...ภายใต้รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูโอ่โถงน่าเกรงขาม เมื่อเข้ามาด้านในจะพบกับความทันสมัยของจอทัช สกรีน ขนาดใหญ่สำหรับอ่านนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างประเทศในรูปแบบดิจิทัล ผสานหลอมรวมกับการเป็นพื้นที่ในชั้นต่างๆ ที่เก็บรักษาคลังประวัติศาสตร์คือหนังสือ สิ่งพิมพ์ วารสาร นิตยสาร วรรณกรรม ประวัติศาตร์ พงศาวดาร รวมถึงราชกิจจานุเบกษานับแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งหนังสือหายากอื่นๆ...
อาคารหลังคาทรงไทยสูงตระหง่าน 5 ชั้น ณ บริเวณท่าวาสุกรี ถนนสามเสนแห่งนี้ คือที่ตั้งของ หอสมุดแห่งชาติ ในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509
ภายใต้รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูโอ่โถงน่าเกรงขาม เมื่อเข้ามาด้านในจะพบกับความทันสมัยของจอทัช สกรีน ขนาดใหญ่สำหรับอ่านนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างประเทศในรูปแบบดิจิทัล ผสานหลอมรวมกับการเป็นพื้นที่ในชั้นต่างๆ ที่เก็บรักษาคลังประวัติศาสตร์คือหนังสือ สิ่งพิมพ์ วารสาร นิตยสาร วรรณกรรม ประวัติศาตร์ พงศาวดาร รวมถึงราชกิจจานุเบกษานับแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีหนังสือพิมพ์ไทย ฉบับทั้งในปัจจุบันและนับแต่อดีต มีกระทั่ง ดรุโณวาท และบางกอกรีคอร์เดอร์ รวมทั้งหนังสือหายากอื่นๆ อาทิ จารึกพระธรรม จารึกใบลาน และหนังสือภาษาต่างประเทศอีกจำนวนมาก
นับเป็นแหล่งรวมสรรพความรู้ที่มีให้ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
@114 ปี ที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลา
ย้อนไปยังกำเนิดแรกสุด หอสมุดแห่งนี้ผ่านกาลเวลามายาวนานถึง 114 ปีแล้ว นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครกลับจากเสด็จประพาสยุโรปและทรงมีพระราชดำริให้ขยายกิจการหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งแต่เดิมทีเป็นหอพระสมุดสำหรับราชสกุล ให้เป็นหอสมุดสำหรับบริการประชาชนทั่วไป โดยจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2448 ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมหาราชวัง ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะมีการย้ายสถานที่ เปลี่ยนแปลงไปตามห้วงเวลาต่างๆ ก่อนมาตั้ง ณ บริเวณท่าวาสุกรีจวบจนปัจจุบัน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ หอสมุดแห่งชาติ ระบุรายละเอียดในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ว่า …ต่อมาในปีพุทธศักราช 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครจากเดิมที่ตั้งอยู่ที่ศาลาสหทัยสมาคมมาไว้ที่ตึกใหญ่ริมถนนหน้าพระธาตุซึ่งเรียกว่า "ตึกถาวรวัตถุ" และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2459
ในปีพุทธศักราช 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้แยกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครออกเป็น 2 หอ คือ "หอพระสมุดวชิราวุธ" ตั้งอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุเช่นเดิมให้เป็นที่เก็บหนังสือฉบับพิมพ์และ "หอพระสมุดวชิรญาณ" ให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวเขียนและตู้พระธรรม
ปีพุทธศักราช 2476 รัฐบาลจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นและมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกำหนดให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร มีฐานะเป็นกองหนึ่งในกรมศิลปากรเรียกว่า "กองหอสมุด" และได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็น "หอสมุดแห่งชาติ" ในเวลาต่อมา จนถึงพุทธศักราช 2505 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติเป็นอาคารทรงไทย สูง 5 ชั้นขึ้นที่บริเวณท่าวาสุกรี ถนนสามเสน และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509
@ปรับตัวสู่ New Normal ด้วยจิตวิญญาณที่คงมั่น
ก่อนยุค New Normal หลังวิกฤติโควิด-19 หอสมุดแห่งนี้เคยมีผู้เข้าใช้บริการเฉลี่ย 600 คนต่อวัน แต่เมื่อกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หอสมุดแห่งชาติจำต้องปรับตัว ลดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ โดยจำกัดเหลือเพียง 300 คนต่อวัน ควบคู่กับการปรับตัวในวิถี New Normal อื่นๆ อาทิ สแกนคิวอาร์โค้ด ไทยชนะ ก่อนเข้าใช้บริการ จำกัดจำนวนผู้ใช้ลิฟท์ ไม่เกิน 4 คน มีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่ง มีการทำความสะอาดของเจ้าหน้าที่ทุกครึ่งชั่วโมง
ในบางชั้นที่ให้บริการหนังสือเล่ม เมื่อผู้ใช้บริการคืนหนังสือ เจ้าหน้าที่จะมีการเช็ดทำความสะอาดหนังสือด้วยแอลกอฮอล์นอกจากนั้น นับแต่หลังวิกฤติโควิด-19 การให้บริการหนังสือในบางชั้นเช่น ชั้น 2 และชั้น 3 เป็นแบบ “ระบบปิด” กล่าวคือ ยังไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการเดินเลือกหรือหยิบหนังสือเองจากชั้นหนังสือ แต่ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นข้อมูล ค้นดัชนี หรือมีหนังสือเล่มใดๆ ที่ต้องการอ่าน สามารถแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ได้ว่าต้องการหนังสือเรื่องอะไร เล่มใด แล้วเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้หาหนังสือมามอบแก่ผู้ใช้บริการด้วยตนเอง
รวิวรรณ พุดซ้อน หัวหน้าห้องบริการหนังสือชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องหนังสือประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา และหนังสือนานาชาติ
จากคำบอกเล่าของ รวิวรรณ พุดซ้อน หัวหน้าห้องบริการหนังสือชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องหนังสือประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา และหนังสือนานาชาติ เล่าย้อนไปถึงการรีโนเวทหอสมุด ก่อนวิกฤติโควิด เมื่อราว 3 ปีก่อนว่า
“หอสมุดนี้มีการรีโนเวทและเปิดอย่างเป็นทางการหลังรีโนเวทเมื่อวันที่ 10 สิงหา 2560 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จทอดพระเนตร และใช้เวลาอยู่ที่นี่ถึงห้าชั่วโมงครึ่ง ท่านเสด็จทอดพระเนตรถึงบริเวณตู้หนังสือที่อยู่ด้านหลังโต๊ะบรรณารักษ์นี้ ซึ่งเป็นตู้ที่เก็บหนังสือพระราชนิพนธ์ในพระองค์ หากผู้มาใช้บริการหนังสือเดินมาถึงห้องนี้ ก็เหมือนกับว่าเราเดินตามรอยพระบาทท่านอยู่”
เจ้าหน้าที่รายนี้ระบุและบอกเล่าเพิ่มเติมว่าที่หอสมุดแห่งชาตินี้ เดิมที มีทั้งระบบชั้นปิดและชั้นเปิด โดยระบบชั้นปิด หมายถึง การที่ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการเดินเลือกหนังสือเอง โดยต้องแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ว่าต้องการอ่านหนังสือเล่มใด แล้วเจ้าหน้าที่จะหาให้ ส่วนชั้นเปิดคือเดินเลือกหนังสือเองได้ สำหรับชั้นที่เป็นแบบชั้นปิดคือ ห้องหนังสือประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา และวรรณกรรมที่ปี พ.ศ.ต่ำกว่า พ.ศ.2550 เนื่องจากหนังสือเหล่านี้มีความเก่า เปราะบาง จึงใช้ระบบปิด
แต่หลังวิกฤติโควิด ทั้งหอสมุดแห่งชาติจำเป็นต้องให้บริการแบบระบบปิดทั้งหมด ยกเว้นที่ห้องอ่านหนังสือพิมพ์และวารสารที่ชั้น 1 ที่เดินเลือกอ่านได้ นอกจากนี้ ยังเปิดให้มีการจองออนไลน์ หรือโทรศัพท์มาผสานกับเจ้าหน้าที่ไว้ก่อนว่าจะเข้ามาอ่านเรื่องอะไร
ส่วนงานภาษาโบราณ จารึกโบราณ ต้องติดต่อทางโทรศัพท์มาก่อน นัดวันเข้ามา เพื่อลดความแออัดของผู้เข้าใช้บริการ“นับแต่หลังวิกฤติโควิด เรารับผู้เข้าใช้บริการได้แค่ 300 คน ต่อวัน ตามนโยบายของ ศบค. แล้วก็จำกัดผู้เข้าใช้ เช่น ชั้น 3 รองรับได้เพียง 50 ที่นั่ง โดยทั้งหอสมุด รองรับได้ 300 ที่นั่ง จากเดิมรองรับได้ประมาณ 600 คน ในการทำความสะอาดก็มีความใส่ใจอย่างมาก
"ตัวอย่างโดยเฉพาะที่ชั้น 3 ทุกครึ่งชั่วโมง แม่บ้านจะเช็ดทำความสะอาด เช็ดเคาท์เตอร์ คีย์บอร์ด โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องใช้ทุกอย่างที่คนสัมผัส ชุบน้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดจุดที่ประชาชนนั่งและลุกออกไปแล้ว และเมื่อใช้ระบบชั้นปิด เมื่อประชาชนนำหนังสือมาคืน เราก็ทำความสะอาด ใช้แอลกอฮอ75% เช็ดหนังสือ แต่เล่มไหนที่เปราะบาง อ่อนไหว เราก็ทำอย่างเบามือที่สุด ถ้าตัวเล่มแข็งแรงก็นำเอาไปตากแดด ถ้าเปราะบางก็ผึ่งไว้ในบริเวณที่แดดรำไร” รวิวรรณระบุ และแนะนำชั้นอื่นๆ ที่น่าสนใจด้วยว่า ชั้น 5 เป็นจารึก ในตู้พระธรรม ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีดำริให้เก็บรวบรวมไว้ หากสนใจอ่าน ต้องแจ้งแก่เจ้าหน้าที่
สำหรับชั้น 4 มีหนังสือพิมพ์และวารสารทั้งที่เก็บรวบรวมไว้นับแต่อดีต มีกระทั่งสิ่งพิมพ์ทรงคุณค่าอย่างบางกอกรีคอร์เดอร์ The Bangkok Recorder และดรุโณวาท หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกของสยาม
นอกจากนี้ยังมีห้องบริการหนังสือหายาก ที่อาคาร 3 ชั้น 3 ซึ่งเก็บรวบรวมหนังสือที่มีค่าทางประวัติศาสตร์ไว้ภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะสม
@ประวัติศาสตร์มีชีวิต
นอกจากเก็บรวบรวมราชกิจจานุเบกษานับแต่อดีตแล้ว เจ้าหน้าที่หอสมุดรายนี้ ยังแนะนำงานประพันธ์ที่น่าสนใจ ที่เก็บไว้ที่ห้องหนังสือที่ชั้น 3 นี้ อาทิ "เกิดวังปารุสก์" อัตชีวประวัติ งานทรงนิพนธ์ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก , งานทรงนิพนธ์บางเล่มของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิสตรี ซึ่งนับว่ามีความก้าวหน้ามากในสมัยนั้น
ที่ห้องหนังสือชั้น 3 แห่งนี้ ยังมีวรรณกรรมซีไรต์ (S.E.A. Write : Southeast Asian Writers Award หรือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน) ที่มีครบทุกเล่ม ส่วนตู้หนังสือต่างๆ ที่เห็นอยู่รายรอบ ยังเก็บรวบรวมหนังสือที่ทรงคุณค่ามากมาย อาทิ ประชุมกฎหมายประจำศก, จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ประชุมพงศาวดาร, พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ พระองค์อื่นๆ
ตู้หนังสือที่เก็บรักษาวรรณกรรมซีไรต์ทุกเรื่องนับแต่อดีตจนปัจจุบัน
อีกทั้งมีมุมนิทรรศการที่น่าสนใจ คือพื้นที่จัดแสดงหนังสือส่วนตัวและข้าวของเครื่องใช้ของพระยาอนุมานราชธน อธิบดีคนแรกของกรมศิลปากร , หลวงวิจิตรวาทการ เอกอัครราชทูต นักประพันธ์ชั้นครูและผู้มีบทบาทมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของไทยในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง, หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤษดากร สถาปนิกในแผนกศิลปากรสถาน และขุนวิจิตรมาตรา หรือ สง่า กาญจนาคพันธุ์ นักประพันธ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้มีผลงานหนังสือ ภาพยนตร์และประพันธ์เพลงอมตะจำนวนไม่น้อย
รวิวรรณ นำชมบริเวณจัดแสดงนิทรรศการมุมต่างๆ อาทิ มุมของสะสมของหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร เป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ประทานให้หอสมุดแห่งชาติ อาทิ หัวโขนจำลองขนาดเล็กที่จัดทำขึ้นอย่างประณีตสวยงาม ซึ่งมีมากกว่า 160 ชิ้น รวมทั้งหนังสือส่วนพระองค์ มีเหรียญรางวัลด้านการออกแบบ หนังสืออนุสรณ์งานศพของพระองค์ท่าน
มุมจัดแสดงนิทรรศการขุนวิจิตรมาตรา มีภาพครอบครัวท่าน มีผลงานการกำกับภาพยนตร์ มีเนื้อเพลงชาติในยุคแรก ที่ท่านเป็นผู้ให้ทำนองร่วมกับพระเจนดุริยางค์ มีหนังสือประพันธ์ไว้ อาทิ หลักไทย และสำนวนไทย
ห้องสมุดพระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ อดีตอธิบดีคนแรกของกรมศิลปากร มีข้าวของเครื่องใช้ ที่ท่านใช้จริงๆ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ อาทิ ภาพส่วนตัวของพระยาอนุมานราชธน มีเตียงสำหรับเอนหลัง มีหมากรุกที่ท่านเคยใช้เล่น มีไม้เท้า หมวก รวมถึงตาลปัตรที่เคยอยู่ในงานศพของท่าน
ห้องสมุดหลวงวิจิตรวาทการ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรคนที่ 2 ต่อจากพระยาอนุมานราชธน หลวงวิจิตรวาทการนับเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองและในวงวรรณกรรม โดยได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญในรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม คือรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงศึกษาธิการ, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ,เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศอินเดีย, อัครราชทูตไทยประจำประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรียและยูโกสลาเวีย
ในบริเวณที่จัดแสดงนิทรรศการของสะสมของหลวงวิจิตรวาทการ มีข้าวของเครื่องใช้ อาทิ ชุดถ้วยน้ำชา ไปป์ มีโต๊ะทำงาน มีเครื่องพิมพ์ดีดที่ท่านใช้จริงเมื่อขณะที่ยังมีชีวิต, เครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ต่างๆ ทั้งจากไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายของ จอมพล ป.พิบูลสงครามกับภริยา ซึ่งได้มอบให้หลวงวิจิตรวาทการเมื่อครั้งขึ้นบ้านใหม่ พร้อมคำอวยพรจากจอมพล ป.ถึงหลวงวิจิตรวาทการ ขอให้มีความสุขความเจริญ
นอกจากนี้ยังมีตู้ที่เก็บรักษา บทละคร “เลือดสุพรรณ” และต้นฉบับงานพิมพ์ที่บางชิ้นมีการแก้ไขด้วยลายมือ มีนิตยสารเพลินจิตที่หลวงวิจิตรวาทการ อนุญาตให้นำบทละครของท่านตีพิมพ์ในนิตยสารดังกล่าว นอกจากนิยายแล้ว ยังมีงานเขียนด้านดนตรี ประวัติศาสตร์และสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ซึ่งล้วนสะท้อนถึงภาพการใช้ชีวิตเมื่อครั้งอดีต
...
เหล่านี้ เป็นบรรยากาศเพียงเสี้ยวมุมหนึ่งของหอสมุดแห่งชาติ ที่ยังมีประวัติศาสตร์บนหน้ากระดาษและสิ่งพิมพ์อีกจำนวนมาก หลากหลายประเภท รอคอยผู้มาใช้บริการผ่านรูปแบบการให้บริการที่ทั้งทันสมัยควบคู่กับการอนุรักษ์ พร้อมทั้งรักษาประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ให้มีชีวิตก้าวผ่านสู่ยุค New Normal ได้อย่างน่าสนใจ
อ่านประกอบ :
(มีคลิป) หอสมุดปรีดีฯ ยุค New normal ในวันที่ยังไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้
เยี่ยมชมห้องสมุดเด็กเล็ก 'ดรุณบรรณาลัย' กับการปรับตัวสู่ยุค New Normal (มีคลิป)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/