กสม. ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีสภาทนายความฯ กำหนดเงื่อนไขการเข้ารับการฝึกอบรมวิชาว่าความก่อนการขอรับใบอนุญาตว่าความหรือขอตั๋วทนายสำหรับผู้จบการศึกษาระดับอนุปริญญาเฉพาะสถาบันการศึกษาบางแห่ง ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ แนะประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ระบุว่า สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ (ผู้ถูกร้อง) กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ศึกษาสาขานิติศาสตร์ในประเทศไทย ด้วยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ในลักษณะที่เป็นคุณต่อบุคคลที่จบการศึกษาระดับอนุปริญญาทางนิติศาสตร์จากสถาบันการศึกษาเพียง 10 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ โดยให้สามารถยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตทนายความได้ ขณะที่ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตทนายความที่จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาอื่นต้องใช้วุฒิการศึกษานิติศาสตร์ระดับปริญญาตรี ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมอันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส เวลา และการศึกษาอบรม จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล และมาตรา 27 บัญญัติว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องการศึกษาอบรมอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้ สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่กำหนดให้รัฐภาคีรับรองความเสมอภาคและความเท่าเทียมของบุคคล และต้องคุ้มครองบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคและปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลใด
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรณีตามคำร้องเป็นกรณีที่อยู่ในขั้นตอนการขอสมัครเข้ารับการฝึกอบรมวิชาว่าความ ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนการขอรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกร้อง โดยสถาบันการศึกษาทั้ง 10 แห่ง เป็นสถาบันที่หลักสูตรการศึกษาในระดับอนุปริญญาได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากผู้ถูกร้อง คือ สภาทนายความฯ ซึ่งปัจจุบันมีหลักสูตรนิติศาสตร์ของสถาบันการศึกษาที่ผู้ถูกร้องให้การรับรองในระดับอนุปริญญา รวมจำนวน 19 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยภาครัฐ 11 แห่ง กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวน 8 แห่ง อันเป็นไปตาม พระราชบัญญัติสภาทนายความ พ.ศ. 2528 และระเบียบสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความว่าด้วยการรับรองมาตรฐานการศึกษาวิชานิติศาสตร์ พ.ศ. 2563 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางการตรวจพิจารณามาตรฐานการศึกษาวิชานิติศาสตร์ เนื่องจากวิชาชีพทนายความมีความใกล้ชิดกับประชาชน การทำหน้าที่ของทนายความจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อการธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมของสังคม อันเป็นเหตุผลและความจำเป็นที่สภาทนายความฯ ในฐานะองค์กรวิชาชีพต้องกำกับดูแลมาตรฐานหลักสูตรนิติศาสตร์ของสถาบันการศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรี อนุปริญญา และประกาศนียบัตร เพื่อให้สถาบันการศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่วิชาชีพทนายความ อันเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกับการพิจารณาคุณสมบัติผู้ขอจดทะเบียนรับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา
กสม. เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวแม้จะเป็นการกำหนดเงื่อนไขและมีผลเป็นการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างผู้ที่มีคุณวุฒิอนุปริญญาจากสถาบันการศึกษาที่ผู้ถูกร้องรับรองกับสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้รับรอง แต่เมื่อผู้ถูกร้องดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมมาตรฐานทางวิชาชีพและเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จึงไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องการศึกษาอบรมอันเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาค และไม่เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ โดยเผยแพร่หลักสูตรนิติศาสตร์ของสถาบันการศึกษาที่ผ่านการรับรองโดยสภาทนายความฯ แล้ว รวมถึงเผยแพร่หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำขอให้พิจารณารับรองมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาผ่านช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของสภาทนายความฯ เพื่อเป็นการอำนวยความเป็นธรรมและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนโดยทั่วไปที่มีความสนใจจะศึกษาสาขานิติศาสตร์ และสถาบันการศึกษาที่ยังไม่ได้รับรองมาตรฐานทราบและใช้ประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป