"...แม้ภาพบรรยากาศในวันนี้ จะต่างไปจากเดิมที่เคยมีเด็กๆ และผู้ปกครองหลายครอบครัวนั่งกันแน่นขนัดเต็มพื้นสนามหญ้าบนเสื่อผืนใหญ่ผืนเดียวกัน เด็กๆ ยื่นหน้ามาแทบชิดกับหนังสือนิทานในมือของพี่ๆ เจ้าหน้าที่ห้องสมุด แปรเปลี่ยนเป็นเสื่อแต่ละผืน สำหรับแต่ละครอบครัว จัดวางแบบเว้นระยะห่างตามแบบวิถี New normal แต่บรรยากาศของความสุขและความอบอุ่นที่เด็กๆ ได้รับยังคงเดิม จึงยังมีผู้แวะเวียนมายังห้องสมุดเด็กเล็กอันร่มรื่นแห่งนี้อยู่เสมอ นับแต่กลับมาเปิดให้ใช้บริการอีกครั้งหลังวิกฤติโควิด-19..."
เรือนปั้นหยาหลังคาสีเขียวอ่อน อายุไม่น้อยกว่า 100 ปี ท่ามกลางความร่มรื่นของไม้ใหญ่ คลอด้วยเสียงนกตัวเล็กขับขาน ให้ความรู้สึกราวกับที่นี่อยู่ห่างจากมหานครที่แสนพลุกพล่าน
แต่แท้แล้วห้องสมุดเด็กเล็กแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยนี้ ตั้งอยู่ ณ ซอยเจริญกรุง 34 ในกรุงเทพมหานครนี่เอง
เสียงเจ้าหน้าที่เล่านิทานอย่างสนุกสนาน ตรึงเด็กๆ ให้นั่งฟังอย่างมีสมาธิและจดจ่อ คือกิจกรรมหลักที่ผู้มาเยือนห้องสมุดแห่งนี้คุ้นชินเป็นอย่างดี
แม้ภาพบรรยากาศในวันนี้ จะต่างไปจากเดิมที่เคยมีเด็กๆ และผู้ปกครองนั่งกันแน่นขนัดเต็มพื้นสนามหญ้า เด็กๆ ยื่นหน้ามาแทบชิดกับหนังสือนิทานในมือของพี่ๆ เจ้าหน้าที่ห้องสมุด แปรเปลี่ยนเป็นเสื่อแต่ละผืน สำหรับแต่ละครอบครัว จัดวางแบบเว้นระยะห่างตามแบบวิถี New normal แต่บรรยากาศของความสุขและความอบอุ่นที่เด็กๆ และแต่ละครอบครัวได้รับยังคงเดิม จึงยังมีผู้แวะเวียนมายังห้องสมุดเด็กเล็กอันร่มรื่นแห่งนี้อยู่เสมอ นับแต่ห้องสมุดกลับมาเปิดให้ใช้บริการอีกครั้งหลังวิกฤติโควิด-19 ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
ด้วยความสนใจว่าการเป็นห้องสมุดเด็กเล็กจะมีวิธีรับมือหรือปรับตัวสู่วิถี New Normal อย่างไร สำนักข่าวอิศรา ( www.isranews.org ) จึงถือโอกาสเยี่ยมชมและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย เพื่อสอบถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การปรับตัว รวมทั้งถามไถ่ถึงเรื่องราวในหลายมิติ ทั้งแนวคิด จุดเริ่มต้น และความเป็นมาของห้องสมุดเด็กแห่งนี้
@ ความเป็นมาบนพื้นที่ประวัติศาสตร์และบรรยากาศก่อนยุคโควิด
สุพรรษา เกาศล และ คัธริน กอประคอง เจ้าหน้าที่ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย ผลัดกันเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับห้องสมุดแห่งนี้ ทั้งคู่ยืนยันว่าที่นี่คือห้องสมุดเด็กปฐมวัยสำหรับเด็ก 0-7 ปี แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ต่างจากห้องสมุดแห่งอื่นๆ ที่อาจมีโซนสำหรับหนังสือเด็กอยู่บ้าง ทว่า ที่นี่มีหนังสือทั้งหมดเป็นหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัย
คัธรินเล่าว่า ห้องสมุดแห่งนี้ เดิมเป็นบ้านที่สร้างให้สำหรับข้าราชบริพารในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยบ้านหลังนี้สร้างให้กับเจ้าเมืองไชยาก่อนจะถูกส่งมอบให้กับบุตรหลานในสมัยนั้น ต่อมาเป็นบุตรสาวของเจ้าเมืองไชยาได้ส่งมอบบ้านคืนให้กับรัฐบาล อาคารหลังนี้จึงเป็นของรัฐบาล หรือเป็นที่ราชพัสดุนั่นเอง
“ช่วงแรก อาคารนี้ถูกใช้เป็นกองปราบปรามสรรพสามิตร วัดม่วงแค ทำงานควบคู่กับท่าเรือบางรัก ในยุคที่มีเรือสำเภาจากต่างประเทศเข้ามา ใครหนีภาษีมาก็จะโดนจับมาที่นี่ซึ่งถูกใช้เป็นอาคารสำนักงาน เมื่อท่าเรือสำหรับค้าสำเภาไม่มีแล้ว กองปราบปรามสรรพสามิตรก็ยุบไป ที่ก็โอนย้ายไปอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบัน ก็ยังอยู่ในสังกัดพื้นที่ของกระทรวงสาธารณสุข โดยช่วงแรกอยู่ในสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์สุขภาพจิตที่ 13” คัธรินระบุ ก่อนเพิ่มเติมว่า ช่วงที่เป็นสถาบันราชานุกูล อาคารนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่ดูแลเด็กพิเศษ แล้วก็ทรุดโทรมลง จึงมีการสร้างตึกใหม่ ข้างๆ อาคารหลังนี้ก็ถูกปิดไว้ ต่อมาได้งบแปรญัตติจากสภาผู้แทนราษฎร ทางสถาบันราชานุกูลก็อยากเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ แต่ตอนนั้น ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ทางมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กซึ่งในตอนนั้นทำโครงการร่วมกับสถาบันราชานุกูลอยู่จึงเสนอว่าทำเป็นห้องสมุดก็แล้วกัน เพราะการทำห้องสมุดจะทำให้เด็กเข้าถึงหนังสือที่หลากหลายได้ เมื่อได้งบจากการแปรญัตติแล้ว จึงจัดทำห้องสมุดนี้ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ห้องสมุดแห่งนี้จึงเป็นโครงการร่วมระหว่างสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก โดยในการก่อตั้งเริ่มต้นได้งบแปรญัติและได้งบช่วยเหลือจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วย ห้องสมุดเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน มกราคม 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเปิดห้องสมุด เมื่อเดือนกันยายน 2559
@ แนวคิดและแรงบันดาลใจในการออกแบบ
คัธริน เล่าว่า เมื่อครั้งที่ซ่อมแซมอาคารแห่งนี้ กรมศิลปากรรับหน้าที่บูรณะโดยกำหนดให้มีรูปแบบคงเดิมที่สุด รูปแบบศิลปะของบ้านหลังนี้เรียกว่าทรงปั้นหยาซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 อีกทั้งเลียนแบบลักษณะบ้านเรือนข้าราชบริพารทางใต้ เนื่องจากเป็นบ้านพักที่มอบให้เจ้าเมืองไชยา
นอกจากนี้ ในกระบวนการออกแบบตกแต่งภายใน ได้สถาปนิกจาก Plan Architect มาออกแบบให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นจิตอาสา โดยมีแนวคิดคือบ้านต้นไม้ เป็นบ้านหนังสือ มีความเป็นต้นไม้ มีใบ บนเพดานก็สื่อถึงใบไม้ เพราะก่อนที่จะมีการปรับปรุงเป็นห้องสมุด บริเวณข้างนอกอาคารแห่งนี้เป็นสวนทั้งหมด ผู้ออกแบบจึงอยากจะอิงสภาพเดิมไว้ด้วย ส่วนการออกแบบตู้หนังสือ ตั้งใจให้มีระยะเท่ากับความสูงของเด็กๆ หรืออยู่ในระยะที่เด็กเอื้อมถึงและมีการลบเหลี่ยมมุมของตู้หนังสือด้วย
สุพรรษาเล่าเพิ่มเติมถึงแนวคิดของห้องสมุดแห่งนี้ว่า “ห้องสมุดนี้ได้แนวคิดมาจากบุงโกะคำว่า “บุงโกะ” เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่าบ้านหนังสือ เพราะคนญี่ปุ่นจะสนใจการอ่าน ชุมชนที่ห่างไกลจากห้องสมุดในตัวเมืองก็จะมาตกลงกันว่าจะให้บ้านหลังหนึ่ง ของคนหนึ่งคนในชุมชน ทำเป็นห้องสมุดโดยให้ทุกคนช่วยกันซื้อหนังสือเข้ามา แล้วให้บ้านหลังนี้เปิดวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้เด็กในชุมชนเข้ามาอ่านกัน แล้วบุงโกะ ก็จะมีทั้งประเภทบ้านที่พ่อแม่ที่มีหนังสือเด็กเยอะแล้ว ก็อยากเปิดบ้านให้กลายเป็นห้องสมุดด้วย"
@ ความคึกคักก่อนช่วงวิกฤติโควิด
สุพรรษาและคัธรินยืนยันว่า ช่วงที่ห้องสมุดเปิดทำการในช่วงแรกๆ คึกคักมาก ความตั้งใจแรกเริ่มของห้องสมุดนี้คือ เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กปฐมวัย 0-7 ปี ไม่เก็บค่าใช้บริการ เพราะอยากให้ทุกคนเข้าถึงหนังสือได้ หากยืมหนังสือก็จะมีค่าสมัครสมาชิกเพื่อเป็นค่าประกันหนังสือ โดยค่าสมาชิกรายปี ปีละ 200 บาท ยืมได้ 3 เล่ม ระยะเวลายืม 2 สัปดาห์
“ช่วงก่อนโควิดเราจะมีกิจกรรมทุก 2 อาทิตย์เลย มีกิจกรรมพิเศษ มีเวิร์คช้อป เช่น ทำอาหารสำหรับเด็ก มีอบรมพ่อแม่ สำหรับการใช้หนังสือสำหรับเด็ก หรือแม้กระทั่ง นำนิสิตนักศึกษาเยี่ยมชม ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่เรียนด้านปฐมวัยและบรรณารักษ์ เรียนด้านห้องสมุด มาศึกษาเรียนรู้ ดูงานที่นี่” คัธรินระบุ
สุพรรษาเล่าว่า เด็กที่เข้ามาใช้บริการที่ห้องสมุดแห่งนี้เยอะที่สุดคือเด็กในช่วงวัย 2-4 ปี โดยเฉพาะถ้ามีกิจกรรม ในช่วงก่อนโควิดเด็กจะแน่นเต็มลานสนาม นอกจากนี้ ห้องสมุดยังมีการมอบรางวัลให้กับเด็กๆ ที่มียอดยืมหนังสือเกิน 100 เล่ม
“ปีที่แล้ว มีเด็กที่ได้ที่ 1 ยืมหนังสือได้ 600 เล่ม ในปีแรกๆ คนที่อ่านเกิน 100 เล่ม มีประมาณ 13 คน แต่ปีที่ผ่านมามีถึง 60 คน ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ปีนี้คงยอดตก” สุพรรษาระบุ
@ ปรับตัวสู่วิถี New normal
“อย่างที่เห็นว่ากิจกรรมเล่านิทานเราจะใช้เสื่อแยกกัน ปกติจะใช้เสื่อใหญ่อันเดียว แล้วเด็กก็อยากมาดูใกล้ๆ จะเข้ามาใกล้ชิดเลย ปัจจุบันก็ต้องอยู่ห่างๆ ก่อนเข้าห้องสมุดก็ให้มีการลงทะเบียน มีทั้งการเขียนกรอกข้อมูล และสแกนคิวอาร์โคว้ดไทยชนะ ส่วนแอลกอฮออล์ มีตั้งไว้ให้ใช้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ก็มีการขีดเส้น เว้นระยะต่อคิวคืนหนังสือ” สุพรรษาระบุ
ด้าน คัธรินเล่าว่า “หนังสือทุกเล่มของเรา เมื่อรับคืนมาแล้วเราจะทำความสะอาดด้วยเดทตอลผสมน้ำ คือก่อนหน้านี้ ก็ทำความสะอาดกันทุกเดือนอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้ หนังสือที่เอามาคืนก็เช็ดทำความสะอาดทุกหน้า ทุกเล่ม ทั้งหมดเลย ก่อนเอากลับขึ้นไปวางบนชั้นหนังสืออีกครั้ง แล้วก็มีการฆ่าเชื้อด้วย UVC มีการทำความสะอาดทุกวัน เช้า เย็น อุปกรณ์เครื่องเด็กเล่นในสนามเด็กเล่นด้วย เจ้าหน้าที่จะเอาน้ำยาเดทตอลผสมน้ำไปเช็ดถูทำความสะอาดทุกวัน”
สุพรรษาเล่าว่า “มีการขอความร่วมมือให้เด็กใส่แมสก์ ภายใต้เงื่อนไขว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเราไม่สามารถไปบังคับเด็กทุกคนได้ เด็กหลายคนก็ยังเล็ก พ่อแม่บางคนลูกยังเล็กมาก ไม่อยากให้ลูกใส่แมสก์ เราก็ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ซึ่งถ้ากรณีที่เด็กไม่อยากใส่แมสก์ก็สามารถนำหนังสือไปอ่านในสวนได้”
เจ้าหน้าที่ห้องสมุดทั้งสองรายนี้ ยืนยันว่า ช่วงที่โควิดระบาดหนักห้องสมุดดรุณบรรณาลัยปิดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม แล้วเพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเปิดวันพุธ-วันอาทิตย์
มีการงดกิจกรรมเวิร์คช้อปที่เป็นการทำอาหารและการประดิษฐ์ของเล่น ซึ่งเคยเป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องช่วงก่อนโควิด และยังไม่แน่ชัดว่าห้องสมุดจะริเริ่มให้มีการกลับมาจัดเวิร์คช้อปได้อีกครั้งเมื่อไหร่ ทั้งคู่ยืนยันว่า ขอรอไปอีกสักระยะ
ส่วนกิจกรรมเล่านิทานในสวน เพิ่งกลับมาจัดดังเดิมเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยมีการเว้นระยะห่างแต่ละครอบครัวดังที่เห็น
ส่วนภายในห้องสมุด จากเดิมห้องหนึ่งจะมีผู้ใช้บริการอยู่ประมาณ 5-6 ครอบครัว ก็ขอให้มีการเว้นระยะห่าง จำนวนแต่ละห้องมีผู้ใช้ลดลง “ส่วนหลุมอ่านนิทาน หลุมหนึ่งจะนั่งกันได้ 2 ครอบครัว แต่เมื่อช่วงโควิดก็ขอให้ใช้หลุมหนึ่งต่อหนึ่งครอบครัว ช่วงก่อนโควิด เด็กๆ ก็จะวิ่งไปหาพ่อแม่ที่เล่านิทานสนุก ให้พ่อแม่คนอื่นเล่าให้ฟัง เช่น คุณพ่อคนนี้เล่าสนุก เด็กๆ จากครอบครัวอื่นๆ ก็จะรวมตัวกันไปให้คุณพ่อท่านนี้เล่าให้กันฟัง คุณพ่อคุณแม่ก็กลายเป็นเพื่อนกัน ลูกๆ ก็กลายเป็นเพื่อนกันแม้จะอยู่คนละโรงเรียน เป็นบรรยากาศที่คึกคักก่อนโควิด”
สุพรรษาเล่าย้อนถึงบรรยากาศความคึกคัก
@ คุณแม่และลูกพร้อมปรับตัวสู่ยุคหลังวิกฤติโควิด
นอกจากการปรับตัวของห้องสมุดแล้ว
วิมลวรรณ ยุทธาวรกูล คุณแม่ของน้องตะวัน ลูกชายวัย 3 ขวบ 10 เดือน ที่มาใช้บริการห้องสมุดดรุณบรรณาลัยแห่งนี้ เล่าถึงการปรับตัวของตนและลูกชาย วิมลวรรณเล่าว่ารู้จักห้องสมุดแห่งนี้จากการแนะนำของเพื่อน มาใช้บริการครั้งนี้เป็นสัปดาห์ที่ 3 แล้ว เพราะลูกชายรู้สึกชื่นชอบตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้มาก็ขอให้พามาอีก
“การปรับตัวแบบนิว นอร์มอล ก็ให้ลูกชายใส่แมสก์ ใช้เจลล้างมือเสมอ เพราะลูกยังเด็กเขาก็มักวิ่งไปจับนั่นจับนี่ จับราวบันไดบ้าง ก็จะให้ใช้เจลล้างมือบ่อยๆ เขาก็ชินแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ลูกชายปรับตัวได้ดี” วิมลวรรณระบุ และตั้งใจจะพาลูกชายมาที่ห้องสมุดแห่งนี้อีกในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แม้บ้านจะอยู่ไกลถึงพุทธมณฑลสาย 5 ก็ตาม
ในยุคที่ทุกคนต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่ หลายสิ่งหลายอย่างต้องการความใส่ใจต่างไปจากเดิมอย่างมาก แต่ห้องสมุดแห่งนี้ ก็ยังเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่พร้อมปรับตัวและก้าวเคียงข้างไปกับเด็กๆ สู่ยุคสมัยหลังวิกฤติดโควิด 19 ที่แม้อาจต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าที่กิจกรรมเวิร์คช้อปต่างๆ จะกลับมาจัดอีกครั้งตามคำเรียกร้องของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
แต่ในแง่หนึ่ง ห้องสมุดแห่งนี้ ก็ยังคงพร้อมให้บริการด้วยหนังสือ ด้วยบริบทของพื้นที่และการจัดการที่ปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบ New normalได้อย่างน่าสนใจ