"...แต่ทว่าภารกิจที่รอ ‘นิรุฒ’ อยู่ เรียกได้ว่า ‘สุดหิน’ ยิ่งกว่าหลายเท่านัก ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันแผนฟื้นฟูกิจการ รฟท. การแก้ปัญหาหนี้สินของรฟท.ที่สูงถึง 1.6 แสนล้านบาท และการผลักดันโครงการลงทุนของรฟท.ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ให้ลุล่วงตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม..."
อีกไม่นานเกินรอ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะมีผู้ว่าการฯ ‘ตัวจริงเสียงจริง’ เสียที
หลัง ‘วุฒิชาติ กัลยาณมิตร’ โดนคำสั่งม.44 เด้งพ้นจากตำแหน่งเดือน ก.พ.2560 ส่งผลให้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา งานของ รฟท.ถูกขับเคลื่อน โดยรักษาการผู้ว่าการ รฟท. ถึง 2 คน คือ ‘อานนท์ เหลืองบริบูรณ์’ รองอธิบดีกรมทางหลวงในขณะนั้น และ ‘วรวุฒิ มาลา’ รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการ รฟท.คนปัจจุบัน
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา บอร์ด รฟท. ที่มีมติเห็นชอบให้ ‘นิรุฒ มณีพันธ์’ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย และเลขานุการธนาคารกรุงไทย และเคยเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร บริษัท การบินไทย เป็นผู้ว่าการ รฟท.คนใหม่
แม้ว่าการ ‘ข้ามห้วย’ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. อย่างเป็นทางการของ ‘นิรุฒ’ ยังต้องใช้เวลาอีก 1 เดือน หรือประมาณเดือนมี.ค.นี้ แต่เพียงก้าวแรกที่ย่างก้าวแรกที่ ‘นิรุฒ’ ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภายในองค์กรทันที หลังสหภาพ รฟท. (สร.รฟท.) ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน การแต่งตั้ง ‘คนนอก’ เข้ามาเป็นผู้ว่าการ รฟท.คนใหม่
“สร.รฟท.ต้องการผลักดันให้ผู้สมัครคนในที่มี 2 คน เป็นผู้ว่าการ รฟท. เพราะจะสามารถสานต่อทำงานได้ดีกว่าคนนอก เพราะเข้าใจเทคนิคของการทำงานเกี่ยวกับรถไฟ อีกทั้งปัจจุบันยังมีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างขับเคลื่อน หากเป็นคนในได้เป็นผู้ว่าการ จะทำให้งานเดินหน้าต่อเนื่อง” ภิญโญ เรือนเพ็ชร รองประธานสร.รฟท.ระบุ
(ขอบคุณภาพ : สหภาพรัฐวิสาหกิจรฟท.)
แน่นอนว่าการฝ่าแรงต้านภายในองค์กร รฟท. อาจไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นนัก สำหรับ ‘นิรุฒ’ อีกทั้ง ‘นิรุฒ’ มีความคุ้นเคยกับองค์การขนาดใหญ่มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นแบงก์ใหญ่อันดับต้นๆของประเทศ และ ‘เจ้าจำปี’ บริษัท การบินไทย สายการบินแห่งชาติ
แต่ทว่าภารกิจที่รอ ‘นิรุฒ’ อยู่ เรียกได้ว่า ‘สุดหิน’ ยิ่งกว่าหลายเท่านัก ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันแผนฟื้นฟูกิจการ รฟท. การแก้ปัญหาหนี้สินของรฟท.ที่สูงถึง 1.6 แสนล้านบาท และการผลักดันโครงการลงทุนของรฟท.ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ให้ลุล่วงตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม
(นิรุฒ มณีพันธ์)
“งานหลักๆที่ต้องส่งมอบเป็นเรื่องแผนการฟื้นฟู รฟท. ที่ต้องทำให้สำเร็จ ซึ่งมีหลายแผน เช่น การก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อ ตั้งบริษัทลูกบริษัททรัพย์สิน รฟท. ตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ทำระบบไอที ถ้าไม่ทำต่อก็ฟื้นฟูไม่ได้” วรวุฒิ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
วรวุฒิ ย้ำว่า “อีกปัญหาสำคัญจัดการ คือ หนี้สินของรฟท. ซึ่งจะสัมพันธ์กับการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินและที่ดินของรฟท. แต่ก็ต้องใช้เวลา เพราะที่ดินที่นำมาพัฒนานั้น กว่าจะได้ผลประโยชน์จะต้องใช้เวลา เราจึงต้องการ ‘มืออาชีพ’ เข้ามา เพราะผมเอง รถไฟเองความรู้ใม่ถึง ต้องอาศัยภาคเอกชนที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามา”
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วรวุฒิ กล่าวว่า ในส่วนเนื้องานก่อสร้างนั้น ได้เรียกผู้ออกแบบมาหารือ รวมทั้งเร่งรัดการรื้อย้ายสาธารณูปโภคให้เป็นไปตามแผน ‘ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ’ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ฯ ได้ประชุมกันหลายครั้งแล้ว ก็เห็นและปัญหาขึ้นมาบนโต๊ะหมดแล้ว
(วรวุฒิ มาลา)
เมื่อถามว่า หลังจากส่งมอบงานให้ผู้ว่าการ รฟท.คนใหม่แล้ว จะต้องทำหน้าที่เป็น ‘พี่เลี้ยง’ หรือไม่ วรวุฒิ กล่าวว่า “อย่าเรียกว่าพี่เลี้ยงเลย เอาเป็นว่ามีงานอะไรก็ต้องส่งมอบไป ส่วนบอร์ดรฟท.ก็ทราบอยู่แล้วว่า อะไรเป็นอะไร ต้อง Carry on (ดำเนินการ) กันต่อไป ซึ่งผมเองจะเกษียณอายุในเดือนก.ย.2563”
ส่วนกรณีที่สหภาพฯ รฟท.ออกมาเคลี่อนไหวผู้ว่าการ รฟท.คนนอกนั้น วรวุฒิ บอกว่า “จริงๆแล้วเขาบอกว่า เป็นใครก็ได้ที่อยู่ในกระบวนการสรรหา เพียงแต่จุดยืนของเขาอยากได้คนใน และยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาการทำงาน ถ้าเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แต่ถ้าไม่ช่วย ก็ต้องคุยกัน เพราะสหภาพฯเอง ก็มีความตั้งใจแก้ปัญหาของรฟท.เช่นกัน”
วรวุฒ ทิ้งท้ายว่า “การแก้ไขปัญหาของรฟท. ต้องใช้เวลา และไม่ใช่แค่เจเนอเรชั่นเดียว เจเนอเรชั่นเดียวไม่พอ แต่ต้องแก้ปัญหาต่อเนื่องกันไป”
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายงานประจำปี ปีงบ 2562 พบว่า ณ วันที่ 30 ก.ย.2561 รฟท.มีผลขาดทุนสะสม 168,863 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นผลการขาดทุนสะสมที่ยังไม่ได้รับการชดเชยจากรัฐบาลเป็นเงิน 160,363 ล้านบาท ในขณะที่ผลขาดทุนรายปีของรฟท.อยู่ที่ 1-2 หมื่นล้านบาท และบางปีเพิ่มไปถึง 2.8 หมื่นล้านบาท
ในขณะที่โครงการสำคัญๆที่ต้อง รฟท.ต้องเร่งรัดก่อสร้าง เปิดประมูล และผลักดันโครงการให้ครม.อนุมัติตามแผน 44 โปรเจกต์ พบว่ามีวงเงินสูงถึง 1.15 ล้านล้านบาท ไม่รวมการจัดซื้อหัวรถจักรและระบบอาณัติสัญญามูลค่าหลายหมื่นล้าน
ประกอบด้วย โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ รถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 โครงการ ,รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา รถไฟรถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้า) สายสีแดง 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และงานเดินรถ และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงินรวมทั้งสิ้น 622,491 ล้านบาท
ส่วนโครงการที่เตรียมเปิดประมูลและผลักดันให้ครม. เห็นชอบ ได้แก่ รถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้า) สายสีแดง 4 ช่วง คือ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และบางซื่อ-หัวหมากรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 โครงการ คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบางไผ่-มุกดาหาร-นครพนม
รถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ,ช่วงสายเด่นชัย-เชียงใหม่ ,ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ,ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ,ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ,ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ,ช่วงชุมทางหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ วงเงินรวมทั้งสิ้น 493,149 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในส่วนการจัดการทรัพย์สิน โดยเฉพาะที่ดินของรฟท.ที่มี 39,428.97 ไร่ ซึ่งรวมถึงที่ดินอยู่ในกลางเมือง 3 แปลง ได้แก่ ที่ดินนิคมรถไฟ กม.11 ที่ดินสถานีแม่น้ำ และที่ดินบริเวณสถานีกลางบางซื่อ โดยรฟท.จะต้องเข้าไป ‘บริหารสัญญา’ เพื่อให้มีรายได้มา ‘ล้าง’ ผลขาดทุนสะสมที่รฟท.มีอยู่ นอกเหนือจากการได้รับเงินอุดหนุนรายปีจากรัฐบาล
นี่คือภารกิจที่ว่าที่ผู้ว่าการ รฟท.คนใหม่ จะต้องเข้าไปผลักดันให้ลุล่วง และเป็นบทพิสูจน์ฝีมือ 'นิรุฒ มณีพันธ์'
อ่านประกอบ :
คัดสรรผู้ว่า รฟท.ส่อวุ่น! พนักงานรถไฟเรียกร้องเปิดเผยวิสัยทัศน์
บอร์ด ร.ฟ.ท.เคาะชื่อ 'นิรุฒ' นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการฯ คนใหม่
'ศักดิ์สยาม' สั่งรฟท.เร่งเบิกงบก่อสร้าง-เปิดประมูลรถไฟทางคู่ 4.25 แสนล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/