"...เมื่อถามว่าจะมี ‘ล่ำซำ’ รุ่นต่อไปมาเป็นผู้บริการธนาคารกสิกรไทยหรือไม่ บัณฑูร บอกว่า ไม่รู้ แต่ดูแล้วไม่เห็น และไม่ใช่ลูกผมแน่ ส่วนจะเป็นลูกคนอื่นหรือเปล่า ไม่ทราบ ซึ่งตระกูลล่ำซำเองก็แยกย้ายกันไปทำเรื่องต่างๆ ความเป็นเจ้าของโดยจำนวนหุ้นก็น้อยเต็มที เพราะละลายหายไปพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีแต่ชื่อนามสกุลที่ทิ้งเอาไว้เท่านั้น..."
หมายเหตุ : บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus) ธนาคารกสิกรไทย พูดคุยทางออนไลน์กับสื่อมวลชน เนื่องในโอกาสอำลาตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทย เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2563
ในห้วงเวลานี้ ซึ่งเป็นเวลาของความตึงเครียดและเดือดร้อนกันทั่วหน้า ในวิกฤตของโรคระบาด ผมก็อดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยและคนไทยต้องเผชิญกับวิกฤตอีกแบบหนึ่ง คือ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดความล่มสลายกันทั้งประเทศเช่นกัน ในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนั้น ทุกคนพยายามที่จะแก้ปัญหาอันสืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ครั้งนั้น
ผมจำได้ว่า ในทุกวันที่ 4 ธ.ค.ของทุกปี ในช่วงเวลานั้น พระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เสร็จออกที่ศาลาดุสิดาลัย 1 วันก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อพระราชทานพระราชดำรัสให้กับคนไทยทั้งประเทศ ถ่ายทอดดูกันทั้งประเทศทางทีวี ผมโชคดีได้ไปนั่งอยู่ที่นั้น เรียกว่าเป็น 'บุญหูบุญตา เป็นบุญปัญญา' ที่ได้ฟังจากพระเจ้าอยู่หัวอยู่โดยตรงถึงปัญหาต่างๆ และทางออกต่างๆที่คนไทยพึงจะคำนึงถึง
ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวที่อยู่บนฟ้าทรงทำอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ยังทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรง ด้วยความมีพระเมตตามหาศาลกับคนไทยทั้งประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในครั้งนั้นมีพระราชดำรัส ผมจำได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทรงเหมือนจะแนะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยได้เข้าใจ คือ แต่ก่อนหน้านั้นไม่มีปัญหาใหญ่ๆ อะไรๆก็ดีไปหมด จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อครั้งนั้น ก็ทำให้คนรู้สึกว่าความเสียหายเกิดขึ้นไป
และในครั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่ง ให้พระราชดำริไว้ ผมฟังอยู่ด้วยในเวลานั้น คือว่า ไม่ว่าจะทำอะไรกันก็ตาม ขอให้แน่ใจว่า ‘ถ้าวันหนึ่งพายุมาก็อย่าให้ถึงกับล่ม ’ หมายความว่า อย่าทำจนสุดโต่งเกินตัว หมายความว่า ทุกอย่างต้องมีการเตรียมการ เพราะโลกมนุษย์มีความผันแปรไปด้วยปัจจัยต่างๆมากมายที่นึกไม่ถึง ถ้าไม่เตรียมการ ระมัดระวังในมิติต่างๆ เมื่อวิกฤตมา เมื่อพายุมา จะเกิดความเสียหายมากมาย
เหมือนกับที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อพายุมาก็ล่มสลายกันโดยถ้วนหน้า พระราชดำรัสนั้นยังก้องอยู่ในหัวผม ในหูผม ในวิญญาณของผมจนถึงทุกวันนี้ ว่าครั้งต่อไปที่พายุมา ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน ในรูปแบบวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง ในรูปแบบของโรคระบาด ซึ่งเห็นได้ชัดแล้วว่าตอนนี้เป็นพายุใหญ่ ใหญ่พัดเท่าโลกเลย เศรษฐกิจเดิมๆที่ยังดีอยู่ กลายเป็นเวลาเศรษฐกิจไม่ดีช่วงข้ามคืน เพราะว่าคนไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ
พายุอาจจะพัดเข้ามาในรูปของการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ แม้กระทั่งพายุอันสืบเนื่องมาจากความไม่สงบในสังคมที่เห็นต่างกัน ความร่ำรวยยากจนต่างกัน จนในที่สุดไม่สามารถอยู่กันอย่างมีความสงบสุขได้ ล้วนเป็นพายุของมนุษย์ทั้งนั้น
คำถาม คือ เราเตรียมการอะไร ที่จะให้แน่ใจว่า เมื่อพายุนั้นมา วิกฤตเศรษฐกิจก็ดี โรคระบาดร้ายแรงก็ดี ทรัพยากรธรรมชาติสูญเสียก็ดี ผู้คนพูดกันไม่รู้เรื่องก็ดี ทะเลาะกัน ทุุกอย่างจะถึงขั้นล่มสลายไหม นี่เป็นอะไรที่วนเวียนอยู่ในหัวสมองตลอดเวลา แม้ว่าในแต่ละวันก็ทำงานแบงก์ไป
ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้น ซึ่งก็ผ่านมาได้ 20 ปีแล้ว จริงๆเศรษฐกิจก็ดีขึ้นมาเยอะ ผู้คนมั่งคั่งขึ้นมากกว่าเดิมเยอะ ก็ดูเสมือนว่าจะลืมๆกันไปว่าพายุก็มาได้อีกรอบ แล้วก็มาให้เห็นแล้วรอบนี้ ในรูปของโรคระบาด แล้วมันก็จะมีพายุอื่นมาอีกในรูปแบบอื่นๆ คำถาม คือ มนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยสามารถที่จะรับมือกับพายุอย่างนั้นได้หรือเปล่า รู้หรือไม่ว่าจะต้องเตรียมการอะไรบ้างเวลาเกิดเรื่องขึ้นมา เป็นอะไรที่ทำนายลำบาก เวลาที่ดีๆจะไม่รู้สึกอะไร
เอาเรื่องของธนาคารก่อนก็ได้ ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าฟื้นกลับมาจากความเสียหายครั้งที่แล้ว ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ผมได้พูดในหลายเวที รวมทั้งกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย ว่า ความเสี่ยงมีอยู่ตลอดเวลา ความเสี่ยงจากการที่ว่ามนุษย์อยากจะกำไรอย่างนั้น อย่างนี้ โดยผ่านกลไกของระบบการเงิน ก็ลงทุนอย่างนั้น ลงทุนอย่างนี้ มันก็ใช่สำหรับการทำมาหากิน แต่ความเสี่ยงนั้น หากทำจนเกินตัว ก็จะเกิดความเสียหาย
ก็หวังว่ามาตรการต่างๆ ที่ใส่เอาไว้ คงจะกันไม่ให้เราไปถึงจุดนั้น เพราะผมจำได้ว่าเมื่อปี 2540 ทุกคนนึกไม่ถึง นึกไม่ถึงว่าพายุมาทีเดียวล่มเลย ครั้งนี้ดูเสมือนว่าใส่มาตรการเอาไว้ขั้นหนึ่ง แต่ถามว่าใส่ไว้ครบไหม ไม่แน่ใจ เพราะพายุยังไม่มา ถ้าพายุมาหนักถึงขั้นหนึ่ง มาตรการต่างๆที่เตรียมไว้ก็อาจจะไม่พอ แต่ก็โชคดี เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงินของเรา ได้ตุนเสบียงสำรองไว้พอสมควร
ครั้งนี้ต่อให้เกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจ อันสืบเนื่องมาจากการที่คนทำงานไม่ได้ตามปกติ ค้าขายไม่ได้ตามปกติ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังรับได้ ก็คงสูญเสียกำไรกันไป แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร รับได้ และถ้าเราไม่ได้มีทุนสำรองเอาไว้เลย ก็คงจะเดือดร้อน ตอนนี้รัฐบาลก็จะช่วยเต็มที่เยียวยาผู้คนที่ประสบความเดือดร้อนทั้งผู้ประกอบการ คนตกงาน แต่ก็สามารถพิงระบบธนาคารพาณิชย์ไทยได้ขั้นหนึ่ง ตราบใดที่ไม่พิงจนกระทั่งล้มไปทั้งหมด ก็น่าจะพอรับได้อยู่
แต่เราก็ต้องดูอีกว่าโรคนี้จะลากยาวแค่ไหน ยิ่งลากยาว ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็มาก ซึ่งมาตรการต่างๆที่ทำเข้มขึ้นทุกวัน ทั้งฝ่ายรัฐบาล ทั้งฝ่ายแพทย์ ก็ดูเหมือนว่ามีความหวังว่าจะสกัดได้ แต่ถ้าเราไม่ได้เตรียมการไว้ขั้นหนึ่ง รัฐบาลก็ไม่ได้กู้เงินมากเกินไปในอดีต พอครั้งนี้จำเป็นต้องกู้เงิน เยียวยารักษาเศรษฐกิจจึงพอมีช่องที่ทำได้ แต่จากนี้ไปคงต้องตึงๆกัน รัฐบาลก็จะตึง ระบบธนาคารก็จะตึง ระบบการเงินก็จะตึง แต่ยังเชื่อว่ารับได้
อย่างไรก็ตาม ตอนจบก็ต้องกลับมาทำมาหากินกันอีก ไม่ใช่ว่าแค่เยียวยากันไปแล้ว ก็ไม่เป็นอะไร การกลับมาทำมาหากินอะไรจากนี้ไป ต้องคิดกันหนักเลยว่าจะต้องทำมาหากินอะไร เงินลงทุนก็พอจะหาได้ สินเชื่อก็พอจะหาได้ แต่จะให้คนไทยทำมาหากินประเภทไหน มันเป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่จะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ สำหรับผมมองว่าอันนั้นเป็นความเสี่ยง เป็นพายุที่ก่อตัว เป็นพายุที่ไม่สามารถแข่งขันกับใครเขาได้ในโลกนี้
ความรู้ใหม่ต้องสร้างขึ้นมา ความรู้แบบเดิมใช้ไม่ได้ แม้กระทั่งช่วงหลังๆมานี่ได้ยินว่า สืบเนื่องจากงบประมาณที่มีจำกัด งบการสนับสนุนการวิจัยพวกนี้ก็ถดถอยไป ประเทศก็จะไม่มีการวิจัยอะไรเลย ซึ่งไม่ได้ มันต้องมี รัฐก็ต้องทำ เอกชนก็ทำได้ขั้นหนึ่ง บริษัทใหญ่สามารถลงทุนในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ สถาบันวิจัยที่มาจากการใช้เงินทุนของเอกชนก็มี เช่น สถาบันวิทยสิริเมธี ของบริษัท ปตท และวันนี้ก็ได้คิดค้นเครื่องมือทดสอบไวรัสได้ทันเวลาที่ต้องการใช้
เมื่อพูดถึงองค์ความรู้ ผมอยากจะมุ่งไปในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผม คือ ความรู้ที่เกี่ยวกับด้านเกษตร เพราะการเกษตรจะไปโยงอย่างยิ่งกับการรักษาทรัพยากรป่าของประเทศ ผมให้ความสนใจเป็นการส่วนตัวและดึงธนาคารกสิกรไทยเข้ามาร่วมด้วยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ โดยฉพาะป่าต้นน้ำแหล่งใหญ่ของประเทศ คือ จ.น่าน ถือเป็นโจทย์ที่ท้าท้าย และร่วมมือกันหลายฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายประชาชน ฝ่ายเอกชน ร่วมมือกันหาทางแก้การสูญเสียป่าต้นน้ำที่ไม่น้อยเลย
"ในความพยายามที่จะหาทางแก้ปัญหานี้ คือ ต้องทำให้ประชาชนมีที่ทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ป่าที่ถูกทำลายไป เพราะเอาไปทำพืชไร่ต่างๆนั้น จะปลูกกลับคืนมาได้ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ความรู้ใหม่ของการทำมาหากิน เพราะถ้าคนทำมาหากินไม่ได้ ก็ไม่สามารถที่จะรักษาป่า รักษาทรัพยากรธรรมชาติได้ ไม่ใช่ไปปลูกป่าๆอย่างเดียว และนี่เป็นมิติใหม่ เป็นการเริ่มต้นอีกฉากใหม่ของชีวิต ฉากที่เป็นนายธนาคารก็ทำเต็มที่แล้ว"
นอกจากนี้ ทีมงานที่รับช่วงต่อไม่ว่าจะเป็นทีมงานระดับคณะกรรมการ หรือระดับฝ่ายจัดการ ผมมีความมั่นใจ 100% เพราะมีคนเก่งๆด้วยกันทั้งนั้น คนอายุมากก็หันไปทำอย่างอื่นบ้าง แต่ก็ยังอิงธนาคารกสิกรไทยอยู่ในญ่ในฐานะที่ต้องสนับสนุนในโครงการที่เลือกจะทำ วันนี้สามารถพูดเต็มปากว่า ทำแบงก์มา 40 ปี ก็พอสมควรแก่เวลา ก็ถือว่าส่งต่อได้อย่างดี ผมไม่มีความกังวลอะไร
มีคำถามว่าผมกังวลอะไรหรือไม่ นอกจากไม่กังวลแล้ว ยังรู้สึกมีความสุข เพราะไม่ต้องทำอะไรซ้ำๆ หาของใหม่ทำ แต่ทุกอย่างก็ต้องทำไปด้วยกัน ใครมีกำลังมาก็ช่วย สถาบันการเงินมีทรัพยากรเงิน มีทรัพยากรงบประมาณ มีทรัพยากรบุคลากร ก็ช่วยได้ หลายคนก็ทำกันอยู่อย่างนี้
วันนี้ต้องถือว่า จบฉากเดิมอย่างสบายใจทีเดียว ลูกก็บอกว่าไม่ต้องทำแล้วแบงก์พ่อ ทำอย่างอื่นบ้าง ทำเรื่องทรัพยากรอะไรต่างๆพวกนี้ ทุกคนก็ช่วยกันทำตามความถนัด ผมก็เลือกที่จะมาทำด้านนี้ แต่ว่ายังป้วนเปี้ยนอยู่แถวธนาคารกสิกรไทย เพราะต้องใช้ทรัพยากรของแบงก์ไปช่วยงานขั้นหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชีวิต
@ส่งไม้ต่อให้ 2 ผู้บริหารหญิงกสิกรไทย
เมื่อถามว่า กสิกรไทยที่มีไม่มีนายบัณฑูรบริหารจะเป็นอย่างไร บัณฑูร กล่าวว่า ไม่มีอะไร ก็ไปได้ จริงๆแล้วคนไม่รู้ว่า ผมไม่ได้ทำงานมาตั้งนานแล้ว เพราะงานประจำวันคนอื่นทำหมดแล้ว ทีมงานก็ทำไปได้ดี ทำมาให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วถึงได้สบายใจ ส่วนตำแหน่งประธานกิตติคุณเป็นเพียง ‘ฉายา’ เฉยๆ เพราะไม่ได้ทำอะไร เมื่อเขายกย่องก็ขอบคุณที่ยกย่อง แต่ก็ไปๆมาๆ ใครที่ธนาคารกสิกรไทยอยากปรึกษาอะไร ก็ปรึกษาได้
โดยผมไม่ได้ร่วมอยู่ในคณะบริหารอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้ร่วมนั่งฟังอยู่ในคณะกรรมการบริหารธนาคาร หรือในคณะจัดการอะไรแล้ว ให้คนรุ่นใหม่ทำกันไป
เมื่อถามว่านิยามของนายบัณฑูรที่ไม่ใช่นายแบงก์เป็นอย่างไร บัณฑูร กล่าวว่า จริงๆแล้วก็ไม่ค่อยชอบทำแบงก์ พูดหลายทีแล้ว แต่ประสบการณ์ที่ทำงานในธนาคารช่วยได้มาก ในการมองโลกของการค้าขาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าไปแก้ปัญหาในด้านต่างๆ และโจทย์คงไม่ใช่รับเงินฝากแล้วปล่อยกู้ ซึ่งการบริหารจัดการองค์กรใหญ่ๆที่มีปัญหาหลากหลาย เป็นประสบการณ์ที่เอาไปใช้ได้ ใช้ในการมองโจทย์ที่กว้างออกไป เช่น การแก้ปัญหาของป่า
“อาชีพที่สองไม่มี ไปทำงานมากกว่า รัฐเปิดโอกาสให้หาทางแก้ปัญหาป่าต้นน้ำน่านอย่างที่ทำทุกวันนี้ ส่วนแรงจูงใจก็ต้องทำอะไรซักอย่างที่มีประโยชน์ ชีวิตจึงจะมีความหมาย นั่งอยู่เฉยๆชีวิตก็หงอยเหงา…และตอนนี้คงไม่ใช่การเกษียณ แต่ถ้าบอกว่าเกษียณจากแบงก์ก็คงใช่ แต่ไม่เกษียณจากการทำงาน ตอนนี้ผมอายุย่าง 68 ปี ยังทำได้อยู่ สุขภาพยังดีอยู่ อวัยวะทุกส่วนยังดี หู ตายังดี มีแต่ปากเท่านั้นที่ยังกวัดแกว่งเกินไป”
ส่วนที่เลือก ‘กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร’ เป็นประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทยนั้น เพราะเธอเก่ง เก่งเท่ากับคณะกรรมการเลย ซึ่งคณะกรรมการกสิกรไทยเต็มไปด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพจากหลายแวดวงมาชุมนุมกัน แล้วก็ทำงานกันด้วยดี ประชุมกันด้วยดี และคุณกอบกาญจน์ เธอเป็นคนที่มีประสบการณ์ทางภาคธุรกิจและภาครัฐ ทำให้มีมุมมองหลากหลาย อีกทั้งเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับในความมีคุณธรรม มีจริยธรรม จึงมั่นใจว่าเธอจะมีเป็นประธานกสิกรไทยคนต่อไปได้
สำหรับ ‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทยนั้น เป็นคนเก่งในแวดวงของการบริหาร ทำงานกันมาเป็นเวลานาน เป็นคนใจดี มีเมตตากับคนทั้งหลาย ผู้คนรัก มีความเฉียบคมในความรู้เทคนิคด้านการเงิน การจัดการ จึงเป็นเวลาของเธอจะที่ต้องรับโจทย์อันยากนี้ต่อไป เชื่อว่าจะทำงานนี้ได้ดี
“การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน มีการวางหมากอยู่ในใจมาตั้งนาน จัดชิ้นส่วนต่างๆให้มีให้ครบ องค์ประกอบต้องมีให้ครบ ถึงจะสามารถที่จะส่งต่อได้ด้วยความสบายใจ ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้ว และโชคดีที่จัดเรื่องต่างๆให้เข้าที่ ทำให้ส่งไม้ต่อได้อย่างมั่นใจว่า คนที่รับช่วงต่อไป ซึ่งไม่ใช่แค่ 2 ท่าน แต่ยังรวมถึงคณะกรรมการ ทีมงานของธนาคารกสิกรไทย มีความพร้อมที่จะทำงานด้านนี้ได้ต่อไป”
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร (ซ้าย) และ ขัตติยา อินทรวิชัย (ขวา)
เมื่อถามว่าใครจะมานั่งในตำแหน่ง Chief Environmental office นั้น บัณฑูร บอกว่า ไม่เคยเห็นตำแหน่งนี้ ไม่รู้ว่าใครตั้งตำแหน่งนี้ขึ้นมา และเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องของความยั่งยืนมากกว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวที่อยู่บนฟ้า พระราชทานมาให้คนไทยนั้น ก็คือเรื่องที่มาพูดกันในสมัยใหม่ว่าเป็นเรื่องความยั่งยืน ทำอย่างไรให้ชีวิตมนุษย์อยู่ต่อได้อย่างดีๆ ไม่ล่มไปกับพายุต่างๆที่พัดเข้ามา
@ไม่เล่นการเมือง-'ลำซ่ำ'คนสุดท้ายที่บริหารกสิกรไทย
เมื่อถามว่าจะเล่นการเมืองหรือไม่ บัณฑูร กล่าวว่า ไม่เล่น แต่ถามว่าต้องไปทำงานภาคการเมืองหรือไม่ ก็ต้องทำ เพราะเขาเป็นฝ่ายที่ได้รับอำนาจจากประชาชนมาในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงหนีไม่พ้นที่จะทำงานกับภาครัฐ ทั้งที่เป็นฝ่ายการเมืองและข้าราชการ ส่วนประเทศไทยต้อง Re-engineering หรือไม่ อันนี้เป็นศัพท์เก่าไปแล้ว ใช้ไม่ได้ แต่ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานของมนุษย์ เพราะถ้าทำงานแบบเดิมๆก็ได้ผลแบบเดิมๆ ซึ่งหลายเรื่องรู้สึกว่าไม่ได้ผล
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรักษาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ในระดับล่างๆของระบบเศรษฐกิจ จะเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย และทุกๆประเทศ จะจัดการการทำงานอย่างไรให้ประชาชนมีงานทำที่ดี มีพอกินพอใช้ มีความสุข”
เมื่อถามว่าจะมี ‘ล่ำซำ’ รุ่นต่อไปมาเป็นผู้บริการธนาคารกสิกรไทยหรือไม่ บัณฑูร บอกว่า ไม่รู้ แต่ดูแล้วไม่เห็น และไม่ใช่ลูกผมแน่ ส่วนจะเป็นลูกคนอื่นหรือเปล่า ไม่ทราบ ซึ่งตระกูลล่ำซำเองก็แยกย้ายกันไปทำเรื่องต่างๆ ความเป็นเจ้าของโดยจำนวนหุ้นก็น้อยเต็มที เพราะละลายหายไปพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีแต่ชื่อนามสกุลที่ทิ้งเอาไว้เท่านั้น
“ผมก็เป็นผู้ถือหุ้นเต็มตัวมาโดยตลอด และไม่ใช่เรื่องว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นเต็มตัวหรือไม่เต็มที่ แต่อยู่ที่ว่าธนาคารควรจะทำอะไร คือ ต้องสามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปล่อยสินเชื่ออย่างมีความหมาย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างงานโดยถ้วนหน้า ปล่อยสินเชื่อในเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่เป็นกระแสใหญ่ขึ้นมา” บัณฑูร ตอบคำถามหลังคำถามว่า เมื่อผันตัวเป็นผู้ถือหุ้นเต็มตัวแล้ว อยากให้ธนาคารกสิกรไทยทำอะไรให้กับผู้ถือหุ้น 3 อันดับแรก
เมื่อถามว่าการลงจากตำแหน่งในภาวะวิกฤตมีความเชื่อมั่นในการดำเนินการของธนาคารหรือไม่ บัณฑูร บอกว่า ลงในภาวะวิกฤตนะดี แสดงความเชื่อมั่นฝ่ายบริหารจัดการอย่างยิ่งเลย ลงตอนที่มันวุ่นวายอย่างนี้ จะเป็นการทดสอบทีมใหม่อย่างดีที่สุด ถ้ารับมือกับงานตอนนี้ได้ ก็สอบผ่านไปรับงานตอนใหม่ได้ จังหวะนี้ดีทีสุดแล้ว
@ฝาก 4 คาถา 'อย่ามั่ว-อย่าไม่คำนวณ-อย่าชุ่ย-อย่าเหยียบตีนกัน'
เมื่อถามว่ามองธนาคารในยุคดิจิทัลอย่างไร บัณฑูร กล่าวว่า สะดวกดี ตราบเท่าที่ไม่เจอไวรัสไซเบอร์จนล้มลง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะถ้าไวรัสทำให้ร่างกายมนุษย์ล้มได้ ไวรัสก็ทำให้คอมพิวเตอร์ล้มได้ และเรื่องนี้ได้มีการเตรียมการกันอย่างเต็มที่ โดยตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดขึ้นก็คงหนักหนาเหมือนกัน
เมื่อถามว่าการส่งไม้ต่อได้บอกอะไรบ้างกับทีมบริหารบ้าง บัณฑูร บอกว่า ได้บอกไว้ 4 คำ 1.อย่ามั่ว เพราะถ้ามั่วก็คือความไม่ชัดเจน ตกลงกันอย่าง แต่ออกไปทำอีกแบบ ก็แก้ปัญหาใหญ่ไม่ได้ 2.อย่าไม่คำนวณ เพราะทุกอย่างมีตัวเลขกำกับ ถ้าพูดลอยๆพูดเป็นนามธรรมก็พูดได้ทั้งนั้น แต่ถ้าตัวเลขไม่ถึง ก็ไม่ได้ผล อย่างเรื่องการแก้ปัญหาป่า ถ้ารายได้ของประชาชนต่อไร่ไม่ถึง จะพูดให้สวยอย่างไรก็แก้ปัญหาป่าไม่ได้ ถ้าพูดโดยไม่มีตัวเลขกำกับจะแก้ปัญหาไม่ได้
3.อย่าชุ่ย คือ ทุกอย่างต้องมีความระมัดระวัง และ 4.อย่าเหยียบตีนกัน คือ ให้รักษาสัมพันธภาพระหว่างกัน สัมพันธภาพของคนในทีมงานเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ ถ้าทะเลาะกันตลอดเวลา ก็ไม่ต้องแก้ปัญหากันพอดี
เมื่อถามข้อด้วยของธนาคารกสิกรไทย บัณฑูร กล่าวว่า ก็เหมือนกับทุกสถาบันธุรกิจ คือ ประมาท ไม่วางแผนให้รัดกุม ทั้งเรื่องการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นความไม่ยั่งยืนอย่างยิ่ง เพราะทุกธุรกิจถูกแทนที่ได้ทั้งนั้น หากไม่ระวัง มัวแต่หลงระเริงกับความสำเร็จ มีข้อทะเลาะเบาะแว้งกัน ก็ไม่มีทางที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจนอนาคตได้
@เศรษฐกิจหลังโควิดโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้
เมื่อถามว่าอยากให้เปรียบเทียบความรุนแรงของวิกฤตโควิด-19 กับวิกฤตต้มยำกุ้ง บัณฑูร กล่าวว่า มันเป็นพายุคนละแบบ ต้มยำกุ้งเป็นพายุของความโลภของมนุษย์ที่เกินพอดี ซึ่งสร้างความเสียหาย เจ็บปวดต่อชีวิตมนุษย์ ส่วนโรคระบาด จะโทษมนุษย์โดยตรงไม่ได้ แต่ก็เกิดความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์เช่นเดียวกัน เกิดการหยุดชะงัดของการทำมาหากิน ทำให้เดือดร้อน มีกินน้อยลงไปชั่วคราว ก็หวังว่าจะแก้ทัน
ส่วนมาตรการแก้ปัญหาโควิด-19 ของภาครัฐนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะได้ผลเป็นลำดับ แต่ก็มีความยากลำบากโดยถ้วนหน้า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปแก้ปัญหาก็เหนื่อยกันทั้งนั้น ทุกคนก็ช่วยกันในรูปแบบต่างๆ ก็คิดว่าน่าจะไปได้ด้วยดี
เมื่อถามว่ามองเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างไรหลังโรคระบาดโควิด-19 บัณฑูร กล่าวว่า นี่เป็นโจทย์ใหญ่เลย ตอนนี้ทุกคนแตกสลาย ตกงาน กลับไปต่างจังหวัด แล้วพอโรคระบาดหายจะทำมาหากินอะไรดี จะทำแบบเดิม หรือว่าประเทศนี้จะสามารถหาวิชาชีพแบบใหม่ให้ประชาชนคนไทยทำงานได้ และมีรายได้ดีกว่าเดิม แต่ตรงนี้หนีไม่พ้นที่จะต้องมีองค์ความรู้แบบใหม่ ความรู้เดิมไม่พอ เพราะโลกมีการแข่งขันกันมาก ทั้งความรู้ใหม่จากระบบการศึกษา ระบบการวิจัย
“ประเทศที่ไม่มีความรู้ใหม่ ไม่มีทางสู้ใครเขาได้ ไม่มีทางที่ประชาชนโดยรวมจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้”
ส่วนการอยู่รอดของธุรกิจรายเล็กนั้น บัณฑูร กล่าวว่า ตอนนี้หลายรายก็แย่แล้ว รายเล็กที่เจอพายุ ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ ก็คงต้องพับฐานไป ซึ่งก็หวังว่าจะมีวิธีการที่จะเอาทุนใหม่เข้ามาสนับสนุนให้ประชาชนทำมาหากินได้ ทุนมีการเสียได้ และเสียไปแล้วจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/