'4 ธนาคารใหญ่' รายงานผลประกอบการ 9 เดือนปี 63 พบกำไรลดลงถ้วนหน้า เหตุตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มต่อเนื่อง เผย ‘แบงก์กรุงเทพ’ กำไรลดลงมากสุด 46.9% ‘กรุงไทย’ ไตรมาส 3/63 พลิกกำไร 16% แต่ 9 เดือนแรกยังขาดทุน 39.2% ตั้งสำรองฯเพิ่ม 3.56 หมื่นล้าน ด้าน 'ขัตติยา' ชี้การใช้จ่ายของภาคเอกชนมีสัญญาณอ่อนแอ ส่วน 'ซีอีโอแบงก์ไทยพาณิชย์' ระบุ ไตรมาส 3 ลูกค้าส่วนใหญ่กลับมาชำระหนี้แล้ว
................
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งของไทย ได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2563 และผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 มีกำไรลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารไทยพาณิชย์ มีกำไรลดลง 36% ธนาคารกรุงเทพ กำไรลดลง 46.9% ธนาคารกสิกรไทย กำไรลดลง 45.77% และธนาคารกรุงไทย กำไรลดลง 39.2% โดยมีสาเหตุจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต
@กรุงไทย 9 เดือนกำไรลด 39.2% ตั้งสำรองพุ่ง 3.56 หมื่นล้าน
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3/2563 เท่ากับ 16,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ นอกเหนือจากการบริหารจัดการทางการเงิน ท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยขาลง ประกอบกับรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงาน ในไตรมาส 3/2562 ส่งผลให้ Cost to Income ratio ลดลงเป็น 45.3% จาก 53.0% ในไตรมาส 3/2562
อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 12,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103.6% เมื่อเทียบกับการตั้งสำรองในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงเป็น 3,057 ล้านบาท หรือลดลง 51.9%
ส่วนผลประกอบการช่วง 9 เดือนของปี 2563 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 12.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ 68,023 ล้านบาท ขยายตัว 0.6% ท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกปรับลดจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีสาเหตุหลักจากการได้รับรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ นอกเหนือจากการบริหารจัดการทางการเงิน จึงช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้
นอกจากนี้ รายได้จากการดำเนินงานอื่นเติบโต 13.3% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 13.8% จากรายการพิเศษสำรองด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายฯ และการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ Cost to Income ลดลงเป็น 42.2% จาก 48.8% ในช่วงเดียวกันของปี 2562
“จากการพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ประมาณการภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและมีความไม่แน่นอน ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารจึงได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 35,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87.7% จากค่าใช้จ่ายสำรองในช่วงเดียวกันของปี 2562 ส่งผลให้มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 13,279 ล้านบาท ลดลง 39.2%”นายผยงกล่าว
สำหรับอัตราส่วน Coverage Ratio เพิ่มระดับขึ้นเป็น 135.6% จาก 131.8% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มี NPLs Ratio-Gross ที่ 4.21% ลดลงจาก 4.33% โดยธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงเกณฑ์ของธปท.ในการผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการชั่วคราว
นอกจากนี้ ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 ธนาคารมียอดสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 2,149,620 ล้านบาท โดยธนาคาร (งบการเงินเฉพาะ) มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 คิดเป็น 15.01% และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงที่ 18.42% ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ในเดือนต.ค.2563 ธนาคารและบริษัทย่อย ได้จัดตั้งบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด (Infinitas by Krungthai) เป็นบริษัทย่อยเพิ่มเติม เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ ให้บริการด้านการพัฒนา Innovation & Digital Platform เพื่อเข้าสู่ Open Banking, Virtual Digital Banking Service รวมถึง New Business Model อย่างเต็มรูปแบบ
@ไทยพาณิชย์ 9 เดือน กำไร 2.2 หมื่นล้าน ลดลง 36%
ด้านธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อย รายงานว่ามีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) ในไตรมาส 3 ของปี 2563 จำนวน 4,641 ล้านบาท ลดลง 69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการตั้งเงินสำรองปกติที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้ และการเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายการกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิลดลง 56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 22,252 ล้านบาท ลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับในไตรมาส 3 ของปี 2563 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 23,724 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยหลังจากที่ธนาคารได้ขายหุ้นของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีที่ผ่านมาและการหดตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ซึ่งเป็นผลส่วนใหญ่จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 3% จากสิ้นปี 2562
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 10,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยประเภทเกิดประจำ (recurring) ในไตรมาส 3 ของปี 2563 เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นโดยเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 15,747 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจที่ยากลำบาก อย่างไรก็ตามรายได้รวมของธนาคารยังคงได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในไตรมาส 3 ของปี 2563 ปรับสูงขึ้นเป็น 46%
นอกจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพตามปกติ ธนาคารได้ทำการประเมินคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดอย่างรอบคอบ เพื่อทำการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง และมีแนวโน้มสูงที่จะฟื้นตัวไม่ได้ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 3.32% เพิ่มขึ้นจาก 3.05% ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2563
อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไตรมาส 3 ของปี 2563 ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 12,955 ล้านบาท โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 146% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.7%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วและข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นสัญญาณการเริ่มฟื้นตัว แต่ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนและมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน ตั้งแต่การเริ่มระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าแล้วกว่า 1.1 ล้านราย คิดเป็นยอดสินเชื่อภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน รวมประมาณ 840,000 ล้านบาท
โดยในไตรมาส 3 ลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ และสำหรับลูกค้าที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ธนาคารยังคงให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ลูกค้าผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้
นอกจากนี้ธนาคารได้เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ www.SCBShopDeal.com เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและธนาคารอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมในการเปิดตัวเชิงพาณิชย์ของแพลตฟอร์มการจัดส่งอาหาร ROBINHOOD เร็วๆ นี้ ในขณะเดียวกันธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลและการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเร่งการพัฒนารูปแบบในการทำธุรกิจใหม่ด้านดิจิทัล และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
@กสิกรไทยกำไรลด 45.77% ตั้งสำรองฯเพิ่ม 1.76 หมื่นล้าน
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3 ปี 2563 ทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆกลับมาบางส่วน หลังผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง
อย่างไรก็ดี ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 อย่างมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ส่วนการใช้จ่ายของภาคเอกชนมีสัญญาณอ่อนแอต่อเนื่องท่ามกลางความเปราะบางของรายได้และภาวะการมีงานทำซึ่งลดทอนผลบวกจากมาตรการกระตุ้นของทางการขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มหดตัวลงตลอดช่วงครึ่งหลังของปี
สำหรับผลประกอบการของธนาคารและบริษัทย่อยนั้น สำหรับงวด 9 เดือน ปี 2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 16,229 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 13,695 ล้านบาท หรือ 45.77% ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารและบริษัทย่อยใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 17,692 ล้านบาท หรือ 70.24%
“ธนาคารคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ยังคงต้องมีการติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด” น.ส.ขัตติยาระบุ
ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 5,301 ล้านบาท หรือ 6.87% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อ รวมทั้งการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อด้วยวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตาม TFRS 9 ประกอบกับการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลง และการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากเงินรับฝาก เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ลดลง ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.34%
ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 8,085 ล้านบาท หรือ 19.41% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อลดลงจากการเปลี่ยนไปแสดงเป็นรายได้ดอกเบี้ย และรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 1,829 ล้านบาท หรือ 3.55% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายกิจกรรมทางการตลาด
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจัดการหนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.87%
ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 6,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 4,504 ล้านบาท หรือ 207.01% เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 173 ล้านบาท หรือ 0.64% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อ และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากเงินรับฝาก ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.17%
ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 4,593 ล้านบาท หรือ 32.60% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของเงินลงทุน ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 651 ล้านบาท หรือ 4.12% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของประมาณการค่าใช้จ่ายพนักงาน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 44.75%
นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) ลดลงจำนวน 9,377 ล้านบาท หรือ 46.44% หลักๆเกิดจากในไตรมาสก่อนได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) ในระดับที่สูง จากการประเมินและเตรียมความพร้อมตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ
ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 3,545,648 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 251,759 ล้านบาท หรือ 7.64% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 3.95% โดยธนาคารได้มีการติดตามให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
ขณะที่สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65% อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 161.12% โดยสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 อยู่ที่ 18.45% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.74%
@แบงก์กรุงเทพ 9 เดือนกำไรลดลง 46.9%
ส่วนธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานว่า ไตรมาส 3/2563 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไร 4,017 ล้านบาท ลดลง 57.4% เมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,438 ล้านบาท
ธนารคารกรุงเทพ ระบุว่า ในไตรมาส 3 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน หลังรัฐบาลได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 การส่งออกและการนำเข้าสินค้าของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุด หลังจากธุรกิจทั่วโลกเริ่มกลับมาเปิดกิจการ สำหรับภายในประเทศ การผลิตภาคอุตสาหกรรม การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการท่องเที่ยวในประเทศค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น หลังจากประชาชนเริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ
ขณะที่รัฐบาลได้เร่งใช้จ่ายและออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบที่สองในหลายประเทศ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของประเทศไทยในระยะต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังได้ออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผ่อนคลายผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจต่อประชาชนและผู้ประกอบการในหลายภาค ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าบางมาตรการในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จะทยอยสิ้นสุดลง ธปท. ได้หารือกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง ในการดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบและเหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละประเภท
“ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยงด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ รวมทั้งติดตามสถานการณ์ลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย พร้อมเป็น ‘เพื่อนคู่คิด’ เพื่อให้สามารถก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” ธนาคารกรุงเทพระบุ
สำหรับกำไรสุทธิของธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย ใน 9 เดือนของปี 2563 มีจำนวน 14,783 ล้านบาท ซึ่งได้รวมผลประกอบการของธนาคารเพอร์มาตา ตั้งแต่วันที่ธนาคารเข้าถือหุ้นเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2563 โดยกำไรสุทธิลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 46.9% โดยมีสาเหตุหลักเนื่องจากการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเงินสำรองสำหรับความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์ โควิด-19
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้น 7.2% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 เป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตา โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.28% รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงสาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้จากเงินลงทุน สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 17.6% เป็นผลจากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตา และประมาณการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 52.0%
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อ 2,367,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.6% จากสิ้นเดือนมิ.ย. 2563 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 4.1% ขณะที่ธนาคารยังคงรักษาความมั่นคงของอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่ร้อยละ 178.0 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 ธนาคารมีเงินรับฝาก 2,821,883 ล้านบาท ลดลง 1.1 ๔ จากสิ้นเดือนมิ.ย.2563 สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 83.9% สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในวันที่ 23 ก.ย.2563 ธนาคารออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนก.ย.2563 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่17.6% ,15.1% และ14.2% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
อ่านประกอบ :
นโยบายการเงินแค่กองหลัง! ผู้ว่าธปท.คนใหม่ กาง 5 โจทย์ฟื้นเศรษฐกิจ-เกาะติดม็อบ
ดร.เศรษฐพุฒิ : สาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำ...อาจกลายเป็นผลลบ
ต่อพักหนี้อีก 6 เดือนเป็นรายๆ! ธปท.ขีดเส้น ‘แบงก์-SME’ เจรจาปรับเงื่อนไขชำระหนี้ถึงสิ้นปี
หนี้ครัวเรือนพุ่ง 83.8% ! แบงก์ชาติชี้เหตุ ‘จีดีพีหดตัว-พักชำระหนี้’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/