"...มิเพียงเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ห้องสมุดแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือต้นฉบับ เอกสารหายาก และเอกสารด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา สิ่งแวดล้อม ชีววิทยาและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง เป็นศูนย์ข้อมูลแก่ผู้สนใจศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม และธรรมชาติศึกษา นอกจากนี้ บันทึกการประชุมของคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ( The Minute Books of the Council of the Siam Society ) ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก โดย Unesco ด้วย..."
ท่ามกลางความพลุกพล่านของการจราจรคับคั่งบนถนนอโศกมนตรี ณ ใจกลางย่านสุขุมวิทที่แวดล้อมด้วยตึกสูงตระหง่าน มีอาคารสีขาว 3 ชั้น เร้นซ่อนอยู่ในสวนที่เต็มไปด้วยความสงบร่มรื่น ทั้งที่เพียงก้าวเท้าออกมาพ้นอาณาบริเวณก็จะพบกับรถราที่ขวักไขว่จอแจ
สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช 2447 ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จุดมุ่งหมายเพื่อศึกษา ส่งเสริมศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง
ทั้งนี้ ในช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 เมื่อทั่วทั้งสังคมไทยและสังคมโลกต้องก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบปกติใหม่ หรือ New normal
หนึ่งในสถานที่ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org แวะไปเยือนเพื่อสัมผัสบรรยากาศการปรับตัว คือห้องสมุดต่างๆ ในยุค New Normal โดยที่ผ่านมาเราได้เดินทางไปเยือนห้องสมุดหลากหลายรูปแบบ
ทั้งห้องสมุดเด็กเล็ก (อ่านประกอบ : เยี่ยมชมห้องสมุดเด็กเล็ก 'ดรุณบรรณาลัย' กับการปรับตัวสู่ยุค New Normal (มีคลิป) )
ห้องสมุดในรั้วมหาวิทยาลัย ( อ่านประกอบ : (มีคลิป) หอสมุดปรีดีฯ ยุค New normal ในวันที่ยังไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้ )
รวมทั้งหอสมุดแห่งชาติที่เก็บรักษาหนังสือ วารสาร มรดกทางประวัติศาสตร์ไว้จำนวนมาก (อ่านประกอบ : ( มีคลิป ) 114 ปี หอสมุดแห่งชาติ ประวัติศาสตร์มีชีวิต)
สัปดาห์นี้ สำนักข่าวอิศราไปเยือนห้องสมุดสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกหนึ่งสถานที่ซึ่งเก็บรวบรวมหนังสือ เอกสาร วารสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่มีความเป็นมายาวนานถึง 116 ปี
ได้รับเลือกโดยกรมศิลปากร ให้เป็นองค์กรดีเด่นที่มีผลงานส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยและอาคารในพื้นที่ของสมาคม ยังได้รับการประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ศิลปกรรมดีเด่นในปี 2544 โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ในพระบรมราชูปถัมภ์
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับแต่ก่อตั้ง สยามสมาคมฯ ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ทรงรับสมาคมไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดมาทุกรัชกาล
ปัจจุบัน สยามสมาคมฯ มีองค์อนูปถัมภก 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงดำรงตำแหน่งองค์นายกกิตติมศักดิ์ด้วย
อุปนายกกิตติมศักดิ์ มี 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า อาชิ เคซัง โซเดน วังซุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน มกุฎราชกุมาร เจ้าชายอากิชิโน แห่งญี่ปุ่น และเจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก
ห้องสมุดแห่งนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการสยามสมาคมฯ โดยการเลือกตั้งจากสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบด้วย นายก อุปนายก เลขานุการกิตติมศักดิ์ บรรณารักษ์กิตติมศักดิ์ หัวหน้าแผนกวิชาธรรมชาติวิทยากิตติมศักดิ์ และกรรมการอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
รายนามนายกสยามสมาคมฯ ในอดีต อาทิ
Dr.O Frank Furter (ค.ศ.1906-1918) อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและบรรณารักษ์ใหญ่ของหอพระสมุดวชิรญาณ
Dr.H Campbell Highet (ค.ศ.1918-1921) อดีตเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
Prof.George Coedes (ค.ศ.1925-1930) นักโบราณคดี นักอ่านอักษรโบราณ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มหาอำมาตย์โท พระยาอินทรมนตรี ศรีจันทรกุมาร ( ค.ศ.Francis Giles ) (1930-1938) อธิบดีกรมสรรพากรคนแรก เป็นชาวต่างประเทศที่เข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5
Major Erik Seidenfaden (ค.ศ.1938-1940) นักการทูตชาวเดนมาร์ก ผู้มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเดนมาร์ก
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (ค.ศ.1940-1944,1947-1965)
เป็นต้น
สยามสมาคมฯ ได้รับการประกาศเป็นองค์กรสาธารณกุศล ตามประกาศของกระทรวงการคลัง คณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้ง จะดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี สมาชิกสมาคมประกอบด้วยบุคคลในทุกสาขาอาชีพ เป็นทั้งผู้มีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 50 สัญชาติ มีทั้งที่พำนักอยู่ในประเทศไทยและทั่วโลก
ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ใจกลางกรุง
นอกจากจัดตั้งห้องสมุดแล้ว สยามสมาคมฯ ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวมรวมโบราณวัตถุจำนวนไม่น้อย ซึ่งล้วนมีผู้ตั้งใจมอบไว้ให้สมาคมเก็บรักษาดูแลและเพื่อเป็นแหล่งความรู้แก่ประชาชนและสมาชิกของห้องสมุดแห่งนี้ อาทิ เกวียนโบราณที่มีผู้มอบให้ ถูกนำจัดแสดงไว้ด้านหน้าอาคาร เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของห้องสมุดแห่งนี้มายาวนาน
ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งค้นพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านหนองใหญ่ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์
ไหและภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ค้นพบที่ จ.อุดรธานี
เศียรพระพุทธรูป พระพุทธรูปโบราณปางต่างๆ ภาพจิตรกรรมโบราณ ไม้แกะสลัก และโบราณวัตถุอีกจำนวนมาก ซึ่งจัดแสดงให้ชมอยู่ตลอดรายทาง ทั้งตามแนวผนัง นับแต่ชั้น 1 ถึง ชั้น 3 และในตู้กระจกที่เก็บรวบรวมวัตถุทรงคุณค่าไว้อีกจำนวนมาก
มิเพียงเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ห้องสมุดแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือต้นฉบับ เอกสารหายาก และเอกสารด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา สิ่งแวดล้อม ชีววิทยาและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง เป็นศูนย์ข้อมูลแก่ผู้สนใจศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม และธรรมชาติศึกษา นอกจากนี้ บันทึกการประชุมของคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ( The Minute Books of the Council of the Siam Society ) ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก โดย Unesco ด้วย
พิณทิพย์ เกิดผลานันท์ บรรณารักษ์ห้องสมุดสยามสมาคมฯ
จากคำบอกเล่าของพิณทิพย์ เกิดผลานันท์ บรรณารักษ์ห้องสมุดสยามสมาคมฯ ผู้รับหน้าที่พาชมห้องสมุด อธิบายให้เห็นภาพว่า หนึ่งในสิ่งที่ทำให้บันทึกการประชุมของคณะกรรมการสยามสมาคมฯ ทรงคุณค่าและได้รับรางวัลจากยูเนสโก เนื่องจากไม่เพียงบันทึกวาระ หัวข้อ ประเด็นการประชุมต่างๆ ทว่า ในบันทึกแต่ละฉบับ ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในยุคสมัยนั้นๆ อาทิ ช่วงสงครามโลก มีการระบุประเด็นปัญหาเรื่องภาวะข้าวยากหมากแพง และกระดาษที่มีราคาแพง หาซื้อได้ยาก ทำให้การจัดหา จัดทำหนังสือเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
ห้องสมุดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่จัดบรรยาย เสวนาหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี มีการจัดแสดงดนตรีคลาสสิค มีการจัดการศึกษาสัญจรเพื่อศึกษาศิลปะ ประวัติศาสตร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่ของสมาคม ยังมีพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา "เรือนคำเที่ยง" และ "เรือนแสงอรุณ" ซึ่งเป็นเรือนไทยโบราณล้านนา และเรือนไทยโบราณภาคกลางที่มีความสวยงามและสมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการซ่อมบำรุง จะเปิดให้ชมได้อีกครั้งราวปลายปี 2563
ความเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤติโควิด-19
พิณทิพย์ บรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งนี้ เล่าว่าช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ห้องสมุดสยามสมาคมฯ จัดบรรยายเสวนา ไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อเดือน แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ห้องสมุดปิดทำการไปตลอดทั้งเดือนเมษายน และกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม
การบรรยายในช่วงหลังโควิด ลดจำนวนครั้งต่อเดือนลง แต่ยังคงมีอยู่ เป็นหนึ่งในรูปแบบของการปรับตัวสู่ยุค New Normal ควบคู่ไปกับการปรับตัวในรูปแบบอื่นๆ อาทิ มีการจัดเก้าอี้ โต๊ะนั่งอ่านหนังสือให้เว้นระยะห่าง จากเดิมทีตั้งโต๊ะเก้าอี้ ไว้ติดกัน มีเจลแอลกอฮอล์ให้ใช้บริการในหลายจุดของห้องสมุด มีการสแกนอุณหภูมิก่อนเข้าใช้บริการ จุดที่สมาชิกหรือผู้เข้าใช้บริการต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่มีการติดตั้งแผ่นใสกั้นระหว่างกัน
หัวหน้าบรรณษรักษ์อีกรายหนึ่งของห้องสมุด ระบุว่า นับแต่หลังวิกฤติโควิด-19 ในช่วงแรก สมาชิกผู้เข้าใช้บริการลดน้อยลง สมาชิกบางส่วนที่เป็นชาวต่างประเทศ อยู่ต่างประเทศ ไม่อาจเดินทางเข้าประเทศไทยได้ในช่วงที่ปิดน่านฟ้า ขณะที่สมาชิกบางส่วนที่อยู่ในไทย มีไม่น้อยที่ปฏิบัติตามแนวทางหยุดเชื้อเพื่อชาติหรือล็อคดาวน์ แต่ในระยะหลัง สมาชิกของห้องสมุดที่อยู่ในประเทศไทยเริ่มกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง
หลังวิกฤติโควิด-19 และการเริ่มกลับมาจัดกิจกรรมบรรยายอีกครั้งแม้จำนวนครั้งที่จัดยังไม่บ่อยเท่าเดิม แต่ก็แสดงให้เห็นว่าห้องสมุดที่เป็นทั้งสถานที่เก็บรวบรวมเอกสาร หนังสือ และแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ใจกลางกรุงแห่งนี้ พร้อมแล้วสำหรับการปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่ หลังจากต้องปิดไปนานนับเดือนก่อนหน้านี้
สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ยืนหยัดมาแล้วถึง 116 ปี จึงนับเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่พร้อมผสมผสานเอกลักษณ์เฉพาะตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ของโลกยุคหลังวิกฤติโควิด-19