รัฐสภามีมติรับหลักการร่างแก้ไข รธน. 2 ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล เปิดทางแก้ ม.256 ตั้ง ส.ส.ร.ยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ ส่วน 'รธน.ฉบับไอลอว์' ถูกตีตกตามคาด ‘สุทิน’ เฉลยทางออกหากมีคนยื่นศาล รธน. ชี้ ปธ.รัฐสภารับรองแล้ว ไม่ขัดหรือแย้ง – ‘จอน’เศร้าร่างแก้ไขถูกตีตก-รับไม่ได้ ส.ว.บางคนใส่ร้าย
.............................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 7 ฉบับเป็นวันที่ 2 โดยในวันนี้จะมีการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างใดในวาระแรก (ขั้นรับหลักการ) หลังจากเมื่อวานนี้ (17 พ.ย. 2563) ปิดการอภิปรายเมื่อเวลาประมาณ 24.00 น.
ทั้งนี้เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ประชุมรัฐสภา เริ่มลงมติของสมาชิกรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ที่ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และภาคประชาชนเสนอมา โดยเจ้าหน้าที่ใช้วิธีอ่านชื่อสมาชิกรายบุคคล จากนั้นแต่ละคนจะขานมติว่า รับ , ไม่รับ , งดออกเสียง ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ทั้งนี้ร่าง รธน.ที่จะผ่านความเห็นชอบ จะต้องมีเสียงสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 366 เสียง โดยต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ความเห็นชอบ 1 ใน 3 หรือ 82 เสียง
ต่อมาเวลา 19.10 น. ที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการร่างแก้ไข รธน. 2 ฉบับ ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยสาระสำคัญที่แตกต่างกันจากที่มาของ ส.ส.ร. และจะนำไปสู่การการยกร่าง รธน.ต่อไป โดยที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาร่วมกันทั้ง 2 ฉบับ รวม 45 คน แบ่งเป็น ส.ว. 15 คน และ ส.ส. 30 คน
สำหรับผลคะแนนการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ทั้งฉบับ มีดังต่อไปนี้
ฉบับที่ 1 เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อแก้ไขมาตรา 256 โดยมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง ที่ประชุมมีมติรับหลักการ 576 เสียง จาก ส.ส. 449 เสียง และ ส.ว. 127 เสียง และไม่รับหลักการ 21 เสียง งดออกเสียง 123 เสียง
ญัตติที่ 2 เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแก้ไขมาตรา 256 โดยมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งเลือกตั้งและแต่งตั้ง ที่ประชุมีมติรับหลักการ 647 เสียง จาก ส.ส.471 เสียง ส.ว. 176 เสียง และไม่รับหลักการ 17 งดออกเสียง 55 เสียง
ญัตติที่ 3 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย เพื่อแก้ไขมาตรา 270 , 271 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการเนื่องจากคะแนนไม่ถึงข้อกำหนด โดยมีผู้รับหลักการ 213 เสียง จาก ส.ส.209 เสียง ส.ว. 4 เสียง และไม่รับหลักการ 35 เสียง งดออกเสียง 472 เสียง
ญัตติที่ 4 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย เพื่อแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขมาตรา 159 ให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.ได้ด้วย ที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการเนื่องจากคะแนนไม่ถึงข้อกำหนด โดยมีผู้รับหลักการ 268 เสียง จาก ส.ส. 212 เสียง ส.ว. 56 เสียง และไม่รับหลักการ 20 เสียง งดออกเสียง 432 เสียง
ญัตติที่ 5 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย เพื่อแก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการเนื่องจากคะแนนไม่ถึงข้อกำหนด โดยมีผู้รับหลักการ 209 เสียง เป็น ส.ส.ทั้งหมด และไม่รับหลักการ 51 เสียง งดออกเสียง 460 เสียง
ญัตติที่ 6 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย เพื่อแก้ไขมาตรา 91 , 92 , 93 , 94 , 101 และ 105 เกี่ยวกับการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการเนื่องจากคะแนนไม่ถึงข้อกำหนด โดยมีผู้รับหลักการ 268 เสียง จาก ส.ส.209 เสียง ส.ว.59 เสียง และไม่รับหลักการ 19 เสียง งดออกเสียง 432 เสียง
ญัตติที่ 7 เสนอโดยไอลอว์ที่ถูกเรียกว่าฉบับประชาชน เพื่อแก้ไขมาตรา 256 โดยมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง และสามารถแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ได้ ทั้งที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการเนื่องจากคะแนนไม่ถึงข้อกำหนด โดยมีผู้รับหลักการ 212 เสียง จาก ส.ส.209 เสียง ส.ว. 3 เสียง และไม่รับหลักการ 139 เสียง งดออกเสียง 369 เสียง
@‘สุทิน’เผยช่องรอดหากมีคนยื่นศาล รธน.
วันเดียวกัน ที่ห้องทำงานพรรคเพื่อไทย อาคารรัฐสภา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา ได้เรียก ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมประชุมเพื่อขอมติก่อนโหวตร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน ที่เสนอโดยไอลอว์ เนื่องจากการประชุมพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา สมาชิกพรรคมีมติขอให้มาฟังคำชี้แจงจากไอลอว์ก่อนโหวต
โดยนายสมพงษ์ สอบถามที่ประชุม และขอความเห็นสมาชิก ส.ส. กรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนที่เสนอโดยไอลอว์ว่า เห็นชอบหรือไม่ อย่างไร โดย ส.ส.ทั้งหมดของพรรคเพื่อไทยยกมือเห็นด้วยอย่างเป็นเอกฉันท์
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)) กล่าวว่า เมื่อก่อน ส.ส. พรรคเพื่อไทยกังวลว่าจะมีการตีความว่าจะเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ แต่วันนี้คลายกังวลแล้ว เพราะถ้ามีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะรอดได้ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2563 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา วินิจฉัยแล้วว่าร่างฉบับประชาชนได้ตรวจสอบแล้ว ไม่มีข้อใดที่ไปขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 หมายความว่า ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ ดังนั้น คำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาจึงเป็นสิ่งที่สมาชิกยึดถือ และเชื่อมั่น เมื่อประธานวินิจฉัยแล้วบรรจุเข้ามาสู่การพิจารณา หากจะผิดประธานก็ต้องผิดเป็นคนแรก เราจึงมั่นใจในส่วนนี้ และจะยกมือผ่าน
@มติ ส.ส.เพื่อไทยเอกฉันท์ ไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์
อย่างไรก็ดีในระหว่างการประชุมดังกล่าว นายเลิศศักดิ์ พัฒนกุล ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นสอบถามกลางที่ประชุมว่า ร่างของประชาชนไม่มีเรื่องการแก้ไขหมวด 1 ทั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ใช่หรือไม่ โดยนายสมพงษ์ ยืนยันว่า แน่นอน ร่างของพรรคเพื่อไทยที่เสนอไปเป็นร่างแรกก็ไม่มีส่วนนี้
หลังจากนั้นนายวัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ถามย้ำอีกครั้งว่า จะไม่มีการแตะหมวด 1 และหมวด 2 และขอมติจาก ส.ส. โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยยกมือขึ้นพร้อมกัน
ในช่วงเช้าที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า เมื่อพิจารณารอบด้านแล้ว ยืนยันจะลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ เป็นไปตามมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค และพรรคเพื่อไทยด้วย ส่วนข้อกังวลว่าจะมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้น เชื่อว่ามีคนยื่นแน่นอน แต่ดูแล้วว่ามีทางออกได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 ต่างกัน มีทางออกได้ ส่วนทางออกจะเป็นแบบใดของยังไม่เปิดเผย แต่เมื่อมีทางออกแล้วสบายใจที่จะโหวต
เมื่อถามว่าหากผลโหวตออกมาแล้วไม่เป็นไปตามที่พรรคฝ่ายค้านอยากได้ จะเคลื่อนไหวอย่างไร นายสุทิน กล่าวว่า คงต้องมาสรุปกันอีกครั้ง ต้องดูว่าสังคมเอาอย่างไร ต้องฟังสังคม เพราะสมัยการประชุมนี้จะยื่นอีกไม่ได้แล้ว เหมือนที่ตนเคยบอกว่า ถ้าโหวตตอนประชุมวิสามัญหรือสมัยประชุมที่แล้ว จะไม่เสียสิทธิในสมัยนี้ เพราะฉะนั้นถ้าร่างใดตกในวันนี้ สมัยประชุมนี้จะยื่นไม่ได้อีก
ส่วนกรณีหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนถูกตีตกไป มีแนวทางใดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้บ้าง นายสุทิน กล่าวว่า มีแนวทางหนึ่งโดยวันนี้ผู้อภิปรายของพรรคเพื่อไทยจะเสนอว่า อยากให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ด้วย แต่ว่ารัฐธรรมนูญให้เฉพาะสมาชิกรัฐสภา จึงมีความเป็นไปได้ที่จะให้เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษา สามารถเสนอแนะได้แต่ลงมติไม่ได้ เบื้องต้นยังไม่ได้มีการประสาน รอให้ผ่านก่อนและที่ปรึกษาสามารถตั้งภายหลังได้ พรรคเพื่อไทยอาจเสนอให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นที่ปรึกษา กมธ.
เมื่อถามย้ำว่า หากร่างของประชาชนถูกตีตกไปจะกลายเป็นชนวนความร้อนแรงหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า อยู่ที่คำอธิบาย รัฐบาลหรือว่าคนที่ไม่รับร่างจะอธิบายอย่างไร หากอธิบายดีและเขาเข้าใจและยอมรับก็ไม่น่าจะมีปัญหาแต่หากอธิบายไม่ดี เขารับไม่ได้ และไปสร้างเรื่องกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม อาจทำให้ความรุนแรงและความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องคิด
(นายจอน อึ้งภากรณ์ (กลาง) ผอ.ไอลอว์, ขอบคุณภาพจาก : https://www.thaipost.net/)
@เศร้า! ‘จอน’รับสภาพร่าง รธน.ไอลอว์น่าจะถูกตีตก-รับไม่ได้ ส.ว.บางคนใส่ร้าย
วันเดียวกันที่รัฐสภา นายจอน อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวถึงภาพรวมการพิจารณาร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ว่า พอใจกับการทำหน้าที่ของ ส.ส.ส่วนใหญ่ แต่ไม่ค่อยพอใจกับการทำหน้าที่ของ ส.ว.บางคน มีลักษณะกล่าวหาใส่ร้ายองค์กรที่ภูมิใจ นั่นก็คือไอลอว์ เพราะเราเป็นองค์กรที่ทำทุกอย่างถูกต้องโปร่งใส หากไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคประชนเรายินดี เพราะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่มาใส่ร้ายกล่าวหาว่าทุจริตบ้าง ได้เงินจากแหล่งทุนบ้าง โดยไม่มีข้อพิสูจน์ใด ๆ ถือว่าไม่แฟร์
เมื่อถามว่าจะชี้แจงอย่างไรกรณีที่ว่าแหล่งทุนนั่นเป็นแหล่งทุนเดียวกับการให้ม็อบฮ่องกง นายจอน กล่าวว่า ไม่ทราบว่าแหล่งทุนใดให้ทุนกับม็อบฮ่องกง แต่ถ้าเป็นการให้ทุนกับองค์กรที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนกรณีหากร่างของไอลอว์ถูกตีตกจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายจอน กล่าวว่า คาดอยู่แล้วว่าจะตีตก เชื่ออย่างนั้น คิดว่าซีกหนึ่งของสภานี้ไม่ได้อยู่กับความเป็นจริงของสังคมที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่กำลังมาเรียกร้องประชาธิปไตย ถ้าสภาส่วนหนึ่งไม่ตื่นตัวกับเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะจะทำให้สถานการณ์แย่ลง
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสมพงษ์ จาก https://www.thairath.co.th/
อ่านประกอบ : ม็อบราษฎรประกาศชัยชนะยุติชุมนุมหน้าสภา'อานนท์'นัดใหม่ที่แยกราชประสงค์18พ.ย.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage