"...ทั้งหมดเป็นที่มาของ ส.ส.ร.ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 88 ปี นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 และเป็นที่น่าสนใจว่า รธน.ที่ถูกร่างโดย ส.ส.ร.ทั้ง 4 ชุดนั้น มีอันต้องยุติลงด้วยการยึดอำนาจ-รัฐประหารด้วยกันทั้งสิ้น!..."
ที่สุดแล้วการประชุมรัฐสภาระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย.2563 ได้มีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2 ฉบับ ที่ถูกเสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน 1 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 1 ฉบับ
ส่วนร่างแก้ไข รธน.อีก 5 ฉบับรวมถึงร่าง ‘ไอลอว์’ ที่ถูกเรียกว่า ‘รธน.ฉบับประชาชน’ มีอันต้องถูกตีตกไปในที่สุดเช่นกัน
สาระสำคัญของ ร่าง รธน. 2 ฉบับที่ผ่านการรับหลักการโดยรัฐสภา คือการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางไปสู่พิจารณาแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน ที่ยังคงแตกต่างในเรื่องของที่มา
ฉบับที่ 1 เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอให้ ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง
ฉบับที่ 2 เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล เสนอให้ ส.ส.ร. 200 คน มาการเลือกตั้งและแต่งตั้งบางส่วน
โดยหลังจากนี้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) 45 คน จะต้องพิจารณาในรายละเอียดก่อนนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาในขั้นตอนวาระ 2 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การเมืองไทยมีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาเพื่อยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ แต่ตลอด 88 ปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ได้มีการตั้ง ส.ส.ร.มาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีที่มา - ที่ไป ที่น่าสนใจ
สภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2491
8 พ.ย.2490 รัฐบาล 'พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์' ถูกยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหารที่นำโดย 'พล.ท.ผิน ชุณหะวัน' จากนั้นได้เชิญ 'ควง อภัยวงศ์' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้งทั่วไป
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ รธน.ปี 2489 ถูกยกเลิก โดยคณะรัฐประหารประกาศใช้ รธน. (ฉะบับชั่วคราว) ปี 2490 ที่ถูกขนานนามว่า ‘ฉบับใต้ตุ่ม’ เนื่องจากมีการยกร่างไว้ก่อนก่อการรัฐประหาร และซ่อนไว้อยู่ใต้ตุ่มหน้าบ้าน ‘นายพันเอกหลวงกาจ กาจสงคราม’ ทำให้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2490
อย่างไรก็ตาม ‘รธน.ใต้ตุ่ม’ มีการแก้ไขเพิ่มเติมถึง 2 ครั้งโดย นายควง นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ครั้งแรก เพื่อปรับปรุงวิธีคำนวณ ส.ส.ในเขตเลือกตั้ง และ ครั้งที่สอง เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
ต่อมาเมื่อมีการจัดการเลือกตั้ง ‘ควง อภัยวงศ์’ ได้รับเลือกให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ก็ดำรงตำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 40 วัน ก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุว่าถูกกลุ่มนายทหารชุดเดียวกับคณะรัฐประหาร 2490 บีบบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง และผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งคนต่อไป คือ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ซึ่งครองอำนาจยาวนานเกือบ 10 ปี
สำหรับกระบวนการสรรหา ส.ส.ร.เริ่มต้นหลังจาก ‘รธน.ใต้ตุ่ม’ ที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2491 โดยกำหนดจำนวนสมาชิกไว้ 40 คน มีที่มาจากการเลือกของรัฐสภา 20 คน (เลือกจาก ส.ส. 10 คน ส.ว. 10 คน) ส่วนอีก 20 คนให้มีที่มากจาก 4 ประเภท ประเภทละ 5 คน คือ
1.ผู้มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามบทเฉพาะกาลแห่ง รธน.
2.ผู้ที่ดำรง หรือเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง หรืออธิบดี หรือเทียบเท่า
3.ผู้ที่เคยเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาผู้แทน สมาชิกพฤตสภา หรือรัฐมนตรี
4.ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ทั้งนี้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้เลือก ส.ส.ร.ทุกประเภท เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2491 โดยใช้วิธีลงคะแนนด้วยการเขียนชื่อลงในบัตรเลือกตั้ง
ส.ส.ร.ชุดนี้มี ‘เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ’ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาในขณะนั้นเป็นประธาน และได้ยกร่าง รธน.ฉบับถาวร ภายใน 180 วัน ประชุมหารือกันทั้งหมด 81 ครั้ง กระทั่งแล้วเสร็จในวันที่ 25 ธ.ค.2491 และเมื่อผ่านความเห็นชอบตามกระบวนการรัฐสภา เสนอโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้เป็น รธน.ปี 2492 เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2492
อย่างไรก็ตาม รธน.ปี 2492 ที่ถือเป็นฉบับที่ 5 ของไทย มีผลบังคับใช้เพียง 2 ปี 8 เดือน ก็ถูกยกเลิกจากการทำรัฐประหารตนเองของ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2494
(ข้อบังคับว่าด้วยวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ปี 2491)
@สภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2502
ช่วงเช้าของวันที่ 20 ต.ค.2501 ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ ได้ประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรี ในช่วงค่ำวันเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น เมื่อ ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ประกาศยึดอำนาจ โดยอ้างเหตุความมั่นคงของประเทศ ที่ในขณะนั้นมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม
คำสั่งคณะปฏิวัติได้ยกเลิก รธน.ปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495 ที่มีผลบังคับใช้ยาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหารตนเองของ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ต่อมามีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรปี 2502 เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2502 ที่จัดให้มี ส.ส.ร.เพื่อยกร่าง รธน.ฉบับใหม่
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรปี 2502 บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ให้มี ส.ส.ร.มีหน้าที่ร่าง รธน. และให้มีฐานะเป็นรัฐสภา ทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย มาตรา 7 กำหนดมีสมาชิกทั้งหมด 240 คน และมาตรา 8 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงตั้ง ส.ส.ร.ตามมติของสภา ให้เป็นประธานสภาคนหนึ่ง เป็นรองประธานสภาคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้
ส.ส.ร.ที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติไปด้วย เริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2502 โดยมี ‘พล.อ.สุทธิ์ สุทธิสารรณกร’ เป็นประธาน และมี ‘สัญญา ธรรมศักดิ์’ เป็นรองประธานคนที่ 1 ‘ทวี บุญเกตุ’ เป็นรองประธานคนที่ 2
ทั้งนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมาธิการ 4 ชุด ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นประชาชน , ค้นคว้าและรวบรวมหลักการสำคัญ , ยกร่าง รธน. และตรวจรายงานการประชุม
กระทั่ง 240 ส.ส.ร.ที่ต้องทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติไปพร้อมกัน ใช้เวลาร่าง รธน.นานถึง 9 ปี 4 เดือน 17 วัน กระทั่ง รธน.ปี 2511 ได้ประกาศและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2511
อย่างไรก็ตาม รธน.ปี 2511 ก็มีอายุได้เพียง 3 ปี 4 เดือน เมื่อ ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ ที่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จากการเลือกตั้งปี 2511 ได้ทำการปฏิวัติตนเองเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2514
(ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ปี 2502)
@สภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2539
ปี 2535 เกิดการชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่นำไปสู่เหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ และมีการเรียกร้องให้แก้ไข รธน.ปี 2534
‘มารุต บุนนาค’ ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ที่มี ‘นพ.ประเวศ วะสี’ เป็นประธาน เข้ามาทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปการเมืองการปกครอง โดยหนึ่งในข้อเสนอที่เกิดขึ้นคือ การแก้ไขเพิ่มเติม รธน.
หลังวิกฤติการเมือง ‘พฤษภาทมิฬ’ ที่นำไปสู่การเลือกตั้งปี 2538 ‘บรรหาร ศิลปะอาชา’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้สนับสนุนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. และได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) นำไปสู่การแก้ไขมาตรา 211 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ได้สำเร็จ
ส.ส.ร. ชุดนี้มีจำนวน 99 คน โดยมีที่มาจาก 2 ส่วนสำคัญ ดังนี้
1.ให้รัฐสภาเลือกจากตัวแทนจังหวัด รวม 76 คน โดยมีที่มาจากการรับสมัคร หากจังหวัดใดมีผู้สมัครไม่ถึง 10 คนให้ส่งรายชื่อมายังรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนกรณีที่มีผู้สมัครเกิน 10 คนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดประชุมผู้สมัครเพื่อลงคะแนนคัดเลือกผู้แทน 10 คนที่ได้คะแนนสูงสุด ส่งมาให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป
2.ให้รัฐสภาเลือกจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์แต่ละสาขา รวม 23 คน แบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมาย 8 คน , สาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 8 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่าง รธน. 7 คน โดยให้สภาสถาบันอุดมศึกษาที่มีการให้ปริญญา สาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคล และส่งให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป
ส.ส.ร. ชุดนี้เข้าทำหน้าที่เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2540 มี ‘อุทัย พิมพ์ใจชน’ เป็นประธาน ‘ศ.กระมล ทองธรรมชาติ’ เป็นรองประธานคนที่ 1 ‘ยุพา อุดมศักดิ์’ เป็นรองประธานคนที่ 2
ทั้งนี้มีกรอบเวลา 240 วันในการยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ กระทั่ง รธน.ปี 2540 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2540 ที่เรียกว่า ‘รธน.ฉบับประชาชน’ เนื่องจากมีกระบวนการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำร่าง รธน.มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม รธน.ปี 2540 ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 หลังจาก ‘พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน’ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้ายึดอำนาจและล้มรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ขณะเดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา
(รธน.แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ปี 2539)
@สภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550
หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ที่ส่งผลให้ต้องยกเลิก รธน.ปี 2540 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่แปรสภาพมาจาก คปค. นำโดย ‘พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน’ ได้ประกาศใช้ รธน. (ฉบับชั่วคราว) ปี 2549 โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ส.ส.ร. เพื่อร่าง รธน.ฉบับใหม่ต่อไป
ส.ส.ร.ชุดนี้มีจำนวน 100 คน มีที่มาจาก 3 ขั้นตอน ดังนี้
1.รธน. (ฉบับชั่วคราว) ปี 2549 กำหนดให้มีสมัชชาแห่งชาติ เข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.ร. ประกอบด้วยสมาชิก ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีจำนวนไม่เกิน 2,000 คน โดยมีผู้แทนจากสาขาอาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิหลายภาคส่วน โดยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 1,982 คน
2.ให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ คัดเลือกกันเอง เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อผุ้ที่สมควรได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ส.ส.ร. จำนวน 200 คนให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันเปิดประชุมครั้งแรก
3.ให้ คมช.คัดเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้เหลือ 100 คน และนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ส.ส.ร.ต่อไป
วันที่ 1 ม.ค.2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส.ส.ร. 100 คนตามที่ คมช.เสนอ โดยมีที่มาจากบุคลากรภาครัฐ 28 คน ภาคเอกชน 27 คน ภาคสังคม 23 คน และภาควิชาการ 22 คน
ส.ส.ร.ชุดนี้มี ‘นรนิติ เศรษฐบุตร’ เป็นประธาน ‘เสรี สุวรรณภานนท์’ เป็นรองประธานคนที่ 1 ‘เดโช สวนานนท์’ เป็นรองประธานคนที่ 2 โดยมีกรอบเวลา 180 วันในการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่
หลังร่าง รธน.ฉบับใหม่เสร็จสิ้น ได้มีการนำเข้าสู่กระบวนการลงประชามติขของประชาชน เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2550 โดยมีผู้เห็นชอบทั้งหมด 14.72 ล้านคนจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน 25.47 ล้านคน ไม่เห็นชอบ 10.74 ล้านคน และมีบัตรเสีย 504,120 ใบ
ทั้งนี้ รธน.ปี 2550 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2550 กระทั่งต้องมีอันสิ้นสุดลงหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โดย ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งหมดเป็นที่มาของ ส.ส.ร.ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 88 ปี นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 และเป็นที่น่าสนใจว่า รธน.ที่ถูกร่างโดย ส.ส.ร.ทั้ง 4 ยุคนั้น มีอันต้องยุติลงด้วยการยึดอำนาจ-รัฐประหารด้วยกันทั้งสิ้น!
(ที่มาข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า , สภาผู้แทนราษฎร)
ข่าวประกอบ :
เผยโฉม 45 อรหันต์นั่ง กมธ.แก้ร่าง รธน.ใหม่ 5 พรรคใหญ่-4 พรรคเล็ก-15 ส.ว.
คว่ำร่างไอลอว์!รัฐสภาลงมติรับ 2 ร่างรธน.แก้ ม.256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ส่วนที่เหลือถูกตีตก
ชำแหละ 2 แนวทาง กมธ.ศึกษาร่าง รธน.แก้ได้แค่ไหน-ทำไปเพื่อลดอุณหภูมิการเมือง?
ประชุมร่วมรัฐสภาถกแก้ รธน.วันแรกอภิปรายถึงเที่ยงคืน-ตร.ตรึงกำลังเข้มรับมือม็อบ
มติพปชร.รับร่าง รธน.2ฉบับเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ส่วนของ'ไอลอว์'ขอฟังอภิปรายก่อน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage