ก่อนยุควิกฤติโควิด-19 หอสมุดแห่งนี้รองรับผู้คนมากมาย ไม่เพียงเฉพาะนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้บริการด้วยอัตราค่าเข้าใช้เพียง 20 บาทต่อคน ใช้บริการได้ทั้งวัน ทว่า ในยุค New normal หอสมุดแห่งนี้ ต้องปรับตัวสู่วิถีปกติใหม่ ไม่ต่างจากสถานที่หลายๆแห่ง จากจำนวนที่เคยรองรับได้ 1,200 คนต่อวัน ปรับลดจำนวนลงมาเหลือเพียง 300 กว่าที่นั่งเท่านั้น และยังไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้บริการ
หลังจากไปเยี่ยมชมหอสมุดเด็กหลังการปรับตัวยุค New normal แล้ว สัปดาห์นี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ไปเยี่ยมชมหอสมุดในรั้วมหาวิทยาลัยกันบ้าง
หอสมุดปรีดี พนมยงค์ หอสมุด 3 ชั้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินแห่งนี้
มีหนังสือมากมายแทบทุกหมวดหมู่ ไม่ว่า ประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ วารสาร นิตยสาร หนังสือพิมพ์ งานวิจัย หนังสือภาษาต่างประเทศ วรรณกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ ฯลฯ รวมทั้งสื่อวีดิทัศน์
ก่อนยุควิกฤติโควิด-19 หอสมุดแห่งนี้รองรับผู้คนมากมาย ไม่เพียงเฉพาะนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้บริการด้วยอัตราค่าเข้าใช้เพียง 20 บาทต่อคน ใช้บริการได้ทั้งวัน
อีกทั้งมีบริเวณที่จัดเป็นโซน หนังสือ เอกสารของผู้ประศานส์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์โดยเฉพาะ อาทิ หนังสือเกี่ยวกับหลักและแนวคิดในการก่อร่างคณะราษฎร หนังสือสมุดปกเหลือง เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หนังสือเกี่ยวกับแนวคิดระบอบประชาธิปไตยอันประกอบด้วยหลัก 6 ประการ คือเอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา ที่ล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย และเป็นบริเวณที่ได้รับความสนใจจากทั้งบุคคลภายนอกและนักศึกษาที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย เข้ามาใช้บริการอ่านหนังสือ ณ พื้นที่แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง
หอสมุดปรีดี พนมยงค์ เคยรองรับผู้เข้าใช้บริการได้มากถึง 1,200 คนต่อวัน
ทว่า ในยุค New normal หอสมุดแห่งนี้ ต้องปรับตัวสู่วิถีปกติใหม่ ไม่ต่างจากสถานที่หลายๆแห่ง
จากจำนวนที่เคยรองรับได้ 1,200 คนต่อวัน ปรับลดจำนวนลงมาเหลือเพียง 300 กว่าที่นั่งเท่านั้น และยังไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้บริการ การเยี่ยมชมในวันนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงทำได้เพียงเยี่ยมชมอยู่ภายนอกเท่านั้น
โดยยังไม่มีกำหนดว่าจะกลับมาเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้บริการได้อีกเมื่อไหร่
บรรณารักษ์หอสมุดแห่งนี้ เล่าว่า การปรับตัวภายในหอสมุด ในวิถีแบบ นิว นอร์มัล มีหลายอย่าง อาทิ มีการนำสายมารัดเก้าอี้ที่ห้ามนั่ง ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายได้ ส่วนตัวใดที่อนุญาตให้นั่ง ก็สามารถเคลื่อนย้ายได้
โต๊ะหนึ่งๆเคยมีคนนั่งได้ 4 คน ก็จำกัดลงมาเหลือเพียงโต๊ะละ 2 คนเท่านั้น
การใช้ลิฟท์ เมื่อเข้าไปในลิฟท์ จะมีเครื่องหมายระบุตำแหน่งให้ยืนได้เพียง 4 คน และจะมีการทำความสะอาดลิฟท์ทุกชั่วโมง
นอกจากนี้ หอสมุด ยังกั้นพื้นที่และทำเครื่องหมายทางเข้าออก ให้เหลือเพียงเข้าทางเดียว ออกทางเดียว จากเดิมที่จะเข้าออกทางฝั่งบันไดขึ้น-ลงฝั่งไหนก็ได้
ก่อนเข้าใช้บริการหอสมุดทุกครั้ง ต้องสแกนคิวอาร์โค้ด ไทยชนะ หรือกรอกลงทะเบียน ตรวจวัดอุณหภูมิ และตลอดระยะเวลาที่อยู่ในหอสมุด ต้องใส่หน้ากากอนามัย
หอสมุดยังมีมีนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ เครื่องใช้เจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติ เพียงยื่นฝ่ามือไปที่ใต้เครื่องโดยไม่ต้องสัมผัสกับเครื่อง เจลก็จะออกมาเกือบในทันที
หลังวิกฤติโควิด-19 จากบรรยากาศที่หอสมุดปรีดีฯ เคยคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย ในวันนี้จึงลดน้อยลง ดังคำที่บรรณารักษ์บอกว่า มีผู้ใช้บริการเพียงหลักร้อยคนเท่านั้นซึ่งอาจเนื่องมาจากยังเป็นช่วงปิดเทอม เมื่อเปิดเทอมในเดือนสิงหาคม อาจมีผู้ใช้บริการเต็มจำนวนที่จำกัดไว้คือ 300 กว่าคน
ในยุค New normal หอสมุดแห่งนี้ จึงเป็นหนึ่งในสถานที่แห่งความทรงจำของเหล่าหนอนหนังสือที่ไม่ใช่บุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ยังคงโทรศัพท์เข้ามาสอบถามบรรณารักษ์อย่างต่อเนื่องว่าห้องสมุดจะกลับมาเปิดบริการอีกเมื่อไหร่
เป็นสิ่งที่ใครหลายคนเฝ้ารอ และคาดหวังว่าจะได้กลับมาเยือนหอสมุดอันเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้อีกครั้ง แม้จะยังไม่มีกำหนดเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้ในเร็ววันนี้ก็ตาม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เยี่ยมชมห้องสมุดเด็กเล็ก 'ดรุณบรรณาลัย' กับการปรับตัวสู่ยุค New Normal (มีคลิป)