'กรุงไทย' เผยไตรมาส 1/63 กำไรลด 16.7% เหตุรายได้ดอกเบี้ยลดลง หลังอุ้มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโควิด ส่วน 'กสิกรไทย' กำไร 6,581 ล้านบาท ลดลง 34.47% ชี้มาตรฐานบัญชี TFRS 9-โควิด ทำรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 39.78% ด้านแบงก์กรุงเทพกำไรหด 15% ขณะที่ 'ไทยพาณิชย์' กำไรเพิ่ม 1% รายได้เพิ่ม-ค่าใช้จ่ายลด
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2563 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร (งบการเงินก่อนสอบทาน) เท่ากับ 6,082 ล้านบาท ลดลง 16.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง แม้ว่าสินเชื่อเติบโต 1.9% จากสิ้นปี หรือ 4.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดี
ประกอบกับการได้รับประโยชน์จากการปรับลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟู ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการปรับลด อัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 4 ครั้ง และอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อทั้ง MLR MOR และ MRR เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับการที่ไม่มีรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อจากการได้รับเงินบางส่วนในการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองจำนวน 3,899 ล้านบาทในไตรมาส 1 ของปีที่ผ่านมา โดย NIM อยู่ที่ระดับ 3.17%
ทั้งนี้ ธนาคารมีค่าใช้จ่ายลดลง 16.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีค่าใช้จ่ายจากการขาดทุนของการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย ส่งผลให้ธนาคารมี Cost to Income ratio ที่ 44.2% ลดลงจาก 48.2% ในช่วงเดียวกันของปี 2562
ในไตรมาสนี้ ถึงแม้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) เท่ากับ 4.36% อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปี 2562 อย่างไรก็ตาม ธนาคารพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ในการประมาณการถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและมีความไม่แน่นอน ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อ จึงได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราส่วน Coverage Ratio ณ 31 มีนาคม 2563 ที่ 126.5%
นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) เท่ากับ 14.39% และ 18.16% ตามลำดับ
นายผยง ศรีวณิช กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลกของ COVID-19 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการดำเนินธุรกิจและทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง รัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนในทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน
โดยธนาคารได้ตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นกลไกของภาครัฐ โดยได้ออกหลากหลายมาตรการในการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน6 เดือน และดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ลูกค้าสามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้
@โควิด-เกณฑ์ TFRS9 ฉุดกสิกรไทยกำไรลด 34.47%
ส่วนธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ว่า ไตรมาส 1/2563 บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 6,581 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 3,463 ล้านบาท หรือลดลง 34.47% โดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 4,869 ล้านบาท หรือลดลง 39.78% ส่วนใหญ่เกิดจากความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 รวมทั้ง TFRS 9 การกำหนดจัดประเภทและวัดมูลค่าของเงินลงทุนใหม่ โดยสะท้อนในรายได้ที่ใช่ดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2,830 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.21% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อ รวมทั้งการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อด้วยวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) จากเดิมรับรู้ตามสัญญา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตาม TFRS 9 ขณะที่การปรับลดอัตราเงินนําส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลง ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.49%
สําหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆเพิ่มขึ้น 1,471 ล้านบาท หรือ 9.19% ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายในการจัดการหนี้ ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และค่าใช้จ่ายกิจกรรมทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 49.31%
ทั้งนี้ ธนาคารมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) เพิ่มขึ้น 4,292 ล้านบาท จากปีก่อน โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบ เพื่อให้สอดคลองกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ณ วันที่ 31 มี.ค. ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพยรวม 3,483,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 189,638 ล้านบาท หรือ 5.76% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายการระหวางธนาคารและตลาดเงินสุทธิและการเติบโตของสินเชื่อ สําหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 3.86% จากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ที่ระดับ 3.65% โดยธนาคารได้มีการติดตามให้ความช่วยเหลือรวมทั้งควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
ส่วนอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนดานเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 อยู่ที่ระดับ 138.66% โดยสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60% สําหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลกเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 อยู่ที่ 18.53% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.17%
@แบงก์กรุงเทพกำไร 7,671 ล้านบาท ลดลง 15%
ด้าน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL แจ้งผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2563 ว่า ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไตรมาส 1/2563 จำนวน 7,671 ล้านบาท ลดลง 15% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 ที่มีกำไรสุทธิ 9,082 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลง 4.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562
ทั้งนี้ ธนาคารฯมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 19,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562 ที่มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 18,299 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 15.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อและการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้วิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และการปรับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจาก 0.46% ต่อปี เป็น 0.23% ต่อปีเป็นการชั่วคราวในช่วงปี 2563-2564
ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 6,574 ล้านบาท ลดลง 36.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562 ที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 10,328 ล้านบาท แต่ลดลง 75.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 โดยมีสาเหตุหลักมาจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนลดลง เนื่องจากไตรมาส 4/2662 ธนาคารฯมีกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนจำนวน 14,988 ล้านบาท
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 4,611 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 และธนาคารมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 5,087 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 4/2562 ที่มีจำนวน 11,255ล้านบาท เนื่องจากธนาคารมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเสริมสร้างระดับสำรองของธนาคารก่อนเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9)
ณ สิ้นเดือนมี.ค.2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,115,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากสิ้นปี 2562 จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามประมาณการที่คาดไว้ตั้งแต่ปลายปีก่อน ส่วนอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.5% ขณะที่เงินสำรองของธนาคารยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 203.9% ของเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต
ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเคียงข้างและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ นอกจากนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังทั้งในภาวะเศรษฐกิจปกติและภาวะถดถอย
นอกจากนี้ ธนาคารยังคงรักษาเงินกองทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 84.2% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่18.5% ,15.7% และ15.7% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
@'ไทยพาณิชย์' กำไร 9,251 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1%
ขณะที่เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อย แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิประจำไตรมาส 1 ปี 2563 (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) จำนวน 9,251 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากรายได้รวมที่ขยายตัว 9% จากปีก่อน ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง ขณะเดียวกัน ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ธนาคารฯมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 25,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน สะท้อนถึงกลยุทธ์ของธนาคารในการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง การปรับตัวลดลงของต้นทุนทางการเงิน และการรับรู้รายได้ที่สูงขึ้นของพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามมาตรฐานบัญชีใหม่ซึ่งเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงต้นปี
อย่างไรก็ตาม ฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง จากภาวะดอกเบี้ยขาลง การหดตัวของยอดสินเชื่อรวมในไตรมาสแรกของปี และการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยภายหลังที่ธนาคารได้ขายหุ้นของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีที่ผ่านมา
ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 11,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน เป็นผลส่วนใหญ่จากรายได้ค่าธรรมเนียมประเภท recurring ที่ปรับตัวดีขึ้น ในไตรมาส 1 ของปี 2563 รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่งขยายตัว 31% จากปีก่อน เป็นจำนวน 2,022 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจขายประกันผ่านธนาคารเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 3,159 ล้านบาท
ทั้งนี้ การขยายฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสนี้ สามารถชดเชยผลกระทบของการคิดค่าธรรมเนียมแบบใหม่ตามแนวทางการกำกับดูแลของทางการเมื่อต้นปี และการชะลอตัวของปริมาณการทำธุรกรรมธนาคารในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 16,393 ล้านบาท ลดลง 8% จากปีก่อน เป็นผลจากการไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับพนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่รับรู้ในปีก่อน และการตัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตออกจากงบการเงินรวมภายหลังที่ธนาคารได้ขายหุ้นออกไป โดยรวมแล้วอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในไตรมาส 1 ของปี 2563 ของธนาคารจึงลดลงเป็น 43.6%
"ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในปัจจุบัน ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 9,726 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ของปี 2563 เพื่อรองรับหนี้ด้อยคุณภาพที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงให้สอดคล้องกับมาตรฐานบัญชีใหม่ในการประมาณการด้อยค่าของสินทรัพย์ตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารอยู่ที่ 3.17% ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับเพียงพอที่ 140%"
นอกจากนี้ ธนาคารมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งโดยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ที่ 16.1% และเงินกองทุนรวมตามกฎหมายที่ 17.2% แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่จัดได้ว่าเป็นช่วงวิกฤต ที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนระดับสูงมากทั้งในตลาดการเงินและเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด คณะกรรมการธนาคาร จึงได้มีมติให้ยกเลิกโครงการซื้อหุ้นคืนของธนาคารในวงเงินไม่เกิน 16,000 ล้านบาทที่ได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2563 เพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารให้ก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ไปได้อย่างดีที่สุด
อาทิตย์ นันทวิทยา
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ว่าธนาคารมีผลประกอบการในไตรมาสแรกของปีอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเกิดจากการพัฒนาความสามารถในด้านต่างๆของโครงการ Transformation ที่ผ่านมา แต่การแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 กำลังสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อประชาชนและภาคเอกชน และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจธนาคารทั้งในด้านรายได้และคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะปรากฏอย่างชัดเจนในไตรมาสถัดๆไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ภาคเศรษฐกิจจริงกำลังได้รับผลกระทบ แต่ฐานะทางการเงินของธนาคารที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีเงินกองทุนรวมตามกฎหมายที่ 17.2% และ เงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ที่ 16.1% การดํารงเงินกองทุนในระดับสูงและการบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับวิกฤตจากโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจมหภาคที่มีแนวโน้มถดถอยในปี 2563 ได้
"ในช่วงเวลานี้ ธนาคารมีเป้าหมายหลักที่จะช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบให้ฟื้นตัวและกลับมาสู่ภาวะปกติได้ โดยให้ลูกค้าเข้าร่วมโครงการบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินของธนาคาร และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในมาตรการต่างๆ ที่ประกาศโดยหน่วยงานกำกับดูแล ในขณะที่สถานการณ์ของการแพร่ระบาดยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถเพื่อช่วยให้ลูกค้าและทุกภาคส่วนของสังคมก้าวข้ามช่วงเวลาอันท้าทายนี้ไปด้วยกัน” นายอาทิตย์กล่าว
อ่านประกอบ :
บัณฑูร ล่ำซำ : ‘ล่ำซำ’ คนสุดท้าย อำลา ‘กสิกรไทย’ ท่ามกลางพายุใหญ่ ‘โควิด-19’
'ศูนย์วิจัยกสิกรไทย' คาดโควิด-19 ฉุดกำไรแบงก์ไตรมาส 1/63 หดตัว 28%
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage