"...เดือนเม.ย.61 ที่ผ่านมา กองทัพเรือร่วมประชุมกับกลุ่มงานที่ปรึกษาของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) โดยที่ประชุมมีมติให้กลุ่มกิจกรรมสาธารณูปโภค ได้แก่ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะ และระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ให้กองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการเองในพื้นที่ 6,500 ไร่ เนื่องจากเป็นงานบริการส่วนกลางที่ต้องให้บริการส่วนอื่นๆ หากให้เอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการอาจเกิดปัญหาในการบริหารจัดการได้..."
จรดปากกาเซ็นสัญญากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.63 ที่ผ่านมา
สำหรับสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก เป็นระยะเวลา 25 ปี ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
หนึ่งใน ‘บิ๊กโปรเจกต์’ ซึ่งเป็นที่หมายตาของยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค.61 กองทัพเรือ ในฐานะเจ้าของโครงการฯ เปิดขาย 'ซองเอกสาร’ โครงการคัดเลือกผู้ประกอบการดำเนินงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น พื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ด้วยการให้เช่าที่ราชพัสดุในพื้นที่เขตส่งเสริม : เมืองการบินตะวันออก โดยวิธีการคัดเลือก
มีเอกชนและรัฐวิสาหกิจซื้อซอง 13 ราย เช่น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทฯในกลุ่มปตท. ,บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
เมื่อเปิดให้ยื่นซองในวันที่ 10 ก.ย.61 มีเอกชนยื่นซองข้อเสนอฯ 3 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) 2.ร่วมค้าระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และ 3.บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน)
อย่างไรก็ตาม ในการเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 11 ก.ย.61 บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) ไม่ผ่านการคัดเลือกด้านคุณสมบัติ
โดยมีข้อบกพร่อง คือ ไม่ยื่นผลงานการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 60 MW อย่างน้อย 2 โครงการในประเทศไทย และไม่ผ่านคุณสมบัติกรณีเป็น ‘นิติบุคคลรายเดียว’ ต้องมีมูลค่ากำไรของกิจการรายปี โดยคิดเฉลี่ยในรอบระยะเวลา 3 ปีล่าสุด ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท/ปี
ต่อมาวันที่ 13 ก.ย.61 คณะกรรมการคัดเลือกฯได้เชิญเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติ 2 ราย คือ 1.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ 2.ร่วมค้าระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เข้าชี้แจงรายละเอียดข้อเสนอทางเทคนิค โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าระยะที่ 1 ขนาดไม่เกิน 100 MW
ผลการพิจารณาปรากฏว่า บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้คะแนนสูงสุดที่ 96.39 คะแนน โดยบริษัทฯ เสนอจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ขนาด 80 เมกะวัตต์ เริ่มก่อสร้าง 31 มี.ค.62 แล้วเสร็จ 31 ม.ค.64
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินขนาด 15 เมกะวัตต์ เริ่มก่อสร้าง 31 มี.ค.62 แล้วเสร็จ 1 เม.ย.63 และระบบกักเก็บพลังงาน 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง รวมขนาดโรงไฟฟ้าในระยะที่ 1 มีขนาด 95 เมกะวัตต์ โดยปริมาณไฟฟ้าส่วนที่เกินจากปริมาณการใช้ในพื้นที่ 6,500 ไร่ จะถูกนำไปจำหน่ายนอกพื้นที่
และเสนอก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าและระบบจำหน่ายจากโรงไฟฟ้าไปยัง Substation 2 ซึ่งมีการผลิตน้ำเย็นขนาดประมาณ 3,375 ตันความเย็น ใช้เงินลงทุนในระยะนี้ 3,557 ล้านบาท โดยสนอขายไฟฟ้าที่ระดับแรงตัน 115 KV ในอัตราส่วนลดร้อยละ 15.16% จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของ กฟผ. คิดเป็นราคาที่บริษัทฯจะขายให้เท่ากับ 2.7900 บาท/หน่วย (ไม่รวม Vat)
ส่วนผลประโยชน์ที่กองทัพเรือจะได้รับในระยะนี้ ประกอบด้วย อัตราส่วนลดร้อยละ 15.16% รวมค่าเช่าที่ดิน ค่าบริหารจัดการโรงไฟฟ้า คิดเป็นเงินรวม 8,179 ล้านบาท ในระยะเวลาสัญญา 25 ปี เฉลี่ย 327.16 ล้านบาท/ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 3,172 ล้านบาท
ระยะที่ 2 ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาด 80 เมกะวัตต์ เริ่มก่อสร้าง 1 ก.ค.64 แล้วเสร็จ 1 ม.ค.66 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินหรือติตตั้งบนหลังคาหรือแบบลอยน้ำ ขนาด 55 เมกะวัตต์ เริ่มก่อสร้าง 31 มี.ค.62 แล้วเสร็จ 1 เม.ย.63 (กรณี ทร.สามารถจัดสรรพื้นที่ขนาด 300 ไร่) รวมขนาดโรงไฟฟ้าในระยะที่ 2 มีขนาด 135 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนในระยะนี้ 2,377 ล้านบาท
โดยเสนอขายไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 115 KV ในอัตราส่วนลดร้อยละ 20 จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของ กฟผ. คิดเป็นราคาที่บริษัทฯจะขายให้เท่ากับ 2.630 บาท/หน่วย (ไม่รวม Vat) ส่วนผลประโยชน์ในการขายไฟฟ้าในระยะนี้ คือ 12,093 ล้านบาท ในระยะ 25 ปี เฉลี่ย 483.72 ล้านบาท โดยคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน เป็นเงิน 4,218 ล้านบาท
บริษัทฯยังได้แสดงแผนธุรกิจ (Finance Model) ซึ่งแสดงสมมติฐานของข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่ามีความเหมาะสมและสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ เข่น ขนาดของเครื่องจักร ราคาเชื้อเพลิง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอื่นๆ ได้ชัดเจน และได้มอบ Soft File ให้คณะกรรการคัดเลือกฯ เก็บไว้ตรวจสอบสมมติฐานในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้สืบราคาที่บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) จำหน่ายไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 115 KV ให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งพบว่าอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 3.1265 บาท/หน่วย
ส่วน ร่วมค้าระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ได้คะแนนอันดับ 2 ที่ 82.50 คะแนน โดย กลุ่มปตท.เสนอก่อสร้างโรงไฟฟ้าเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม กำลังผลิตไฟฟ้า 69 MW เริ่มก่อสร้างในปี 2564 แล้วเสร็จในปี 2566 โดยปริมาณไฟฟ้าส่วนที่เกินจากปริมาณการใช้ในพื้นที่ 6,500 ไร่ จะถูกนำไปจำหน่ายนอกพื้นที่
และก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าไปยัง Substation 2 และระบบทำน้ำเย็นตามข้อกำหนด พร้อมก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าจาก Substation 2 ไปยัง Substation 1 เพิ่มเติม โดยเสนอขายไฟฟ้าส่วนลดร้อยละ 15 จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของ กฟผ.
ส่วนระยะที่ 2 เพิ่มเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซ และเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 71 MW เริ่มก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2569 รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้ง 2 ระยะเป็น 140 MW โดยเสนอขายไฟฟ้าส่วนลดร้อยละ 15 จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นราคาเดียวกันกับระยะที่ 1
สำหรับผลประโยชน์ที่กองทัพเรือจะได้รับ คือ ส่วนแบ่งรายได้ 10 ล้านบาท/ปี รวม 25 ปี เป็นเงิน 250 ล้านบาท ก่อสร้างสายเชื่อมโยงไฟฟ้าจาก Substation 2 ไปยัง Substation 1 เพิ่มเติมจากข้อกำหนดฯ คิดเป็นเงิน 68 ล้านบาท ส่วนแบ่งอัตราน้ำเย็น ประมาณ 5.20 ล้านบาท/ปี รวม 25 ปี เป็นเงิน 130 ล้านบาท
รวมผลประโยชน์ที่กองทัพเรือได้รับในระยะเวลา 25 ปี เป็นเงิน 448 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 37.33 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ ผลประโยชน์ดังกล่าวไม่ได้รวมค่าส่วนลดไฟฟ้าร้อยละ 15 ของทั้ง 2 ระยะ และค่าเช่าที่ดินในราคา 54,000 บาท/ปี
“เนื่องจากไม่ได้ระบุราคาขายต่อหน่วย และไม่ได้นำเสนอรายละเอียดของแผนทางการเงินของโครงการฯ ซึ่งแสดงสมมติฐานของข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่ามีความเหมาะสม และสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ เช่น เงินลงทุน ราคาเชื้อเพลิง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถระบุผลประโยชน์ที่ ทร.จะได้รับในแต่ละปีได้อย่างครบถ้วน และไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของสมมติฐานที่บริษัทฯ นำมาใช้ได้” รายงานเอกสารคณะกรรมการคัดเลือกฯ ระบุ
ต่อมาวันที่ 26 ก.ย.61 กองทัพเรืออนุมัติให้บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล แต่การลงนามในสัญญาและเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้ากลับต้องลากยาวออกไปเป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน เพราะรอผลการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 2.9 แสนล้านบาทก่อน
“คืออย่างนี้ มันต้องมีการจัดแผนให้สอดคล้องกับสนามบิน เพราะตอนนั้นสนามบิน (อู่ตะเภา) เรายังไม่ได้ตัวผู้ลงทุนสนามบินเลย ถ้าไปเซ็นสัญญาไป คนผลิตไฟฟ้าก็ต้องรออยู่ดี” โชคชัย ปัญญายงค์ ที่ปรึกษาพิเศษโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก สกพอ. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการลงนามในสัญญาการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ระยะเวลา 25 ปี จะเสร็จสิ้นลงไปแล้ว โดยบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จะต้องส่งแผนและเริ่มก่อสร้างภายใน 6 เดือน และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2567
แต่มีคำถามที่น่าสนใจว่า ผลประโยชน์ตอบแทนที่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ จะต้องจ่ายให้กองทัพเรือตามสัญญาฯ สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าระยะที่ 1 แบ่งเป็นอัตราส่วนลดค่าไฟฟ้า 15.16% รวมค่าเช่าที่ดิน ค่าบริหารจัดการโรงไฟฟ้า เป็นเงินรวม 8,179 ล้านบาท จะถูกส่งเข้ารัฐเท่าใด และเหลือเป็นรายได้ของกองทัพเรือเท่าไหร่
เช่นเดียวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าระยะที่ 2 ซึ่งบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ ประเมินว่าจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าอีก 12,093 ล้านบาท ในระยะ 25 ปี และจะมีการแบ่งเงินรายได้ดังกล่าวให้กับกองทัพเรือด้วยนั้น ผลประโยชน์เหล่านี้จะส่งเข้าคลังหรือไม่ และอย่างไร
ที่สำคัญในรายงานเอกสารของกองทัพเรือระบุว่า เมื่อเดือนเม.ย.61 ที่ผ่านมา กองทัพเรือร่วมประชุมกับกลุ่มงานที่ปรึกษาของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ซึ่งต่อมาถูกยุบเลิกและเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
"ที่ประชุมมีมติให้กลุ่มกิจกรรมสาธารณูปโภค ได้แก่ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะ และระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ให้กองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการเองในพื้นที่ 6,500 ไร่ เนื่องจากเป็นงานบริการส่วนกลางที่ต้องให้บริการส่วนอื่นๆด้วย หากให้เอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการอาจเกิดปัญหาในการบริหารจัดการได้" เอกสารของกองทัพเรือระบุ
เหล่านี้เป็น ‘ขุมทรัพย์’ ของกองทัพเรือ ในฐานะเจ้าของโครงการสนามบินอู่เภาและเมืองการบิน ซึ่งอาจมีมูลค่านับได้หลายหมื่นล้านบาท
อ่านประกอบ :
กองทัพเรือโกย 8.1 พันล.! เซ็นสัญญา ‘บี.กริม’ เช่าที่ราชพัสดุผลิตไฟฟ้าป้อนสนามบินอู่ตะเภาฯ
'อีอีซี-บีบีเอส'ลงนามร่วมทุน 2.9 แสนล้านพัฒนา'อู่ตะเภา-เมืองการบินฯ'
เคาะร่างสัญญาสนามบินอู่ตะเภา 2.9 แสนล้าน! กพอ.ชงครม.อนุมัติ-คาดเซ็นกลุ่มบีบีเอส มิ.ย.นี้
ให้ผลตอบแทนรัฐดีที่สุด! ทร.เคาะเลือกกลุ่มบีบีเอส 'หมอเสริฐ' พัฒนาอู่ตะเภาฯ 3.05 แสนล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/