"....เรื่องของ 'พ่อเลี้ยงณรงค์' และ 'เสี่ย ป.เป็ด' จึงเป็น 2 กรณีของนักการเมืองที่มีเรื่องพาดพิงถึงคดียาเสพติด ก่อนที่กรณีของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบัน..."
--------------------------------------------------
กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) แม้ว่าข้อเท็จจริง ร.อ.ธรรมนัส จะเคยถูกคำพิพากษาศาลรัฐนิวเซาท์เวลล์ ออสเตรเลีย ให้จำคุกในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ไม่อาจนำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาบังคับใช้ได้ เพราะเป็นการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของไทย
ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายกันอย่างกว้างขวางเท่านั้น
(ข่าวประกอบ : ย้อนความเห็นกฤษฎีกา-ถูกจำคุกใน ตปท.เป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? , ‘พลตรี’ ติดคุกสหรัฐคดีค้ายาเสพติด กห.ไม่จ่ายบำนาญ! ความเห็นกฤษฎีกาคณะพิเศษล่าสุด)
ประเด็นเกี่ยวกับคดียาเสพติด และ นักการเมือง ยังได้ถูกยกมาพูดถึงอย่างน้อย 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่หนึ่ง คือ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หรือ 'พ่อเลี้ยงณรงค์' อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมถึง ส.ส.แพร่ หลายสมัย
นายณรงค์ เคยดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ในสมัยรัฐบาลนายเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปี 2523 เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2524
ต่อมา ปี 2526 ได้รับตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล พล.อ.เปรม กระทั่งปี 2533 เป็นก็ได้รับตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ อีกครั้งในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2535 นายณรงค์ ในฐานะหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม นำผู้สมัครเข้ามาเป็น ส.ส.ได้มากที่สุด จำนวน 79 ที่นั่ง
หลังการเลือกตั้ง 5 พรรคการเมืองที่มีเก้าอี้ ส.ส.รวมกัน 195 ที่นั่ง ประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม 79 ที่นั่ง , พรรคชาติไทย 74 ที่นั่ง , พรรคกิจสังคม 31 ที่นั่ง , พรรคประชากรไทย 7 ที่นั่ง และพรรคราษฎร 4 ที่นั่ง เสนอชื่อ นายณรงค์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ในห้วงเวลาเดียวกันกลับปรากฏข่าวว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยปฏิเสธการออกวีซ่าให้กับนายณรงค์ เนื่องจากสงสัยว่ามีการพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด โดยนายณรงค์ ปฏิเสธข่าวดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง และว่าข่าวนี้เป็นการจงใจสร้างเรื่องเพื่อกีดกันไม่ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ก็ส่งผลให้ พรรคการเมืองที่สนับสนุนนายณรงค์เปลี่ยนไปเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของไทย แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียงเดือนกว่าๆ ก็ต้องลาออกหลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ส่วนนายณรงค์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดเดียวกัน
(ซ้าย : ทนง ปรีชาศิริปรีชาพงษ์ , ขวา : ณรงค์ วงศ์วรรณ)
กรณีที่สอง คือ นายทนง ศิริปรีชาพงษ์ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘เสี่ย ป.เป็ด’ นักธุรกิจระดับพันล้านบาท เจ้าของโรงแรมชื่อดัง 'ลิตเติ้ล ดั๊ก' ใน จ.เชียงราย
นายทนง เป็นอดีต ส.ส.นครพนม 2 สมัย สังกัดพรรคชาติไทย โดยเมื่อปี 2537 หน่วยปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา หรือ ดีอีเอ ตั้งข้อกล่าวหากับนายทนง ว่า พัวพันกับการค้ายาเสพติดข้ามชาติมายาวนานถึง 17 ปี
สื่อหลายสำนักรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2537 ประเทศสหรัฐอเมริกา ขึ้นบัญชีดำนายทนง โดยระบุว่าเป็นตัวการค้ายาเสพติดประเภทกัญชาหนักประมาณ 47 ตัน และสั่งอายัดทรัพย์สินทั้งหมดที่อยูในสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
6 พ.ค.2537 สภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุมด่วนเพื่อพิจารณาขับนายทนงออกจากสมาชิกพรรคชาติไทย แต่พรรคต้นสังกัดยืนยันว่า นายทรง ถูกเกมการเมืองเล่นงาน แต่ถัดมาเพียง 1 วัน นายทนง ประกาศลาออกจากพรรคชาติไทย พร้อมแก้ต่างข้อกล่าวหาดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 11 พ.ค. 2537 ศาลท้องถิ่นเขตเหนือในรัฐแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยพยานหลักฐานระบุว่า นายทนง มีส่วนพัวพันกับการค้ายาเสพติดเข้าสหรัฐฯ โดยนายทนง ให้การยอมรับว่า ซื้อบ้านไว้ที่สหรัฐฯจริง ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2537 ทางการสหรัฐฯ ประสานงานกับทางการไทยเพื่อขอให้ส่งตัวนายทนง และภรรยา ไปขึ้นศาลสู้คดีที่สหรัฐฯ
วันที่ 17 พ.ค. 2537 ศาลสหรัฐฯรับฟ้องพร้อมเปลี่ยนสถานะนายทนงจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำเลย หลังจากนั้นนายเจมส์ เฮอร์ริก เอลส์ ผู้ต้องสงสัยคดีค้ายาเสพติดร่วมกับนายทนง ถูกตำรวจสหรัฐฯจับกุมที่สนามบินซานฟรานซิสโก
ถัดมาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2537 ศาลไทยมีคำสั่งไม่ส่งตัวนายทนงให้กับศาลสหรัฐฯ และจะขอเป็นผู้ตัดสินคดีในเบื้องต้นเอง หากพบว่ามีความผิดจริงจะพิจารณาส่งตัวตามกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน จนมีการออกหมายจับช่วงต้นปี 2538 และมีกระแสข่าวว่านายทนงหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่ต่อมาได้เข้ามอบตัวต่อสู้คดี เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2538
กระทั่ง วันที่ 28 ธ.ค.2538 ศาลไทยพิพากษาจำคุก นายทนง 18 ปี และกระทรวงการต่างประเทศแจ้งให้สหรัฐฯรับตัวนายทนงภายใน 3 เดือน ต่อมา ศาลสหรัฐฯพิพากษาจำคุกนายทนง 40 เดือน คุมประพฤติเป็นเวลา 5 ปี และไม่มีการปรับ โดยนายทะนงยอมรับว่า ระหว่างปี 2529-2530 ได้จัดหากัญชาเพื่อลักลอบนำเข้าชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของสหรัฐฯจริง
เรื่องของ 'พ่อเลี้ยงณรงค์' และ 'เสี่ย ป.เป็ด' จึงเป็น 2 กรณีของนักการเมืองที่มีเรื่องพาดพิงถึงคดียาเสพติด ก่อนที่กรณีของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบัน
(หมายเหตุ : ที่มาภาพ นายณรงค์ วงศ์วรรณ จาก คมชัดลึก และ ที่มาภาพ นายทนง ศิริปรีชาพงษ์ จาก เดลินิวส์)
อ่านประกอบ :
‘พลตรี’ ติดคุกสหรัฐคดีค้ายาเสพติด กห.ไม่จ่ายบำนาญ! ความเห็นกฤษฎีกาคณะพิเศษล่าสุด
รักษาอำนาจอธิปไตยไทย! ความเห็น‘ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ’ไฉนศาล รธน.ให้‘ธรรมนัส’ไปต่อ?
ย้อนความเห็นกฤษฎีกา-ถูกจำคุกใน ตปท.เป็นบุคคลต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ขัดหลักอิสระตุลาการ-ไม่รวมคำพิพากษา ตปท.! เหตุผลศาล รธน.‘ธรรมนัส’ไม่พ้น ส.ส.-รมต.
‘ธรรมนัส’รอด! ศาล รธน.เอกฉันท์ชี้ไม่พ้น ส.ส.-รมต.เหตุคำพิพากษา ตปท.บังคับกับไทยไม่ได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage