“…การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว จะเป็นการทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานประกันสังคม) ต้องทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมาสืบหาข้อมูลเพื่อประโยชน์ในทางแพ่ง อันส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยตรง ที่อาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมเสื่อมประสิทธิภาพ…”
............................................
เป็นคดีที่น่าสนใจอีกคดี
เมื่อ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT (เดิมคือ บมจ.กสท โทรคมนาคม) (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครอง
กรณี บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้หนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 สำนักงานประกันสังคม เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ตรวจสอบสถานที่ประกอบการของ ‘ลูกหนี้ตามคำพิพากษา’ ของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จำนวน 9 ราย
แต่ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 แจ้งว่า ข้อมูลประวัติการทำงานและสถานที่ทำงานของ ‘ลูกจ้างประกันสังคม’ ในฐานะข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมฯ เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลฯ โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลไม่ได้
ต่อมา บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ อุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ได้วินิจฉัยว่า ข้อมูลข่าวสารที่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ร้องขอดังกล่าว ไม่สามารถเปิดเผยได้เช่นกัน
ล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค.2567 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ (คดีหมายเลขดำที่ อร.102/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อร.161/2567 ลงวันที่ 13 พ.ย.2567) มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@NT ขอข้อมูล‘ลูกหนี้ตามคำพิพากษา’ ใช้ติดตาม‘บังคับคดี’
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดี (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เดิมชื่อ บมจ.กสท โทรคมนาคม) มีหนังสือลงวันที่ 29 มีนาคม 2559 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 เพื่อขอข้อมูลสถานที่ประกอบการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ฟ้องคดีตามบัญชีรายชื่อลูกหนี้ จำนวน 9 ราย เพื่อประกอบการบังคับคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานประกันสังคม) โดยผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ได้มีหนังสือที่ รง 0623/5867 ลงวันที่ 7 เมษายน 2559 แจ้งปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ฟ้องคดี
โดยให้เหตุผลว่า ข้อมูลประวัติการทำงานของลูกจ้าง ผู้ประกันตน สถานที่ทำงานในฐานข้อมูลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 หากไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูลไม่อาจเปิดเผยข้อมูลได้ ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
และเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ผู้ฟ้องคดี (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย) ได้มีคำวินิจฉัยที่ สค 255/2559 ลงวันที่ 28 กันยายน 2559 ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี
โดยเห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่ผู้ฟ้องคดี ร้องขอ เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มาตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เพื่อประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎหมายดังกล่าว ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวนายจ้างและลูกจ้างไม่ประสงค์จะเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก
หากผู้ฟ้องคดีได้รับข้อมูลข่าวสารดังกล่าวไปเพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้ ก็จะกระทบต่อสภาพการทำงานของลูกจ้าง และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งอาจทำให้นายจ้างและลูกจ้างขาดความเชื่อถือต่อระบบประกันสังคมได้
ในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานประกันสังคม) กลายเป็นสำนักงานติดตามชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้
นอกจากนั้น การบังคับชำระหนี้ของผู้ฟ้องคดี เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ยังมีหนทางอื่นในการดำเนินการเพื่อบังคับชำระหนี้ หรือวางระบบประกันการชำระหนี้ เพื่อให้การบังคับชำระหนี้มีประสิทธิภาพ
กรณีนี้จึงยังไม่มีเหตุผลความจำเป็นเพียงพอ ถึงขนาดที่จะให้ผู้ฟ้องคดีรับรู้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของบุคคลอื่นที่อยู่ในระบบประกันสังคม เมื่อพิเคราะห์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว ข้อมูลข่าวสารดังกล่าว จึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่อาจเปิดเผยให้ผู้ฟ้องคดีทราบได้
ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ สค 255/2559 ลงวันที่ 28 กันยายน 2559 และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เปิดเผยข้อมูลสถานที่ประกอบการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ฟ้องคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ต่อมา ศาลปกครองชั้นชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น จึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
@ศาลฯชี้คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูล‘ผู้ประกันตน’ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) ว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานประกันสังคม) ตามหนังสือที่ รง 0623/5867 ลงวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามคำขอของผู้ฟ้องคดี
และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย) ที่ สค 255/2559 ลงวันที่ 28 กันยายน 2559 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ...คดีนี้ เมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2559 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 เพื่อขอข้อมูลสถานที่ประกอบการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ฟ้องคดีตามบัญชีรายชื่อลูกหนี้ จำนวน 9 ราย โดยขอทราบว่าแต่ละรายมีสถานประกอบการอยู่ ณ ที่ใด เพื่อประกอบการบังคับคดี
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานประกันสังคม) โดยผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากข้อมูลประวัติการทำงานของลูกจ้าง ผู้ประกันตน สถานที่ทำงานในฐานข้อมูลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
หากไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูลไม่อาจเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ และเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการที่ผู้ฟ้องคดี (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) ขอให้เปิดเผยนั้น ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานประกันสังคม) ต้องนำลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 7 หรือที่ต้องจัดให้มีไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
จึงเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นคำขอให้เปิดเผย ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีหน้าที่ต้องจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายในเวลาอันสมควร ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เว้นแต่ผู้ฟ้องคดีจะขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้ ในกรณีที่ข้อมูลข่าวสารนั้น เข้าลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
เมื่อข้อมูลข่าวสารที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เปิดเผย เป็นข้อมูลข่าวสารที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มาจากการที่นายจ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ฟ้องคดี ได้ให้ไว้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานประกันสังคม) เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างในการให้การสงเคราะห์ลูกจ้างซึ่งประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย อันไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และสำหรับกรณีว่างงาน ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
จึงต้องห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลดังกล่าว ต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่น โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของลูกจ้างที่เป็นเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้น ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
และในคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าลูกจ้างได้ให้ความยินยอมดังกล่าว ทั้งผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่ใช่ศาล หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอข้อมูลดังกล่าวตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง (8) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว หรือเป็นการขอข้อมูลข่าวสารเพื่อป้องกันการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การสืบสวน การสอบสวน หรือการฟ้องคดี ตามอำนาจหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง (6) แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
ประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติราชการ เพื่อประโยชน์แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 หรือเพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองแรงงาน หรือการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี ตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
และการที่นายจ้าง ได้ให้ข้อมูลดังกล่าว แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็เพียงเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เท่านั้น ไม่ได้เป็นการอนุญาตหรือยินยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อการอื่น จึงถือว่านายจ้างผู้ให้ข้อมูล ไม่ประสงค์ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น
จึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เปิดเผย หรือที่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น ซึ่งหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
และแม้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานที่ประกอบการของลูกจ้าง ที่อยู่ในความควบคุมดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานประกันสังคม) จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟ้องคดี (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) ในการดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลก็ตาม แต่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของลูกจ้างซึ่งเป็นประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้อง
และทำให้นายจ้างและลูกจ้างขาดความเชื่อถือต่อระบบประกันสังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่มีหน้าที่บริหารจัดการระบประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างในการให้การสงเคราะห์ลูกจ้างซึ่งประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย อันไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และสำหรับกรณีว่างงานอันเป็นเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ
และการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว จะเป็นการทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานประกันสังคม) ต้องทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมาสืบหาข้อมูลเพื่อประโยชน์ในทางแพ่ง อันส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยตรง ที่อาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานประกันสังคม) ย่อมมีดุลพินิจที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้ตามมาตรา 15วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงานประกันสังคม) โดยผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 มีหนังสือ ที่ รง 0623/5867 ลงวันที่ 7 เมษายน 2559 แจ้งปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอของผู้ฟ้องคดี (บมจ.โทรคมนาคม) และคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ สค 255/2559 ลงวันที่ 28 กันยายน 2559 ที่วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมาย
@การใช้สิทธิบังคับให้‘ลูกหนี้’ชำระหนี้ ต้องทำตาม‘ป.วิ.แพ่ง’
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดี (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) สมควรได้รับการคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานประกอบการของนายจ้างของลูกหนี้ เพื่อประกอบการดำเนินคดีทางศาลในชั้นบังคับคดี ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่เป็นการขอทราบข้อมูล เพื่อการติดตามหนี้หรือการจัดทำนิติกรรมโดยทั่วไป ประกอบกับทรัพย์สินทุกชนิดของลูกหนี้ ย่อมเป็นประกันการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามมาตรา 214 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น
เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย
บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติถึงสิทธิอันพึงมีของเจ้าหนี้ ในการจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ ทั้งที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งผู้ฟ้องคดี (บมจ.โทรคมนาคม) ย่อมมีสิทธิบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามขั้นตอนและวิธีการบังคับคดีที่บัญญัติไว้ โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ส่วนการสืบหาทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องต่างๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายดังกล่าว
ประกอบกับเมื่อพิจารณาเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ที่ระบุในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.นี้แล้ว เห็นว่า พ.ร.บ.นี้ มีเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสกว้างขวางในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆของรัฐ เพื่อที่ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง ประกอบกับคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารของราชการไปพร้อมกัน
ไม่ใช่เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีกับเอกชนลูกหนี้ ผู้ฟ้องคดี (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) จึงไม่อาจใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีแพ่งได้ อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน