‘อีไอซี’ แนะรัฐ-เอกชน ผลักดัน 3 ประเด็น ‘พัฒนาระบบตั๋วร่วม-เพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์-คุมค่าใช้จ่าย’ หวังเพิ่มประโยชน์สูงสุดโครงการรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’
................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) หรือ อีไอซี เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง ‘เช็กความพร้อมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม...ปฐมบทเส้นทางยุทธศาสตร์ใหม่ในการเดินทาง’ โดยนายสุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้จัดการคลัสเตอร์โครงสร้างพื้นฐาน EIC ซึ่งระบุว่า เพื่อให้การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มสร้างประโยชน์สูงสุด ภาครัฐและเอกชนควรดำเนินการใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.การพัฒนาการเชื่อมต่อบริเวณสถานีจุดตัดกับรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆ และระบบขนส่งคมนาคมในรูปแบบอื่นๆ เช่น รถประจำทาง เรือ ควรมีการสอดประสานกันทั้งในด้านจุดขึ้นลงพาหนะและตารางเวลาเดินรถ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง อีกทั้งการวางแผนระบบตั๋วร่วม (common ticket) ในอนาคตที่ภาครัฐและผู้รับสัมปทานควรมีการวางแผนเพื่อใช้ตั๋วโดยสารใบเดียวในการเดินทาง ทั้งกับรถไฟฟ้าทุกเส้นทางและการขนส่งรูปแบบอื่นๆ
รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันโครงสร้างอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ค่าแรกเข้าระบบรถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทาง และค่าโดยสารที่ผันแปรตามระยะทาง ดังนั้น การมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆเป็นจำนวนมาก ทำให้การกำหนดอัตราค่าโดยสารแรกเข้าของรถไฟฟ้าสายสีส้มควรมีการร่วมพิจารณากับผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ เพื่อกำหนดราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้โดยสาร
2.การสร้างรายได้จากพื้นที่พาณิชยกรรมบริเวณสถานีและการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยในช่วงการเดินรถนอกจากค่าโดยสาร (farebox revenue) ที่เป็นรายได้หลักของเอกชนผู้รับสัมปทานแล้ว ผู้ประกอบการควรเน้นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม
เช่น การให้เช่าพื้นที่เพื่อขายสินค้า เพื่อรับฝากกระเป๋าเดินทางและพัสดุบริเวณสถานีรถไฟฟ้า โดยเฉพาะสถานีที่เป็นจุดตัด ซึ่งมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นฮับ (hub) การหารายได้จากการโฆษณาบริเวณสถานีและขบวนรถไฟฟ้า ซึ่งการสร้างรายได้เหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มเติมรายได้ให้กับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า การสร้างพันธมิตรเพื่อเตรียมพัฒนาโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต เป็นต้น
3.การควบคุมรายจ่ายที่เกิดจากการให้บริการ โดยในช่วงการก่อสร้าง แม้ว่าเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนในงานโยธา ระบบรถไฟฟ้า และขบวนรถไฟฟ้า แต่ภาครัฐยังมีการช่วยเหลือให้เงินสนับสนุนตามจำนวนที่เอกชนยื่นขอในการประมูลแต่ไม่เกินค่างานโยธา (ราว 9.6 หมื่นล้านบาท) เริ่มตั้งแต่ปีที่ 2 ซึ่งการให้เงินสนับสนุนดังกล่าวเอกชนผู้รับสัมปทานจะได้รับกระแสเงินเข้ามาแบ่งเบาภาระรายจ่ายระหว่างการก่อสร้างได้บางส่วน
ขณะที่ในช่วงการให้บริการ เนื่องจากลักษณะโครงการของรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีสถานีใต้ดิน 21 สถานีจากสถานีทั้งหมด 28 สถานี ทำให้เอกชนผู้รับสัมปทานต้องมีการบำรุงรักษาระบบต่างๆ มากกว่ารถไฟฟ้าที่ใช้ทางวิ่งยกระดับ ยกตัวอย่างเช่น ระบบระบายอากาศ ระบบปรับอากาศ การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุโมงค์ทางวิ่ง สถานีใต้ดิน ส่งผลให้ค่าดำเนินการและค่าบำรุงรักษาของรถไฟฟ้าใต้ดินมากกว่ารถไฟฟ้าที่ใช้ทางวิ่งยกระดับตามไปด้วย
“ในเบื้องต้น เอกชนผู้รับสัมปทานควรพิจารณาการทำการศึกษาวิธีการประหยัดพลังงานบริเวณสถานีและการทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานทางเลือก เช่น โซลาร์เซลล์ ซึ่งเริ่มมีแนวคิดในการติดตั้งตามสถานีรถไฟฟ้าในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ นอร์เวย์ อินเดีย เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในอนาคต” บทวิเคราะห์ระบุ
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ประกอบไปด้วย เส้นทาง 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝั่งตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) และฝั่งตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก (เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง) และกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก (เขตบางกอกน้อย) แล้ว
รถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังเป็นเส้นทางที่มีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทุกเส้นทางที่กำลังให้บริการอยู่และกำลังก่อสร้างในปัจจุบัน เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยและสถานีบางขุนนนท์, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่สถานีราชปรารภ, รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีราชเทวี, รถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีมีนบุรี, รถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีลำสาลี เป็นต้น
สำหรับโครงการฝั่งตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) เป็นระบบรถไฟฟ้าแบบใต้ดินและยกระดับ ระยะทางรวม 22.5 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีใต้ดิน 10 สถานีและสถานียกระดับ 7 สถานี มูลค่าการลงทุนรวมราว 1.13 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน 9,625 ล้านบาท ค่างานโยธาและค่าที่ปรึกษางานโยธาราว 82,900 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนและค่าที่ปรึกษางานระบบราว 20,750 ล้านบาท โดยได้เริ่มการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปี 2560 โดยมีภาครัฐเป็นผู้ลงทุนในส่วนค่าเวนคืนที่ดินและค่างานโยธาและค่าที่ปรึกษางานโยธา
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินทั้งหมดระยะทาง 13.4 กิโลเมตรและมีสถานีใต้ดิน 11 สถานี มูลค่าการลงทุนรวม 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน 14,660 ล้านบาท ค่างานโยธาและค่าที่ปรึกษางานโยธาราว 96,000 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนและค่าที่ปรึกษางานระบบราว 11,370 ล้านบาท ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกจะมีการยื่นประมูลในวันที่ 9 พ.ย.2563
อ่านประกอบ :
ห้ามใช้หลักเกณฑ์ใหม่ประมูลชั่วคราว! ศาลปค.สั่งคุ้มครองคดีรฟม.แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า 'สีส้ม'
ศาลฯไต่สวนนัดแรก 14 ต.ค.!คดี BTSC ฟ้อง ‘รฟม.’ แก้กติกาประมูลรถไฟฟ้าสาย 'สีส้ม' มิชอบ
รื้อกติกาทำเสียเปรียบ! บีทีเอสห่วงประมูล ‘สายสีส้ม’ ใช้ดุลพินิจมาก-ฟ้องศาลฯใช้TORเดิม
รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล. 'รฟม.' แหวก ‘กติกา’ รัฐร่วมทุนเอกชน
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/