“...มีการหารือกันว่า ในเชิงการเมืองมีความจำเป็นต้องมี ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่า รัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกอบกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา มีความไม่เหมาะสม หรือขัดแย้งกันเอง โดยบทบัญญัติในบางมาตราเกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของ ส.ส. หากดำเนินการโดยรัฐสภาอาจทำให้ประชาชนเห็นว่า เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนมากกว่าประชาชน ขณะเดียวกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันและยังเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านการเมืองของสังคมอีกด้วย…”
.........................
เริ่มต้นยกสอง!
สำหรับการอภิปรายแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย. 2563 โดยมีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรวม 7 ฉบับ แบ่งเป็นของฝ่ายค้าน 5 ฉบับ ฝ่ายรัฐบาล 1 ฉบับ และภาคประชาชน (ไอลอว์) 1 ฉบับ โดยในวันแรก (17 พ.ย. 2563) จะเริ่มอภิปรายถึง 24.00 น. และเริ่มลงมติในวันที่สอง (18 พ.ย. 2563) ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป และคาดว่าจะจบลงเวลา 18.00 น. (อ่านประกอบ : ประชุมร่วมรัฐสภาถกแก้ รธน.วันแรกอภิปรายถึงเที่ยงคืน-ตร.ตรึงกำลังเข้มรับมือม็อบ)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ท่าทีของ 2 ขั้วการเมืองใหญ่ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)แกนนำจัดตั้งรัฐบาล แถลงข่าวช่วงเย็นวันที่ 16 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมายืนยันพร้อมเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างจากฝ่ายรัฐบาล 1 ฉบับ และร่างจากพรรคเพื่อไทย 1 ฉบับ โดยทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 จัดตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ด้านซีกฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังประชุมร่วมพรรคฝ่ายค้านว่า จะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับดังกล่าว ส่วนร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนของไอลอว์ขอฟังการอภิปรายก่อน หลังจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทยอาจมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ (อ่านประกอบ : มติพปชร.รับร่าง รธน.2ฉบับเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ส่วนของ'ไอลอว์'ขอฟังอภิปรายก่อน)
ประเด็นสำคัญในการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การ ‘รับ-ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับดังกล่าว ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะฟังรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมมนูญฯ ก่อนรับหลักการ รัฐสภา ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อ ‘ลดแรงปะทะ’ จากม็อบ หลังจากมีการกดดันอยู่บริเวณหน้ารัฐสภาในวันดังกล่าว
อย่างไรก็ดี กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ คณะนี้ ไม่มี ‘ตัวแทนฝ่ายค้าน’ เข้าไปร่วมสังฆกรรมแม้แต่รายเดียว เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการตั้ง กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ เป็นแค่ ‘ปาหี่’ ยื้อเวลาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น?
รายงานผลการศึกษาของ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ ก่อนรับหลัการ รัฐสภา มีสาระสำคัญอะไรบ้าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
กมธ.ชุดนี้ ประกอบด้วย ส.ส. ส.ว. และผู้ทรงคุณวุฒิรวม 31 ราย มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นประธาน กมธ. โดยมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรวม 6 ฉบับ ไม่นับรวมฉบับไอลอว์ที่ยื่นญัตติเข้ามาไม่ทัน ซึ่ง กมธ. จะพิจารณาในส่วนข้อกฎหมายว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และความเห็นในทางกฎหมายว่าหากมีการดำเนินการดังกล่าวจะมีผลอย่างไร
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 6 ฉบับดังกล่าว แบ่งเป็นของฝ่ายค้าน 5 ฉบับ และฝ่ายรัฐบาล 1 ฉบับ โดยร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกจับตามากที่สุดมีอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ
1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภา และคณะ เป็นผู้เสนอ
2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ และคณะ เป็นผู้เสนอ
โดยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว กมธ.ได้หารือและมีผลสรุปออกมาคล้ายคลึงกัน ดังนี้
แนวทางที่หนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมโดยเพิ่มหมวด 15/1 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 โดยมีเหตุผล เช่น ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ขณะที่มาตรา 256/9 ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ กำหนดห้ามมิให้ ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) แก้ไขเพิ่มเติมความในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ นอกจากนี้เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาในวาระสาม จะต้องมีการทำประชามติด้วย
แนวทางที่สอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มหมวด 15/1 อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 โดยมีเหตุผล เช่น ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ โดยอ้างหลักกฎหมายมหาชนว่า หากไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจไว้จะกระทำมิได้ ไม่อาจนำประเด็นดังกล่าวไปทำประชามติตามมาตรา 166 ได้ เนื่องจากบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว ห้ามมิให้มีการทำประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยอาศัยช่องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) นอกจากนี้เจตนารมณ์ของมาตรา 256 คือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้น และศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะการสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่เป็นอำนาจของประชาชน
ขณะเดียวกันการเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีความชัดเจนว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 255 และมาตรา 256 (8) หรือไม่ และกรณีดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจและหน้าที่แก่ ส.ส.ร. ไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนสมาชิกรัฐสภา นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 255 และมาตรา 256 (8)
ส่วนประเด็นการออกเสียงประชามตินั้น แบ่งเป็น 2 แนวทางเช่นกัน โดย 1.เห็นว่าการออกเสียงประชามติก่อนรัฐสภารับหลักการ ไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติทำได้ 2.สามารถทำได้ 2 ครั้งคือครั้งแรกก่อนรัฐสภารับหลักการวาระหนึ่ง โดยส่งให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีการออกเสียงประชามติ และครั้งที่สองก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
นอกจากนี้ยังมีการหารือกันว่า ในเชิงการเมืองมีความจำเป็นต้องมี ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่า รัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกอบกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา มีความไม่เหมาะสม หรือขัดแย้งกันเอง โดยบทบัญญัติในบางมาตราเกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของ ส.ส. หากดำเนินการโดยรัฐสภาอาจทำให้ประชาชนเห็นว่า เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนมากกว่าประชาชน ขณะเดียวกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันและยังเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านการเมืองของสังคมอีกด้วย
สำหรับประเด็นการ ‘ค้าน’ มิให้มีการเปิดช่องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น การอภิปรายใน กมธ.ส่วนใหญ่มาจาก ส.ว. นำไปสู่การรวมตัวกันกับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ทั้งสิ้น 73 ราย (ส.ว. 48 ราย ส.ส. 25 ราย) เสนอญัตติต่อประธานสภา เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ อย่างที่รายงานกันไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! ญัตติ 73 ส.ส.-ส.ว.ใช้‘ช่องใหม่’ ชงศาล รธน.ชี้ขาดอำนาจสภาปมแก้รัฐธรรมนูญ?)
ท้ายที่สุดเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร รู้ผลกันแน่ภายในวันที่ 18 พ.ย.
อ่านประกอบ :
ประชุมร่วมรัฐสภาถกแก้ รธน.วันแรกอภิปรายถึงเที่ยงคืน-ตร.ตรึงกำลังเข้มรับมือม็อบ
มติพปชร.รับร่าง รธน.2ฉบับเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ส่วนของ'ไอลอว์'ขอฟังอภิปรายก่อน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage