มีประเด็นนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เป็นความเคลื่อนไหวต่อสู้กันด้วยข้อมูลและมวลชนช่วงก่อนเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในต้นสัปดาห์หน้านี้ (16-19 ก.พ.64)
พรรคก้าวไกลจองกฐิน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมช.มหาดไทย ; มท.2) เป็น 1 ใน 10 รัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายแบบเหนือความคาดหมาย โดยพุ่งเป้าไปที่ 2 ประเด็น คือ
1. การยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กรณีไม่จ่ายเงินค่าจัดซื้อรถเอนกประสงค์ซ่อมสร้างทาง 51 ล้านบาทเศษ สมัยดำรงตำแหน่งเป็นนายก อบจ.สงขลา
ประเด็นนี้ นายนิพนธ์ ชี้แจงมาตลอดว่า สาเหตุที่ไม่ได้จ่ายเงินค่าจัดซื้อ เพราะโครงการนี้มีการร้องเรียนกันอยู่ และผู้เสนอราคา 2 รายส่อว่าเป็นรายเดียวกัน เข้าลักษณะ "ฮั้วประมูล" โครงการอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ผลยังไม่ออกมา จึงยังไม่อนุมัติจ่ายเงิน แต่ ป.ป.ช.กลับมองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่ง นายนิพนธ์ ได้ประกาศฟ้องกลับ ป.ป.ช.ด้วย
2. โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ซึ่งพรรคก้าวไกล และแกนนำคณะก้าวหน้าอย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้ความสนใจ และเคยลงพื้นที่หลายครั้ง เนื่องจากชาว อ.จะนะ บางส่วน ที่รวมตัวกันเป็น "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ได้ออกมาคัดค้านโครงการอย่างต่อเนื่อง เคยไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนรัฐบาลต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมารับฟังปัญหา โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
โครงการนี้ นายนิพนธ์มองว่า เป็นประเด็นที่ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล จ้องจะอภิปรายตัวเขาจริงๆ เพราะประธานคณะก้าวหน้าลงพื้นที่ด้วยตัวเอง และสนับสนุนกลุ่มคัดค้านโครงการอย่างเปิดเผย
ก่อนหน้านี้ไม่นาน มีความเคลื่อนไหวจากในพื้นที่ มีชาวบ้านจาก อ.จะนะ 5 ราย พร้อมทนายความเครือข่ายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา ให้พนักงานที่ดินเพิกถอนคำสั่งออกโฉนดให้ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด อ้างว่าทับที่ดินทำกินกว่า 70 ไร่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
โดยนอกจากไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลาแล้ว ชาวบ้านพร้อมทนายความจากเครือข่ายเดียวกันยังได้ยื่นฟ้อง บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก ต่อศาลจังหวัดนาทวี โดยอ้างว่าบริษัทฯ ยื่นออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของชาวบ้าน จำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 70 ไร่ เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์หนังสือรับรองการทำประโยชน์ นส.3ก. เพราะออกโดยทับซ้อนกับที่ดินที่ชาวบ้านทำกินมาก่อนด้วย
นอกจากนั้นยังมีการให้ข่าวพาดพิงถึงนักการเมืองระดับชาติบางคนว่าอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวช่วงหลังการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และก่อนจะเปิดศึกซักฟอกในสภาเพียงไม่กี่วัน โดยเป็นการนำประเด็นนี้มายืนยันเหตุผลว่า ชาวบ้านคัดค้านโครงการนี้เพราะมีเรื่องผลประโยชน์โยงฝ่ายการเมือง รวมทั้งยังตัดสินใจพัฒนาโดยไม่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
แต่ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวอีกด้านในวันอาทิตย์ที่ 14 ก.พ.64 ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก คณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินการขยายโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งมี นายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ อ.จะนะ เพื่อตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมี นายวรณัฐ หนูรอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐมาให้ข้อเท็จจริง และเสนอความคิดเห็น พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อคณะอนุกรรมการฯ ที่หอประชุมเอนกประสงค์ อ.จะนะ
ปรากฏว่าก่อนเริ่มการประชุม มีเครือข่ายประชาชนจะนะอาสาเพื่อพัฒนา นำมวลชนมารอยื่นหนังสือ โดยอ้างว่าเป็นประชาชนจาก 3 ตำบล คือ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม พื้นที่ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ พร้อมยืนยันสนับสนุนโครงการเพื่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรม สร้างงานสร้างความเจริญในพื้นที่ ลูกหลานจะได้มีงานทำ ไม่ต้องไปทำงานที่มาเลเชีย หรือภาคอื่นๆ ของประเทศอีกต่อไป
นางมณี อนันทบริพงษ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนจะนะอาสาเพื่อพัฒนา กล่าวว่า เครือข่ายมีสมาชิกทุกกลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นประมงพื้นบ้าน กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มภาคประชาสังคม อาชีพรับจ้าง รวมทั้งอาชีพขายแรงงานทั่วไป ที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนงานพัฒนาต่างๆ ที่สามารถทำได้ในพื้นที่มาตลอด เมื่อทราบว่ามีโครงการเมืองต้นแบบฯ จะเกิดขึ้นตอนปี 62 เครือข่ายฯก็ดีใจมากที่จะเห็นบ้านเมืองตัวเองพัฒนา แต่แล้วก็มีกลุ่มคัดค้านเกิดขึ้นมา มีการนำเอ็นจีโอจากนอกพื้นที่ โดยเฉพาะจาก จ.สตูล และที่สำคัญยังมีข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับราชการอยู่ในพื้นที่ อ.จะนะ ซึ่งตอนนี้สวมหมวกเป็นเอ็นจีโอ มาร่วมเคลื่อนไหว ขึ้นไปประท้วงรัฐบาล ทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนายประสาน หวังรัตนปราณี ระหว่างที่ไปชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล
"ในที่สุดรัฐบาลได้ทำตามข้อเรียกร้อง จนนำมาสู่การตั้งอนุกรรมการ ซึ่งเครือข่ายของเราที่เป็นคนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 3 ตำบลที่โครงการจะเกิดขึ้น กลับมองว่ารัฐบาลให้ความสำคัญผิดที่ ผิดจุด ผิดเวลา และยังดำเนินการเตะถ่วง ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เดือดร้อน ไม่มีจะกิน ซ้ำยังเจอปัญหาการระบาดของโควิด-19 อีก จึงอยากขอเรียกร้องต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าอย่าลีลา สับสนให้เสียเวลา ให้เร่งดำเนินโครงการตามขั้นตอนและตามกฎหมายการพัฒนาในพื้นที่เมืองต้นแบบ อ.จะนะ โดยเร็ว" นางมณี กล่าว
เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เกิดขึ้นก่อนเปิดศึกซักฟอกเพียง 2 วัน เพื่อยืนยันให้เห็นว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะก็มีประชาชนสนับสนุนไม่น้อยเช่นกัน ถือเป็นการสร้างกระแสโหมโรงก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งสองฝ่าย
อีกด้านหนึ่ง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน โดยเตรียมไปยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ให้ลงโทษนายนิพนธ์ โดยอ้างว่าถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ทั้งคดีรถเอนกประสงค์ซ่อมสร้างทาง และการอุดหนุนงบประมาณกว่า 34 ล้านบาท ให้กับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลาโดยมิชอบ เกินอำนาจหน้าที่ สมัยดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ซึ่งเรื่องจ่ายงบอุดหนุนให้สมาคมกีฬาฯ ทางคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มีมติว่าเป็นการใช้จ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องด้วย และยังกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สำหรับประเด็นที่นายศรีสุวรรณ เตรียมยื่นร้องเรียนต่อนายกฯนั้น นายนิพนธ์ ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต บางประเด็นได้แก้ไขปัญหาไปแล้ว ส่วนตำแหน่งที่ถูกกล่าวหา ก็เป็นคนละตำแหน่งกับที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหวก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีการชิงไหวชิงพริบและสร้างกระแสทางการเมืองกันอย่างคึกคัก ซึ่งก็ต้องรอดูว่านายนิพนธ์ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ จะฝ่าด่านซักฟอกครั้งนี้ไปได้หรือไม่