"...พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมประกาศหลักการเมื่อปี 2559 ที่ห้ามเสนอการขอพระราชทานอภัยโทษในความผิดฐานทุจริต ข่มขืนกระทำชำเรา และยาเสพติด และขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ แม้กรมราชทัณฑ์จะอธิบายว่าศาลมีหน้าที่กำหนดโทษ แต่การบริหารโทษนั้นเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ในข้อนี้ การบริหารโทษก็ต้องเป็นไปโดยชอบด้วยโบราณราชประเพณี ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมปี 2559 และหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐด้วย การที่กรมราชทัณฑ์ฝ่าฝืนดังกล่าวทำให้ผู้ต้องขังคดีทุจริต คดีข่มขืนกระทำชำเรา และคดียาเสพติดทั่วประเทศได้ประโยชน์ในการลดวันต้องโทษ 2 ปี 4 ครั้งต่อเนื่องกัน ก็เป็นความผิดที่มิอาจปฏิเสธได้อยู่แล้ว..."
“ผมรู้จักนักการเมืองทุกคนที่อยู่ในคุก เนื่องจากเป็นอดีต ส.ส.มาสองสมัย แต่ผมไม่อาจเอาความรู้สึกส่วนตัวมาอยู่เหนือหลักการความยุติธรรมในเรื่องนี้ได้ เพราะถ้าหากไม่ดำเนินการให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเรื่องนี้เป็นบรรทัดฐานแล้ว"
"ต่อไปคำพิพากษาของศาลยุติธรรม ของศาลฎีการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง เพราะในที่สุดเขาก็ไปดำเนินการเพื่อบริหารโทษ เพื่อลดโทษอยู่ดี ซึ่งความเสียหายที่ประเทศชาติได้รับนั้นเป็นแสนๆล้านบาทและบัดนี้ประชาชนก็ยังใช้หนี้จำนำข้าวไม่หมด และไม่รู้ว่าจะหมดอีกเมื่อไร ดังนั้นผมจึงถือว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อประชาชนและประเทศชาติ”
คือ คำให้สัมภาษณ์ของ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อขอตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวกกรณีเสนอลดโทษชั้นเยี่ยมให้แก่นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าวว่าผิดกฎหมายอื่นใดหรือผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าการกระทำของนายสมศักดิ์กับพวกส่อว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดในหนังสือ ของ นายวัชระ เพชรทอง ที่ยื่นให้ ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เป็นทางการ
เรื่อง ขอแจ้งความร้องทุกข์ต่อป.ป.ช.ให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวก กรณีเสนอลดโทษชั้นเยี่ยมให้นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าวว่าผิดกฎหมายอื่นใดหรือผิดจริยธรรมหรือไม่
เรียน พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงกรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวก ใช้กลไกทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ดำเนินการบริหารโทษ (ลดโทษ) กับบุคคลที่ได้รับการลงโทษตามคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว ดังนี้
1. นายภูมิ สาระผล จากโทษจำคุก 36 ปี ล่าสุดเหลือวันต้องโทษ 8 ปี 2. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กำหนดโทษจำคุก 48 ปี ล่าสุดเหลือวันต้องโทษ 10 ปี 3. นายมนัส สร้อยพลอย กำหนดโทษจำคุก 40 ปี ล่าสุดเหลือวันต้องโทษ 8 ปี 4. นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) กำหนดโทษ 48 ปี ล่าสุด เหลือวันต้องโทษ 6 ปี 3 เดือน ปรากฏตามสื่อสาธารณะนั้น
ข้าพเจ้าได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนว่า การกระทำของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวกได้ดำเนินการบริหารโทษ (ลดโทษ) กรณีดังกล่าวข้างต้น ส่อว่าผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหรือกฎหมายอื่นใด และหรือจริยธรรมของข้าราชการหรือไม่ เนื่องจากเป็นที่สงสัยค้างคาหัวใจของประชาชนผู้รักความยุติธรรมทั้งประเทศ กระทบกระเทือนต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมทั้งประเทศ
ขณะเกิดเหตุ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 ส่วนนายอายุตม์ สินธพพันธ์ หรือรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์รวมทั้งเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องในการเสนอเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2564 รวม 4 ครั้ง ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 4 หากมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดขอให้ท่านดำเนินคดีด้วย และขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยทุกคนไว้เป็นพยาน
ความผิดที่พิจารณาคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 172 แห่ง พรบ.ดังกล่าว
ส่วนอธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวกเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ปอ.มาตรา 157 หรือไม่
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมประกาศหลักการเมื่อปี 2559 ที่ห้ามเสนอการขอพระราชทานอภัยโทษในความผิดฐานทุจริต ข่มขืนกระทำชำเรา และยาเสพติด และขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ
แม้กรมราชทัณฑ์จะอธิบายว่าศาลมีหน้าที่กำหนดโทษ แต่การบริหารโทษนั้นเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ในข้อนี้ การบริหารโทษก็ต้องเป็นไปโดยชอบด้วยโบราณราชประเพณี ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมปี 2559 และหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐด้วย การที่กรมราชทัณฑ์ฝ่าฝืนดังกล่าวทำให้ผู้ต้องขังคดีทุจริต คดีข่มขืนกระทำชำเรา และคดียาเสพติดทั่วประเทศได้ประโยชน์ในการลดวันต้องโทษ 2 ปี 4 ครั้งต่อเนื่องกัน ก็เป็นความผิดที่มิอาจปฏิเสธได้อยู่แล้ว
ยิ่งกว่านั้นมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดครั้งนี้มาจากคดีทุจริตจำนำข้าวอย่างเห็นได้ชัดคือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 จำคุกจำเลยคดีทุจริตจำนำข้าวหลายราย หลังจากนั้นกรมราชทัณฑ์ได้เสนอการขอพระราชทานอภัยโทษครั้งแรกวันที่ 15 สิงหาคม 2563 หลังจากนั้นเพียง 3 เดือนเศษ มีการพระราชทานอภัยโทษอีกเป็นครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 และครั้งที่ 4 วันที่ 6 ธันวาคม 2564 ห่างกันเพียง 4 เดือนเศษ ถือเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่
ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ป.ป.ช.จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และดำเนินคดีอาญาควบคู่กันไป เพื่อมิให้กรมราชทัณฑ์บริหารโทษตามอำเภอใจอีกต่อไป จึงขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อพิจารณาสอบสวนกรณีนี้ว่าเป็นการกระทำที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนผิดกฎหมายอื่นใดหรือไม่ และส่อว่าผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ข้อต่าง ๆ ต่อไปนี้หรือไม่ ดังนี้
ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
ข้อ 13 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติโดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ
ข้อ 12 ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้อ 17 ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง
ข้อ 21 ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกําลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคํานึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
ทั้งนี้ ขอให้เชิญนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ และพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมา ให้ข้อมูลว่ามีการแก้ไขกฎระเบียบลดโทษให้นักโทษคดีคอร์รัปชันเกิดขึ้นในสมัยใด
มีบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการตามกฎหมายและจริยธรรม โดยด่วนที่สุดขอให้ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปและแจ้งผลความคืบหน้าให้ข้าพเจ้าและพี่น้องประชาชนทราบด้วย จักขอบคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
(นายวัชระ เพชรทอง)
อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์
เบื้องต้น สำหรับกระบวนการของ ป.ป.ช. ภายหลังจากที่ได้รับเรื่องจากนายวัชระแล้ว จะมีการส่งให้ส่วนงานที่เกี่ยวกับการพิจารณารับเรื่องก่อน และจะเข้าสู่กระบวนการของการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งมีกรอบระยะเวลา 180 วัน และสามารถขยายได้อีก 90 วัน ซึ่งเมื่อพบว่ามีมูล ก็จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ตอบข้อสงสัยกรณีนี้ที่รัฐสภาไปแล้วว่า สิ่งที่ได้ดำเนินการไปนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามแนวทางและครรลองต่าง ๆ ซึ่งมีการปฏิบัติมาตั้งแต่ พ.ศ.2459 จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 105 ปี มี พ.ร.ฎ.อภัยโทษผู้ต้องขัง 52 ฉบับ และแนวทางดังกล่าวนั้น ก็แบ่งออกเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อแยกแยะประเภทของโทษ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างชัดเจนในรูปแบบของเอกสาร และมีการปรับปรุงมาเป็นลำดับ
@ สมศักดิ์ เทพสุทิน
นายสมศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่าที่ผ่านมาผู้ต้องขังเขาประทับใจในการทำงานของกรมราชทัณฑ์ ในการพักโทษแต่ละครั้งแต่ละคราวตนเห็นแต่มีคนชื่นชมยินดี เพราะไม่ต้องมาเสียเงิน โดยหลักเกณฑ์ในการลดโทษ คือ คดีอาญาทั่วไป ชั้นเยี่ยมลดโทษ 1 ใน 2 ชั้นดีมากลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นดีลดโทษ 1 ใน 4 และชั้นกลาง ลดโทษ 1 ใน 5 คดีอาญาร้ายแรง เช่น ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตำแหน่งหน้าที่ ในส่วนนี้ชั้นเยี่ยมลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นดีมาก ลดโทษ 1 ใน 4 ชั้นดี ลดโทษ 1 ใน 5 และ ชั้นกลาง ลดโทษ 1 ใน 6 บุคคลที่ท่านพูดก็อยู่ในกลุ่มนี้
นายสมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า "คดียาเสพติดรายย่อย ที่โทษจำคุกไม่เกิน 8 ปี ชั้นเยี่ยม ลดโทษ 1 ใน 5 ชั้นดีมาก ลดโทษ 1 ใน 6 ชั้นดี ลดโทษ 1 ใน 7 และชั้นกลาง ลดโทษ 1 ใน 8คดียาเสพติดรายใหญ่ ที่โทษจำคุกเกิน 8 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ชั้นเยี่ยม ลดโทษ 1 ใน 6 ชั้นดี มาก ลดโทษ 1 ใน 7 ชั้นดี ลดโทษ 1 ใน 8 และชั้นกลาง ลดโทษ 1 ใน 9 นักโทษเด็ดขาด หากท่านจะขอเปลี่ยนให้ลดโทษน้อยลง ตนไม่รู้ว่าสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร เพราะการขอพระราชทานอำนาจเป็นการทั่วไป เป็นของคณะรัฐมนตรีแต่หากเฉพาะบุคคลเป็นอำนาจของ รัฐมนตรีว่าการ ที่ผ่านตนได้ตรวจสอบมาโดยตลอดเพื่อความเรียบร้อย ตนรับผิดชอบในแนวทางตรงนี้ "
ส่วนการยื่นเรื่องของ นายวัชระ เพชรทอง ให้ ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เป็นทางการ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ต้องติดตามดูกันต่อไปแบบห้ามกระพริบตา
ท่ามกลางกระแสข่าว ว่าก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการมอบหมายให้ กรรมการ ป.ป.ช. รายหนึ่ง รับเรื่องนี้ไปตรวจสอบแล้วว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
มีการดำเนินการที่มีลักษณะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์หรือช่วยเหลือนักโทษคดีทุจริตให้ได้รับการลดโทษจริงหรือไม่?