‘จุรินทร์’ คืนฟอร์มฝ่ายค้าน ถล่มรัฐบาล ยก 10 นโยบายนินจา - ล่องหน ไม่ปรากฎในคำแถลง ฟื้นบาป ‘จำนำข้าว-คอร์รัปชั่น’ กระตุกรัฐบาล ก่อนสะกิดต้องฟื้นหลักนิติธรรมจากกรณี ‘ทักษิณ’ อภัยลดโทษ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 กันยายน 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560
ในเวลาประมาณ 11.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า รัฐบาลนี้จะเป็นรัฐบาลของประชาชน จึงขอถือโอกาสนี้เช่นเดียวกันประกาศว่า พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านของประชาชน และจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินเต็มกำลังความสามารถ ก่อนที่จะเริ่มต้น พูดถึงนโยบายรัฐบาลขอแสดงจุดยืนสั้นๆ นิดเดียว ขอแสดงจุดยืนต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในการทำหน้าที่ 2 ข้อ
@ไม่ค้านทุกเรื่อง-ไม่หนุน ‘ก้าวไกล’ แก้ ม.112
ข้อ 1 ขออนุญาตเรียนว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ค้านทุกเรื่อง แต่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชน และรักษาประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชน
และข้อ 2 ในการทำงานร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ขอเรียนว่า ตนและพรรคประชาธิปัตย์ จะถือหลักแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง อะไรที่เป็นจุดยืนสำคัญของพรรค เช่น จะไม่แตะการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้ว่าวันหนึ่งอาจจะมีพรรคร่วมฝ่ายค้านใดได้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา พรรคประชาธิปัตย์จะไม่สนับสนุน
แต่ขณะเดียวกันก็ขออนุญาตกราบเรียนกับประธานรัฐสภาว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมทำหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคเต็มกำลังความสามารถ และที่ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดก่อนก็เพราะเหตุว่า เพื่อป้องกันความไม่เข้าใจที่อันอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต นำไปสู่ข้อครหาว่าฝ่ายค้านแตกกัน ซึ่งเกรงว่าสุดท้ายจะทำให้น้ำหนักในการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชนขาดน้ำหนักไปโดยไม่จำเป็น
@นโยบายน้ำท่วมทุ่ง
สำหรับนโยบายที่นายกรัฐมนตรี ได้แถลงไปเมื่อสักครู่นี้ ขอกราบเรียนว่า ได้ดูละเอียด 2-3 รอบ ดูทุกตัวอักษร ทบทวนไปทบทวนมา มีความเห็นเหมือนสาธารณชนทั่วไป แล้วก็มีความเห็นเช่นเดียวกับเพื่อนสมาชิกหลายคนที่อภิปรายว่า มาตรฐานของนโยบายรัฐบาลชุดนี้สวนทางกับความสูงนายกรัฐมนตรีจริงๆ
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า การตั้งโจทย์ประเทศ ก็คลุมเครือ ตัวนโยบายเลื่อนลอย ขาดความชัดเจน แล้วก็ถ้าใครอ่านจริงๆ ให้ครบจะพบว่า ฟุ่มเฟือยด้วยวาทกรรม วกไปวนมา กลายเป็นนโยบายน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง ที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่เชื่อว่า ทุกคนเห็นตรงกันก็คือนโยบายที่นายเศรษฐา กับนโยบายตอนหาเสียง เป็นหนังคนละม้วนกลายเป็นนโยบายไม่ตรงปกอย่างที่วิจารณ์กัน
ดังนั้น จึงขอถือโอกาสนี้ ใช้เวลาอันจำกัด สะท้อนความเห็นแทนประชาชน ในการทักท้วง ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอแนะแบบสร้างสรรค์ ต่อนโยบายที่รัฐบาลนี้ได้แถลง จะให้ความเห็นไม่เกิน 10 นโยบาย สั้นๆ เร็วๆ
@เงินเดือน 25,000 / ค่าแรง 600 หายไปไหน
นายจุรินทร์เริ่มต้นที่นโยบายแรก เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ตอนหาเสียง อึกทึกครึกโครม สร้างความหวังให้เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะเรียนจบปริญญาตรีว่า เที่ยวนี้ภายใต้รัฐบาลนี้ ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งจะได้เงินเดือน ปริญญาตรี 25,000 บาท วันนี้ นโยบายนี้หายไปไหน กลายเป็น “นโยบายนินจา” อยู่ๆ ก็หายไปแบบไร้ร่องรอย พอได้เป็นรัฐบาล นี่คือคำถาม หรือคิดว่า นโยบายนี้ตอนหาเสียงสัญญาไว้ปี 2570 อย่างไรเสีย รัฐบาลก็อยู่ไม่ถึงก็เลยไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ เมื่อสัญญาแล้วท่านต้องทำ และขอทวงสัญญานี้แทนเยาวชนรุ่นใหม่ทั่วทั้งประเทศที่กำลังจะจบการศึกษา นายกรัฐมนตรีต้องตอบเรื่องนี้
นโยบายที่ 2 ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน อีกนโยบายนินจาตัวที่ 2 ตอนหาเสียง หลายฝ่ายทักท้วงกัน บอกว่า ถ้าขึ้นค่าแรงทันที 600 บาทต่อวัน เป็นห่วงเอกชน SME โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีคนงาน 5 คน 7 คน จะเจ๊งกันหมด เพราะรับต้นทุนที่สูงขึ้นแบบกระทันหันไม่ไหว แล้วสุดท้ายถ้าต้นทุนสูงขึ้นก็ต้องไปผลักภาระให้กับราคาสินค้าผลิตผล แล้วกรรมก็ไปตกอยู่กับผู้บริโภคคือประชาชน คนไทยทั้งประเทศในที่สุด SME ก็เจ๊ง ผู้บริโภคก็เจ๊ง
แต่นายกรัฐมนตรีไม่ฟัง เพราะว่าตอนนั้นกำลังหาเสียง กำลังโกยคะแนนกับผู้ใช้แรงงาน แล้วก็สุดท้ายท่านก็ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนมาเป็นค่าแรง 600 บาท ต่อวัน ปี 2570 แต่พอมาดูนโยบายที่แถลงเมื่อครู่ อย่าว่าแต่ปี 2570 เลย แต่ไม่มีเลย หายวับไปกับตา นโยบายเหลือแค่เขียนไว้ในหน้า 8 แค่บรรทัดเดียว บอกว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม คือสิ่งที่จะทำ รวมทั้งสามารถทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสมแค่นี้ครับ แล้วค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปี 2570 อยู่ไหน
@รถไฟฟ้า 20 บ./เติมเงิน 2 หมื่น/ครอบครัวล่องหน?
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า นโยบายที่ 3 รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ล่องหนไปอีก 1 นโยบาย นักข่าวไปสัมภาษณ์นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกืจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่มีท่าทีอึกอัก บอกว่าอีก 2 ปีจะทำ พรรครัฐบาลต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ คำถามคือ เอาเงินที่ไหนมาทำ จะต้องเอาเงินของประเทศไปชดเชยให้บริษัทเอกชนหรือไม่ อย่างไร อันนี้คือสิ่งที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีต้องตอบ
นโยบายที่ 4 นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าก้าวไกล พูดไปหน่อยหนึ่งเมื่อกี้ ใช้คำว่า เติมเงินให้ทุกครอบครัวที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท ทุกเดือน วันนี้หายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว ไม่มีตัวเลขชัดเจน เพราะไม่ใช่นโยบายของพรรค แต่ให้นักวิชาการเข้าไปดูคร่าวๆ ที่บอกว่าครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือนนี้ เกือบ 20 ล้านครอบครัว ถ้าจะทำนโยบายนี้อย่างที่พูด ต้องเติมเงินเดือนนึงหลักแสนล้านบาท จะเอาเงินมาจากไหน หรือสุดท้ายกลายเป็นนโยบายล่องหน อย่างที่เรียน
นโยบายที่ 5 เรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตอนหาเสียง บอกว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม วันนี้ไม่มีสักคำ แถมถูกแปลงโฉมจากผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้งไปเป็น “ผู้ว่าซีอีโอ” เปลี่ยนจากกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ไปเป็นรวบอำนาจมาสู่การปกครองส่วนภูมิภาค ย้อนยุคไป 20 ปี
“ทุกนโยบายผมขอใช้คำว่า แค่ลมปากตอนหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ป.ตรี 25,000 ค่าแรง 600 บาท ขั้นต่ำต่อวัน รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เติมเงินให้ได้ครัวละ 20,000 ต่อเดือน จนถึงเลือกตั้งผู้ว่าราชการในจังหวัดที่มีความพร้อม เพราะท่านไม่เขียนไว้ในนโยบายที่ท่านแถลง นโยบายศักดิ์สิทธิ์เพราะผูกพันรัฐสภาที่ท่านไม่ทำไม่ได้ ผมต้องพูด เพราะกระผมมีหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินแทนประชาชน และต้องพูดเพื่อให้รัฐบาลได้ตระหนักครับว่า หาเสียงได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ อย่าให้เหมือนตอนไล่หนู ตีงูเห่า สุดท้ายทั้งหนู ทั้งงูเห่า มาอยู่ด้วยกัน แล้วก็กลายเป็นแค่เทคนิคการหาเสียง หรือแค่นโยบายการละคร สิ่งนี้ประชาชนไม่ต้องการเห็น ต้องการยกระดับมาตรฐานการหาเสียงของพรรคการเมืองให้สูงกว่านี้ พูดแล้วต้องทำ อย่างที่ประชาชนเขาคาดหวัง” รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
@ย้อนบาปจำนำข้าว ไม่ทำดีแล้ว
นายจุรินทร์อภิปรายถึงนโยบายเรื่องราคาพืชผลการเกษตร นายเศรษ๋ฐาพูดชัดเจนว่า รัฐบาลนี้จะไม่มีนโยบายจำนำข้าว กับจะไม่มีนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ขอกราบเรียน ไม่มีนโยบายจำนำข้าวดีแล้ว เพราะนั่นคือนโยบายและโครงการที่เป็นต้นเหตุการทุจริต คอร์รัปชั่น ท่านประธานทราบหรือไม่ นโยบายจำนำข้าวจนวันนี้สร้างภาระหนี้ให้ประเทศ 884,000 ล้านบาท จนวันนี้ประเทศไทยยังค้างชำระหนี้โครงการนี้อยู่อีก 254,000 ล้าน ตัวเลขกลมๆ 250,000 ล้าน คนที่จะต้องมาใช้ต่อไปรัฐบาลถัดจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
แต่คำถามของที่มีก็คือ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ทำจำนำข้าว แล้วก็ไม่ทำประกันรายได้เกษตรกร แปลว่าต่อไปนี้ ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด ไม่มีเงินส่วนต่างแล้วใช่ไหม นั่นแปลว่า ถ้าวันหนึ่งราคาพืชผลการเกษตรเหล่านี้ราคาตก อะไรจะกลายเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรพอยังชีพอยู่ได้ วันนี้ไม่เป็นไร เพราะข้าวความชื้นไม่เกิน 15% ข้าวเปลือกเจ้าไปเกวียน ละ 12,000-13,000 บาทแล้ว ข้าวเปลือกเหนียว 14,800 – 15,800 บาท/เกวียน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 – 16,600 บาท/เกวียน มัน 3 บาทกว่า ปาล์ม 5 – 6 บาท ข้าวโพด 11 บาท ยกเว้นยางที่ราคาตก แต่ถ้าไม่มีประกันรายได้ เงินส่วนต่างชาวสวนยางจะทำอย่างไร แล้ววันข้างหน้าถ้า 3-4 ตัวข้างหน้าที่พูดตก ใครจะดูแลเกษตรกรด้วยวิธีไหน
ส่วนการพักหนี้เกษตรกร แค่หยุดต้นกับหยุดดอกหมดเวลาหยุดต้นหยุดดอกเมื่อไหร่ ดอกกับต้นมันก็มารวมกันกลายเป็นหนี้เดินต่อ สุดท้ายพักหนี้แค่ต่อลมหายใจให้เกษตรกรชั่วคราว
@เงินหมื่นดิจิทัล ที่มาเงินจากไหน
ขณะที่นโยบาย Digital wallet 10,000 บาท วงเงิน 560,000 ล้าน สส.อภิปรายไปบ้างแล้ว แต่ย้ำว่ารัฐบาลต้องทำ เพราะเป็นสัญญาที่หาเสียงไว้ แต่มันมีคำถาม 2 ข้อ 1. ทำอย่างไร กับ 2. เอาเงินมาจากไหน ทำอย่างไรสังคมสับสน ถ้าใช้งบประมาณแผ่นดิน โครงการนี้ใช้ 560,000 ล้านบาท ก่อนพ้นจากรัฐบาล ได้ถามในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณตอบชัดเจนว่า ยังเหลือเงินเท่าไหร่สำหรับรัฐบาลหน้าที่จะทำนโยบาย ผู้อำนวยการสำนักงบตอบ 200,000 ล้านบาท แล้วการตั้ง 560,000 ล้านบาท ต่อให้เอาเงินงบประมาณ 2567 ทั้งปีมาทำให้หมด ไม่ต้องทำโครงการอื่นเลย ก็ไม่พอ แล้วจะเอาเงินมาจากไหน
“คนในรัฐบาลบอกไม่กู้ถ้าไม่กู้ก็ไม่เป็นไร รัฐมนตรีช่วยคลังบอกพูดแย้มๆ คล้ายๆ กับว่าจะเอาเงินอนาคต ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังมาใช้ นั่นได้ก็หลักแค่หมื่นล้าน หรือซักแสนล้าน แต่ 5.6 แสนล้าน ท่านจะเอามาจากไหน แล้วจะใช้เงินตามมาตรา 28 มาใช้ ท่านต้องตั้งงบใช้หนี้ในอนาคตอีกมั้ยครับนี่คือสิ่งที่ต้องขออนุญาตถามเพราะ 2-3 วันก่อน คนในรัฐบาลบอกว่ายังไม่ได้ข้อสรุป แปลว่าอะไร แปลว่า Digital wallet 10,000 บาทนี้ กลายเป็นนโยบาย “ไปตายเอาดาบหน้า” สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบทำให้สำเร็จ และที่ขอเตือนอย่าให้นโยบายนี้กลายเป็นการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นเด็ดขาด” นายจุรินทร์กล่าว
@กังขาแก้ รธน.รวมหมวด 1-2 ด้วยไหม
ในส่วนนโยบายถัดมา คือ นโยบายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันนี้รัฐบาลเขียนไว้ในนโยบายเร่งด่วน เบื้องต้นพรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มีข้อสังเกตเพราะนโยบายรัฐบาลเขียนไว้ในเล่มนี้ บอกว่า เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งพรรคสนับสนุนเต็มร้อย
แต่คำว่าไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์แปลว่าอะไร แปลว่าไม่แก้ไขในหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มี 19 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 6 ถึงมาตรา 24 เห็นด้วย แต่การไม่แก้หมวด 2 แปลว่าหมวด 1 แก้ได้ใช่หรือไม่ โดยนโยบายรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่มีนโยบายไม่แก้หมวด 1 หมวด 1 มี 5 มาตรา แต่ว่ามาตราที่ต้องเอ่ยตรงนี้มี 2 มาตรา มาตรา 2 ระบุว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แก้ได้หรือเปล่า
ที่สำคัญอีกมาตรานึง มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ แปลว่าตราบเท่าที่มีรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 และหมวด 1 คงไว้ ใครจะมาแบ่งแยกดินแดนไม่ได้ ทำไมนโยบายรัฐบาลไม่กล้าระบุให้ชัด ไม่แก้ทั้งหมด 1 หมวด 2 อย่าคิดว่าการแบ่งแยกดินแดนไม่มีไม่เกิด 2-3 วันก่อน มีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มีความพยายามในการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งนี้คือความจริงที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นความบกพร่องของคนเขียนนโยบาย เป็นความบกพร่องที่แถลงไว้เมื่อกี้ ต้องแก้ไข แต่ถ้ายังยืนยัน หมวด 1 แก้ได้ ก็ต้องรบกับพรรครัฐบาลต่อไปในอนาคตเมื่อเรื่องเข้าสภา
@ฟื้นแผลโกง ทำถูกยึดอำนาจ
ปิดท้ายด้วย นโยบายการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้สำคัญและน่าเป็นห่วงจริงๆ ว่ารัฐบาลเอาจริงแค่ไหน เพราะทั้งเล่มไม่รู้ไปอยู่ตรงไหน นโยบายป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ค้น 2 รอบไปซุกอยู่ครึ่งบรรทัด ซุกอยู่ในนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน บอกว่าการป้องกันและขจัดการทุจริตที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่อย่างไร ขอไม่ติเรือทั้งโกลน แต่รัฐบาลต้องตระหนักว่าจะต้องไม่ทำเหมือนอดีต เพื่อรักษาประชาธิปไตยและรักษาประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน เพราะรัฐบาลในอดีต เคยถูกยึดอำนาจมา 2 ครั้ง เพราะเหตุแห่งการทุจริตและการออกกฎหมายล้างการทุจริตจนคนออกมาเป็นล้าน แล้วในที่สุดนำมาสู่การยึดอำนาจสูญเสียประชาธิปไตย รัฐบาลนี้จะต้องไม่ทำประวัติศาสตร์ให้กลับไปซ้ำรอยเดิมอีก นี่คือสิ่งที่ย้ำ และให้กำลังใจ
@สะกิดปม ‘ทักษิณ’ รบ.ต้องฟื้นฟูหลักนิติธรรมประเทศ
นายจุรินทร์กล่าวว่า อีกนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือ การฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่มีความเข้มแข็ง ขอเรยนว่า รัฐบาลข้ามขั้ว แม้จะเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐบาลสลายขั้ว ไม่สามารถสลายความขัดแย้งได้ มีแต่หลักนิติธรรมที่เข้มแข็งเท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศของเรามีความหวัง หลักนิติธรรมคืออะไร หลักนิติธรรมคือทุกคนเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่ว่าคนจนคนรวย คนมีอำนาจคนไม่มีอำนาจไม่เว้นแม้แต่นักโทษ นักโทษรวย นักโทษจน นักโทษเคยมีอำนาจ นักโทษไม่เคยมีอำนาจ นักโทษทุกคนก็ย่อมเท่าเทียมกันและย่อมต้องได้รับการปฏิบัติจากผู้บังคับใช้กฎหมายโดยเสมอกัน นโยบายนี้คือจุดเริ่มต้นของความหวัง นโยบายนี้จะศักดิ์สิทธิ์เป็นจริงได้ อยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล
ประเด็นสำคัญ การพระราชทานอภัยโทษนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 เล่ม 140 ตอนที่ 40 ข ระบุชัด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษต้องสำนึก และรัฐบาลก็ต้องสำนึกว่า ผู้ได้รับ พระราชทานอภัยโทษ 1. ยังเป็นผู้มีความผิด ประการที่ 2 หากมีคำพิพากษาศาลสถิตยุติธรรมในคดีใดเกิดขึ้นอีกว่ามีการกระทำความผิด ก็ยังจะต้องรับโทษใหม่ในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนักว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายโดยหลักนิติธรรม เท่าเทียมเสมอหน้าเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนต่อไป ถ้ารัฐบาลก่อนหน้าทำไม่ถูก ก็ทำให้ถูก อย่าปล่อยเลยตามเลย อย่าสร้างมาตรฐานใหม่เหยียบย่ำหัวใจคนรักความยุติธรรมและรักความซื่อสัตย์สุจริตให้ต้องหมดกำลังใจ
“ผมเห็นว่าโอกาสนี้เป็นโอกาสสำคัญของรัฐบาล ที่จะทำให้วลีที่เราพูดกันติดปากวลีหนึ่งที่บอกว่า “คุกมีไว้แค่ขังคนจนกับคนไม่มีอำนาจมลายหายไปได้ โดยนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน” ผมขอให้นายกรัฐมนตรีรักษาคำพูด ยึดมั่นในสิ่งที่ได้แถลงผูกพันต่อรัฐสภาไป และขอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลประสบความสำเร็จ ในการเร่งฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็วนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอบคุณครับท่านประธานครับ” นายจุรินทร์กล่าวปิด
อ่านประกอบ