"..ความสูญเสียดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญของความปลอดภัยของการเดิน โดยเฉพาะการข้ามถนน ที่ทางม้าลายไม่ได้รับความสำคัญ หลายครั้งที่เราเห็นคนข้ามถนนบนทางม้าลาย ต้องขอบคุณรถที่หยุดรถให้ ทั้งๆ ที่มันเป็นสิทธิของคนข้ามถนนที่ทางข้าม เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ อย่าให้ทางม้าลาย เป็นแค่สิ่งที่ช่วยให้เราบาดเจ็บหรือตายได้อย่างถูกกฎหมายเท่านั้น.."
การข้ามถนนในกรุงเทพฯ แม้ว่าจะเป็นการเดิมข้ามบน ‘ทางข้าม’ หรือที่เรียกว่า ‘ทางม้าลาย’ ที่ถือเป็นพื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดินเท้าข้ามทางตามกฎหมายที่ระบุไว้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นวินทีเสี่ยงในชีวิตอยู่ดี เนื่องจากไม่ค่อยมีรถหยุดให้ บางครั้งถึงกลับต้องชักเท้ากลับ หรือพอข้ามได้แต่ละครั้งคนเดินถนนต้องเป็นฝ่ายพยักหน้าขอบคุณ ทั้งทีบางครั้งเราข้ามบนพื้นที่ที่กำหนดด้วยซ้ำ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 นางสาววิลาวัลย์ พุ่มมาลา หรือ ลิ้นจี่ ว่าที่บัณฑิต ถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ขับชน ขณะข้ามทางม้าลายเพื่อไปทำงานเป็นวันแรก ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ที่บริเวณแยกกรมโยธาและผังเมือง ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร และเสียชีวิตในเวลาต่อมา (อ้างอิงข่าว: 'หนุ่มบิ๊กไบค์' รับทราบข้อหาชน 'ว่าที่บัณฑิต' บนทางม้าลาย)
เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ ภายหลังจากกรณีการเสียชีวิตของแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ที่ถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนระหว่างเดินข้ามทางม้าลายที่หน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร (อ้างอิงข่าว: หวัง#หมอกระต่ายคดีไม่เงียบ เสียดายหมอคุณภาพที่หายากต้องจบชีวิต)
ส่งผลให้สังคมตั้งคำถามว่า มีทางม้าลายไปเพื่ออะไร? และทวงถามถึงความปลอดภัยในการข้ามถนน โดยที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ที่ข้ามทางม้าลายจนถึงแก่ชีวิตจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นถนนขนาดเล็กในชุมชนไปจนถึงขนาดใหญ่ก็ตาม
วินัยจราจร ปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสีย
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แสดงความเสียใจต่อการจากไปของหมอกระต่าย พร้อมทั้งสะท้อนถึงปัญหาใหญ่ 'ทางม้าลาย' มีรายละเอียด ดังนี้
ความสูญเสียดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญของความปลอดภัยของการเดิน โดยเฉพาะการข้ามถนน ที่ทางม้าลายไม่ได้รับความสำคัญ หลายครั้งที่เราเห็นคนข้ามถนนบนทางม้าลาย ต้องขอบคุณรถที่หยุดรถให้ ทั้งๆที่มันเป็นสิทธิของคนข้ามถนนที่ทางข้าม
ตนได้ดูคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นชัดเจนว่าคุณหมอข้ามทางม้าลาย รถตู้ที่มาเลนกลางชะลอให้แล้ว ส่วนบิ๊กไบค์ที่มาเลนขวาสุด มาด้วยความเร็ว ไม่มีการชะลอ แล่นแซงรถตู้และชนคุณหมอ
ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือเรื่องวินัยจราจร
ตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ศ.2522 ให้สิทธิ์คนข้ามถนนที่ทางม้าลายอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 70 เมื่อเห็นทางม้าลาย ให้ชะลอความเร็วก่อนทุกครั้ง (บิ๊กไบค์ไม่ชะลอความเร็ว)
สำหรับป้ายสัญญาณทางข้าม ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนทางข้ามนั้น หมายความว่า ทางข้างหน้ามีทางสำหรับคนข้ามถนน ถ้ามีคนกำลังเดินข้ามถนนให้หยุดรถให้คนเดินข้ามถนนไปได้โดยปลอดภัย (บิ๊กไบค์ไม่หยุดรถให้คนเดินข้าม)
ต้องมีการกวดขันวินัย จราจรกันอย่างจริงจัง ลงโทษสถานหนัก จับ ปรับ จำ ยึดใบขับขี่ ในปัจจุบัน เราจะเห็นวินัยจราจรที่หย่อนยานทั่วไปหมด พอไฟแดง แต่รถว่าง ก็ฝ่าไฟแดงกันจนเป็นเรื่องปกติ เราเห็นรถมอเตอร์ไซค์ขับย้อนศร ขับบนทางเท้า รถจอดซ้อนคัน พอมีคนไปตักเตือน ยังโดนด่ากลับมาอีก
นอกจากนี้ ลักษณะทางกายภาพของทางข้ามที่ต้องเร่งดำเนินการปรับปรุง
-
ทาสีแถบทางข้ามมีความชัดเจน ไม่กระดำกระด่าง มีความกว้างมากขึ้น เหมือนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้คนที่ขับขี่รถยนต์สามารถเห็นได้ในระยะไกล
-
มีการติดตั้งไฟแสงสว่างให้เพียงพอ และสัญญาณไฟกระพริบเตือน
-
มีการติดตั้งป้ายเตือนทางข้ามไว้ล่วงหน้าก่อนถึง
-
มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่หยุดให้คนข้าม
-
ในจุดที่มีคนข้ามจำนวนมาก ติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดง เพื่อให้ข้ามได้อย่างปลอดภัย
"เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ อย่าให้ทางม้าลาย เป็นแค่สิ่งที่ช่วยให้เราบาดเจ็บหรือตายได้อย่างถูกกฎหมายเท่านั้น" นายชัชชาติ ระบุทิ้งท้าย
กทม.สั่งทุกเขตสำรวจจุดบกพร่อง พร้อมแก้ไขภายในเดือนนี้
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบกายภาพถนนบริเวณทางข้ามม้าลายหน้าโรงพยาบาลไตภูมิราชนครินทร์ พร้อมระบุ ปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุมีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ พฤติกรรมผู้ขับขี่ สภาพรถ และกายภาพถนน โดยจุดดังกล่าวเท่าที่สังเกตมีสัญญาณป้ายจราจรชัดเจน เพื่อให้ผู้ขับขี่มองเห็น และทางม้าลาย สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ขีดสี ตีเส้นใหม่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา สภาพทางม้าลายขณะนี้ยังชัดเจนสมบูรณ์อยู่
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. ได้สั่งการให้สำนักงานเขตทุกแห่งสำรวจกายภาพถนน ไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่ว่ามีจุดใดชำรุดหรือไม่ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) สำรวจพื้นที่ถนนต่างๆ ว่ามีความพร้อมด้านกายภาพ วิศวกรรมจราจรหรือไม่ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ โดยให้สำรวจและแก้ไขจุดบกพร่องให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้ สำหรับพื้นที่เกิดเหตุดังกล่าวอาจจะต้องติดตั้งป้ายสัญญาณจราจรเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ขับขี่รถมองเห็นมากขึ้น
ทางด้าน นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการ สจส. กทม. กล่าวว่า หลังเกิดอุบัติเหตุ สจส.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกายภาพถนน เพื่อตรวจสอบว่ามีข้อบกพร่อง หรือมีจุดที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม โดยก่อนหน้านี้ สจส.มีการปรับปรุงทางม้าลายที่เกิดเหตุมาแล้วครั้งหนึ่ง ปัจจุบันสัญลักษณ์ทางม้าลายบนพื้นถนนยังมีความชัดเจนอยู่ อีกทั้งมีป้ายสัญญาณเตือนทางข้ามม้าลาย
“ที่ผ่านมา กทม. ได้ปรับปรุงกายภาพด้านวิศวกรรมจราจร โดยเฉพาะจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ทางโค้ง ทางแยก ทางข้ามต่างๆ และพื้นที่อ่อนไหว เช่น หน้าโรงพยาบาล โรงเรียน ในส่วนของพื้นที่เกิดเหตุ สจส. จะทำเครื่องหมายชะลอความเร็ว หรือเส้นชะลอความเร็ว เพิ่มเติม 2 ชุด ระยะห่างกัน 20 เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนให้รถชะลอความเร็ว และจะทาพื้นสีแดงเพื่อให้มองเห็นชัดเจนมากขึ้น ซึ่งการทาพื้นที่สีแดง กทม.ดำเนินการแล้วหลายจุดในพื้นที่อ่อนไหวต่างๆ” นายประพาส กล่าว
ตำรวจชงเพิ่มบทลงโทษ เอาผิดผู้ฝ่าฝืนจราจรบนทางม้าลาย
ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของหมอกระต่าย ว่า ในเรื่องนี้อยากให้ประชาชนได้สบายใจว่าตำรวจจะตรงไปตรงมาในการทำคดี ความผิดที่เกิดขึ้นทุกคดีถือว่าเป็นความผิดที่ทุกคนให้ความสนใจ ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะทาง ผบช.น. ได้มอบหมายให้รอง ผบก.ที่ดูแลงานสอบสวนของ บก.น.1 ลงไปดูแลเอาผิดในทุกข้อหาที่ได้กระทำผิด เช่น การขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร การขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย ฯลฯ ส่วนยานพาหนะของ ส.ต.ต.ได้รับรายงานยืนยันว่าเป็นยานพาหนะของผู้ขับขี่จริง ไม่ใช่ของกลางแต่อย่างใด ทราบว่าเป็นการซื้อรถมือสองมา
ล่าสุด ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 7 ข้อหา ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก แล้ว (อ่านประกอบ: บช.น.แจงคดีบิ๊กไบค์ชนหมอ ยันไม่ใช่รถยึด-ไม่ปกปิดข้อมูล 2 ชม.)
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวถึงการดูแลความปลอดภัยและกวดขันวินัยจราจรในเขตเมืองอย่างไรบ้าง เพราะมีทางม้าลายอยู่หลายที่หลายแห่งว่า ตำรวจได้เคยกำหนดมาตรการเพิ่มความปลอดภัยโดยเฉพาะของทางข้าม (ทางม้าลาย) ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร มาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งในครั้งนั้น ได้มีการสำรวจเส้นทางข้ามไว้ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ขณะนี้ ข้อมูลบางส่วนไม่เป็นปัจจุบัน จึงจะให้สำรวจเส้นทางข้ามทั่วประเทศใหม่อีกครั้ง เส้นทางข้ามที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิศวกรรมจราจรให้ปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐาน หรือปรับย้ายจุดให้เหมาะสม หรือพิจารณายกเลิก แล้วแต่กรณี
ส่วนเส้นทางข้ามที่ยังใช้งานอยู่ ต้องมีการปรับปรุงสภาพให้เห็นเครื่องหมายได้ชัดเจน ติดตั้งไฟสัญญาณจราจรควบคุมคนเดินเท้า สัญญาณไฟกะพริบ ป้ายเตือน ติดตั้งคันชะลอความเร็ว รวมถึงกล้อง CCTV ซึ่งในการดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้ ต้องดำเนินการร่วมกันระหว่าง ตำรวจ ท้องถิ่น และหน่วยงานเจ้าของถนน เพื่อให้กลไกต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับเส้นทางข้ามที่เกิดเหตุถนนพญาไท ได้สั่งการให้ บช.น. ตรวจสอบและพิจารณาถึงความสอดคล้องกับหลักวิศวกรรมจราจรไว้แล้ว หากปรากฎว่าสภาพของเส้นทางข้ามไม่เหมาะสม ก็ให้พิจารณายกเลิกเส้นทางข้ามดังกล่าว
“สำหรับเรื่องทางม้าลาย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอแก้กฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (หรือฉบับที่ 13) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ 2 สภา คาดว่าจะมีการลงมติกันเดือนหน้านี้ หลังจากนั้นอีก 120 วันถึงจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอัตราโทษการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรเส้นทางข้าม (ทางม้าลาย) เดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 4,000 บาท” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ทางตำรวจมีแนวโน้มที่จะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) หลังจากที่มีการประชุม ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม ถ้าไม่มีอะไรติดขัดอาจมีการเซ็นสัญญาได้ นอกจากจะปรับไม่เกิน 4,000 บาท เราจะมีการตัดคะแนนความประพฤติด้วย มี 12 คะแนนต่อปี ข้อหาฝ่าฝืนจะตัด 1 คะแนน เมาแล้วขับจะโดนตัด 4 คะแนน หากโดนตัดครบ 12 คะแนนก็จะต้องพักใบอนุญาตขับรถ 3 เดือน เป็นหลักเกณฑ์ที่จะออกต่อไป
ส่วนกรณีที่หมอกระต่ายกลายเป็นศพนิรนาม 2 ชั่วโมง จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ความกระจ่างอย่างไรบ้าง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวชี่แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า เรื่องนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ได้สั่งให้ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น. ให้มีการแถลงข่าวชี้แจงและทำความเข้าใจให้ชัดเจนในข้อกระจ่างที่สังคมสงสัย ว่ามีการดำเนินการอย่างจริงจังทุกข้อหา และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไม่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันแต่อย่างใด
ทั้งนี้ การฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรเส้นทางข้าม (ทางม้าลาย) ยังไม่มีการเก็บรวบรวมเป็นสถิติว่าเกิดขึ้นมาแล้วจำนวนเท่าไหร่ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในข้อหาขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฎในทาง หรือที่พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงให้ทราบ (ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ) ซึ่งมีหลายกรณี โดยในปี พ.ศ.2564 มีการฝ่าฝืนสัญญาณจราจร จำนวนทั้งสิ้น 40,688 ราย หลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะพิจารณาการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ละเอียดขึ้น โดยจะระบุการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรแยกย่อยตามลักษณะต่างๆ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับ ‘ทางข้าม’ หรือ ‘ทางม้าลาย’ ระบุไว้หลายมาตราในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ก็ตาม มีรายละเอียดดังนี้
‘ทางข้าม’ หมายความว่า พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดินเท้าข้ามทางโดยทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวหรือตอกหมุดไว้บนทาง และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่ทำให้คนเดินเท้าข้ามไม่ว่าในระดับใต้หรือเหนือพื้นดินด้วย
มาตรา 22 ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่ปรากฏข้างหน้าในกรณีต่อไปนี้
- (4) สัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป หรือสัญญาณจราจรไฟสีแดงแสดงพร้อมกับสัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป ให้ผู้ขับขี่เลี้ยวรถหรือขับรถตรงไปได้ตามทิศทางที่ลูกศรชี้ และต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง และต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามหรือรถที่มาทางขวาก่อน
มาตรา 46 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นในกรณีต่อไปนี้
- (2) ภายในระยะสามสิบเมตรก่อนถึงทางข้าม ทางร่วมทางแยก วงเวียนหรือเกาะที่สร้างไว้ หรือทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ
มาตรา 57 เว้นแต่จะได้มีบทบัญญัติ กฎ หรือข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถ
- (4) ในทางข้าม หรือในระยะ 3 เมตรจากทางข้าม
มาตรา 70 ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้าม เส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ
มาตรา 104 ภายในระยะไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรนับจากทางข้าม ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม
มาตรา 105 คนเดินเท้าซึ่งประสงค์จะข้ามทางเดินรถในทางข้ามที่มีไฟสัญญาณจราจรควบคุมคนเดินเท้า ให้ปฏิบัติตามไฟสัญญาณจราจรที่ปรากฏต่อหน้า ดังต่อไปนี้
-
(1) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีแดง ไม่ว่าจะมีรูปหรือข้อความเป็นการห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าหยุดรออยู่บนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย เว้นแต่ทางใดที่ไม่มีทางเท้า ให้หยุดรอบนไหล่ทางหรือขอบทาง
-
(2) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียว ไม่ว่าจะมีรูปหรือข้อความเป็นการอนุญาตให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถได้
-
(3) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวกระพริบทางด้านใดของทาง ให้คนเดินเท้าที่ยังมิได้ข้ามทางเดินรถหยุดรอบนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้ามทางเดินรถ ให้ข้ามทางเดินรถโดยเร็ว
มาตรา 106 คนเดินเท้าซึ่งประสงค์จะข้ามทางเดินรถในทางข้ามหรือทางร่วมทางแยกที่มีสัญญาณจราจรควบคุมการใช้ทางให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
-
(1) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีแดงให้รถหยุดทางด้านใดของทาง ให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถตามที่รถหยุดนั้น และต้องข้ามทางเดินรถภายในทางข้าม
-
(2) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวให้รถผ่านทางด้านใดของทาง ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้านนั้น
-
(3) เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเหลืองอำพันหรือไฟสีเขียวกระพริบทางด้านใดของทาง ให้คนเดินเท้าที่ยังมิได้ข้ามทางเดินรถหยุดรอบนทางเท้าบนเกาะแบ่งทางเดินรถ หรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้ามทางเดินรถอยู่ในทางข้าม ให้ข้ามทางเดินรถโดยเร็ว
โดยสรุป เมื่อผู้สัญจรทางเท้าข้ามถนนตรงตำแหน่งทางม้าลาย จะได้รับการคุ้มครองหากผู้ขับขี่ถูกรถชนตรงทางม้าลาย ส่วนผู้ขับขี่จะมีความผิด ด้วยพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 152 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท กับมาตรา 46 หากขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถคันอื่นภายในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางข้าม และเมื่อเข้าที่คับขันหรือเขตปลอดภัย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 400 – 1,000 บาท นอกจากนี้หากผู้ถูกรถชนได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ก็จะมีความผิดเพิ่มอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ เป็นเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับ 'ทางม้าลาย' ซึ่งเป็นปัญหาที่มาอย่างยาวนาน และยังไม่เคยถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเลยสักครั้ง จะต้องติดตามต่อไปว่าการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้จะเหตุผลสำเร็จเชิงประจักษ์หรือไม่