"...โครงการก่อหนี้ผูกพันสำคัญๆของกระทรวงกลาโหมวงเงิน 63,383 ล้านบาทนั้น พบว่ามีโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2563-65 มีจำนวน 9 โครงการ วงเงิน 45,740 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในเอกสารรายการก่อหนี้ผูกพันส่วนใหญ่ไม่ได้มีการระบุรายชื่อโครงการเหมือนกับโครงการของหน่วยงานทั่วไป..."
หลังจากเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้หน่วยงานรับงบประมาณ ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 1,470 โครงการ เป็นวงเงินภาระผูกพันรวมทั้งสิ้น 307,602.2 ล้านบาท สำหรับรายการที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 43 รายการ วงเงิน 111,225 ล้านบาท
พร้อมทั้งมีมติให้หน่วยงานที่รับงบประมาณต้องรายงานผลประกวดราคาให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการต่อไปนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับรายการก่อหนี้ผูกพัน พบว่า ภายใต้กรอบวงเงินก่อหนี้ผูกพัน 307,602.2 ล้านบาทนั้น กระทรวงคมนาคมได้รับอนุมัติก่อหนี้ผูกพันเป็นวงเงินมากที่สุด โดยได้รับอนุมัติงบก่อหนี้ผูกพัน 93,966 ล้านบาท อันดับ 2 คือ กระทรวงกลาโหม ได้รับอนุมัติก่อหนี้ผูกพัน 63,383 ล้านบาท และอันดับ 3 คือ กระทรวงมหาดไทย ได้รับอนุมัติก่อหนี้ผูกพัน 41,809 ล้านบาท
สำหรับโครงการก่อหนี้ผูกพันของกระทรวงคมนาคมที่มีวงเงินนั้น 93,966 ล้านบาท พบว่า งบกว่า 84% หรือ 79,558 ล้านบาท เป็นงบก่อสร้างถนนสายต่างๆของกรมทางหลวง ระหว่างปีงบ 2563-2565 โดยโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท มีจำนวนทั้งสิ้น 14 โครงการ
เช่น ถนนสายนครสวรรค์-ชัยภูมิ ตอน อ.ชุมแสง-อ.หนองบัว ตอน 1 จ.นครสวรรค์ 1,050 ล้านบาท ถนนสายนครสวรรค์-ชัยภูมิ ตอน อ.ชุมแสง-อ.หนองบัว ตอน 2 จ.นครสวรรค์ 1,207 ล้านบาท ถนนสาย บ.วัด-อ.ประทาย จ.นครราชสีมา 1,050 ล้านบาท ถนนสายแยกอินทร์บุรี-อ.สากเหล็ก ตอน อ.ทับคล้อ-อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร 1207 ล้านบาท และถนนสายต.บางบุตร-ต.ชุมแสง ตอนบ.หนองพะวา-ต.ชุมแสง จ.ระยอง 1176 ล้านบาท
ขณะที่โครงการก่อหนี้ผูกพันสำคัญๆของกระทรวงกลาโหมวงเงิน 63,383 ล้านบาทนั้น พบว่ามีโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2563-65 มีจำนวน 9 โครงการ วงเงิน 45,740 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในเอกสารรายการก่อหนี้ผูกพันส่วนใหญ่ไม่ได้มีการระบุรายชื่อโครงการเหมือนกับโครงการของหน่วยงานทั่วไป ได้แก่
โครงการทบ.1414 ของกองทัพบก 1756 ล้านบาท (งบประมาณ 1,672.4 ล้านบาท และงบสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 83.6 ล้านบาท)
โครงการ ทบ.1401 ของกองทัพบก 4,740 ล้านบาท (งบประมาณ 4,515 ล้านบาท และงบสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 255.8 ล้านบาท)
โครงการ ทบ.1410 ของกองทัพบก 1,471 ล้านบาท (งบประมาณ 1,350 ล้านบาท และงบสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 67.5 ล้านบาท)
โครงการ ทร.290 จ.ชลบุรี ของกองทัพเรือ 1,044.8 ล้านบาท (งบประมาณ 995 ล้านบาท และงบสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 49.8 ล้านบาท)
โครงการ ทร.284 ของกองทัพเรือ 23,625 ล้านบาท (งบประมาณ 22,500 ล้านบาท และงบสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,125 ล้านบาท)
โครงการก่อสร้างทางวิ่ง และทางขับที่ 2 งบปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ของกองทัพเรือ 1,243.2 ล้านบาท (งบประมาณ 1,184 ล้านบาท และงบสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 59.2 ล้านบาท)
โครงการใหม่ผูกพัน ทอ.176 ของกองทัพอากาศ 5,454 ล้านบาท (งบประมาณ 5,195 ล้านบาท และงบสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 259 ล้านบาท)
โครงการผูกพันใหม่ ทอ.177 ของกองทัพอากาศ 2,572.5 ล้านบาท (งบประมาณ 2,450 ล้านบาท และงบสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 122.5 ล้านบาท)
โครงการผูกพันใหม่ ทอ.184 ของกองทัพอากาศ 3,885 ล้านบาท (งบประมาณ 3,700.9 ล้านบาท และงบสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 185 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจค้นข้อมูลพบว่า สำหรับโครงการ ทร.284 เป็นโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น ST26 เพิ่มเติมจำนวน 2 ลำ จากก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลคสช.อนุมัติก่อหนี้ผูกพันไปแล้ว 1 ลำเมื่อเดือนเม.ย.2560 วงเงิน 13,500 ล้านบาท (เรือดำน้ำจีนวุ่น ครม.ผูกพันงบส่อขัดกฎหมาย!)
นอกจากนี้ ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2563 'สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ' ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตสังกัดพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า ในปี 2560 สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติจัดซื้อแล้ว 1 ลำ และในปีงบ 2563 ขอจัดซื้ออีก 2 ลำ งบผูกพัน 22,500 ล้านบาท (อ้างอิงเดลินิวส์ ชงสภาตัดงบเรือดำน้ำ 2.25 หมื่นล้าน หวั่นซื้อมาปักเลน)
ส่วนโครงการทอ.176 ของกองทัพอากาศ เป็นโครงการโครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทน 12 เครื่อง ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (63-66) วงเงิน 5,195 ล้านบาท และโครงการ ทอ.177 ของกองทัพอากาศ เป็นโครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 (ระยะที่ 4) 2 เครื่อง ผูกพันงบปี 3 ปี (2563-65) วงเงิน 2,450 ล้านบาท (อ้างอิง สมุดปกขาวกองทัพอากาศ พ.ศ.2563 กรุงเทพธุรกิจ ทอ.เปิดแผนจัดซื้อยุทโธปกรณ์ระยะ 10 ปี)
ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดของรายการก่อหนี้ผูกพันปีงบ 2563 ที่ครม.ประยุทธ์ เพิ่งมีมติอนุมัติไปสดๆร้อนๆ เมื่อต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางมรสุมรุมเร้าเข้ามาทุกทิศทุกทาง
อ่านประกอบ :
‘ไวรัส’ ช็อกศก.แรงเกินคาด มาตรการรัฐแค่ ‘ประคอง’ แต่ไม่ 'กระตุ้น'
ครม.ไฟเขียวก่อหนี้ฯรวดเดียว 1.4 พันโครงการ 3 แสนล. ประมูลเสร็จต้องแจ้ง 'บิ๊กตู่'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/