อนการซื้อซองเสนอราคา 20 วัน (ซื้อซองเสนอราคาในวันที่ 24 เมษายน 2556) และ บริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จํากัด ได้จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556 ซึ่งอยู่ใน ช่วงเวลาที่มีการขยายเวลาซื้อซองเสนอราคา และเข้าซื้อซองเสนอราคาในวันสุดท้ายของ กําหนดเวลาซื้อซองเสนอราคา (ขยายเวลาซื้อซองเสนอราคา ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2556) ก็ไม่มีลักษณะ ที่ผิดปกติในการดําเนินธุรกิจแต่อย่างใด
กรณีจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีร่วมกันกับ บริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จํากัด ยื่นซองเสนอราคาอันเป็นการขัดขวางการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม และมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วย การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด
สัญญาที่พิพาท จึงไม่ตกเป็นโมฆะและมีผลผูกพันคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีกรณีนี้จึงฟังไม่ขึ้น
กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า การจัดซื้อรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์มีการกําหนด คุณลักษณะเข้าข่ายล็อคสเปคเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการบางราย นั้น เห็นว่า การดําเนินการ จัดประมูลซื้อรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีมีลักษณะเป็น การกระทําทางปกครองอย่างหนึ่งในกระบวนการก่อนทําสัญญา และเป็นการใช้อํานาจฝ่ายเดียว ของผู้ถูกฟ้องคดีที่แยกออกจากตัวสัญญาได้
การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีจะปฏิบัติหรือ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นเรื่องภายในที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องไปว่ากล่าวเอากับ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ดําเนินคดีอาญากับ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลซื้อรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ทั้งสามครั้งของผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อผลของคดีอาญายังไม่ถึงที่สุดจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาที่พิพาทเป็นโมฆะตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้าง อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีกรณีนี้จึงฟังไม่ขึ้น
กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยผิดนัด ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจํานวน 50,850,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่าเหตุที่ยังไม่ชําระเงินตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดี เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการจัดซื้อรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ดังกล่าว เนื่องจากมีการร้องเรียนว่ามีการขัดขวาง การแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ต้องรับผิด ตามมาตรา 205 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น
เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน เป็นเพียงขั้นตอนหรือมาตรการภายในของผู้ถูกฟ้องคดี เท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นเงื่อนไขของการที่จะไม่ชําระเงินตามสัญญา จึงไม่มีผล เป็นการยกเว้นให้ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันของสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี แต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีกรณีนี้จึงฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดนั้น ได้มีการประกาศใช้ พระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่ วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ตามมาตรา 2 แห่งพระราชกําหนดดังกล่าว กล่าวคือ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชกําหนดฉบับเดียวกัน ได้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบัญญัติให้ใช้ ความใหม่เป็นมาตรา 224. แทนบทบัญญัติที่ถูกยกเลิกไป โดยความในมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ให้ใช้แทนนั้น
บัญญัติว่า หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ย ในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กําหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คง ส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น และมาตรา 7 แห่งพระราชกําหนดดังกล่าว บัญญัติว่า บทบัญญัติตาม มาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกําหนดนี้ ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกําหนดเวลาชําระตั้งแต่วันที่พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับ
แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกํา หนดนี้ ใช้บังคับ อันเป็นเวลาก่อนที่ศาลจะมีคําพิพากษาถึงที่สุดในคดีนี้ ดังนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย ผิดนัดในคดีนี้จึงต้องนําบทบัญญัติตามที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดย พระราชกําหนดดังกล่าวมาบังคับใช้ด้วย
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชําระเงินจํานวน 52,062,041 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจํานวน 50,850,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จสิ้น ทั้งนี้ ให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนคําขออื่นให้ยก นั้น
ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีชําระเงิน จํานวน 52,062,041 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน จํานวน 50,850,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยใน อัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินจํานวน 50,850,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จนกว่าจะชําระเสร็จ
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
อ่านประกอบ :
- อุบเงียบ! 'บิ๊กป๊อก' ให้ 'นิพนธ์' พ้น นายก อบจ.คดี 157 ช่วง มิ.ย.64-เสี่ยงขาดคุณสมบัติ รมต.
- เปิดครบ! ปมซื้อรถอเนกประสงค์ 50 ล.กล่าวหา‘นิพนธ์’ อบจ.สงขลา-เอกชนร้องกันนัว?
- โอนสำนวน อบจ.สงขลาร้องเอกชนฮั้วประมูลซื้อรถเอนกประสงค์ 50 ล.ให้ บก.ป.สอบแทน
- ทวงถามผู้ว่าฯสงขลา อ้างประกาศ มท.ขีดเส้น 30 วันพิจารณาโทษทางวินัย‘นิพนธ์’
- สนง.อัยการปราบทุจริตฯภาค 9 ตั้งคณะทำงานพิจารณาคดี‘นิพนธ์’-ขีดเส้นเสร็จใน 90 วัน
- ป.ป.ช.ส่งสำนวน‘นิพนธ์’ถึงมืออัยการฯภาค 9 แล้ว หลังถูกชี้มูลคดีจัดซื้อรถอเนกประสงค์
- พฤติการณ์ถ่วงเวลา! ป.ป.ช.แจงชี้มูล‘นิพนธ์’-เจ้าตัวสวนแถลงแบบนี้อาจทำ ขรก.สับสน
- ไม่ได้ละเว้น! ‘นิพนธ์’โชว์หลักฐานจาก ตปท.แจงถูก ป.ป.ช.ชี้มูลไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถเอกชน
- ป.ป.ช.ชี้มูล‘นิพนธ์’ไม่เบิกจ่ายค่ารถอเนกประสงค์ 50 ล.ให้เอกชน-เจ้าตัวยันไม่ได้ทุจริต
- รอคดีถึงที่สุดก่อน! ‘นิพนธ์’แจงปมเอกชนทวง อบจ.สงขลาจ่ายค่ารถเอนกประสงค์ 2 คัน 50 ล.
- เปิดขุมทรัพย์ 3 บ.กลุ่มพลวิศว์คว้าจัดซื้อรถซ่อมถนน 6 อบจ. 219.8 ล้าน
- บ้านหญิงสาวผู้ถือหุ้น 2 บ.ประกวดราคา'รถซ่อมถนน'อบจ.สงขลา 50.8ล. ซอยเดียวกัน
- เจาะปมจัดซื้อรถซ่อมถนน อบจ. พิษณุโลก 22.4 ล. ก่อนโผล่ “ขอนแก่น” 28.5 ล้าน
- ตามไปดูจัดซื้อรถซ่อมถนน อบจ.ฉะเชิงเทรา แค่ 22.4 ล้าน จากเครือพลวิศว์ฯ
- ชำแหละสารพัดเงื่อนงำ!จัดซื้อรถซ่อมถนน อบจ.สงขลา 50.8 ล้าน
- เปิดหลักฐานมัด!อบจ. ขอนแก่นอ้างอิง“ราคากลาง”ซื้อรถซ่อมถนนจาก 2 บ.กลุ่มเดียวกัน
- อบจ.ขอนแก่นประกวดราคาซื้อรถซ่อมถนนคันละ 28.5 ล.- พบ 2 จว.แค่ 22.4 ล้าน