พปชร.มีมติยึดแนวทางวิปรัฐบาล โหวตรับหลักการเฉพาะร่างแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ส่วน 'ฉบับไอลอว์' ขอฟังเนื้อหาในสภาก่อนตัดสินใจ ขณะที่ ‘สมพงษ์’ เผยฉันทานุมัติพรรคร่วมฝ่ายค้าน โหวตรับหลักการทั้ง 7 ฉบับรวด
----------------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2563 น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวภายหลังการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือและเตรียมความพร้อมการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) รวม 7 ฉบับ ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย. โดยที่ประชุมมีมติให้ยึดตามมติของวิปรัฐบาล คือ โหวตรับหลักร่าง รธน.ฉบับที่ 1 และ 2 ซึ่งถูกเสนอโดย ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่จะนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
น.ส.พัชรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับร่างแก้ไข รธน.ฉบับที่ 3-6 ที่เป็นการแก้ไขรายมาตรานั้น ที่ประชุม พปชร.มีมติให้งดออกเสียง เนื่องจากมีเนื้อหาครอบคลุมอยู่ในฉบับที่ 1 และ 2 แล้ว ส่วนร่างแก้ไข รธน.ฉบับที่ 7 ที่มีการเข้าชื่อเสนอโดยประชาชน 98,041 ราย และเป็นจัดทำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) พรรคขอรับฟังคำชี้แจงจากผู้เสนอร่าง รวมถึงการอภิปรายของเพื่อนสมาชิกในรัฐสภา ก่อนที่จะนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
โฆษก พปชร. กล่าวอีกว่า พรรคแสดงจุดยืนมาโดยตลอดว่าจะไม่มีการแก้ไข รธน. หมวด 1 และ หมวด 2 ส่วนความกังวลใจ และการกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เชื่อว่า เราต้องทำหน้าที่ไปตามกระบวนการรัฐสภา ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการพิจารณาร่าง รธน.จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดตามหลักเหตุผล และความมั่นคงของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมย้ำว่าเราจริงใจต่อการแก้ไข รธน. จึงขอให้ทุกฝ่ายพยายามช่วยกัน แสวงหาทางออก และร่วมกันเร่งสร้างความปรองดอง ผ่านกระบวนการและกลไกรัฐสภา
ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การประชุมในวันที่ 17 พ.ย.จะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. โดยเป็นขั้นตอนรับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ก่อนรับหลักการ ที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง จากนั้นจะเริ่มพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ฉบับที่ 7 ที่จัดทำโดยการเข้าชื่อของประชาชน แบ่งเป็น ฝั่งของผู้เสนอร่าง 1 ชั่วโมง สมาชิกวุฒิสภา 5 ชั่วโมง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านและรัฐบาล ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง รวมแล้วประมาณ 17 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งคาดว่าในวันแรกจะพิจารณาได้ประมาณ 13-14 ชั่วโมง จากนั้นจะพิจารณาต่ออีก 1 ชั่วโมงในวันที่ 18 พ.ย. และใช้เวลาลงมติรวมกันทั้ง 7 ร่าง ประมาณ 4-5 ชั่วโมงรวมถึงนับคะแนนด้วย
ส่วนกรณีที่จะมีการนัดชุมนุมทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน บริเวณรัฐสภา นายวิรัช ยืนยันว่า สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ส.พปชร. พร้อมเข้าไปทำหน้าที่ด้วยเหตุและผล ไม่กลัวการกดดันใดๆ ทั้งสิ้น
@ฉันทานุมัติฝ่ายค้านโหวตรับหลักการร่าง รธน.7 ฉบับ
ด้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไยท ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า ฝ่ายค้านมีฉันทานุมัติไปในทางเดียวกันที่จะขอรวมญัตติร่าง รธน.ฉบับไอลอว์เข้าร่วมด้วยในการพิจารณาต่อที่ประชุมสภา และจะให้การสนับสนุนทั้ง 7 ญัตติ โดยระหว่างนี้จะให้แต่ละพรรคไปหารือเพื่อกำหนดเป็นมติต่อไป ทั้งนี้การแก้ไข รธน.บวกกับสถานการณ์อันตึงเครียด สมาชิกรัฐสภาควรฟังเสียงประชาชน ร่าง รธน.ฉบับไอลว์ เป็นร่งาที่เสนอมาจากประชาชน ไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย ไม่ได้เป็นการขอเสนอแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งสามารถทำได้ตามอำนาจของสภาฯ
ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า วันที่ 17-18 พ.ย.จะเป็นวันที่กำหนดอนาคตการเมืองไทยว่าจะมีการลงมติเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยเป็นไปโดยสันติหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาในวันดังกล่าว และยังต้องรอดูท่าที ส.ส.พปชร. และ ส.ว.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร โดยเราเชื่อว่า การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีส่วนสำคัญในการพิสูจน์ความจริงใจ และสำคัญต่อการกำหนดสถานการณ์ต่อไปอีกด้วย ทั้งนี้เห็นว่า หากมีการรับหลักการเพียง 1-2 ฉบับ เฉพาะมาตรา 256 อย่างเดียว อาจเป็นการลูกหน้าปะจมูกทางการเมือง ไม่เพียงพอที่จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดคลี่คลายลงได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage