ศึกซักฟอกวันที่สามเดือด! ส.ส.ก้าวไกล กล่าวหา "นิพนธ์ บุญญามณี" ใช้เครือข่ายพวกพ้องเครือญาติกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านจะนะในราคาถูก ก่อนขายให้ "ทีพีไอพีพี" ฟันกำไร 10 เท่า อ้างใช้อำนาจ มท.2 กำกับดูแลกรมที่ดินเอื้อประโยชน์ ด้าน รมช.มหาดไทย งัดเอกสารราชการสวนกลับ ชี้ชัด มติ ครม.เดินหน้านิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการสำรวจพื้นที่ออกโฉนดล้วนเกิดก่อนรับตำแหน่ง ส่วนข้อพิพาทที่ดินเป็นเรื่องทางแพ่ง ผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่รับสอบ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลวันที่สามของฝ่ายค้าน ถึงคิวรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์อย่าง นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยผู้อภิปรายคือ นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พุ่งเป้าไปที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา
ข้อกล่าวหาสำคัญของ นายประเสริฐพงษ์ ที่มีต่อนายนิพนธ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็คือ ผลประโยชน์เบื้องหลังโครงการ "เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" โดยตั้งชื่อการอภิปรายว่า "ผลประโยชน์เบื้องหลังจะนะ: นายทุนคิด ทหารดัน นักการเมืองหาประโยชน์"
ประเด็นอภิปรายของนายประเสริฐพงษ์ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 63 แต่มีเค้าลางมานานเกือบ 10 ปีแล้ว และนายนิพนธ์มีส่วนเกี่ยวข้องผลักดัน ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.สงขลา โดยนายนิพนธ์เป็นคนวิ่งเต้นนำโครงการนี้ไปสอดไส้ในโครงการเดิมตามมติ ครม.เมื่อปี 59 ซึ่งมีพื้นที่พัฒนาพิเศษ 3 พื้นที่เท่านั้น คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา แต่มีการสอดไส้ให้ อ.จะนะ เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาเมืองที่ 4
2. โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะขายฝันให้ชาวบ้านเรื่องการสร้างงาน 100,000 ตำแหน่ง แต่ไม่เคยบอกว่าเป็นงานอะไร เพราะโครงการที่แท้จริงคือการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของ บริษัท ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ "ทีพีไอพีพี" ซึ่งใช้ "แรงงานคน" น้อยมาก ที่สำคัญโครงการเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงล้วนไม่ประสบความสำเร็จ เป็นนิคมร้าง
3. อ้างว่า "เครือข่ายเครือญาติใกล้ชิดของนายนิพนธ์" มีส่วนได้ส่วนเสียกับการซื้อขายที่ดินในพื้นที่ ในลักษณะกว้านซื้อถูก เพื่อนำไปขายต่อในราคาแพง โดยมี 2 กลุ่มเกี่ยวข้อง คือ กลุ่มแรกเครือข่ายครอบครัวคนใกล้ชิดนายนิพนธ์ เฉพาะเดือน ม.ค.63 เดือนเดียวมีการซื้อขายทั้งหมด 23 ธุรกรรม พื้นที่ 464 ไร่ มูลค่า 110 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 236,166 บาทต่อไร่
กลุ่มที่สอง บริษัท ทีพีไอพีพี เฉพาะเดือน ม.ค.63 เช่นกัน มีการกว้านซื้อที่ดิน 25 ธุรกรรม พื้นที่ 450 ไร่ มูลค่า 271 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 602,608 บาทต่อไร่ ซึ่งราคาซื้อ-ขายต่างกันกว่าเท่าตัว ส่วนต่าง 170 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อที่ดินจากกลุ่มคนใกล้ชิดนายนิพนธ์ ไม่ใช่ซื้อจากชาวบ้านในราคาสูง และหากในอนาคตเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นจริง มูลค่าที่ดินของบริษัทจะสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว
4. กล่าวหานายนิพนธ์ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดินว่า ได้ให้ "ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน จ.สงขลา-นครศรีธรรมราช" เร่งดำเนินการออกโฉนดที่ดิน เน้นเฉพาะพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นการรวบรวมที่ดิน นส. 3ก.ให้ "ทีพีไอพีพี" ไปออกโฉนดหรือไม่ ซึ่งมีหลายแปลงเป็นการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน หลายคดีมีการฟ้องร้องกันในศาลช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นอกจากนั้นที่ดินบางแปลง กลุ่มคนใกล้ชิดนายนิพนธ์ยังมีพฤติการณ์หลอกให้ชาวบ้านขายในราคาไร่ละ 60,000 บาท ได้กำไรถึง 10 เท่า
5. โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะไม่ใช่โครงการพัฒนา แต่เต็มไปด้วยการทำลายทรัพยากร ทำลายอาชีพ ทำลายเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชนชาวจะนะ ถ้าโครงการเกิดขึ้น สัตว์น้ำเศรษฐกิจนับร้อยชนิดจะหายไป การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 100-500 ล้านบาทจะหายไปทั้งหมด
"หากรัฐมนตรีคิดว่าตนเองบริสุทธิ์ใจ และเครือญาติทำธุรกิจตรงไปตรงมา ก็ขอให้เปิดข้อมูลสารบบที่ดินตั้งแต่ปี 62-63 ว่า มีการซื้อขายกันอยางไรบ้าง และให้บอกมาชัดๆ ว่า ครอบครัว ลูกชาย ลูกสาว และคนใกล้ชิด ได้รับเงินจากการซื้อขายที่ดินหรือไม่" นายประเสริฐพงศ์ ท้าทายกลางสภา
หลังจาก ส.ส.พรรคก้าวไกลอภิปรายจบ นายนิพนธ์ ได้ลุกขึ้นชี้แจง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. เรื่องการซื้อขายที่ดิน มีการร้องเรียนไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว และเมื่อเดือน ธ.ค.63 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน แจ้งยุติการตรวจสอบ เพราะเป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินตามกฎหมายแพ่ง การกล่าวหาว่าตนใช้อำนาจหน้าที่เอื้อนายทุนนั้น เป็นกล่าวหาเป็นเท็จทั้งสิ้น เพราะข้อพิพาทเรื่องสิทธิในที่ดิน ต้องไปพิสูจน์ในศาลว่าใครมีสิทธิ์ดีกว่ากัน และการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินก็ไม่ได้ออกทับที่สาธารณะ
2. การสำรวจออกโฉนดที่ดิน มีเอกสารยืนยันชัดเจนว่า สำรวจรังวัดทุกอำเภอในจังหวัดสงขลา ไม่ใช่เฉพาะ 4 ตำบลใน อ.จะนะ ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเท่านั้น การอนุมัติสำรวจเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 61 เพื่อทำโครงการสำรวจในปี 62 ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนที่ตนจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงไม่มีอำนาจสั่งการกรมที่ดินได้
3. การซื้อขายที่ดินตามที่กล่าวหา เป็นเรื่องระหว่างเอกชนด้วยกัน ที่ดินแปลงที่มีการออกโฉนด เมื่อออกแล้วก็ยังไม่ได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ ชาวบ้านที่ได้โฉนดยังถือครองอยู่ การออกโฉนดเป็นหลักประกันให้กับชาวบ้านในการถือครองที่ดินและมีที่ดินทำกิน
4. มติ ครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 ขยายโครงการเมืองต้นแบบการพัฒนาไปที่ อ.จะนะ ตนยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แล้วจะใช้อำนาจหน้าที่ผลักดันโครงการได้อย่างไร
5. การพัฒนา อ.จะนะเป็นความจำเป็น เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาความไม่สงบมาตั้งแต่ปี 47 มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 6,000 คน มีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำมาก ส่งผลให้มีแรงงานไทยต้องออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายจำนวนมาก
"บริษัทเอกชนไปลงทุนที่ดินก็เพื่อนำไปพัฒนา เขาจะไปซื้อที่ดินกับใครก็เป็นการตกลงกันเอง บางคนค้าขายกับบริษัททีพีไอมานาน ก็ย่อมต้องรู้จักกัน ซึ่งผมไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ไปช่วยเหลือใคร ใครจะรู้จักใครก็ไปว่ากันเอาเอง ค่านายหน้าก็ว่ากันเองของเอกชน เอกชนไปรับความเสี่ยงเอาเอง ผมไม่ยุ่งเรื่องการซื้อขายที่ดิน เพียงแต่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนา อ.จะนะ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาคใต้ เอกชนถือครองที่ดินใน อ.จะนะ แค่ 14% เท่านั้น ไม่ได้อยู่ในมือนายทุนอย่างที่กล่าวหา จึงขอยืนยันว่าผมไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ไปเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น" รมช.มหาดไทย กล่าวในที่สุด
@@ นายกฯซัดสภาไม่ใช่ศาล ยันไม่เคยเอื้อประโยชน์ใคร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงว่า ในฐานะผู้กำกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากให้แยกแยะเป็นรายโครงการ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดำเนินโครงการขนาดใหญ่อะไรได้เลย สิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ต้องมีการตรวจสอบ ไม่ใช่มาพันว่าเป็นการเอื้อประโยชน์กับคนนั้นคนนี้ และยืนยันว่าตนไม่ใช่คนที่เอื้อประโยชน์ให้ใคร ส่วนใครจะได้ประโยชน์มาถูกหรือผิดกฎหมายก็ไปว่ามา หากพบการทุจริตก็แก้ไป แต่อย่าให้โครงการใหญ่ที่กำหนดยุทธศาสตร์ไว้แล้วต้องสะดุด หรือพังพินาศไปด้วย
สำหรับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม เเละประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่ จึงต้องแก้ปัญหาอย่างละเอียดอ่อน เเละมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ จากเดิม 3 จังหวัด 3 พื้นที่ โดยมาเพิ่มพื้นที่ที่ 4 คือ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลก็ได้จัดคณะกรรมการลงไปดูแล และจะนำมาสู่การแก้ปัญหาให้เรียบร้อย (ตั้งคณะทำงานชุด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
ส่วนที่กล่าวหาว่าใน 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของตนไม่มีความก้าวหน้านั้น ขอชี้แจงว่าทุกอย่างเป็นการเตรียมการ ต้องรอเวลา ไม่ใช่ตั้งวันนี้แล้วจะได้ผลเลย ต้องหาจุดเชื่อมต่อเพิ่มศักยภาพ ขณะที่การเปลื่ยนสีผังเมืองก็เกิดจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่ใครจะไปออกสีโน้นสีนี้ได้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ และมีการทำประชาพิจารณ์ทั้งหมด ถูกผิดอย่างไรให้ไปว่ากันตามกระบวนการ
"ในนามรัฐบาล ในนามนายกรัฐมนตรี ขอย้ำว่าการลงทุนมีความจำเป็นที่ต้องให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ผมสั่งการเช่นนี้ทุกครั้ง ไม่มีละเว้น เเละการตรวจสอบก็มีกลไกลอยู่ สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ แจ้งองค์กรอิสระตรวจสอบได้ ในสภานี้ไม่ใช่ศาลที่มาจะชี้ว่าใครผิดใครถูก เพราะศาลอยู่ข้างนอก ผมไม่อยากให้การพูดในวันนี้ทำให้เกิดผลกระทบเรื่องการลงทุนจากประเทศอื่น รวมถึงกังวลว่าจะลามไปสู่พื้นที่อื่น เช่น EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก)" นายกรัฐมนตรี กล่าว