'วัชระ' ยื่น ป.ป.ช. จี้ตั้งอนุ กก.สอบ 'สมศักดิ์ เทพสุทิน-อธิบดีกรมราชทัณฑ์' ปมลดโทษนักโทษคดีจำนำข้าว ชี้กรอบเวลา ป.ป.ช. 180 + 90 วันพิจารณานานเกินไป ควรดำเนินการให้เร็ว ถามทำไมนักโทษที่เป็นประชาชนนับแสนไม่ได้สิทธิ์เป็นนักโทษชั้นเยี่ยมบ้าง-ด้าน 'หมอตุลย์' ยื่นหนังสือ ชวน-พรเพชร ตั้ง กมธ.ตรวจสอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้เดินทางเพื่อยื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. และยื่นเรื่องต่อเลขาธิการ ป.ป.ช. (นายนิวัติไชย เกษมมงคล) เพื่อขอตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์กับพวกกรณีเสนอลดโทษชั้นเยี่ยมให้แก่นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าวว่าผิดกฎหมายอื่นใดหรือผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าการกระทำของนายสมศักดิ์กับพวกส่อว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย
โดยนายวัชระได้ยื่นหนังสือให้กับนายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวน ป.ป.ช. และระหว่างการยื่นหนังสือแนายวัชระได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าจากกรณีที่กรมราชทัณฑ์ได้อ้างว่าศาลมีหน้าที่ มีคำพิพากษา แต่กรมราชทัณฑ์มีหน้าที่บริหารโทษ โดยการลดโทษ การอ้างดังกล่าวนั้นส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีเหตุผลและไม่มีความยุติธรรม เพราะกรมราชทัณฑ์จะไปมีอำนาจเหนือคำพิพากษาของศาลยุติธรรมได้อย่างไร ดังนั้นจึงขอให้นายพิศิษฐ์ได้เร่งนำเสนอเรื่องดังกล่าวไปยัง ประธาน ป.ป.ช.ต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นที่ค้างคาของประชาชนทั้งประเทศ
นายวัชระกล่าวต่อไปด้วยว่าขอเชิญให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาให้ข้อเท็จจริงกับ ป.ป.ช.ด้วย เพราะ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรียุติธรรมอีกคนหนึ่งที่ปัจจุบันเป็นองคมนตรีแล้วได้วางหลักการเอาไว้ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าจะไม่มีการลดโทษให้กับนักโทษในคดีทุจริตเป็นอันขาด ซึ่งขัดต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม เพราะฉะนั้นการแก้ไขหลักการดังกล่าวไม่ทราบว่าเกิดในยุคสมัยใดเพราะฉะนั้นจึงต้องเชิญอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทั้งสองราย และนายสมศักดิ์มาให้การกับ ป.ป.ช.เกิดในยุคสมัยใด และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย
ขณะที่ทางด้านนายพิศิษฐ์กล่าวว่าหลังจากที่ได้รับเรื่องจากนายวัชระแล้ว คงต้องส่งให้ส่วนงานที่เกี่ยวกับการพิจารณารับเรื่องก่อน และจะเข้าสู่กระบวนการของการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งมีกรอบระยะเวลา 180 วัน และสามารถขยายได้อีก 90 วัน ซึ่งเมื่อพบว่ามีมูล ก็จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายวัชระกล่าวว่ากรอบเวลาที่วางไว้ตามหลักกฎหมายนั้นนานเกินไปก็ขอความกรุณาให้ ป.ป.ช.เร่งรีบพิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วน เพื่อเห็นแก่ประชาชนที่รักความยุติธรรม
นายวัชระยังได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่อไปว่าการที่กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ได้เสนอให้นักการเมืองที่มีคำพิพากษาในคดีทุจริตได้รับการลดโทษเป็นนักโทษชั้นดี ชั้นเยี่ยมนั้น ถ้าหากทำเช่นนี้ได้ก็ควรที่จะลดโทษให้กับนักโทษที่เป็นลูกหลานชาวนา คนยากจน ชาวบ้านนับแสนคนให้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยมด้วยเช่นกัน อย่าลดโทษให้กับแค่นักการเมืองที่อยู่ในคุกเท่านั้น
“ผมรู้จักนักการเมืองทุกคนที่อยู่ในคุก เนื่องจากเป็นอดีต ส.ส.มาสองสมัยแต่ผมไม่อาจเอาความรู้สึกส่วนตัวมาอยู่เหนือหลักการความยุติธรรมในเรื่องนี้ได้ เพราะถ้าหากไม่ดำเนินการให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเรื่องนี้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ต่อไปคำพิพากษาของศาลยุติธรรม ของศาลฎีการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง เพราะในที่สุดเขาก็ไปดำเนินการเพื่อบริหารโทษ เพื่อลดโทษอยู่ดี ซึ่งความเสียหายที่ประเทศชาติได้รับนั้นเป็นแสนๆล้านบาทและบัดนี้ประชาชนก็ยังใช้หนี้จำนำข้าวไม่หมด และไม่รู้ว่าจะหมดอีกเมื่อไร ดังนั้นผมจึงถือว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อประชาชนและประเทศชาติ”นายวัชระกล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าในวันเดียวกันนั้น ที่รัฐสภา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน นำคณะกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา โดยมีนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อขอให้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษผู้ต้องโทษคดีทุจริตคอร์รัปชั่น
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษลดโทษ รวม 4 ครั้ง กรณีนักโทษจำคุกในคดีโครงการรับจำนำข้าวมีหลายคนหลุดพ้นโทษไปแล้วเนื่องจากมีการพิจารณาว่าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมจึงได้รับการลดโทษ ส่งผลให้ประชาชนที่รักความเป็นธรรมยอมรับไม่ได้และคัดค้านอย่างรุนแรง เพราะมองว่าเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในประเทศ ซึ่งการลดโทษอย่างนี้ไม่มีใครรับได้ แต่การลดโทษเช่นนี้เหมือนเป็นการเอื้อการทุจริตเพื่อให้คนทำผิดได้ลดโทษโดยเร็ว จึงมายื่นต่อสภาฯ และวุฒิฯ ตรวจสอบขั้นตอนการลดโทษในการเอื้อประโยชน์ต่อคนทุริตให้พ้นโทษโดยเร็ว เพื่อนำผลจากการตรวจสอบที่ได้ไปดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
นายแทนคุณ กล่าวว่า ตนนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการ โดยตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกขั้นตอนในการดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษผู้ต้องโทษจำคุกในคดีทุจริตคอร์รัปชั่นร้ายแรง ซึ่งจะนำไปดูว่าจะมีกระบวนการใดบ้างที่จะบรรเทาความไม่สบายใจขอประชาชนได้
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะประธาน กมธ.การสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในชั้น กมธ.ว่า กระบวนการในการเลื่อนชั้นนักโทษเป็นไปในลักษณะใดและเป็นอภิสิทธิ์ชนหรือไม่ เหตุใดคนไม่กี่คนใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนลดโทษเหลือเพียงไม่กี่ปี รวมถึงเห็นด้วยในการเสนอการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 8 ในเรื่องคณะกรรมการราชทัณฑ์เดิมที่มาจากการแต่งตั้งเพียง 7 คน จาก รมว.ยุติธรรม ซึ่งควรมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากกว่านี้ ส่วนมาตรา 52 ควรเพิ่มวรรคท้ายเข้าไปว่า คดีทุจริตโกงชาติ และอาชญากรรมร้ายแรงเป็นภัยต่อสังคม ต้องได้รับโทษ 1 ใน 3 ก่อน จึงเข้าสู่กระบวนการขอรับพระราชทานอภัยโทษ และทั้งหมดต้องรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของคำตัดสินที่ศาลได้พิพากษาไปแล้ว