กสม.ห่วงความปลอดภัยของประชาชนบนท้องถนน ลุยระดมความเห็น ทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้ทุกคนได้ใช้สิทธิการเดินทางบนเส้นทางสาธารณะอย่างปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองในชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆ พร้อมประสานความช่วยเหลือกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 3/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
1. กสม.ห่วงความปลอดภัยในการใช้ถนน สะท้อนสิทธิในชีวิตของประชาชนยังไม่ได้รับการคุ้มครองดีพอ เตรียมระดมความเห็นจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ตามที่ได้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนกรณีแพทย์หญิงถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ขับชนระหว่างข้ามทางม้าลายและเสียชีวิตในเวลาต่อมา จนปรากฏเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนนั้น กสม. มีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนผู้ใช้ทางสาธารณะ เนื่องจากสิทธิในชีวิตถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ทุกคน และได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 โดยรัฐมีหน้าที่ต้องปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมให้ประชาชนมีและได้รับประโยชน์จากสิทธินี้ และใช้มาตรการต่างๆ เพื่อประกันว่าสิทธิในชีวิตของบุคคลจะได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างดีที่สุด และบุคคลไม่ควรเสียชีวิตจากเหตุอันไม่สมควรโดยเฉพาะเหตุที่สามารถป้องกันได้
ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งกระทบต่อสิทธิที่จะมีชีวิตได้อย่างปลอดภัยบนท้องถนนเป็นเรื่องที่ กสม. ให้ความสำคัญ และ กสม. (ชุดที่ 2) เคยมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อปี 2558 โดยมีข้อค้นพบว่า การบังคับใช้กฎหมายจราจรยังไม่เข้มงวดและการควบคุมมาตรฐานด้านความปลอดภัยของยานพาหนะประเภทต่างๆ ยังไม่เพียงพอ
พร้อมมีข้อเสนอแนะ เช่น รัฐควรให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับนโยบายอย่างจริงจังเทียบเท่านโยบายด้านการเสียชีวิตจากอาชญากรรมและยาเสพติด ดูแลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเคารพกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการจำกัดความเร็ว และควรมีมาตรการที่ประกันว่าถนนที่มีอยู่แล้วและถนนที่จะสร้างขึ้นใหม่จะเป็นถนนที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีของกติกา ICCPR ยังมีภารกิจสำคัญที่จะต้องดำเนินการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชน ด้วยการออกมาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการอื่น ๆ ที่เข้มงวดและบังคับใช้ได้จริงเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้บุคคลสามารถดำรงชีวิตและสัญจรได้อย่างปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะที่สังคมโดยประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนจะต้องเคารพกฎจราจรเพื่อเคารพสิทธิของผู้อื่นอย่างเคร่งครัดด้วย
ทั้งนี้ กสม. จะติดตามสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจะระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในการเดินทางบนเส้นทางสาธารณะได้อย่างปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยในชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้และไม่ควรเกิดขึ้น
2. กสม.ลงพื้นที่รับฟังปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น พบอุปสรรคการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน หน่วยงานรัฐขาดบุคลากรทางทะเบียน พิสูจน์สถานะบุคคลล่าช้า
เมื่อวันที่ 19 - 21 ม.ค. 2565 นางปรีดา คงแป้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระนอง เพื่อรับฟังสถานการณ์และหารือถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม และผู้แทนส่วนราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระนอง
โดยเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น 4 จังหวัด (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา) ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น แต่ดำเนินไปด้วยความล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล หรือการเข้าเรียนในสถานศึกษาได้ เครือข่ายฯ จึงได้ยื่นข้อเสนอให้ กสม. เร่งติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น เร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สถานะ การตั้งคณะทำงานติดตามการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัด หรือการให้รับเด็กเข้าเรียนในชั้นอนุบาลและประถมศึกษา เป็นต้น
ในโอกาสเดียวกันนี้ กสม. ได้รับทราบข้อมูลจากผู้แทนส่วนราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระนอง ระบุว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีข้อมูลการยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นกว่า 1,200 ราย ขณะที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอราว 1,700 ราย ส่วนจังหวัดระนองมีข้อมูลการยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นกว่า 2,900 ราย ขณะที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอราว 1,400 ราย (ข้อมูล ณ ปลายปี 2564) ซึ่งการดำเนินการแก้ไขปัญหามีความล่าช้าเนื่องจากกระบวนการตรวจพิสูจน์ต้องอาศัยเวลาในการสอบพยานบุคคล พยานเอกสาร รวมทั้งความเชื่อมโยงผังเครือญาติ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาบุคลากรทางทะเบียนมีจำนวนไม่เพียงพอกับภาระงาน ซึ่งบางอำเภอสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ยื่นคำขอพิสูจน์สถานะได้เพียงวันละ 1 รายเท่านั้น
เรื่องสถานะบุคคลและการตรวจพิสูจน์เพื่อรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนสำคัญที่นำไปสู่โอกาสในเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา การประกอบอาชีพ อันเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับและรัฐต้องจัดหาให้อย่างเสมอภาค ดังที่อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ข้อ 5 มีหลักการไว้ให้รัฐภาคีห้ามและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและประกันสิทธิของทุกคนให้มีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย โดยไม่จำแนกตามเชื้อชาติ สีผิว หรือชาติหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด
สำหรับกรณีปัญหาของคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาต่อเนื่องยาวนานนี้ เป็นประเด็นที่ กสม. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมา กสม. (ชุดที่ 2) เมื่อปี 2558 เคยมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติของคนไทยพลัดถิ่นไปยังกระทรวงมหาดไทย
และล่าสุด กสม. (ชุดที่ 4) ในคราวประชุมด้านบริหาร เมื่อเดือน ก.ค. 2564 มีมติเห็นชอบให้มีการดำเนินโครงการสำรวจและจัดทำข้อมูล ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการ หรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะบุคคลให้แก่คนไทยพลัดถิ่นในเชิงโครงสร้างด้วย
ส่วนข้อมูลสภาพปัญหาที่ได้รับฟังจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ กสม.จะประสานไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปด้วยความถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น
อ่านข่าวประกอบ :