"...การกระทำของจำเลยจึงยังไม่พอรับฟังว่ามีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต หรือเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ดังนั้น การที่จำเลยไม่ชำระค่าบริการตรวจชันสูตรโรค เลือด และสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลบางสะพาน จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง อีกทั้งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 จำเลยได้ชำระค่าบริการค้างชำระดังกล่าวแก่โรงพยาบาลบางสะพานแล้ว..."
.......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2563 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ในคดีกล่าวหา นายอนุเทพ มาโลตรา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพาน อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรณีส่งตัวอย่างที่เก็บจากผู้ป่วยของคลินิกตนเองให้แผนกเทคนิคบริการของโรงพยาบาลบางสะพานตรวจชันสูตรโดยมิได้ชำระค่าบริการ ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ,152 และ 157 ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา
ขณะที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2563 ไม่เห็นพ้องด้วยในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลย และเห็นควรให้ อสส. ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์ต่อไป
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ขอสู้ชั้นฎีกา! ศาลอุทธรณ์ ยืนยกฟ้องอดีต ผอ.รพ.บางสะพาน คดีส่งตรวจตัวอย่างผู้ป่วย)
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ มานำเสนอ ณ ที่นี้
พฤติการณ์คดี
นายอนุเทพ มาโลตรา ในฐานะจำเลย รับราชการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลบางสะพาน เมื่อปี 2535 ต่อมาปี 2541 ได้ประกอบกิจการสถานพยาบาลคลินิก ชื่อ "อนุเทพการแพทย์" ซึ่งมีการส่งเลือดและตัวอย่างที่เก็บจากผู้ป่วยของคลินิกไปตรวจชันสูตรที่ห้องปฏิบัติการงานชันสูตรโรคของโรงพยาบาลบางสะพาน
ต่อมา จำเลยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2545 ขณะที่การส่งสิ่งส่งตรวจของคลินิกอนุเทพการแพทย์ ไปตรวจชันสูตรโรคที่โรงพยาบาลบางสะพาน คลินิกของจำเลย ค้างชำระค่าบริการตรวจชันสูตร ตั้งแต่ปี 2545-54 รวมเป็นเงิน 924,610 บาท ต่อมาวันที่ 24 ต.ค.2555 จำเลยได้ชำระค่าบริการดังกล่าว แก่เจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาล
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 152 และ 157 หรือไม่
ข้อเท็จจริง ได้จากคำเบิกความของ นายสุรพล อริยปิติพันธ์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพาน ในช่วงปี 2534-2545 ที่เคยประกอบกิจการสถานพยาบาลชื่อ คลินิกหมอสุธี ในช่วงปี 2528 -2530 และ สุรพลคลินิก ซึ่งเลิกกิจการไปในช่วงปี 2545 ที่เคยส่งสิ่งส่งตรวจไปตรวจที่ห้องปฎิบัติการงานชันสูตรโรคโรงพยาบาลบางสะพานโดยตรง โดยไม่ต้องส่งผู้ป่วยไป เป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมาและไม่มีข้อห้าม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะได้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยและแพทย์ โดยผู้ป่วยจะได้ความสะดวกรวดเร็วในการรับการรักษา ส่วนแพทย์ก็จะได้รับความสะดวกในการวินิจฉัยโรคเพื่อทำการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว
โดยการให้บริการรับตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเป็นการให้บริการด้านสาธารณสุขเป็นทางเลือกของผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิก และเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของโรงพยาบาลในลักษณะเงินบำรุงตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2536 ขณะที่การส่งสิ่งส่งตรวจดังกล่าว จะมอบให้กับเจ้าหน้าที่คลินิกเป็นผู้นำไปส่งมอบ ส่วนเงินค่าตรวจไม่ได้มอบไปด้วย เมื่อผลการตรวจชันสูตรเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่คลินิก จะเป็นผู้รับผลการตรวจจากโรงพยาบาลมามอบให้กับนายสุรพล เมื่อได้รับผลตรวจแล้ว นายสุรพล ยังไม่ต้องฝากเงินให้แก่เจ้าหน้าที่คลิกนิกเพื่อชำระค่าตรวจ โดยเป็นแนวปฎิบัติระหว่างคลินิกกับห้องปฏิบัติการงานชันสูตรโรคที่ปฏิบัติกันเช่นนี้มาก่อน และนายสรุพล ก็ไม่เคยทำข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่ว่าจะต้องชำระเงินเมื่อใด ในระยะเวลาเท่าใด
ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการงานชันสูตรโรค จะรวบรวมคิดเงินค่าตรวจ และแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระผ่านเจ้าหน้าที่คลินิกที่ไปติดต่อ นายสรุพลก็จะมอบเงินให้แก่เจ้าหน้าที่คลินิกไปชำระ
ต่อมานายสุรพล ทำการสมรสเมื่อปี 2534 ในการประกอบกิจการสถานพยาบาล จะรับหน้าที่ตรวจผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่คลินิกเพียงอย่างเดียว ภรรยานายสุรพล จะเป็นผู้จัดการเรื่องอื่นๆ นายสุรพล ไม่ทราบเรื่องการชำระเงินค่าบริการตรวจชันสูตร เพราะไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเงินของคลินิก
ขณะที่ กรณี นายอนุเทพ มาโลตรา จำเลยในคดีนี้ ประกอบกิจการสถานพยาบาลชื่อ อนุเทพการแพทย์ ตั้งแต่ปี 2541 ไม่เคยขออนุญาตหรือแจ้งส่งสิ่งส่งตรวจไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการงานชันสูตรโรคโดยตรงให้นายสุรพลทราบ
แต่นายสุรพล ทราบดีว่าจะต้องมีการส่งสิ่งส่งตรวจไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการงานชันสูตรโรค เพราะเป็นวิธีปกติในการรักษาผู้ป่วยของคลินิก
โดยเรื่องดังกล่าวเป็นที่เข้าใจว่าเป็นการอนุญาตของผู้อำนวยการโรงพยาบาลโดยปริยาย ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพานคนก่อนๆ ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับนายสุรพล
ขณะที่ จากคำเบิกความของหัวหน้าห้องปฏิบัติงานชันสูตรโรคโรงพยาบาลบางสะพาน ระบุว่า การให้บริการรับตรวจทางห้องปฏิบัติการงานชันสูตรโรค ของโรงพยาบาลบางสะพาน มี 2 กรณี คือ กรณีคลินิกส่งผู้ป่วยมาตรวจ จะมีการลงทะเบียนผู้ป่วยในระบบข้อมูลผู้ป่วยของโรงพยาบาล เสมือนเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลตามปกติ และกรณีคลินิกส่งสิ่งส่งตรวจมาทางห้องปฏิบัติการงานชันสูตรโรค จะลงข้อมูลไว้ในทะเบียนแล็บจากคลินิก
เมื่อทำการตรวจเสร็จแล้ว จะลงผลในใบนำส่งตรวจและลงผลในทะเบียนแล็บจากคลินิก เพื่อส่งผลแล็บกลับไปยังคลินิก เจ้าหน้าที่จากคลินิกจะมารับผลการตรวจ นำไปประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ประจำคลินิกเอง
ส่วนอัตราค่าบริการนั้นทางห้องปฏิบัติการจะรวมยอดค่าใช้จ่ายตามรายละเอียดการชันสูตรที่ทำการตรวจ ในทางปฏฺิบัติจะมีการรวบรวมยอดเงินค่าใช้จ่ายเป็นรายปี โดยทางคลินิกจะมาสอบถามยอดเงินรวมไปแต่ละปี แล้วนำไปชำระที่ผ่านการเงินและนำใบเสร็จการชำระเงินมาลงไว้เป็นหลักฐานในทะเบียนแล็บจากคลินิก
ซึ่งในกรณีคลินิกของ จำเลย นั้น นางรชยา มาโลตรา ภรรยาจำเลยจะเป็นผู้ติดต่อและสอบถามค่าใช้จ่ายในแต่ละปี และทำการชำระเงินในนามของคลินิก ซึ่งการส่งสิ่งส่งตรวจของคลินิกจำเลย มาที่ห้องปฎิบัติการของโรงพยาบาล ก็มีการดำเนินการอยู่ก่อนที่จำเลยจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพาน
แม้ต่อมาจำเลยจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล คงมีผลเพียงให้จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพิ่มขึ้นในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาล อีกตำแหน่งหนึ่ง นอกเหนือจากหน้าที่แพทย์
แต่การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะแพทย์ก็ยังคงต้องรักษาผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิกของจำเลยให้เป็นไปตามหลักวิชาการแพทย์ อันเป็นขั้นตอนของวิธีการรักษาผู้ป่วยตามหลักวิชาการทางการแพทย์ ที่จำเลยได้กระทำในฐานะแพทย์ผู้ทำการรักษาผู้ป่วยเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์และรักษาโรคของผู้ป่วย จึงไม่ใช่การกระทำเพื่อเข้าไปมีส่วนได้เสียกับการให้บริการรับตรวจชันสูตรโรคของห้องปฏิบัติการงานของโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ในระหว่างที่จำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพาน ได้ลงนามเป็นผู้อนุมัติและเบิกจ่ายงินจ้างเอกชนผู้รับจ้างตรวจวิคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่ส่งจากสถานพยาบาล (คลินิก) และของผู้ป่วยในโรงพยาบาลบางสะพาน ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานและได้รับมอบอำนาจการอนุมัติสั่งว่าจ้างจากผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำเลยได้ดำเนินการเป็นปกติเช่นเดียวกับที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพานคนอื่น ๆ ได้ปฏิบัติมา
ประกอบกับไม่มีพยานหลักฐานใดๆ สนับสนุนว่าในระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพานหรือก่อนหน้านั้น จำเลยได้มีพฤติกรณ์สั่งการหรือวิธีการใดๆ บังคับขู่เข็ญเจ้าหน้าที่ผู้ใดหรือใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพาน โดยมีเจตนาเพื่อจะไม่ให้มีการเรียกให้ชำระเงินค่าจ้างเอกชนผู้รับจ้างตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการและเมื่อพิจารณาพยานเอกสารซึ่งเป็นบันทึกการขออนุมัติและเบิกจ่ายค่าจ้างเอกชน ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2555 ของโรงพยาบาลบางสะพานแล้ว ซึ่งเป็นใบวางบิลใบแจ้งหนี้ของผู้รับจ้าง ปรากฎรายละเอียดเกี่ยวกับรายชื่อผู้ป่วยและรายการวิเคราะห์ในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก จึงน่าเชื่อว่าจำเลยลงนามอนุมัติสั่งจ้างและเบิกจ่ายเงิน โดยไม่สามารถทราบได้ว่ารายชื่อผู้ป่วยและรายการวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นของสถานพยาบาล (คลินิก) ของตนด้วยหรือไม่ จึงเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่แต่อย่างใด
ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องโจทก์ มิได้ขัดต่อระเบียบราชการและมิได้ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายแต่ประการใด
การที่จำเลยไม่ชำระค่าบริการตรวจชันสูตรโรค เลือด และสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยดังกล่าวให้แก่โรงพยาบาลบางสะพาน คงเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังรับฟังไม่ได้ว่า เป็นการที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการและรักษาทรัพย์ของโรงพยาบาลบางสะพาน ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น หรือเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 152 และ 157 ดังที่โจทก์ฟ้อง
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
ความเห็นอัยการสูงสุด
ขณะที่อัยการสูงพิจารณาแล้ว เห็นว่าคดีนี้ ศาลขั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยคดีมีบุคคลและเอกสารต่าง ๆ รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ว่า การส่งสิ่งส่งตรวจที่เก็บจากผู้ป่วยของสถานพยาบาลคลินิก อนุเทพการแพทย์ ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของคลินิกไปตรวจชันสูตรที่ห้องปฏิบัติการงานชันสูตรของโรงพยาบาลบางสะพาน ได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว ก่อนที่จำเลยจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพาน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่เคยวางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้บริการรับตรวจชันสูตรโรคและการเรียกเก็บเงินค่าบริการตรวจชันสูตรโรคของคลินิกเอกชน
โดยแนวปฏิบัติขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ซึ่งตลอดเวลาที่จำเลยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพานนั้นไม่เคยวางระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เช่นกัน
ประกอบกับการจ่ายเงินค่าตรวจดังกล่าวมีนางรชยา มาโลตรา ภริยาของจำเลยเป็นผู้ดำเนินการ
อีกทั้งไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนว่าในระหว่างดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหรือก่อนหน้านั้น จำเลยมีพฤติการณ์สั่งการหรือการใดๆ บังคับขู่เข็ญเจ้าหน้าที่ผู้ใดหรือใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โดยมีเจตนาเพื่อจะไม่ให้มีการเรียกให้ชำระเงินค่าจ้างเอกชนผู้รับจ้างตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ
การกระทำของจำเลย จึงยังไม่พอรับฟังว่ามีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต หรือเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ดังนั้น การที่จำเลยไม่ชำระค่าบริการตรวจชันสูตรโรค เลือดและสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลบางสะพาน จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง อีกทั้ง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 จำเลยได้ชำระค่าบริการค้างชำระดังกล่าวแก่โรงพยาบาลบางสะพานแล้ว
พฤติการณ์ของจำเลย ยังไม่พอรับฟังว่าเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 , 152 , 157
จึงเห็นพ้องด้วยตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ คดีไม่มีเหตุให้ฎีกา ประกอบกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ถึงที่สุดแล้ว และไม่มีปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 42, 46
.......................
นายอนุเทพ มาโลตรา จึงนับเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีนี้ หลังจากต่อสู้คดีมานานหลายปี
อ่านประกอบ :
คุก 3 ปี 4 ด.! อดีตอัยการประจวบฯ ให้จำเลยเลี้ยงอาหาร-เรียกรับพระเครื่องแลกไม่อุทธรณ์คดี
คุก18 ด. รอลงโทษ! อดีต ผอ.รร.ค่ายประจักษ์ฯ รับรองงานวิชาการเท็จ-ตั้งตัวเอง ปธ.ช่วย
คดีอนุญาตสร้าง รร.สินเกียรติธานี! ศาลจำคุก 2 จนท.- 'พิบูลย์-พวก 4 ราย' แยกฟ้องใหม่
คุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา! อดีตนายกฯ บ้านใหม่ โคราช สั่งการขุดลอกลำตะคองมิชอบ
คุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา! อดีตที่ปรึกษา กสม.ทุจริตแก้สัญญาเพิ่มเงินเดือนช่วยงานไทยพีบีเอส
คุก 6 ปี! อดีตนอภ.หัวไทร นครศรีฯ เรียกรับผลประโยชน์โครงการตำบลละห้าล้าน
ผิดกม.7กรรม! เผยคำพิพากษาคุก 2 ปี! 'ไพร พัฒโน' คดีหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระ 27ล.
คุก 2 ปี 6 ด. ไม่รอลงอาญา! อดีตนายก อบต.ส้มผ่อ ถอนเงินบัญชีโครงการศก.ชุมชนมิชอบ
ยืนโทษ! คุก 27 ปี 6 ด. อดีตจนท.พัสดุ แขวงการทางเชียงใหม่ เรียกเงินผู้รับเหมา
คุก 3 ปี 6 ด. แต่รอลงโทษ! อดีตนายก อบต.ในควน ตรัง เอื้อปย.ผู้รับเหมา
ยืนโทษคุก 3 ปี 4 ด.! อดีตปลัดนาจะหลวย อุบลฯ ปกปิดประกาศสอบราคา 7 โครงการ
วิบากกรรม! 'บัวทิพย์ สุขจั่น' คุก 4 คดีรวด 10 ปี, 3 ปี 9 ด., 3 ปี 9 ด. และ 3 ปี 9 ด.
เบื้องลึก! ป.ป.ช.ค้าน-อสส.ไม่ฎีกาคดีทุจริตแจกแว่นตา ศาลฯ ยกฟ้อง 'อดีตปลัดเวียงกาหลง'
คุก 97 ปี โดนจริง 50! อดีตปลัดหนองบัววง โคราช ปลอมบัญชี-เรียกเงินสอบบรรจุ พนง.
ป.ป.ช.ขอสู้ชั้นฎีกา! ศาลอุทธรณ์ ยืนยกฟ้องอดีต ผอ.รพ.บางสะพาน คดีส่งตรวจตัวอย่างผู้ป่วย
ยืนโทษคุก 6 ด.ไม่รอลงอาญา! อดีตปลัด อบต.หนองเม็ก เรียกเงินหลอกช่วยบรรจุงาน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage