"... ต่อกรณีเรื่องสินบน หลังถูก LAW360 นำข้อมูลลับออกมาเปิดเผย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ดูเหมือนจะสงวนท่าทีต่อเรื่องนี้มากที่สุด ปัจจุบันยังมิได้ออกมาแถลงข่าว หรือชี้แจงเกี่ยวกับกรณีถูกพาดพิงข้างต้นเป็นทางการแต่อย่างใด โดยเฉพาะประเด็นข้อสังเกตตามคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.พิเศษ ชัยสิทธ์ ตราชูธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ระบุว่า ทำไมโตโยต้าประเทศไทย ไม่เร่งออกมาชี้แจงว่า ประเด็นที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ รวมไปถึงการจ่ายเงินค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายสำหรับสำนักงานทนายความ หากเป็นจริงมีค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ สูงกว่าปกติหรือไม่ และมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากเรื่องอะไร หากปรากฏข้อมูลเป็นจริงตามรายงานข่าว ประเด็นนี้อาจมีความผิดกฎหมายอาญา เท่ากับให้สินบน..."
.......................................................
นับเป็นประเด็นร้อนที่สั่นสะเทือนกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย และเป็นที่จับตาจากสาธารณชนทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก
ต่อกรณีเว็บไซต์ LAW360 ซึ่งเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ออกมาเผยแพร่ข้อมูลลับกรณีบริษัท โตโยต้า คอร์ปฯ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) รวมถึงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) เมื่อ เม.ย. 2563 ว่า มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน (Anti-Bribery Laws) ของสหรัฐฯ
โดย LAW360 มีการกล่าวอ้างผลการสอบสวนพาดพิงถึงบุคลากร อดีตผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา ผู้พิพากษาในศาลฎีกา สำนักงานกฎหมาย และบุคคลที่เกี่ยวข้องในแวดวงกระบวนการยุติธรรมไทยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการจ่ายสินบนด้วย
เบื้องต้น สำนักงานศาลยุติธรรม ออกมาชี้แจงต่อสาธารณชนว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีการทำหนังสือประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในสหรัฐฯ ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว รวมถึงตรวจสอบต้นสังกัดบุคลากรในศาลยุติธรรมที่ถูกพาดพิงแล้ว (อ่านประกอบ :เร่งขอข้อมูลสหรัฐฯ! ศาล ยธ.สั่งสอบ สื่อนอกเปิดชื่อผู้พิพากษารับสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุส)
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปรากฏข่าวเรื่องนี้ กลุ่มบุคคลแต่ละฝ่ายที่ถูกกล่าวหาพาดพิงกรณีนี้ ได้ออกมาแสดงท่าทีพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนไปบ้างแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปท่าทีความเคลื่อนไหวของบุคคลแต่ละฝ่ายที่ถูกกล่าวหาพาดพิงกรณีดังกล่าว มานำเสนอ แบบชัดๆ ดังนี้
@ 3 ผู้พิพากษา แจ้งความ บก.ป. เอาผิดหมิ่นประมาท- พ.ร.บ.คอมพ์ฯ
ฟากของอดีตผู้พิพากษาที่ถูก LAW360 พาดพิงกรณีดังกล่าว ทันทีที่ปรากฎเป็นข่าว มีการให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) 2 ราย ได้แก่ รายแรก เป็นอดีตประธานศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ปฏิเสธว่าไม่เคยรู้เรื่องดังกล่าว และแทบไม่ค่อยได้พบกับอดีตประธานศาลฎีกา ที่ถูกระบุว่าให้ไปโน้มน้าวเพื่อที่จะรับฟังข้อโต้แย้งของบริษัทโตโยต้าตามข้อมูลดังกล่าว ขณะเดียวกันมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ได้ติดต่อผ่านลูกชาย เพื่อจะขอสัมภาษณ์ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องอะไร
ส่วนรายที่สอง เคยเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีภาษี ได้กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องที่ถูกอ้างว่ารับสินบน แต่ตนเป็นหนึ่งในที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และเป็นผู้ที่อภิปรายและสนับสนุนว่าการนำเข้าชิ้นส่วนของรถพรีอุสไม่ถูกต้องตามข้อตกลงระหว่างประเทศของไทยกับญี่ปุ่น จนกระทั่งคดีพลิก ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้โตโยต้าเป็นฝ่ายแพ้คดีต่อสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย (อ่านประกอบ : 2 พ.ศาลฎีกาปฏิเสธ! เว็บLaw360 อ้างผลสอบเปิดชื่อรับสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล.)
ขณะที่ ศ.พิเศษ ชัยสิทธ์ ตราชูธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่ถูกพาดพิงเช่นเดียวกัน
ก่อนที่ในวันที่ 31 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายดิเรก และ ศ.พิเศษ ชัยสิทธิ์ จะปรากฏตัวพร้อมกันเพื่อเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ขอให้เอาผิดกับเว็บไซต์ LAW360 นายนาย Frank G. Runyeon ผู้เขียนบทความ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กรรมการผู้จัดการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท โตโยต้าฯ ในสหรัฐอเมริกา และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้หากผลการสืบสวนพบว่าบุคคลใดไม่ได้กระทำความผิดขอให้กันไว้เป็นพยาน
โดย ศ.พิเศษ ชัยสิทธิ์ ยังยืนยันความบริสุทธิ์ ยินดีให้ตรวจสอบการเงินและทรัพย์สินว่ามิได้รับสินบนแต่อย่างใด ขณะที่ นายดิเรก ยืนยันว่าคดีดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ เพราะพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่คดีดังกล่าวจะมีคำพิพากษาทั้ง 2 ศาล โดยขณะนั้นตนอยู่ในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และไม่ได้พิจารณาหรือเกี่ยวข้องกับคดี หรือวิ่งเต้นต่าง ๆ ข่าวดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะไม่ได้ทำผิดและรับสินบน
ส่วนนาย ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา ได้มีการมอบอำนาจให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ตรวจสอบและดำเนินคดีการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวและอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามให้ช่วยดำเนินคดีกับเว็บไซต์ดังกล่าวมาพร้อมกันเหมือนกับผู้พิพากษาทั้ง 2 รายหรือไม่
(่อ่านประกอบ : ท้าสอบทรัพย์สิน! 2 อดีตผู้พิพากษาแจ้งความสื่อนอก-โตโยต้าไทย อ้างชื่อคดีสินบนพรีอุส, เปิดคำร้องทุกข์ 'ชัยสิทธิ์' แจ้งหมิ่นฯ สื่อฝรั่ง-โตโยต้า(ไทย) คดีสินบนพรีอุส)
@สนง.กฎหมายยันไม่เป็นความจริง-รวมหลักฐานอยู่
ด้าน บริษัท สำนักงานกฎหมายอันนานนท์ จำกัด ที่ถูก LAW360 อ้างรายงานผลสอบเช่นกันว่า ในกระบวนการสอบสวนภายในโตโยต้า คอร์ปฯ พบว่า โตโยต้าในไทย มีการติดต่อกับบริษัทสำนักงานกฎหมายแห่งนี้ ในการสร้างช่องทางไปถึงผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา ผ่านผู้พิพากษาและที่ปรึกษา เพื่อจะโน้มน้าวให้รับฟังข้อโต้แย้งของโตโยต้าฯ และขอให้ศาลมีคำตัดสินในทางที่เป็นคุณกับโตโยต้าในไทย ในช่วงเวลาประมาณปี 2562
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดต่อไปยัง สำนักงานกฎหมายแห่งนี้เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 ได้รับการยืนยันจากผู้บริหารสำนักงานกฎหมายดังกล่าวว่า รับทราบเรื่องกรณีโตโยต้าฯมาบ้างแล้ว และขอเรียนว่าข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยเวลานี้ผู้บริหารสำนักงานกฎหมายกำลังรวบรวมหลักฐานอยู่ และอีกสักพักจะติดต่อกลับไปยังสำนักข่าวอิศราอีกครั้ง
ขณะที่ข้อมูลทางธุรกิจของสำนักงานกฎหมายแห่งนี้ พบว่า บริษัท สำนักงานกฎหมายอันนานนท์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 20 พฤษภาคม 2546 ทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 48/5 หมู่ที่ 2 ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี แจ้งประกอบธุรกิจกิจกรรมทางกฎหมาย
ปรากฏชื่อ นายทรงพล อันนานนท์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 13 มิถุนายน 2555 นาย ทรงพล อันนานนท์ ถือหุ้นใหญ่สุด 99.9400% มูลค่า 999,400 บาท หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ นาง อะเคื้อ อันนานนท์ นาย ก้าน อันนานนท์
ปี 2562 แจ้งว่ามีรายได้รวม 46,722,405.76 บาท รวมรายจ่าย 42,086,323.71 บาท กำไรสุทธิ 3,657,684.05 บาท
ขณะที่ นายทรงพล อันนานนท์ ปรากฎชื่อเป็นทนายโจทก์ในคดี บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ยื่นฟ้องสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากรเป็นจำเลย ในคดีภาษีนำเข้ารถยนต์พรีอุสด้วย
(อ่านประกอบ : ไม่เป็นความจริง! สนง.กม.อันนานนท์ ปฏิเสธจ่ายสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล.)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นายทรงพล อันนานนท์ กรรมการ บริษัท สำนักงานกฎหมายอันนานนท์ จำกัด ได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง เพื่อแจ้งความต่อเว็บไซต์ LAW360 และบุคคลชื่อแฟรงก์ (Frank G. Runyeon) ผู้เขียน จากกรณีเว็บไซต์ LAW360 ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า สำนักกฎหมายนั้นมีส่วนในเส้นทางการจ่ายเงินสินบนไปยังผู้พิพากษาในคดีสินบนรถยนตร์พรีอุสมูลค่าเงินจำนวนกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (10,958,500,000 บาท) เช่นกัน
ขณะที่นายทรงพล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า สำนักงานกฎหมายนั้น ไม่ได้มีส่วนในการกระทำความผิดแต่อย่างใด การนำเสนอข้อมูลดังกล่าวมีความผิดพลาดอย่างมาก และได้หยุดจากการเป็นทนายความของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2562 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำสั่งของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 อนุญาตให้รับฎีกาของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ไว้พิจารณา ดังนั้น สำนักงานจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆในคดีตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2562 เป็นต้นมา และไม่มีส่วนเรื่องของสินบนอย่างแน่นอน
(อ่านประกอบ : สนง.กม.อันนานนท์ แจ้งเอาผิดเว็บ LAW360-เจ้าของบทความ ยันไม่มีเอี่ยวเรื่องสินบนโตโยต้า)
@ศาลยุติธรรมแจง 2 รอบ ยันไม่นิ่งนอนใจ-อยู่ระหว่างตรวจสอบ-ขอข้อมูลจากสหรัฐฯ
ฟากสำนักงานศาลยุติธรรม เคยออกชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแบบเป็นทางการอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2564 หลังถูก LAW360 พาดพิงครั้งแรก โดยนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงรายละเอียดสรุปได้ว่า พฤติการณ์ของการแอบอ้างหรือกล่าวหาว่า อาจมีการจ่ายสินบนให้ผู้พิพากษา นั้น เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งอาจไม่มีมูลความจริงอยู่เลย แต่ก็สร้างความเสียหายและความคลางแคลงใจในหมู่ประชาชนและสังคมโดยรวมทันทีที่มีการออกข่าวหรือแอบอ้างว่ามีการจ่ายและรับสินบน ดังนั้น การให้ข่าวลักษณะนี้ควรมีการตรวจสอบให้ชัดเจนในระดับหนึ่งก่อน
หากศาลยุติธรรมได้รับข้อมูลหรือสามารถตรวจสอบได้อย่างแน่ชัดว่าผู้พิพากษาท่านใดกระทำการอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการรับสินบนหรือไม่ ศาลยุติธรรมโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการตรวจสอบและลงโทษอย่างเด็ดขาดกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ทำลายความเป็นกลางของศาล และทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่ผ่านมา ก.ต.ก็ดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาดกับกรณีเช่นนี้มาโดยตลอด จึงขอแจ้งให้ทราบทั่วกันเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง (อ่านประกอบ : ศาลยุติธรรม แจงคดีสินบนโตโยต้า หากมีผู้พิพากษาทุจริตจริงจะลงโทษอย่างเด็ดขาด!)
ต่อมาภายหลัง LAW360 เผยแพร่ข้อมูลลับอีกครั้ง โดยพาดพิงถึงชื่ออดีตผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ รวม 3 ราย เกี่ยวข้องกับการรับสินบนกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 10,958,500,000 บาท) นายสุริยัณห์ ชี้แจงอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2564 สรุปได้ว่า สำนักงานศาลยุติธรรมมิได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีหนังสือประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตอบกลับจากหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา
หากสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับข้อมูลหรือสามารถตรวจสอบได้ว่ามีมูลเป็นความผิด จะดำเนินการตามขั้นตอนทางวินัยต่อไป โดยไม่คำนึงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะเป็นใครและมีตำแหน่งใด จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) พิจารณา (อ่านประกอบ : เร่งขอข้อมูลสหรัฐฯ! ศาล ยธ.สั่งสอบ สื่อนอกเปิดชื่อผู้พิพากษารับสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุส)
@โตโยต้าฯไทยยังไม่ออกแถลงการณ์ชี้แจง-รายได้ล่าสุดปี 63 กว่า 3.6 แสนล้าน
ย้อนกลับไปดูท่าทีของฟากของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตัวละครเอกสำคัญเรื่องนี้กันบ้าง
ข้อเท็จจริงในคดีที่ปรากฏต่อสาธารณชนไปแล้ว คือ บริษัทฯ เป็นผู้ยื่นฟ้องสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ต่อศาลภาษีอากรกลาง เมื่อ มิ.ย. 2560 ในประเด็นข้อพิพาทการจัดเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์โตโยต้า รุ่น พรีอุส (Prius) วงเงินนับหมื่นล้านบาท โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท โตโยต้าฯ ชนะคดี ต่อมาศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ พิพากษากลับให้บริษัท โตโยต้าฯ แพ้คดี โดยในการพิจารณาคดีนี้มีการนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ก่อนจะมีคำพิพากษากลับให้บริษัท โตโยต้าฯ แพ้คดีดังกล่าวด้วย
ขณะที่ข้อเท็จจริงในคดีตามการชี้แจงของโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษี เป็นจำเลยเนื่องจากการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อประกอบเป็นรถยนต์รุ่นพรีอุส โดยมีคำขอให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี โจทก์ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาหลังจากที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
มีการอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีผลเพียงศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาเท่านั้น โดยคดียังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหาหลักแห่งคดีแต่อย่างใด โดยความคืบหน้าล่าสุด ยังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 13 ก.ค. 2564 หากฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกามาแล้วศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป
ในส่วนข้อมูลทางธุรกิจนั้น ฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ระบุว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2505 ทุนปัจจุบัน 7,520,000,000 บาท แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ภายในประเทศการขายส่งรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อการส่งออก ตั้งอยู่ที่ 186/1 หมู่ที่ 1 ถนนทางรถไฟเก่า ต.สำโรงใต้ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
ปรากฏชื่อ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ นายโนริอากิ ยามาชิตะ นายสมคิด ประดิษฐกำจรชัย นายสุรศักดิ์ สุทองวัน นายโทะโมะฮิโกะ เดะกุชิ นายกลินท์ สารสิน นายอารีย์ ชวลิตชีวินกุล และนายวิรยศ พฤทธากรวงศ์ เป็นกรรมการ
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 135,159,756,719 บาท (ราว 1.3 แสนล้านบาท) มีหนี้สินรวม 79,860,600,501 บาท (ราว 7.9 หมื่นล้านบาท) แจ้งมีรายได้รวม 368,256,288,932 บาท (ราว 3.6 แสนล้านบาท) แบ่งเป็น รายได้หลัก 363,210,611,276 บาท ต้นทุนการขาย 322,187,509,991 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 30,676,219,979 บาท รายจ่ายรวม 352,863,729,970 บาท (ราว 3.5 แสนล้านบาท) ดอกเบี้ยจ่าย 443,967,154 บาท เสียภาษีเงินได้ 2,462,402,449 บาท กำไรสุทธิ 12,486,189,359 บาท (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท)
อย่างไรก็ดี ต่อกรณีเรื่องสินบน หลังถูก LAW360 นำข้อมูลลับออกมาเปิดเผย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ดูเหมือนจะสงวนท่าทีต่อเรื่องนี้มากที่สุด
ปัจจุบันยังมิได้ออกมาแถลงข่าว หรือชี้แจงเกี่ยวกับกรณีถูกพาดพิงข้างต้นเป็นทางการแต่อย่างใด
โดยเฉพาะประเด็นข้อสังเกตตามคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.พิเศษ ชัยสิทธ์ ตราชูธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ระบุว่า ทำไมโตโยต้าประเทศไทย ไม่เร่งออกมาชี้แจงว่า ประเด็นที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ รวมไปถึงการจ่ายเงินค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายสำหรับสำนักงานทนายความ หากเป็นจริงมีค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ สูงกว่าปกติหรือไม่ และมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากเรื่องอะไร หากปรากฏข้อมูลเป็นจริงตามรายงานข่าว ประเด็นนี้อาจมีความผิดกฎหมายอาญา เท่ากับให้สินบน (อ่านประกอบ : ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม : ทำไม 'โตโยต้าไทย' ไม่ออกมาชี้แจงคดีสินบนภาษีพรีอุส)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เบื้องต้นพนักงานรายหนึ่งรับสาย ระบุว่า เรื่องนี้ต้องสอบถามกับฝ่าย Social Responsibility (SR) ของบริษัท และมีการโอนสายไปให้
ต่อมาพนักงานรายหนึ่ง ฝ่าย SR บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายหนึ่งรับสาย เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พนักงานรายนี้ ขอปรึกษากับคนอื่นก่อน โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที ก่อนมาตอบว่า ต้องคุยกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัท และมีการโอนสายไปให้
ผู้สื่อข่าวถือสายรอฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทประมาณ 3 นาที แต่ไม่มีผู้ใดรับสาย และสายได้ตัดไป
ซึ่งการที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยังมิได้มีการชี้แจงใด ๆ ต่อสาธารณชนนั้น อาจทำให้บริษัทฯ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องธรรมาภิบาลทางธุรกิจเป็นอย่างมาก ร่วมถึงปรัชญาการทำงานที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
เพราะก่อนหน้านี้เคยมีบทเรียนหลายกรณีแล้วว่า แม้จะยังไม่ถูกสอบสวนหรือระบุชี้ชัดว่ากระทำความผิด แต่หลายบริษัท หรือบุคคล บางดังราย อาจถูกประชาคมหรือหลายองค์กรภาคประชาชนออกมากดดันให้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ในการคว่ำบาตร บอยคอต แบนสินค้าได้
ตัวอย่างเช่น กรณี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เคยออกแถลงการณ์เรียกร้องภาคธุรกิจแสดงจุดยืนด้านบรรษัทภิบาล โดยยุติการสนับสนุนช่อง 3 และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา จากคดีทุจริตค่าโฆษณา ในช่วงปี 2559 เป็นต้น
บทบาทและท่าทีของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อกรณีนี้ โดยเฉพาะการออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสังคมเพื่อทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็วที่สุด
จึงนับเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารระดับสูงบริษัทฯ ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง!
ซึ่งถ้าหากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงกับสาธารณชนแล้ว สามารถติดต่อกลับมาที่สำนักข่าวอิศรา ได้ทุกเวลา
ทั้งหมดนี่ คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ต่อ กรณีเว็บไซต์ LAW360 เว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ข้อมูลลับกรณีบริษัท โตโยต้า คอร์ปฯ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) รวมถึงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) เมื่อ เม.ย. 2563 ว่า มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน (Anti-Bribery Laws) ของสหรัฐฯ ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี กรณีนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของศาลยุติธรรม ยังไม่ได้มีการสรุปผลการสอบสวน หรือส่งเรื่องให้หน่วยตรวจสอบไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมายแต่อย่างใด บุคคลและบริษัทเอกชน ที่ถูกเว็บ Law360 อ้างชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
เปิดข้อมูลลับโตโยต้า! สอบสวน บ.ลูกไทย จ่ายสินบน พ.ศาลฎีกาพลิกคดีภาษีหมื่นล.
พลิกปูม! คดีภาษีพรีอุสหมื่นล. ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับโตโยต้าแพ้-ยื่นฎีกาต่อแล้ว
ศาลยุติธรรม แจงคดีสินบนโตโยต้า หากมีผู้พิพากษาทุจริตจริงจะลงโทษอย่างเด็ดขาด!
เอ็กซ์คลูซีฟ! เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ 'โตโยต้า’แพ้คดีภาษี’พรีอุส’หมื่นล.ก่อนขอฎีกา
2 พ.ศาลฎีกาปฏิเสธ! เว็บLaw360 อ้างผลสอบเปิดชื่อรับสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล.
เร่งขอข้อมูลสหรัฐฯ! ศาล ยธ.สั่งสอบ สื่อนอกเปิดชื่อผู้พิพากษารับสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุส
ไม่เป็นความจริง! สนง.กม.อันนานนท์ ปฏิเสธจ่ายสินบนพลิกคดีภาษีพรีอุสหมื่นล.
ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ : 2 ผู้พิพากษาไม่เคยมาหาหรือพูดคุยเรื่องคดีภาษีพรีอุส
3 ผู้พิพากษา มอบอำนาจ สนง.ศาล ยธ. แจ้งความ ปอท. เอาผิดคนแพร่ข้อมูลเท็จปมสินบนโตโยต้า
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/