“…รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ ประจำปีงบ 2564 ส่วนใหญ่อยู่ใน 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม โดยมีวงเงินภาระผูกพันรวมกันทั้งสิ้น 137,756.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61.69% ของวงเงินภาระผูกพัน 223,240.2 ล้านบาท…”
.............
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563 อนุมัติการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ ประจำปีงบ 2564 จำนวน 1,323 รายการ วงเงินภาระผูกพันทั้งสิ้น223,240.2 ล้านบาท โดยเป็นรายการที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป 32 รายการ วงเงิน 55,160.9 ล้านบาทนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่ารายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ ประจำปีงบ 2564 ส่วนใหญ่อยู่ใน 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม โดยมีวงเงินภาระผูกพันรวมกันทั้งสิ้น 137,756.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61.69% ของวงเงินภาระผูกพัน 223,240.2 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงที่ได้รับอนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบฯ รายการใหม่ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 กระทรวงคมนาคม จำนวน 257 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 73,801.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 33.05% ของวงเงินภาระผูกพันทั้งหมด
อันดับ 2 กระทรวงมหาดไทย จำนวน 419 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 39,281.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.59% ของวงเงินภาระผูกพันทั้งหมด
อันดับ 3 กระทรวงกลาโหม จำนวน 31 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 24,674.1 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.05% ของวงเงินภาระผูกพันทั้งหมด
อันดับ 4 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 37 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 21,063.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.43% ของวงเงินภาระผูกพันทั้งหมด
อันดับ 5 ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมของนายกรัฐมนตรี จำนวน 49 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 12,831.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.74% ของวงเงินภาระผูกพันทั้งหมด
(ที่มา : มติครม.เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563)
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบฯ รายการใหม่ จำนวน 32 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 55,160.9 ล้านบาท พบว่ามีดังนี้
กระทรวงกลาโหม จำนวน 3 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 10,705.9 ล้านบาท ได้แก่
1.กองทัพบก โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพ โครงการ ทบ.1421 ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 4,437.4 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 4,226.1 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 211.3 ล้านบาท
2.กองทัพอากาศ ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกำลังกองทัพ โครงการทอ.185 ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 4,725.0 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 4,500 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 225.0 ล้านบาท
3.กองทัพอากาศ ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกองทัพ โครงการทอ.187 ระยะเวลาโครงการ 2564-67 วงเงินภาระผูกพัน 1,543.5 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 1,470 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 73.5 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2562 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ระบุว่า รัฐบาลไทยมีแผนจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนโจมตีขนาดเบาจากสหรัฐ จำนวน 8 เครื่อง รวมระบบอาวุธ, เครื่องควบคุมการยิง, กล้องตรวจการณ์, ชิ้นส่วนควบคู่สำหรับซ่อมบำรุง ,ชิ้นส่วนซ่อมสำหรับการส่งกำลัง (ASL) เป็นระยะเวลา 2 ปี, รวมถึงการก่อสร้างโรงเก็บอากาศยาน พร้อมด้วยเครื่องช่วยฝึก (Simulator) และหลักสูตรการฝึกอบรม ในวงเงิน 4,226 ล้านบาท
ทั้งนี้ กองทัพบกได้เริ่มดำเนินการโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนติดอาวุธมาตั้งแต่ ปี 2554 โดยกำหนดความต้องการขั้นต่ำไว้ จำนวน 31 เครื่อง โดยได้รับอนุมัติจัดหาล็อตแรกไปแล้ว 8 เครื่อง และได้ขออนุมัติจัดหาล็อตสองอีก 8 เครื่อง
นอกจากนี้ ในรายงานสมุดปกขาวกองทัพอากาศ พ.ศ.2563 หรือ ‘RTAF White Paper 2020’ พบว่า กองทัพอากาศ มีแผนจัดหาเครื่องบินโจมตี จำนวน 12 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ ระบบสนับสนุนการฝึก การฝึกอบรม ระยะที่ 1 ผูกพันงบประมาณ 3 ปี (ปีงบ 2564-2566) วงเงินงบประมาณ 4,500 ล้านบาท
ส่วนเหตุผลในการจัดหานั้น กองทัพอากาศระบุว่า เนื่องจากเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบ 1 หรือ บ.ขฝ.1 ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งมีข้อขัดข้องและข้อจำกัดในการส่งกำลังบำรุง รวมทั้งเครื่องบินมีเทคโนโลยีล้าสมัย และจะครบกำหนดปลดประจำการในปี 2565 จึงต้องจัดหาทดแทน เพื่อรองรับการปฏิบัติภารกิจการโจมตีทางอากาศ ค้นหา และช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนการป้องกันประเทศ
กองทัพอากาศยังมีโครงการพัฒนาการปฏิบัติการในห้วงอวกาศ (ระยะที่ 1) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการในอวกาศ ด้านการสังเกตการณ์ห้วงอวกาศ การตรวจการณ์จากอวกาศ และการสื่อสารและโทรคมนาคมด้วยระบบดาวเทียม โดยการจัดหาดาวเทียม Micro Satellite จำนวน 2 ดวง พร้อมอุปกรณ์ Software และสถานีภาคพื้นรับสัญญาณ ระยะเวลาผูกพันงบประมาณ 3 ปี (ปีงบ 2564-2566) วงเงินงบประมาณ 1,470 ล้านบาท
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 8,803.6 ล้านบาท ได้แก่
1.กรมชลประทาน คลองระบายน้ำและอาคารประกอบ จ.นครศรีธรรมราช ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 2,889.0 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 2,751.4 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 137.6 ล้านบาท
2.กรมชลประทาน งานขุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 3 จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะเวลาโครงการ 2564-67 วงเงินภาระผูกพัน 3,919.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 3,733.1 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 186.7 ล้านบาท
3.กรมชลประทาน ปรับปรุงคลองยม-น่าน และอาคารประกอบ จ.สุโขทัย ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 1,994.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 1,899.8 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 95 ล้านบาท
กระทรวงคมนาคม 16 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 19,005.0 ล้านบาท มีโครงการที่น่าสนใจ เช่น
-กรมทางหลวง ทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 290 กับทางหลวงหมายเลข 304 จ.นครราชสีมา ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 1,659 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 1,580 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 79 ล้านบาท
-กรมทางหลวง สายทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านเหนือ จ.ฉะเชิงเทรา ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 1,207.5 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 1,150 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 57.5 ล้านบาท
-กรมท่าอากาศยาน งานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานตรัง ระยะเวลาโครงการ 2564-67 วงเงินภาระผูกพัน 1,890.0 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 1,800 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 90 ล้านบาท
กระทรวงมหาดไทย 3 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 5,566.4 ล้านบาท ได้แก่
1.สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าเช่าสัญญาณโครงข่ายวิทยุ (โครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย) ระยะเวลาโครงการ 2564-67 วงเงินภาระผูกพัน 1,896.6 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ 1,896.6 ล้านบาท ไม่มีการตั้งเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด
2.สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าเช่าสัญญาณโครงข่ายวิทยุ (โครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย) ระยะเวลาโครงการ 2564-65 วงเงินภาระผูกพัน 2,569.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 2,447.5 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 122.4 ล้านบาท
3.กรมการปกครอง ค่าเช่าคอมพิวเตอร์ให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนและบัตรประชาชนเพื่อทดแทนระบบเดิม 455 แห่ง ระยะเวลาโครงการ 2564-70 วงเงินภาระผูกพัน 1,100 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ 1,100 ล้านบาท ไม่มีการตั้งเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด
กระทรวงยุติธรรม 2 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 2,580.2 ล้านบาท ได้แก่
1.กรมราชทัณฑ์ ก่อสร้างเรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 1,561.7 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 1,487.3 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 74.4 ล้านบาท
2.กรมราชทัณฑ์ ปรับปรุงทัณฑสถานเปิดเกษตรอุตสาหกรรมหนองน้ำขุ่น ทัณฑสถานเปิดหนองน้ำขุ่น จ.นครสวรรค์ ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 1,018.5 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 970 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 48.5 ล้านบาท
กระทรวงสาธารณสุข 1 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 1,029.0 ล้านบาท ได้แก่
1.กรมการแพทย์ ลงทุนอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 1,029 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 980 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 49 ล้านบาท
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 1 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 1,029.0 ล้านบาท ได้แก่
1.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา จ.ชลบุรี ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 1,029 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 637 ล้านบาท เงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 49 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ 343 ล้านบาท
ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมของนายกรัฐมนตรี 1 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 4,058.4 ล้านบาท ได้แก่
1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงทุนอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ จำนวน 5 อาคาร ระยะเวลาโครงการ 2564-67 วงเงินภาระผูกพัน 4,058.4 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 3,865.1 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 193.3 ล้านบาท
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร 2 โครงการ วงเงินภาระผูกพัน 2,383.5 ล้านบาท ได้แก่
1.กรุงเทพมหานคร โครงการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำใต้ถนนพระรามที่ 6 จากคลองสามเสนลงสู่อุโมงค์ใต้คลองบางซื่อ ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 1,018.5 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 679 ล้านบาท เงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 48.5 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ 291 ล้านบาท
2.กรุงเทพมหานคร โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองเปรมประชากร ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภาถึงถนนแจ้งวัฒนะ ระยะเวลาโครงการ 2564-66 วงเงินภาระผูกพัน 1,365 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 650 ล้านบาท เงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 65 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ 650 ล้านบาท
เหล่านี้เป็นรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ ประจำปีงบ 2564 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเมื่อรวมกับภาระผูกพันรายการเดิมที่ครม.อนุมัติไว้แล้วก่อนปีงบ 2564 ที่มีวงเงินภาระผูกพันทั้งสิ้น 978,413.5 ล้านบาท ทำให้รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีฯที่ได้รับอนุมัติไปแล้วมีทั้งสิ้น 1,201,653.7 ล้านบาท
(ที่มา : มติครม.เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563)
ที่มาภาพปก : Thaigov.go.th
อ่านประกอบ :
ประกาศใช้พ.ร.บ.งบปี 64! วงเงิน 3.28 ล้านล้าน-'แบงก์ชาติ' ห่วงรัฐเก็บรายได้ต่ำเป้า
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
ชำแหละงบผูกพันปี 63 ‘รบ.บิ๊กตู่’ ซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ-เครื่องบินฝึก 14 ลำ 3 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/